วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

“มหกรรมประชาชนอาเซียน: ASEAN Peoples’ Forum – ภาคประชาชนเดินหน้าสู่อาเซียน” วันที่ 20-22 ก.พ. ที่จุฬาฯ

เดินหน้างานคู่ขนาน ภาคประชาชนเตรียมจัด ‘มหกรรมประชาชนอาเซียน’ 20-22 ก.พ.



เมื่อวันที่ 18 ก.พ. เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมสมาคมนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะกรรมการจัดงานมหกรรมประชาชนอาเซียน แถลงข่าวการจัดงาน “มหกรรมประชาชนอาเซียน: ASEAN Peoples’ Forum – ภาคประชาชนเดินหน้าสู่อาเซียน” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-22 ก.พ. ที่จุฬาฯ

สุภาวดี เพชรรัตน์ คณะกรรมการจัดงานมหกรรมประชาชนอาเซียน กล่าวว่า ในงานครั้งนี้ จะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ 34 กลุ่มด้วยกัน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ 1.เรื่องสันติภาพและความมั่นคงของมนุษย์ ความมั่นคงของประชาชนในภูมิภาค ซึ่งจะมีกลุ่มย่อยต่างๆ เช่น สัญชาติ การจัดตั้งและกลไกสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมากว่าจะเกิดขึ้นในอาเซียนได้จริงหรือไม่ 2.เรื่องสังคมวัฒนธรรมซึ่งเป็นเสาสำคัญของอาเซียน โดยจะมีการพูดถึงเรื่องสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ การจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงประเด็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ 3.เรื่องวิกฤติเศรษฐกิจ รวมถึงวิกฤติทางอาหาร และข้อตกลงทางการค้าต่างๆ

ทั้งนี้ ในวันที่ 22 ก.พ. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุม จะมีการแลกเปลี่ยนกับ สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน และกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะของประธานจัดงานอาเซียน ขณะที่ข้อเสนอจากผู้เข้าร่วมทั้งหมดจะถูกนำเสนอในที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 28 ก.พ.

ปกป้อง ลาวัณย์ศิริ เจ้าหน้าที่โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย (ฟอรั่ม-เอเชีย) กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีไทยบอกว่ารัฐบาลจะนำอาเซียนไปสู่ความเป็นภูมิภาคที่มีความห่วงใยซึ่งกันและกัน แต่ในอีกด้านหนึ่งรัฐบาลก็มีนโยบายชัดเจนที่จะผลักดันผู้ลี้ภัยซึ่งเป็นประชาชนโรฮิงยาออกนอกประเทศ มันก็ขัดแย้งกันเองว่าเราจะสร้างประชาคมแห่งความห่วงใยได้อย่างไร

เขาเล่าว่า จากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอาเซียนและนักวิชาการ พบว่า ในรอบ 1 ปีมีการประชุมอาเซียนประมาณ 600 ครั้ง แต่หากดูจากแผนการที่อาเซียนลงนามจะเห็นได้ว่า มีการปฏิบัติตามข้อตกลงไม่ถึง 50% ไม่ว่าข้อตกลงนั้นจะดีหรือไม่ก็ตาม นี่เป็นประเด็นที่ตั้งคำถามกับศักยภาพของอาเซียน ตัวอย่างเช่น อาเซียนมีเอกสารที่เรียกว่าแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ และแผนปฏิบัติการฮานอยซึ่งมีการลงนามในปี 1999 มีการพูดถึงเรื่องการผลักดันให้ปฏิบัติตามสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ 2 สนธิสัญญา คือ สนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และสนธิสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง แต่หากดูกรณีที่เกิดขึ้นในไทย รวมถึงชาติต่างๆ ในอาเซียน จะพบว่ายังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเด็กและสตรีเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปกป้องมองว่า การที่ภาคประชาชนมารวมตัวกันในเดือนนี้กว่า 1,000 คนสะท้อนให้เห็นว่า ขณะที่เราตั้งคำถามกับอาเซียน ก็มีความคาดหวังกับอาเซียนเช่นเดียวกัน ซึ่งคำถามอยู่ที่ว่ารัฐบาลไทย ซึ่งจะเป็นประธานอาเซียนในช่วง 2 ปีนี้ จะผลักดันให้อาเซียนเป็นอาเซียนสำหรับประชาชนได้จริงแค่ไหน

มนตรี จันทวงศ์ จากมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวว่า การพัฒนาโครงข่ายพลังงานของอาเซียน หรือ ASEAN Power Grid มีการพูดถึงก่อนหน้านี้ 4-5 ปี ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายโรงไฟฟ้า ท่อแก๊สธรรมชาติ เชื่อมโยงทุกประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยส่วนที่มีการพัฒนาค่อนข้างชัดเจนคือแผนที่จะสร้างเขื่อนบนแม่น้ำ 2 สายหลัก ได้แก่ แม่น้ำโขงและแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน

มนตรี กล่าวว่า เขื่อนในแม่น้ำโขงถ้าไม่นับรวมในประเทศจีนก็จะมีประมาณ 30 เขื่อนที่มีการวางแผนก่อสร้าง และประมาณ 4 เขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน ซึ่งประสบการณ์ของการสร้างเขื่อนบนสายน้ำย่อยได้แสดงให้เห็นถึงการทำลายวิถีชีวิตของชุมชน ระบบนิเวศวิทยาและในหลายกรณีได้นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง และที่สำคัญมากกว่านั้นในบางกรณีของการสร้างเขื่อนได้สร้างปัญหาข้ามพรมแดนซึ่งนำไปสู่ความบาดหมางของประชาชนระหว่างชาติในอาเซียน ซึ่งตรงนี้ไม่มีทางที่จะทำให้อาเซียนมีความเป็นเอกภาพได้

เขายกตัวอย่างกรณีเขื่อนฮัดจี ซึ่งกั้นแม่น้ำสาละวินในประเทศพม่า ห่างจากชายแดนไทยด้าน จ.แม่ฮ่องสอนลงไปประมาณ 17 กิโลเมตรว่า เขื่อนนี้เป็นเขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งมีความก้าวหน้ามากที่สุดในขณะนี้ โดย กฟผ.กำลังจะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับรัฐบาลพม่าและชิโนไฮโดรคอร์เปอร์เรชั่นจำกัดที่จะก่อสร้างเขื่อนในปีนี้ ท่ามกลางข่าวที่ทุกคนทราบดีว่าประเทศไทยมีปริมาณไฟฟ้าสำรองเหลือเป็นจำนวนมาก และ กฟผ.เองก็ต้องปรับแผนพัฒนากำลังไฟฟ้า หรือพีดีพีออกไป เช่น การรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนในประเทศลาวจำนวนไม่ต่ำกว่า 5 เขื่อนถูกยกเลิก หรือแม้แต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ยังลดจาก 4 เหลือ 2 โรงในขณะนี้ เราจึงไม่พบเหตุผลใดๆ ที่ กฟผ. ยังคงเดินหน้าสร้างเขื่อนฮัดจี ทั้งที่จะสร้างปัญหาหลายประการ อาทิ เขื่อนนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่การสู้รบระหว่างรัฐบาลพม่ากับกองกำลังกระเหรี่ยงเคเอ็นยู และยังมีชาวบ้านอาศัยอยู่รอบเขื่อนประมาณ 11 หมู่บ้าน เพราะฉะนั้นการสร้างเขื่อนในสถานการณ์สู้รบจะยิ่งทำให้กองทัพของรัฐบาลพม่าเข้ามากุมพื้นที่ และส่งเสริมให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่ามากขึ้น และประเทศไทยต้องแบกรับภาระเรื่องนี้

เขาทิ้งท้ายว่า ในฐานะที่รัฐบาลไทยเป็นประธานอาเซียนในขณะนี้ควรที่จะเป็นตัวอย่างในการพัฒนาโครงการที่ตั้งอยู่บนฐานของความโปร่งใส และมีส่วนร่วมของประชาชน และหลักของการเคารพสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ไม่เฉพาะเขื่อนฮัดจีเท่านั้นแต่รวมถึงเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำโขงด้วย

วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงประเด็นของการเปิดเสรีทางการค้าที่กระทบต่อด้านแรงงานในภูมิภาคอาเซียนว่า ในคำร่างกฎบัตรอาเซียนที่บอกว่าภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วม เหมือนเป็นคำพูดท่องจำของรัฐบาล ทั้งนี้ การเปิดการค้าเสรีทำให้แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ และแรงงานในระบบ เป็นเหยื่อของนักลงทุนที่พยายามแสวงหาต้นทุนที่ต่ำที่สุด

ประธาน คสรท. กล่าวว่า ข้อตกลงหรือการพูดคุยของเวทีอาเซียนก็ไม่เคยคำนึงหรือกล่าวถึงคุณภาพชีวิตของคนยากจน แม้รัฐบาลจะบอกว่า ประชาชนต้องมีส่วนร่วม แต่เมื่อมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในบ้านเรา รัฐบาลพูดแต่เฉพาะเรื่องภาษี การอำนวยความสะดวก และการบริการให้กับนักลงทุนมาโดยตลอด

วิไลวรรณ กล่าวว่า วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มีการคาดการณ์ว่าคนงานเกือบ 1-2 ล้านคนที่จะตกงานหรือถูกเลิกจ้างในปีนี้ แล้วชีวิตคนงานเหล่านั้นจะอยู่อย่างไร คนงานที่อายุมากก็ไม่สามารถทำงานในระบบได้อีกต่อไป และคนงานอายุน้อยก็แทบจะหางานทำไม่ได้ ดังนั้น คงต้องฝากรัฐบาลไทยว่าการเจรจาพูดคุยระหว่างชาติสมาชิกอาเซียนขอให้บรรจุเรื่องคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน ค่าจ้างที่เป็นธรรม ความปลอดภัยของคนงาน และพูดถึงสิทธิการรวมตัวของคนงาน เพราะคนงานเป็นจักรกลสำคัญ เป็นผู้ผลิต ผู้สร้างสรรค์โลก แต่ชีวิตของเขาเหล่านั้นไม่เคยถูกหยิบยกไปพูดคุยในเวทีอาเซียนเลย

สุนทรี เซ่งกิ่ง เลขาธิการ กป.อพช. วิจารณ์ว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนในมุมมองของรัฐกับภาคประชาชนนั้นแตกต่างกัน โดยขณะที่รัฐเรียกร้องให้ยิ้มแย้มแจ่มใส ต้อนรับการประชุมที่จะมีขึ้น แต่จริงๆ แล้วการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างมีคุณภาพในประชาคมอาเซียนคือการตรวจสอบ เริ่มจากตรวจสอบว่ารัฐสมาชิกประชาคมอาเซียนกำลังทำอะไรกันอยู่ สิ่งเหล่านั้นจะเป็นผลประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่ นอกจากการตรวจสอบแล้วก็คือการมีข้อเสนอเพื่อจะไปสู่ผลประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชน รัฐสมาชิกอาเซียนควรจะทำอะไรบ้าง












http://www.prachatai.com/05web/th/home/15619

--------------------------------------------------------------------------------
โดย : ประชาไท วันที่ : 19/2/2552

ไม่มีความคิดเห็น: