วันอังคารที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ร่วมพลิกฟื้นคืนชายฝั่งทะเลไทย กระตุ้นจิตสำนึก “Save the Sea”

โดย บ้านเมืองออนไลน์ เมื่อเวลา 9:43:00 วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2552

รายงานพิเศษ : ร่วมพลิกฟื้นคืนชายฝั่งทะเลไทย

ร่วมพลิกฟื้นคืนชายฝั่งทะเลไทย
กระตุ้นจิตสำนึก “Save the Sea”

ชายฝั่งทะเลเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในด้านเป็นที่อยู่อาศัย เป็นพื้นที่เพื่อการอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และการท่องเที่ยว รวมถึงเป็นพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่เลี้ยงตัวอ่อนของสัตว์น้ำ ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศชายฝั่ง

ประเทศไทยมีความยาวของพื้นที่ชายฝั่งทะเลประมาณ 2,600 กิโลเมตร ครอบคลุมจังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด มีประชากรอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ดังกล่าวมากกว่า 11 ล้านคน และจากการสำรวจของธนาคารโลก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า ปัจจุบันชายฝั่งทะเลของประเทศไทยทั้ง 23 จังหวัด กำลังประสบปัญหาการถูกกัดเซาะในอัตราที่มีความรุนแรงสูง พื้นที่ชายฝั่งกว่าร้อยละ 80 ของทะเลอันดามัน และกว่าร้อยละ 50 ของทะเลอ่าวไทยเกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก โดยพบว่าพื้นที่หรือดินแดนที่ต้องถูกกลืนหายไปในทะเลคิดเป็นระยะทาง 1.5-5 กิโลเมตรของทุกๆ ปี

หากคิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจแล้ว ประเทศไทยจะต้องสูญเสียพื้นที่ชายฝั่งทะเลจากการถูกกัดเซาะในแต่ละปี เป็นมูลค่าสูงถึง 6 พันล้านบาท หรือประมาณ 150 ล้านเหรียญสหรัฐ และถ้าคิดรวมความเสียหายอื่นๆ เราจะต้องสูญเสียถึง 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี...

นายจินเทนดร้า ชาห์ รักษาการ ผอ.ธนาคารโลก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ทางธนาคารโลกได้ทำงานร่วมกับภาครัฐของไทยทางด้านสิ่งแวดล้อม มาตลอดระยะเวลา 6 ปี และทุกๆ ปีจะร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดทำแผนศึกษาเรื่องสถานการณ์สิ่งแวดล้อมร่วมกัน และเมื่อปี 2548 ที่ผ่านมา การทำรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทยจะมุ่งประเด็นไปที่ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งพบว่าปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเป็นปัญหาที่รุนแรงของสิ่งแวดล้อมไทยและเป็นปัญหาที่สำคัญมาก หากแก้ไขไม่ดีจะทำให้เกิดความสูญเสียเป็นจำนวนมหาศาลต่อทรัพยากร ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการจัดการที่ดีเพื่อลดความสูญเสียดังกล่าว และผลการศึกษาในครั้งนี้ทำให้หลายประเทศเริ่มตื่นตัวในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งกันมากขึ้น

“ธนาคารโลกจึงได้ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดงานนิทรรศการเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง “Save the Sea” ขึ้น เพื่อการปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนเกิดความตระหนักและตื่นตัว โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่จะได้รับการกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัว ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผ่านการจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ร่วมกัน เช่นการประกวดวาดการ์ตูน โดยได้รับความร่วมมือจากเด็กและเยาวชนเป็นจำนวนมากในการส่งผลงานเข้าร่วมประกวดครั้งนี้” นายจินเทนดร้า ชาห์ กล่าว....

นายสำราญ รักชาติ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ทุกวันนี้เรายังไว้ใจและเชื่อมั่นในความสามารถของทหารไทยที่จะทำการปกป้องผืนแผ่นดินไว้ได้เพื่อลูกหลานไทย แต่หากเปรียบกับการสูญเสียแผ่นดินให้กับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลของไทยซึ่งกินพื้นที่เป็นจำนวนมาก ทหารก็คงจะช่วยเราไม่ได้ ที่ผ่านมานั้น การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของไทยเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ได้ส่งผลเสียและคุกคามต่อสภาพแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนตามชายฝั่งทะเล ทำให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ชุ่มน้ำตามป่าชายเลน ซึ่งบางส่วนได้ถูกทำลาย แนวปะการังตามชายฝั่งเกิดความเสียหาย ขณะที่การทำเหมืองทราย การก่อสร้างกำแพงเขื่อนกั้นน้ำ หรือท่าเทียบเรือ ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ชายฝั่งทะเลทางด้านอ่าวไทยถูกกัดเซาะไปเรื่อยๆ

นายสำราญ รักชาติ ยังกล่าวด้วยว่า เราทุกคนต้องช่วยกันบรรเทาปัญหาดังกล่าวโดยไม่ไปบุกรุกธรรมชาติบริเวณป่าชายฝั่ง ทั้งการก่อสร้างหรือเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติ โดยเฉพาะการลักลอบทำลายป่าชายเลนเพื่อเหตุผลทางเศรฐกิจ ถ้าหากนักท่องเที่ยวต้องการชมความงามของระบบนิเวศชายฝั่ง ควรหลีกเลี่ยงการใช้เรือประเภทเรือยนต์ เพราะการแล่นของเรือยนต์บนผิวน้ำจะก่อให้เกิดกระแสคลื่นทำลายชายฝั่งได้ นอกจากนี้การเลือกที่พักในรูปแบบโฮมสเตย์หรือรีสอร์ทในแต่ละครั้งนักท่องเที่ยวควรตรวจสอบว่าสถานที่แห่งนั้นได้ดำเนินกิจกรรมใดๆ ที่เป็นภัยต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งหรือไม่ เช่น มีการก่อสร้างที่บุกรุกพื้นที่ป่าชายเลน หรือมีการก่อสร้างรุกล้ำไปในทะเล สามารถแจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ดำเนินการได้...

น.ส.กมลวรรณ ชาวนา ตัวแทนจากทีมเคี๊ยก..ก..Comic จากคณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร เล่าว่า ชายฝั่งทะเลของประเทศไทยในหลายพื้นที่ถูกคลื่นกัดเซาะจนทำให้จมหายไปในทะเล บางจังหวัด วัด และโรงเรียน ก็จมหายไป จึงเข้าร่วมประกวดวาดการ์ตูนในโครงการนี้ ด้วยหวังว่าการ์ตูนจะเป็นเครื่องมือที่เข้าถึงเด็กและเยาวชนได้ดี และจะมีส่วนกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกขึ้น โดยได้นำปัญหาจากการกระทำของฝีมือมนุษย์มานำเสนอผ่านการ์ตูนที่วาดในรูปแบบของนายทุนที่เอารัดเอาเปรียบธรรมชาติ หวังผลประโยชน์ของตนเองมากกว่าที่จะสนใจธรรมชาติ เนื้อเรื่องของการ์ตูนจะสอดแทรกสารประโยชน์ให้อ่านง่าย และชี้ให้เห็นผลกระทบที่รุนแรงจากการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อจะได้หันมาใส่ใจและมีส่วนร่วมในการฟื้นฟู

“อยากให้ทุกคนได้รับรู้ว่าขณะที่เรากำลังใช้ชีวิตแบบไม่ใส่ใจธรรมชาติอยู่นี้ ทะเลก็กำลังลุกลามพื้นที่ชายฝั่งอยู่ทุกเวลา เปรียบเสมือนการเอาคืนจากธรรมชาติ จึงถึงเวลาแล้วที่พวกเราคนรุ่นใหม่จะหันมาช่วยกันดูแลและรักษาธรรมชาติค่ะ...” กมลวรรณ กล่าว

จากปัญหาและความเสียหายที่ใหญ่เกินกว่าที่ใครคนใดคนหนึ่งหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งจะรับผิดชอบได้ จึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทั้งชาติที่จะต้องร่วมมือกันในการแก้ปัญหาและฝ่าวิกฤติการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่ออนุรักษ์และรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้มีความสมบูรณ์อยู่คู่ประเทศไทยตลอดไป

http://www.banmuang.co.th/bkk.asp

ไม่มีความคิดเห็น: