วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

"ปัญหาสภาพ (ไม่) คล่อง"

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4080

"ปัญหาสภาพ (ไม่) คล่อง"
คอลัมน์ มองซ้ายมองขวา
โดย ภาวิน ศิริประภานุกูลpawin@econ.tu.ac.th

เราได้พบเห็นกระแสข่าวการลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในประเทศต่างๆ ทั่วโลกมาตั้งแต่ในช่วงปีก่อนนะครับ โดยในช่วงแรกการปรับลดดอกเบี้ยเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ต้นเหตุของปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ แต่ในช่วงครึ่งหลังของปีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายนี้ได้กลายเป็นกระแสหนึ่งของธนาคารกลางทั่วโลก

ในโลกของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ยุคก่อน การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงนี้น่าจะทำให้เกิดการไหลเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น นั่นคือผู้ผลิตก็น่าจะอยากกู้เงินเพื่อมาลงทุนมากยิ่งขึ้นเนื่องจากต้นทุนในการกู้เงินของพวกเขาต่ำลง ในขณะที่ผู้ฝากเงินก็ไม่น่าจะอยากฝากเงินเอาไว้ในธนาคารเนื่องจากดอกผลจากการฝากลดน้อยลง พวกเขาน่าจะนำเงินในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นออกไปจับจ่ายใช้สอย

ถ้าโลกแห่งความเป็นจริงของพวกเราเป็นไปตามโลกแห่งทฤษฎีง่ายๆ ข้างต้นนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกก็น่าจะนำมาซึ่งการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจกลับไปสู่ระดับก่อนหน้าของการเกิดวิกฤตได้

แต่โลกแห่งความจริงมันไม่ง่ายอย่างนี้นะสิครับ ผู้คนในโลกแห่งความจริงฉลาด มีวิธีคิด การคาดการณ์อนาคต และการปรับตัวตามสถานการณ์ที่ค่อนข้างซับซ้อน พวกเขาไม่ได้มองแค่ปัจจัยในอดีต (ในลักษณะ adaptive expectation) ว่าระบบเศรษฐกิจมันเคยรุ่งเรืองมาก่อน ต่อมามันแย่ลงนิดหน่อย พอดอกเบี้ยลดลงพวกเขาก็ฝากเงินน้อยลงหรือกู้เงินมาลงทุนและใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น

ในความเป็นจริงผู้คนมีการคาดการณ์ถึงสถานการณ์ในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้น พวกเขาเฝ้าติดตามข่าวสารข้อมูลรอบตัวเพื่อประเมินสถานการณ์ให้แม่นยำมากที่สุด พวกเขานำเอาภาพในอดีตมามีส่วนในการตัดสินใจน้อยมาก อัตราดอกเบี้ยจึงเป็นแค่ปัจจัยเล็กๆ ปัจจัยเดียวที่แทบจะไม่ได้มีความสำคัญอะไรต่อการตัดสินใจของพวกเขามากนัก ถ้าหากมันไม่ส่งผลต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในอนาคต

โดยส่วนตัวผมค่อนข้างมั่นใจว่าผู้คนในประเทศที่เคยยากจนมาก่อนแต่มีภาพเศรษฐกิจในอนาคตที่สดใสอยู่ในใจ จะใช้จ่ายเงินในสัดส่วนที่สูงมากกว่าผู้คนในประเทศที่เคยรุ่งเรืองมาก่อนแต่มีภาพเศรษฐกิจในอนาคตที่ค่อนข้างมืดมนรออยู่

ถ้าหากมีใครสักคนสามารถที่จะกดปุ่มอะไรสักปุ่มแล้วสร้างภาพเศรษฐกิจที่สดใสขึ้นในใจของผู้คนทั่วโลกได้พร้อมกัน วิกฤตเศรษฐกิจก็อาจจะไม่ได้เป็นปัญหาอะไร แค่ลดดอกเบี้ยลง กลุ่มผู้ผลิตก็น่าจะพร้อมเข้าลงทุนขยายกิจการของพวกเขา ในขณะที่ผู้บริโภคก็น่าจะปรับเพิ่มการใช้จ่ายของพวกเขาให้มากยิ่งขึ้น

ปัญหาก็คือไม่มีใคร แม้แต่ตัวผู้ว่าการธนาคารกลางที่อดีตเป็นนักวิชาการผู้มากความสามารถหรือตัวประธานาธิบดีที่ผู้คนในวงกว้างยอมรับนับถือ ที่จะสามารถสร้างภาพเศรษฐกิจในอนาคตที่มีความชัดเจน สดใส ขึ้นในใจของผู้คนทุกคนพร้อมกันได้ ปัญหาปลีกย่อยต่างๆ มันจึงตามมาครับ

หนึ่งในปัญหาหลักปัญหาหนึ่งที่หลายๆ ประเทศในโลกพัฒนาแล้วกำลังประสบอยู่ก็คือปัญหาการขาดสภาพคล่องของภาคธุรกิจ ถึงแม้ธนาคารกลางในประเทศเหล่านี้จะได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีการอัดฉีดเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบสถาบันการเงินแล้วก็ตาม แต่เม็ดเงินใหม่เหล่านี้ไม่สามารถทำให้เกิดการกู้เงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้เท่าที่ควร

ปัญหามีอยู่ทั้งสองด้านครับ สำหรับกลุ่มผู้ผลิตที่มีความแข็งแกร่งพวกเขาก็ไม่รู้จะกู้เงินมาทำอะไรในช่วงนี้ ผู้ผลิตกลุ่มนี้มักจะชะลอโครงการขยายกิจการ ปรับลดกำลังการผลิตลง เก็บสะสมเงินสดเพื่อป้องกันเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

สำหรับกลุ่มผู้ผลิตที่กำลังต้องการสภาพคล่องเข้ามาเสริม ทางสถาบันการเงินก็ไม่อยากหรือไม่สามารถปล่อยกู้ให้กับพวกเขาได้ ไม่ต้องพูดถึงตัวผู้บริโภคครับ เพราะผู้กู้กลุ่มนี้มีสภาวะสุ่มเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มผู้ผลิตในกลุ่มหลังเสียอีก

ดูเหมือนว่าปัญหาเหล่านี้จะยิ่งลุกลามเป็นวงจรต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ เมื่อสถาบันการเงินไม่สามารถปล่อยกู้ให้กับผู้ผลิตบางรายได้ ผู้ผลิตเหล่านั้นก็ล้มละลาย รายงานข่าวการล้มละลายยิ่งทำให้ผู้คนระมัดระวังการใช้จ่ายและสถาบันการเงินจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยกู้ ผู้ผลิตกลุ่มใหม่ๆ ก็ยิ่งประสบกับสภาวะล้มละลายมากขึ้นไปอีก ฯลฯ

ทางการของทั้งสองประเทศก็มองเห็นปัญหาเหล่านี้ครับ และต่างมองว่าการตัดวงจรดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ ในปัจจุบันภาครัฐทั้งสองประเทศกำลังพุ่งเป้าความสนใจไปที่การแก้ปัญหาเรื่องนี้อยู่

ด้วยกติกาควบคุมความเสี่ยง basel 2 และมาตรฐานระบบบัญชี IFRS ที่หลายๆ ประเทศประกาศใช้อยู่ได้ทำให้สถาบันการเงินหลายๆ แห่งในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษประสบปัญหาในการปล่อยเงินกู้ เนื่องจากกติกาทั้งสองผูกติดความสามารถในการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินไว้กับเงินกองทุนของตัวสถาบันการเงินเอง

เมื่อสถาบันการเงินประสบภาวะขาดทุนจากเงินลงทุนหรือตัวหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อื่นๆ เงินกองทุนของพวกเขาจะลดน้อยลงจากการตัดภาระขาดทุนดังกล่าว สถาบันการเงินเหล่านี้ก็ถูกกติกาข้างต้นบีบให้จำเป็นต้องลดปริมาณการปล่อยสินเชื่อของตนเองลง

ทางการในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษได้เข้ามาแก้ปัญหานี้ด้วยการอัดฉีดเงินเข้าไปในส่วนของ "ทุน" (ไม่ใช่ส่วนของเงินกู้) ให้กับสถาบันการเงินที่ยังค่อนข้างมีเสถียรภาพ โดยส่วนมากทางภาครัฐจะเข้าไปซื้อหุ้นด้อยสิทธิซึ่งทำให้ภาครัฐมีสถานะเป็นเสมือนเจ้าของสถาบันการเงินเหล่านั้นแต่ภาครัฐจะไม่มีอำนาจเข้าไปก้าวก่ายการทำงานของตัวสถาบันการเงิน

การเพิ่มขึ้นของเงินทุนได้ส่งผลให้ธนาคารมีความสามารถในการปล่อยเงินกู้เพิ่มมากขึ้น แต่ตัวธนาคารเองก็ยังคงกังวลกับปัญหาหนี้ NPL ที่อาจเกิดขึ้นใหม่จากเงินกู้ก้อนใหม่ ดังนั้นเราจึงได้เห็นมาตรการเพิ่มเติมในส่วนของการเข้ามาค้ำประกันเงินกู้บางส่วนให้กับทางสถาบันการเงิน

ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ภาครัฐประเทศอังกฤษได้ประกาศเข้ามาค้ำประกันเงินกู้ 50 เปอร์เซ็นต์ให้กับการปล่อยกู้แก่ผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยเงินค้ำประกันทั้งหมดจากภาครัฐจะอยู่ที่ระดับ 2 หมื่นล้านปอนด์ โดยเพื่อแลกกับการค้ำประกันดังกล่าวสถาบันการเงินจะต้องจ่ายเงินพรีเมี่ยมให้กับภาครัฐเป็นการตอบแทน

นั่นคือทางธนาคารจ่ายค่าพรีเมี่ยมให้กับภาครัฐนิดหน่อยเพื่อแลกกับการปล่อยกู้ที่มีความเสี่ยงลดลงไปครึ่งหนึ่ง และทางธนาคารก็มีอำนาจในการตัดสินใจอย่างเต็มที่ว่าพวกเขาจะเลือกปล่อยกู้ให้กับลูกค้ารายใดบ้าง

ทั้งสองวิธีแก้ปัญหาเป็นวิธีที่น่าสนใจครับ ภาครัฐในประเทศทั้งสองได้ยื่นมือเข้ามาช่วยลดข้อจำกัดในการปล่อยกู้ของบรรดาสถาบันการเงินโดยที่พยายามระมัดระวังตนเองเป็นอย่างมากที่จะไม่เข้าไปก้าวก่ายการทำงานและนโยบายในการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินดังกล่าว

ในความเป็นจริงมีวิธีเสริมสภาพคล่องที่ง่ายและรวดเร็วกว่านี้อยู่มากครับ โดยภาครัฐเข้าไปทำการปล่อยกู้ให้กับภาคธุรกิจที่ขาดสภาพคล่องเสียเอง ข้อเสียก็คือมีความเป็นไปได้สูงที่กลุ่มผู้ผลิตที่มีอำนาจต่อรองทางการเมืองสูงจะเป็นกลุ่มที่ได้เงินกู้ไป ไม่ใช่กลุ่มผู้ผลิตที่มีศักยภาพในการใช้คืนเงินกู้

นอกจากนั้นระดับปฏิบัติของทางภาครัฐเองก็ไม่มีประสบการณ์ในการปล่อยเงินกู้มาก่อน ลองดูย้อนไปถึงเงินกองทุนหมู่บ้านของเมืองไทยก็ได้ครับ ระดับปฏิบัติสามารถปล่อยเงินกู้หมู่บ้านละล้านได้หมดภายในพริบตาตามที่ภาคนโยบายสั่งการลงมา แต่ว่าเงินกองทุนดังกล่าวขาดทุนมโหฬาร

ปัญหาสำคัญอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่กำลังรอการแก้ไขจากทางภาครัฐในประเทศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษก็คือปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในภาคสถาบันการเงินครับ

สินทรัพย์ด้อยคุณภาพเหล่านี้กำลังตามหลอกหลอนสถาบันการเงินต่างๆ อยู่อย่างไม่เลิกรา เนื่องจากมูลค่าที่ลดลงของสินทรัพย์เหล่านี้ก่อให้เกิดการขาดทุนขึ้นกับตัวสถาบันการเงิน เมื่อเกิดการขาดทุนสถาบันการเงินก็ต้องตัดภาระขาดทุนดังกล่าวในส่วนทุนของตนเอง ซึ่งก็สร้างภาระข้อจำกัดในการปล่อยกู้ของตนขึ้นมาอีก

ดูเหมือนทางภาครัฐในประเทศอังกฤษและตัว Mr.Ben Bernanke ผู้ว่าการธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาก็เข้าใจในปัญหานี้ดี และมีการออกมากล่าวถึงปัญหาในลักษณะนี้อยู่เนืองๆ

การแก้ปัญหาที่ตรงจุดน่าจะอยู่ที่การจัดตั้งสถาบันที่รับซื้อบรรดาหนี้เสียเหล่านี้ออกจากระบบสถาบันการเงินทั้งหมด เหมือนกับที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้เคยจัดทำขึ้นในช่วงวิกฤตการเงินของเราในปี พ.ศ.2540

แต่อุปสรรคสำคัญของการจัดตั้งสถาบันนี้อยู่ที่การตีมูลค่าสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่จะต้องใช้เงินภาษีของคนในประเทศไปรับซื้อมาครับ เนื่องจากถ้าตีมูลค่าให้สูงเกินไปภาครัฐก็อาจสูญเงินภาษีของประชาชนไปอย่างไม่จำเป็น แต่ถ้าตีมูลค่าให้ต่ำเกินไปมาตรการดังกล่าวก็อาจจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องให้กับภาคเศรษฐกิจได้เท่าที่ควร เนื่องจากจะทำให้สถาบันการเงินต่างๆ ที่ต้องการขายสินทรัพย์ดังกล่าวเกิดภาระขาดทุนมหาศาลซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการปล่อยเงินกู้ของพวกเขาอีกทอดหนึ่ง

ดูเหมือนพรรครีพับลิกันในสหรัฐอเมริกาจะให้ความสำคัญกับการสูญเงินภาษีของประชาชนไปโดยใช่เหตุอยู่เป็นอันมากครับ โดยสมาชิกพรรคเกือบทุกคนในสภาให้ความสำคัญกับความรอบคอบในการใช้เงินภาษีเหล่านี้เป็นอย่างสูง

ไม่น่าเชื่อว่านี่เป็นพรรคการเมืองที่เคยเป็นฝ่ายบริหารประเทศของสหรัฐอเมริกาในยุคเฟื่องฟู ในยุคที่ Mr.Lawlence Summers ได้ให้ความเห็นเมื่อเร็วๆ นี้ว่าเป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในรอบนี้ครับ

หน้า 34 http://matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02edi06160252&day=2009-02-16§ionid=0212

ไม่มีความคิดเห็น: