วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ข้าราชการอันตรายกว่าวัตถุอันตราย

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4080

ข้าราชการอันตราย กว่าวัตถุอันตราย
บทบรรณาธิการ

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะกรรมการวัตถุอันตราย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ประกาศบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2552 ให้ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืชซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีเฉพาะที่นำไปใช้ป้องกันกำจัด ทำลาย ควบคุม แมลง วัชพืช โรคพืช ศัตรูพืช หรือควบคุมการเจริญเติบโตของพืช 13 ชนิด ได้แก่ สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ พริก ตองตึง หนอนตายหยาก ขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1

นั่นหมายความว่า นับจากนี้ไปผู้ประกอบการต้องแจ้งการผลิต นำเข้า ส่งออกเพื่อขาย แม้ต่อมานายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะที่เป็นผู้เสนอเรื่องนี้จะออกมาชี้แจงว่า จะเน้นหนักเฉพาะการนำเอาสมุนไพรเหล่านี้มาแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อใช้กำจัดแมลงหรือเป็นยาปราบศัตรูพืช ไม่ได้เกี่ยวกับการปลูก การจำหน่าย หรือเอามาใช้ในการรักษาโรคก็ตาม

ทันทีที่มีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมก็มีเสียงค้านจากกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรเอกชน อาทิ เครือข่ายหมอพื้นบ้าน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายสุขภาพวิถีไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน และยังมีองค์กรต่างๆ อีกหลายองค์กรที่ออกมาคัดค้านและเรียกร้องให้กระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิกคำประกาศดังกล่าว

อย่างไรก็ตามประกาศฉบับนี้ออกมาได้สะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดและวิธีทำงานของระบบราชการ เป็นการคิดในกรอบราชการที่ไม่ทันยุคทันสมัย ไม่ทันเหตุการณ์ความเปลี่ยนไปของโลกธุรกิจ ว่าทุกวันนี้ผู้บริโภคได้หันมาใช้พืชสมุนไพรมากขึ้น ยิ่งพืชทั้ง 13 ชนิดที่ประกาศว่าเป็นวัตถุอันตราย อันที่จริงพืชสมุนไพรดังกล่าวอยู่คู่คนไทยเพื่อใช้เป็นอาหาร ยารักษาโรค เครื่องสำอางและยาไล่แมลงมานาน ก็ยังไม่เห็นว่าจะมีอันตรายถึงขั้นที่ต้องมีกฎหมายควบคุมแต่อย่างใด

จึงทำให้เกิดความสงสัยว่า ประกาศดังกล่าวที่มีต้นเรื่องจากกรมวิชาการเกษตรที่ผลักดันเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะอับจนปัญญาหรือเป็นเพราะต้องปฏิบัติตามใบสั่งของนักการเมืองที่มีเบื้องหลังแอบแฝง

เนื่องจากกลุ่มธุรกิจข้ามชาติบางรายได้รับผลกระทบทางธุรกิจ ถูกกลุ่มชมรมแม่บ้านได้ผลิตยาฆ่าแมลงที่ใช้สมุนไพรพื้นบ้านแย่งส่วนแบ่งตลาดอย่างหนัก จึงทำให้เกิดการวิพากษ์วิจาณ์ว่า น่าจะมีบริษัทเอกชนที่เสียประโยชน์เรื่องนี้ผลักดันผ่านนักการเมืองบางคน

หากเป็นเช่นนี้จึงน่าเสียดายที่ข้าราชการ นักการเมืองออกประกาศนี้มาเพื่อปิดกั้นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มุ่งเน้นการพึ่งพาตนเองตามวิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง และจะส่งผลกระทบกับกลุ่มเกษตรกรที่ใช้สารอินทรีย์ ผู้ประกอบการรายย่อยที่ผลิตสินค้าที่เน้นการใช้สารอินทรีย์ และกลุ่มชมรมแม่บ้านต่างๆ อีกด้วย หากทางราชการยังเดินหน้าประกาศ ไม่ยอมยกเลิกตามข้อเรียกร้องของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน นั่นแสดงว่าข้าราชการนั่นแหละที่อันตรายกว่าวัตถุอันตรายหลายเท่า

หน้า 2 http://matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02edi02160252&day=2009-02-16§ionid=0212

ไม่มีความคิดเห็น: