วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ไทยหน้าใหญ่ทุบชาวนาอวดอาเซียน ประกาศลดภาษีนำเข้า"ข้าว"เหลือ 0%

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4080

ไทยหน้าใหญ่ทุบชาวนาอวดอาเซียน ประกาศลดภาษีนำเข้า"ข้าว"เหลือ 0%


ไทยหน้าใหญ่เตรียมลดภาษีนำเข้าข้าว ให้กับประเทศสมาชิกอาเซียน เหลือ 0% ในวันที่ 1 มกราคม 2553 รับการประชุมอาเซียน ซัมมิต วงการข้าวหวั่นลดภาษี เปิดช่องข้าวราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านทะลักเข้าโครงการรับจำนำข้าวไทยที่ราคาสูงกว่าตลาดโลก แนะกระทรวงพาณิชย์เร่งจัดทำโมเดลดูแลข้าวทั้งระบบ ด้านสมาคมชาวนายังไม่ทราบเรื่อง เชื่อไม่กระทบชาวนา แต่หากราคาตก รัฐบาลต้องเข้ามาประกันราคาข้าวให้


การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 14 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 27 กุมภาพันธ์- 1 มีนาคมนี้ ถือว่าเป็นอีกก้าวที่มี ความสำคัญ โดยผู้นำอาเซียนจะหารือกันถึงความคืบหน้าในการปรับตัวของประเทศสมาชิกในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" ในปี 2558 ประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาก็คือ การเร่งลดภาษีระหว่างประเทศสมาชิก ทำให้ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้ และยังเป็นถึงประธานอาเซียน จำเป็นต้องมีความคืบหน้าในด้านการลดภาษีที่เป็นรูปธรรมด้วย

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า สินค้าเกษตรถือเป็นสินค้าอ่อนไหวของหลายประเทศสมาชิกอาเซียน ทำให้อาเซียนเปิดช่องให้มี "บัญชีสินค้าอ่อนไหว หรือ sensitive list" ที่จะนำเข้ามาลดภาษีช้าที่สุด และต้องลดภาษีเหลือ 0-5% ภายในเวลา 10 ปี รวมทั้งมีมาตรการพิเศษอื่นๆ รวมถึง "สินค้าอ่อนไหวสูง หรือ highly sensitive list" ดังนั้น "ข้าว" จึงถือเป็นสินค้าอีกหนึ่งตัวที่ประเทศสมาชิกอาเซียนกำหนดให้เป็นสินค้าอ่อนไหวสูง มีอัตราภาษีสุดท้ายสูงกว่า 5% และมีมาตรการคุ้มกันพิเศษได้ โดยอินโดนีเซีย, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ถึงกับระบุสินค้าข้าวไว้ในบัญชีสินค้าอ่อนไหวสูงสุด

ขณะที่ไทยไม่ระบุสินค้าเกษตรชนิดใด ไว้ในบัญชีสินค้าอ่อนไหวสูง แม้แต่สินค้า "ข้าว" ขณะเดียวกันเมื่อตรวจสอบตารางภาษีนำเข้าของไทยแล้ว พบว่าในวันที่ 1 มกราคม 2553 อัตราภาษีนำเข้าข้าวของไทยจะลดลงเหลือ 0% สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน

แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวเปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางกระทรวงพาณิชย์ได้เรียกกลุ่มผู้ส่งออกข้าวจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เข้าหารือถึงประเด็นการเตรียมความพร้อมในการเปิดตลาดสินค้าข้าว ซึ่งมีกำหนดจะลดภาษีข้าวทุกชนิดในพิกัดศุลกากร 1006 เป็น 0% จากปัจจุบันอยู่ที่ 5% โดยไม่มีโควตาเพื่อให้เป็นไปตามความผูกพันภายใต้กรอบความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) มีผลในปี 2553 นี้ ซึ่งอาจจะส่งผลให้มีการนำเข้าข้าวจากประเทศอาเซียน ซึ่งมีราคา "ถูกกว่า" เข้ามาในไทย ซึ่งมีการกำหนดราคารับจำนำข้าวในแต่ละปีสูงกว่าระดับราคาข้าวในท้องตลาด

ขณะนี้ทุกฝ่ายเกรงว่าผลกระทบจากการเปิดเสรีนี้จะทำให้ข้าวทุกชนิดในพิกัดนี้ ทั้งข้าวเปลือก, ข้าวกล้อง, ข้าวหอมมะลิ, ข้าวขาว หรือแม้แต่แกลบ จะทะลักเข้ามาจากประเทศอาเซียนอื่นๆ โดยเฉพาะกัมพูชา พม่า และลาว ซึ่งมีพรมแดนติดกับไทย รวมถึงเวียดนาม ซึ่งทราบกันดีว่าเป็นผู้ผลิตข้าวสำคัญแข่งกับไทย ทะลักเข้ามาภายในประเทศ เพราะส่วนต่างของราคาตลาด "ต่ำกว่า" ราคาจำนำมาก ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทยที่จะต้องแข่งขันกับต่างประเทศมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ส่งออกก็เกรงผลกระทบในการดูแลคุณภาพข้าว ที่อาจจะเกิดขึ้น

ถึงแม้ว่าจะมีมาตรการปกป้องพิเศษ (special safeguard) ช่วยดูแล หากมีการนำเข้าข้าวในปริมาณมากผิดปกติ แต่การใช้มาตรการดังกล่าวจะต้องใช้กับทุกประเทศ ซึ่งจะมีผลต่อการนำเข้าข้าวชนิดอื่นๆ ที่ไทยจำเป็นต้องนำเข้าเพื่อมาใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง แต่หากจะกำหนดวิธีการดูแลการนำเข้า โดยใช้วิธีการอื่นๆ เช่น หลักควบคุมมาตรฐานสินค้าข้าว โดยใช้หลักการด้านสุขอนามัย หรือใช้วิธีเหมือนที่ประเทศญี่ปุ่น กล่าวคือให้รัฐบาลเป็นผู้นำเข้าได้เพียงคนเดียว มาสต๊อกไว้ 2-3 ปีแล้วจึงกระจายไปยังผู้ใช้รายอื่น หรือกำหนดให้ขอใบอนุญาตนำเข้าเป็นรายๆ ไปนั้น "คงจะทำได้ยาก" เพราะทางรัฐบาลไทยจะต้องออกเป็นกฎหมายที่ชัดเจนออกมาดูแล แต่ขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาในการออกกฎหมายยาวนาน

"ส่วนการขอเลื่อนระยะเวลาการลดภาษีไม่ให้เป็น 0% นั้นคงทำไม่ได้แล้ว เพราะทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศซึ่งเป็น ผู้เจรจา แจ้งว่าการขอเลื่อนทำไม่ได้ เพราะมีการเลื่อนการลดภาษีมาแล้วหลายครั้ง จึงไม่สามารถจะเลื่อนได้อีก ส่วนการกำหนดมาตรฐานข้าวนำเข้าจำเป็นต้องดำเนินการมาก่อนหน้านี้ เพราะข้าวในประเทศต้องมีมาตรฐานด้วยเช่นเดียวกัน" แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวจากสมาคมโรงสีข้าวกล่าวว่า การลดภาษีนำเข้าข้าวอาจจะเสี่ยงต่อการ นำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าเข้ามาในตลาดข้าวไทย เสี่ยงที่ผู้ประกอบการบางรายจะหาผลประโยชน์จากส่วนต่างราคา แต่ก็จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องมีโมเดลในการดูแลระบบค้าข้าว โดยอาจจะใช้วิธีแบบไต้หวันคือ มีการตั้งสมาคมผู้นำเข้าข้าวเข้ามา และให้นำเงินส่วนต่างจากการนำเข้าข้าวที่ราคาต่ำกว่าไปใช้สนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือวิธีแบบประเทศจีนซึ่งลดภาษีนำเข้าข้าว แต่มีการกำหนดภาษีมูลค่าเพิ่ม 12% และ ค่าธรรมเนียม 1.5% เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

ขณะที่นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายก สมาคมชาวนาไทย เปิดเผยว่ายังไม่ทราบเรื่องลดภาษี แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบกับชาวนา หากราคาข้าวตกต่ำ รัฐบาลต้องใช้มาตรการรับจำนำข้าวเข้าช่วยเหลือชาวนา ทั้งนี้ทางสมาคมยื่นหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ ขอให้เปิดรับจำนำข้าวนาปรัง ฤดูผลิตปี 2552 ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2552 และขอให้กำหนดราคารับจำนำที่ 13,000 บาท/ตัน

ทางด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า สถานการณ์การส่งออกข้าวในช่วง 2 เดือนแรกปรับลดลงประมาณ 40% โดยเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์ 4 วันแรกส่งออกประมาณ 80,000 ตัน ทำให้คาดว่าการส่งออกทั้งเดือนกุมภาพันธ์จะไม่ถึง 600,000 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีตัวเลขส่งออกถึง 1.04 ล้านตัน

อย่างไรก็ตามสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดว่า การส่งออกทั้งปีจะเป็นไปตาม เป้าหมาย 9.5 ล้านตัน ตามคาดการณ์ของกระทรวงเกษตรสหรัฐ ภายในเงื่อนไข อินเดียไม่ส่งออกข้าวนึ่ง และการที่สต๊อกข้าวโลกปีนี้เพิ่มจาก 78 ล้านตัน เป็น 82 ล้านตันเทียบกับปีก่อน ทำให้ภาพรวมคำสั่งซื้อข้าวจะชะลอตัวต่อเนื่อง และยังมีปัจจัยราคาข้าวไทยสูงกว่าเวียดนามถึงตันละ 150-165 เหรียญสหรัฐ ทำให้การแข่งขันเป็นไปได้ยาก

หน้า 1 http://matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02p0102160252&day=2009-02-16§ionid=0201

ไม่มีความคิดเห็น: