วันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ก.ม.แก้ความรุนแรงในครอบครัวมากกว่าให้ความสงสาร-โกรธแค้น

ก.ม.แก้ความรุนแรงในครอบครัวมากกว่าให้ความสงสาร-โกรธแค้น

ด้วยความต้องการให้การดำเนินคดีความรุนแรงในครอบครัวเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ศาลอาญาธนบุรี ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดประชุมสัมมนา เรื่อง “วิธีพิจารณาคดีความรุนแรงในครอบครัวตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 เฉพาะส่วนที่อยู่ในอำนาจศาลธนบุรี” ณ โรงแรมรอยัลซิตี้ โดยศ.เสน่ห์ จามริก ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงสิทธิมนุษยชนของผู้เสียหายในคดีความรุนแรงในครอบครัวว่า คือความหมายของสิทธิมนุษยชน สังคม ครอบครัวต่างๆ น่าจะทำความชัดเจน เพราะทั่วไปมักตีความหมายสิทธิมนุษยชนในเชิงใครดีใครได้ ความจริงแล้วสิทธิมนุษยชนเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวชีวิตในสังคม หัวใจสำคัญสิทธิมนุษยชนให้ความเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของแต่ละบุคคล

ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนกล่าวถึงประเด็นที่สอง คือการออกกฎหมายหรือการวางกระบวนการพิจารณาต่างๆ ต้องมองในความมีชีวิตของสังคมโดยรวมด้วย จึงให้ความสำคัญกับมาตรการป้องปรามเป็นอันดับแรก ป้องปรามเชิงเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ในกระบวนการยุติธรรม น่าจะมีบทบาทที่เกี่ยวข้องในมาตรการนี้ด้วย เช่นการออกกฎหมายในการวางมาตรการต่างๆ อยากเห็นกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวข้อง ไม่ควรปล่อยให้เป็นเรื่ององค์กรใดองค์กรหนึ่ง โดยเฉพาะคดีความในครอบครัวจะช่วยอย่างมาก และประเด็นที่สาม ความพยายามทั้งหมดจะมีหลักเกณฑ์การประเมินความสำเร็จหรือความล้มเหลวอย่างไร ไม่ใช่เป็นการประเมินความสำเร็จหรือล้มเหลวเฉพาะในส่วนของคดี แต่เป็นในแง่ของความมั่นคงและสันติสุขของสังคมโดยรวม

ศ.พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ปัญหาความสำคัญความรุนแรงในครอบครัว ชุนชน สังคม และวิถีชีวิตของคนในสังคมนิยมความรุนแรงในการแก้ปัญหา โดยมองไม่เห็นพิษภัยอันร้ายแรง สังคมตะวันตกตระหนักถึงปัญหาภัยร้ายของความรุนแรงมานาน และเริ่มต้นแก้ปัญหาที่บ้าน โรงเรียน ศาสนา ซึ่งบ้านเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่สุด ความรุนแรงในจิตใต้สำนึก ในระบบคิด และพฤติกรรมของคนเริ่มต้นที่บ้านและถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นจากผู้กระทำจะพร้อมเรียนรู้พฤติกรรมและกระทำต่อคนรอบข้างที่อ่อนแอกว่าต่อไป เจตนารมณ์ประการแรกของกฎหมายการคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว มุ่งแก้ปัญหาที่จุดเริ่มต้นของปัญหาความรุนแรงในสังคม ก่อนขยายกลายเป็นปัญหาทางด้านสังคม ชีวิต เศรษฐกิจ การเมือง

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงประการที่สองว่ามุ่งเปลี่ยนหลักคิดความเชื่อและวิธีปฏิบัติเดิมของสังคมไทย ว่าปัญหาของครอบครัว เป็นเรื่องภายในครอบครัว คนนอกและรัฐไม่เกี่ยว จุดเล็กๆขยายตัว วันหนึ่งกลายเป็นระเบิดให้คนในระบบงานยุติธรรม กฎหมายต้องเข้าไปจัดการ และจัดการอย่างผิดพลาด เพราะคุ้นเคยกับการกับอาชญากร แต่เรื่องนี้เป็นปัญหาของวิถีชีวิตมนุษย์ที่รอการพิจารณาแก้ไข ประการที่สาม ต้องการเปลี่ยนการใช้ระบบงานยุติธรรมทางอาญา กฎหมายอาญา เป็นระบบงานประสานระหว่างระบบงานยุติธรรมทางอาญา งานสังคมสงเคราะห์ งานเวชกรรม งานสาขาอื่นๆ เนื่องจากพบชัดเจนว่า ระบบงานยุติธรรมอาญาของแทบทุกสังคมไม่ได้ออกแบบหรือถูกสร้างขึ้นมาแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว แต่เพื่อป้องกันปรามปราบอาชญากรรม ส่วนประการที่สี่ ต้องการช่วยผู้ถูกกระทำไม่ใช่ผิดแค่เอาตัวผู้กระทำไปดำเนินคดีอาญาเท่านั้น
“เจตนารมณ์สุดท้ายของกฎหมายนี้ ถูกทำให้ชัดขึ้น เพราะคำวิจารณ์และข้อขัดค้านการนำเสนอร่างกฎหมายนี้ในยุคแรกๆว่า กฎหมายนี้จะมาทำลายครอบครัว ซึ่งจากการประชุมได้ข้อยุติว่า เจตนารมณ์ต้องชัดเจนว่า ระบบงาน คนเข้าทำงาน อย่าทำในการสงสารเหยื่ออย่างเดียว และโกรธแค้นรังเกียจผู้กระทำรุนแรง ต้องเปลี่ยนหลักคิดใหม่เหยื่อรอการช่วยเหลือแบบหนึ่ง ผู้กระทำความรุนแรงก็รอการช่วยเหลืออีกแบบหนึ่ง และเป็นครอบครัวที่น่าสงสารกำลังล่มสลาย ต้องมีส่วนช่วยอย่างมาก” ศ.พิเศษจรัญกล่าว
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=191171&NewsType=1&Template=1

ไม่มีความคิดเห็น: