วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

"เจริญ"ปะทะ"ซีพี"ชิงทำเลทอง เดิมพันตึกแบงก์ทหารไทยสู้ราคาถึงพันล.

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4080

"เจริญ"ปะทะ"ซีพี"ชิงทำเลทอง เดิมพันตึกแบงก์ทหารไทยสู้ราคาถึงพันล.


กลุ่มเจริญ-ซี.พี. เปิดศึกแย่งประมูลซื้อตึกสำนักงานใหญ่ธนาคารทหารไทยเดิมบริเวณสี่แยกพญาไท หวังต่อยอดผุดอภิโปรเจ็กต์อสังหาริมทรัพย์ ซื้ออนาคต รับโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีแดง แอร์พอร์ตลิงก์ และบีทีเอสส่วนต่อขยายทุกทิศทาง ทั่วกรุงเทพฯที่กำลังจะเกิดใหม่ รวมทั้งศูนย์คมนาคมมักกะสัน ที่เชื่อมตรงสู่สนามบินสุวรรณภูมิ ชี้กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ต่างต้องการได้แลนด์แบงก์กลางเมืองเก็บไว้ในพอร์ต ยอมทุ่มไม่อั้นแลกที่ดินแปลงงาม จับตา 2 บิ๊กกล้าวางเดิมพันเคาะประมูลสูงเฉียดพันล้านบาท


ช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวแม้ธุรกิจส่วนใหญ่หันมาเน้นนโยบายกำเงินสดไว้ในมือ พร้อมๆ กับลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการทุกวิถีทางเพื่อประคองตัวให้อยู่รอด แต่สำหรับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีฐานการเงินแข็งแกร่งช่วงจังหวะนี้ถือเป็นโอกาสดีในการหาซื้อทรัพย์สินที่มีศักยภาพไว้ในมือ โดยเฉพาะโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีศักยภาพในทำเลใจกลางเมืองและแนวรถไฟฟ้า

แหล่งข่าวจากวงการพัฒนาที่ดินเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ล่าสุดจากที่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ได้เปิดให้ผู้สนใจเสนอราคาประมูลซื้ออาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยเดิม บริเวณสี่แยกพญาไท ติดแนวรถไฟฟ้าบีทีเอส ปรากฏว่ากลุ่มทุนใหญ่หลายกลุ่มแสดงความสนใจ อย่างไรก็ตาม ที่เคลื่อนไหวเตรียมเสนอตัวประมูลชัดเจน คือ กลุ่มนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งมีบริษัทพัฒนาที่ดินในมือหลายบริษัท มีการพัฒนาอสังหาฯ ครบวงจร ทั้งศูนย์การค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม บ้านจัดสรร และกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ของตระกูลเจียรวนนท์ ที่ปัจจุบันหันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจอสังหาฯ มากขึ้น และมีโครงการครอบคลุมเกือบทุกประเภทเช่นเดียวกัน

คาดว่าหลังจากที่ธนาคารทหารไทย เปิดให้ยื่นซองประมูลเป็นวันสุดท้ายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ ผู้เสนอตัวประมูลน่าจะเสนอราคาแข่งขันกันเต็มที่ เพื่อให้ได้โครงการนี้มาอยู่ในมือ ที่น่าจับตามองคือเป็นไปได้ว่า ผู้ชนะการประมูลอาจเคาะราคาให้ในระดับที่สูงเฉียด 1,000 ล้านบาท จากราคาเปิดประมูลที่กำหนดไว้ที่ 750 ล้านบาท เพราะแม้ตัวอาคารดังกล่าวจะก่อสร้างและใช้งานมาเป็นเวลานานแล้ว แต่สภาพอาคารยังดี เนื่องจากมีการดูแลรักษามาโดยตลอด ที่สำคัญทำเลที่ตั้งโครงการปัจจุบันเป็นย่านธุรกิจ และอยู่ในทำเลรถไฟฟ้า ทำให้มูลค่าเพิ่มสูงขึ้นทั้งปัจจุบันและในอนาคต

"การประมูลครั้งนี้กลุ่ม ซี.พี.ตั้งความหวังไว้สูงมาก และต้องการซื้อโครงการนี้ไว้ในมือจริงๆ เพราะเห็นว่าอยู่ในทำเลดีมาก ที่สำคัญนอกจากนำมาปรับปรุงเปิดให้เช่าเป็นออฟฟิศแล้ว ในอนาคตสามารถนำมาพัฒนาเป็นโครงการขนาดใหญ่ได้หลาย รูปแบบ เป็นไปได้ว่าอาจสู้ราคาถึง 950 ล้าน แต่ถ้าสูงกว่านั้นก็คงต้องยอมหลีกทางให้กลุ่มนายเจริญ แต่เชื่อว่า กลุ่ม ซี.พี.น่าจะมีโอกาสสูง ทำให้การประมูลครั้งนี้จึงถูกจับตาจากคนในวงการอย่างมาก"

ขณะที่กลุ่มนายเจริญก็หมายตาโครงการนี้เช่นเดียวกัน เพราะนอกจากจะอยู่ใกล้กับโครงการวิลล่า ราชเทวี วิลล่า ราชเทวี ซึ่งตั้งอยู่บนเนื้อที่ 4 ไร่เศษ บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสพญาไท รูปแบบเป็นคอนโดฯ สไตล์ minimalist สูง 44 ชั้น 1 อาคาร และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ สูง 22 ชั้น 1 อาคาร รวม 500 ยูนิต มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาทแล้ว ยังอยู่ใกล้แนว รถไฟฟ้าสายสีแดงบางซื่อ-รังสิต ที่มีแผนจะเชื่อมเส้นทางจากพญาไทไปยังมักกะสัน

ขณะเดียวกันในอนาคตมักกะสันจะเป็นศูนย์กลางการเดินทางไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ โดยรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ที่กำลังจะเปิดให้บริการ นอกจากนี้ในอนาคตการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ยังมีแผนจะเปิดให้เอกชนเข้าพัฒนาที่ดิน ผืนใหญ่ 500 ไร่ย่านมักกะสันด้วย สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ขณะนี้เริ่มมั่นใจได้มากขึ้นว่าจะเกิดขึ้นแน่ เพราะช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ผู้รับเหมาลงพื้นที่แล้ว ส่วนบางซื่อ-รังสิต แม้ยังไม่ได้เปิดประมูลแต่อีกไม่นานคงมีการก่อสร้าง ซึ่งจะเชื่อมโยงกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือบีทีเอสส่วนต่อขยายจากหมอชิต-สะพานใหม่ จากอ่อนนุช-แบริ่ง ส่วนต่อขยายไปฝั่งธนฯ และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บางซื่อ-ท่าพระ และท่าพระ-บางแคด้วย

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สาเหตุที่ขายตึกสำนักงานใหญ่เดิม ย่านถนนพญาไท เป็นเพราะเห็นว่าเป็นทรัพย์ที่ธนาคารไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ส่วนใหญ่เป็นอาคารสำนักงานให้เช่า ซึ่งไม่ใช่ธุรกิจหลัก ขณะเดียวกันเจ้าของตึกนี้เป็นกองทุนอสังหา ริมทรัพย์ (property fund) ธนาคารจึงไม่ได้เจ้าของตึกเพียงรายเดียว แต่ถือหน่วย ลงทุนร่วมกับผู้ถือหน่วยลงทุนรายอื่นๆ

ขายเพราะต้องการให้ความสำคัญกับธุรกิจที่ให้บริการลูกค้า ธุรกิจไหนที่ไม่เกี่ยวข้องก็จะทยอยตัดออกไป ทำให้คนที่เคยอยู่ในส่วนต่างๆ กลับเข้ามาโฟกัสกับธุรกิจของธนาคาร นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ไม่ต้องการให้ธุรกิจ ธนาคารถือทรัพย์สินเหล่านี้ไว้นาน ที่ขายไม่ใช่เพราะต้องการใช้เงินหรือประหยัดเงินกองทุน เพราะมูลค่าของตึกแห่งนี้ไม่มากขนาดกระทบกับเงินกองทุนที่ธนาคารต้องสำรอง

ธนาคารจะขายตึกนี้มานานแล้ว แต่เลือกช่วงนี้เพื่อให้สอดคล้องกับแผนของธนาคารที่ต้องการลดธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก แม้แนวโน้มราคาจะไม่ดีตามภาวะเศรษฐกิจก็ไม่เป็นไร ถ้ารอต่อไปก็ไม่สามารถประเมินได้ว่าสถานการณ์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร และขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการเสนอขาย NPL ออกจำนวน 2 หมื่นล้านบาท สินทรัพย์พร้อมขาย หรือ NPA 1 หมื่นล้านบาทคาดว่าจะได้ข้อสรุป 1-2 เดือนนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ตระกูลสิริวัฒนภักดีขยายฐานการลงทุนอสังหาฯอย่างมาก ทั้งลงทุนภายใต้บริษัทในกลุ่มเอง และการลงทุนกับพันธมิตรต่างชาติ อย่างบริษัท ที.ซี.ซี. แคปปิตอลแลนด์ จำกัด ทำให้ปัจจุบันกลุ่มนี้มีโครงการอสังหาฯ หลากหลายประเภทครอบคลุมทุกทำเล อาทิ โครงการนอร์ธพาร์ค เพลส คอนโดฯหรูกลางสนามกอล์ฟ มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท, วิลล่า สาทร คอนโดฯ สูง 40 ชั้น 660 ยูนิต มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท, วิลล่า ราชเทวี คอนโดฯ และเซอร์วิสอพาร์ต เมนต์ มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท

แอทธินี เรสซิเด้นท์ คอนโดฯ สูง 40 ชั้น 219 ยูนิต ราคาขายเฉลี่ย 1 แสนบาท/ ตร.ม. มูลค่าโครงการ 4,000 ล้านบาท, เดอะ รอยัล เรสซิเด้นท์ เกษตร-นวมินทร์ บ้านเดี่ยวไฮเอนด์ ราคา 40-120 ล้านบาท และพื้นที่เชิงพาณิชย์ มูลค่าโครงการรวม 2,800 ล้านบาท, ดิ เอ็มไพร์ เพลส คอนโดฯ สไตล์ชิคาโกร่วมสมัย โฟกัสกลุ่มคนรุ่นใหม่ มูลค่าโครงการ 4,700 ล้านบาท, คอนโดฯ วิลล่า ราชครู มูลค่าโครงการ 280 ล้านบาท, คอนโดฯ ดิ เอ็มไพร์ เพลส สุขุมวิทซอย 24 มูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท, ศูนย์การค้าเกตเวย์, เดอะมาร์เก็ต เป็นต้น

ส่วนกลุ่มตระกูลเจียรวนนท์ แม้ก่อนหน้านี้จะไม่ได้เน้นลงทุนพัฒนาอสังหาฯ มากนัก แต่ช่วงหลังให้ความสำคัญกับธุรกิจนี้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันให้ทายาทในตระกูลก้าวเข้าสู่ธุรกิจอสังหาฯ โดยพัฒนาโครงการบ้านเดี่ยวและคอนโดฯ หลายโปรเจ็กต์ทั้งในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และต่างจังหวัด เช่น บ้านเดี่ยวและคอนโดฯ โครงการแมกโนเลีย บางนา ซึ่งจับตลาดระดับบนเป็นหลัก, คอนโด เดอะ มิวซ์ สุขุมวิท 64 ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ของทายาทตระกูลเจียรวนนท์, คอนโดฯ เดอะ เฌอ ที่เมืองพัทยา ชลบุรี 792 ยูนิต มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท, อาคารสำนักงาน ซี.พี.ทาวเวอร์ ใน กทม. และขอนแก่น

คอนโดฯบนถนนศรีนครินทร์ ก.ม.8 มูลค่าโครงการ 700 ล้านบาท, โครงการ โคซี่ พาร์ค บนถนนประชารวมใจ มีนบุรี เป็นบ้านเดี่ยว 274 ยูนิต มูลค่าโครงการ 960 ล้านบาท, ซิตี้โฮม พาร์ค นครศรี ธรรมราช เป็นบ้านเดี่ยวและบ้านแฝด 320 ยูนิต มูลค่าโครงการ 960 ล้านบาท ที่ดินรอการพัฒนา 3,000 ไร่ ในจังหวัดระยอง ฯลฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากกลุ่มทุนใหญ่ 2 รายดังกล่าวแล้ว ก่อนหน้านี้ บมจ.ธนายง ของนายคีรี กาญจนพาสน์ ก็เป็นอีกรายหนึ่งที่ซื้อที่ดินตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าบีทีเอสไว้รองรับการพัฒนาในอนาคตจำนวนมาก อาทิ ที่ดินเปล่าข้างอาคารพญาไทพลาซ่า 2 ไร่เศษ, คอนโดฯ ซึ่งเดิมเป็นของ บมจ.เนเชอรัลพาร์ค ย่าน ลาดพร้าว, ที่ดินติดสถานีรถไฟฟ้านานา 3 ไร่เศษ, ที่ดินบริเวณสถานีรถไฟฟ้าสุรศักดิ์, ที่ดินติดธนาคารทหารไทย สำนักงานใหญ่ เขตจตุจักร

หน้า 1 http://matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02p0101160252&day=2009-02-16§ionid=0201

ไม่มีความคิดเห็น: