วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

สิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน ผ่านมุมมอง ‘บำรุง คะโยธา’ นักสู้สามัญชน

สิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน ผ่านมุมมอง ‘บำรุง คะโยธา’ นักสู้สามัญชน



ประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี

Amnesty International THAILAND.



จากชุมชนล่มสลาย สู่ ชุมชนเกษตรอินทรีย์

กุดตาไก้ คือหมู่บ้านหนึ่งในภาคอีสาน ซึ่งเผชิญปัญหาไม่ต่างจากชุมชนในชนบทภาคอีสาน ทั้งความแห้งแล้ง ดินไม่ดี นโยบายการเกษตรเชิงเดี่ยว ปอ อ้อย มันสัมปะหลัง เน้นการปลูกเพื่อขายนำรายได้มาซื้อของในตลาดในการดำรงชีวิต คนหนุ่มสาววัยทำงานต้องอพยพเข้าไปทำงานในเมืองหลวง เหลือเพียงคนแก่คนเฒ่าเลี้ยงหลานอยู่ในหมู่บ้าน



ภาพเช่นนี้คือคำเล่าขานสภาพชุมชนเมื่อยี่สิบสามสิบปีที่แล้วจาก บำรุง คะโยธา ผู้หาญกล้าลุกขึ้นท้าทายกำหนดอนาคตของชุมชนในช่วงสิบปีที่ผ่านมา “ผมกลับมาสร้างชุมชน เริ่มจากบ้านที่ผมอยู่ ที่ดินผมมี 7 ไร่ ลงมือทำกับมันอย่างจริงจัง ในช่วงแรกชาวบ้านก็หาว่าผมบ้า แต่เมื่อเห็นผลเขาก็เข้าร่วมและขยายเครือข่ายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ”



บำรุงเล่าให้ฟังถึงช่วงแรกๆ ที่กลับมาอยู่บ้าน หลังจากไปขายแรงงานในเมืองเหมือนคนอีสานทั่วไป ก่อนหน้านี้เขายังได้เข้าร่วมต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมในกรณีราคาหมูตกต่ำ โดยการนำหมูไปปล่อยเพื่อประท้วงราคาหมูตกต่ำที่หน้าศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์มาแล้ว ประสบการณ์สอนให้เขารู้ว่าต้องรวมกลุ่มรวมตัวกันเพื่อต่อรองราคาหมูกับพ่อค้าคนกลาง แต่นั่นยังไม่พอ เพราะจากพ่อค้าคนกลางยังมีบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างซีพีที่คอยตัดราคาทำให้ชาวบ้านต้องขาดทุนเพราะสู้ราคาเขาไม่ได้ นอกจากนี้เขายังเห็นความไม่เป็นธรรมเกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาลที่เปิดการค้าเสรี ทำให้หมูจากต่างประเทศทะลักเข้ามาตัดราคาจนชาวบ้านรายย่อยไม่สามารถสู้กับบริษัทใหญ่ๆได้ วันนี้ชุมชนกุดตาไก้เลี้ยงหมูพื้นบ้านแบบหมูหลุม เพื่อการบริโภค ไม่ได้มุ่งหวังเพื่อขาย ผลพลอยได้คือปุ๋ยหมักที่หมูหลุมย่ำและพลิกให้ได้ถึงคอกละ 5-7 ตันต่อปี สำหรับใช้ในการเกษตรกรรมของครัวเรือนลดการใช้ปุ๋ยไปได้อย่างมากหรือแทบจะไม่เสียค่าใช้จ่ายในเรื่องปุ๋ยเคมีเลย



เกษตรผสมผสาน ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก : สร้างความมั่นคงทางอาหาร

พื้นที่ 7 ไร่ มีพืชผัก สมุนไพร ไม่น้อยกว่า 200 ชนิด มีบ่อปลา 2 บ่อ ใช้ในการเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีเล้าเป็ด เล้าไก่ เล้าหมูพื้นบ้าน (หมูหลุม) คอกวัว คอกควาย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่นา ปลูกข้าวเหนียวพื้นบ้านไว้กิน ปลูกข้าวเจ้านิดหน่อยเอาไว้รับแขก ที่เหลือก็แบ่งปันญาติพี่น้อง มีผลไม้ตามริมขอบสระ เช่น มะม่วง มะพร้าว มะละกอ กล้วย อ้อย ขนุน น้อยหน่า ฯลฯ บำรุงบอกว่าลงมือจริงจังสิบกว่าปีที่ผ่านมาก็เห็นผล มีกินทุกอย่าง “เป็นอาหารที่ปลอดภัยปลอดสารพิษ ที่สำคัญมันคือความมั่นคงทางอาหาร ถึงแม้ไม่มีเงินเราก็อยู่ได้” บ้านสวนของเขายังได้รับการยอมรับจากหน่วยงานราชการและหน่วยงานเอกชนให้เป็นพื้นที่ตัวอย่างเรื่องเกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ มีกลุ่มต่างๆ มาเยี่ยมชม ศึกษา ดูงานอย่างไม่ขาดสาย การดำนาด้วยต้นข้าวเพียงต้นเดียวเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ชุมชนกุดตาไก้ ได้ทดลองทำในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เพราะการได้ไปดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มอื่นๆ ทำให้ชุมชนแห่งนี้ไม่หยุดนิ่ง พัฒนาการเกษตรของชุมชนไปได้อย่างต่อเนื่อง



การรวมกลุ่มสร้างความเข้มแข็ง : ทวงสิทธิอันพึงมีพึงได้

บทเรียนของการรวมกลุ่มรวมตัวกันของชาวบ้านทำให้เกิดพลังในการเจรจาต่อรอง บำรุงเป็นแกนนำชาวบ้าน เขาได้ร่วมก่อตั้งสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน สกยอ. เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวบ้านที่ประสบปัญหา เรื่องราคาผลผลิตการเกษตร ปัญหาป่าไม้ทับที่ทำกินของชาวบ้าน ปัญหาที่ดิน ปัญหาหม่อนไหม ปัญหาวัวพลาสติก ปัญหามะม่วงหิมะพาน ปัญหาเขื่อน ปัญหาหมู ฯลฯ การเดินทัพนับหมื่นคนจากอีสานเข้าสู่เมืองหลวง เพื่อกดดันให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน เพื่อทวงสิทธิอันพึงมีพึงได้ ก่อให้เกิดการตื่นตัวของชาวบ้านในการเรียกร้องสิทธิของตนเองเป็นอย่างมาก จนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในหลายๆ เรื่อง



การสร้างเครือข่ายปกป้องทวงสิทธิ : ความยากจนคือการละเมิดสิทธิมนุษยชน

สิบกว่าปีที่ผ่านมา บำรุงทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ซึ่งมีเครือข่ายองค์กรชาวบ้าน 7 เครือข่าย คือ เครือข่ายปัญหาที่ดิน เครือข่ายปัญหาป่าไม้ทับที่ทำกิน เครือข่ายปัญหาเขื่อนและการจัดการน้ำ เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงาน เครือข่าเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายประมงพื้นบ้านภาคใต้ ซึ่งเป็นองค์กรประชาชนที่ผลักดันให้รัฐแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านในนามสมัชชาคนจน โดยปัญหาทั้งหมดเกิดจากการละเมิดสิทธิของรัฐในนามของการพัฒนา และนโยบายของรัฐที่ลำเอียง ไม่เห็นหัวคนจน รวมทั้งกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม บำรุงบอกว่าชาวบ้านต้องลุกขึ้นมารวมกลุ่มกันให้เข้มแข็ง ปกป้องสิทธิของตนเอง ทวงถามสิทธิของตนเอง เขามองว่าความยากจน คือ การละเมิดสิทธิมนุษยชน ของประชาชนอย่างร้ายแรง



บทสรุป

บำรุง ย้ำในตอนท้ายว่า สิ่งสำคัญคือการขับเคลื่อนความคิดของคน ต้องทุ่มเทสรรพกำลังในการพูดคุย ประชุมแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านในชุมชน “ให้ชาวบ้านในชุมชนตระหนักและเข้าใจว่าเขามีสิทธิที่จะกำหนดอนาคตของตนเอง ของชุมชน ประเทศชาติ และของโลกเสียด้วยซ้ำไป” ต้องรวมตัวกันให้เข้มแข็ง สานเครือข่ายให้เป็นเอกภาพ กดดัน เจรจาต่อรอง เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิอันพึงมีพึงได้ เกษตรอินทรีย์ การต่อสู้ของเกษตรกรรายย่อย การต่อสู้ของสมัชชาคนจน เป็นเพียงรูปธรรมหนึ่งเท่านั้นเองที่ชุมชนกุดตาไก้ใช้เป็นบทเรียน เป็นตัวผลักดันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชุมชน ผลักดันให้รัฐต้องแก้ไขนโยบายและกฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมต่อชาวบ้านและคนจน และนี่คือการลงมือในการปกป้องสิทธิของตนเอง การกำหนดสิทธิของชุมชนที่จะไม่ดำเนินตามเกษตรกระแสหลัก ของคนเล็กๆ คนหนึ่ง ของชุมชนเล็กๆ ชุมชนหนึ่ง ในถิ่นอีสานแดนไกล





หมายเหตุ : วันที่ 8-10 สิงหาคม 2551 ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับชุมชนกุดตาไก้ กิ่งอำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ จัดกระบวนการเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน ผ่านมุมมองของ คุณบำรุง คะโยธา นักสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน แกนนำชาวบ้าน และที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ที่บ้านสวนคุณบำรุง คะโยธา จังหวัดกาฬสินธุ์







http://www.prachatai.com/05web/th/home/15617


--------------------------------------------------------------------------------
โดย : ประชาไท วันที่ : 19/2/2552

ไม่มีความคิดเห็น: