วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ชง "เลิก-รื้อ-ขาย" อีลิตการ์ด โชว์รูรั่วหมื่น ล.ลุ้น ครม.-บอร์ดชำแหละทีมทีพีซี

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4080

ชง "เลิก-รื้อ-ขาย" อีลิตการ์ด โชว์รูรั่วหมื่น ล.ลุ้น ครม.-บอร์ดชำแหละทีมทีพีซี

แผนธุรกิจอันสวยหรูในการจัดตั้ง บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด (ทีพีซี) เป็นรัฐวิสาหกิจที่ใช้เงิน "การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย" (ททท.) ถือหุ้น 100 % ประเดิมทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท เมื่อ 29 กรกฎาคม 2546 เพื่อเปิดกิจการขายอีลิตการ์ดหวังสร้างกลุ่มตลาดเป้าหมายนักเดินทางธุรกิจบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล (corporate) ฝันภายใน 10-15 ปี จะมีรายได้เข้าประเทศเกินกว่า 10,000 ล้านบาท จากค่าสมาชิกตลอดชีพ 30 ปี

ทีพีซีเกิดขึ้นจากนโยบายการเมืองยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ปีนี้ธุรกิจคลอดมาครบ 5 ปี มาถึงยุครัฐบาล "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่กี่ครั้ง ล่าสุดเมื่อ 29 มกราคม 2552 มีมติฟ้าผ่าให้ทีพีซีทบทวนการดำเนินงาน เสมือนการเมืองส่งสัญญาณให้เลือกได้เพียง 2 ทาง จะ "อยู่" หรือ "ตาย"

ถ้า "ตาย" ประเทศจะต้องสูญเสียอะไรบ้าง การเมืองประชาธิปัตย์ประเมินจากผลการดำเนินธุรกิจในบัญชีงบดุลประจำปีทีพีซีมืดมนมาก ผู้บริหารอธิบายไม่ได้ว่าเหตุใดบัญชีรายรับจึงขาดทุนต่อเนื่องไปอีก 10 ปี และ/หรือการเมืองมองลึกไปมากกว่านั้นถึงพฤติกรรม "การบริหาร" ของฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะยุคนี้เสนอโปรเจ็กต์ลงทุน

"ใช้เงิน" มากกว่าการหารายได้

เมื่อตรวจสอบรายละเอียดทางการเงิน ปัจจุบัน "นายสรจักร เกษมสุวรรณ" เป็นประธานบอร์ดทีพีซี กำกับดูแลการทำงานของ "สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย" ซึ่งอาสานั่งควบ 3 เก้าอี้ ทั้งกรรมการ ประธานกรรมการบริหาร และรักษาการผู้อำนวยการใหญ่ คนเดียวมีอำนาจเบ็ดเสร็จทั้งกำกับและบริหาร คุมบัญชีทั้งหมด



ซึ่งปรากฏว่ารายงาน "ยอดเงินสด" ยกมาจากปี 2550 สมัย "ระพี ม่วงนนท์" เป็นผู้อำนวยการใหญ่ มีถึง 697.60 ล้านบาท แต่พอมายุค "สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย" เงินสดคงเหลือสิ้นปี 2551 เพียง 497.00 ล้านบาท หายไป 200.06 ล้านบาท ส่วนยอดขายสมาชิกบัตรตัวแปรเพิ่มรายได้ก็ต่างกันลิบ เคยขายได้ปีละเกิน 400 สมาชิก ปี 2551 เหลือแค่ปีละ 65 สมาชิก

ยอดเงินสดทีพีซีหายไปไหนถึง 200 ล้านบาท ส่วนยอดขายสมาชิกหายไปถึง

7 เท่า ผลงานเช่นนี้ "ผู้บริหาร" ควรจะพิจารณาตนเอง และ/หรือ ทนรับค่าจ้างเดือนละกว่า 1.5 แสนบาท บวกสิทธิประโยชน์ และค่ารับรองลูกค้าไม่จำกัดจำนวนเงิน มาจนถึงทุกวันนี้ได้อย่างไร

รวมถึงบอร์ดทีพีซี 11 คน คณะกรรมการบริหาร 3 คน คณะกรรมการตรวจสอบอีก 4 คน ได้ทำหน้าที่อย่างมีคุณภาพหรือไม่ !?

ยังไม่นับรวมการเสนอแผนลงทุนต่อเนื่อง 3 ปี 2552-2554 ที่เตรียมจะใช้เงินอีกไม่ต่ำกว่า 1,285.1 ล้านบาท แต่พอเจอมติ ครม.สายฟ้าแลบให้หยุดการขายไปจัดทำแผนมาเสนอใหม่ทั้งหมดเสียก่อน การใช้เงินบางส่วนจึงชะงัก

แต่ในการประชุมคณะกรรมการบริหารเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2552 ฝ่ายบริหารยังไม่วายเสนอแผนลงทุนจัดซื้อคอมพิวเตอร์ เช่ารถยี่ห้อ ALPHARD ลอตใหญ่ 6 คัน ค่าเช่า 12,000 บาท/วัน ตามที่ ดร.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ และบอร์ดให้ระงับไว้ก่อน

ส่วนฝ่ายบริหารยังคงเดินหน้าประชา สัมพันธ์หากการเมืองส่งสัญญาณปิดกิจการก็พร้อมจะสนอง โดยโชว์ตัวเลขให้เห็นว่าจะต้องจ่ายค่าชดเชยสมาชิกไม่ต่ำกว่า 2,300 ล้านบาท ตัวเลขนี้มีที่มาอย่างไร ในเมื่อก่อนหน้าสมัย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี เคยมีนโยบายจะยุบทีพีซีทิ้ง



ครั้งนั้นมีการจ้าง บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คแคนซี่ จำกัด สำนักงานกฎหมายและ ผู้เชี่ยวชาญการเงินเข้ามาศึกษารายละเอียดยังไม่สามารถตอบได้เลยว่าความเสียหายจะเป็นเท่าไร ต่างจากตอนนี้ ครม.มีมติทบทวนแผนธุรกิจปุ๊บ เช้าวันต่อมาผู้ริหาร

ทีพีซีสามารถให้ข้อมูลความเสียหายปั๊บ

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานบอร์ด ททท. เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จะนำเรื่องทีพีซีเข้าพิจารณาระหว่างการประชุมบอร์ด ททท. วันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้ จะใช้มติเสียงส่วนใหญ่เลือกและชี้ขาดจากข้อเสนอของฝ่ายบริหารทีพีซี 3 แนวทาง ปิดกิจการ ปรับโครงสร้างธุรกิจ หรือขายหุ้น ให้เอกชน 100% โดยความเห็นส่วนตัวสนใจทางเลือกที่สาม คือขายกิจการให้เอกชน ถ้ามีคนจะซื้อจริง และ/หรือมีแนวคิดว่า ทีพีซีเกิดจากการเมือง หากการเมืองส่งสัญญาณเช่นไรควรจะเดินทางนั้นมิใช่หรือ

ส่วนนโยบายเริ่มต้นตั้งทีพีซีเพื่อทำธุรกิจขายบัตรท่องเที่ยวโดยใช้สิทธิประโยชน์ของประเทศไปแลกมานั้น สิทธิประโยชน์สำคัญคือการให้วีซ่าเข้าเมืองไทยแก่สมาชิกอีลิตการ์ดติดต่อกันเวลา 5 ปี นั้นก็ไม่ใช่สาระหลัก เพราะถ้าการเมืองจะขายกิจการให้เอกชนก็สามารถเสนอสิทธิประโยชน์เชิงพรีเมี่ยมเข้าไปได้ หรือถ้าจะปิดกิจการก็ต้องยอมรับสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้น

มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า แนวคิดของนายสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย กับ นาย วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือปิดกิจการทิ้งโดยประเทศยอมรับสภาพความเสียหาย และ/หรือปรับเงื่อนไขสิทธิประโยชน์แล้วขายกิจการทั้งหมดให้เอกชน ทั้งๆ ที่รัฐวิสาหกิจนี้ ททท.ถือหุ้น 100% ประการสำคัญที่สุด เงื่อนไขที่ทำไว้กับสมาชิกบัตรกว่า 2,600 สมาชิก ใช้สิทธิประโยชน์ของชาติแลกเปลี่ยนไว้หลายเรื่องด้วยกัน

ขณะที่ ครม.รัฐบาลอภิสิทธิ์เองก็มี ช่องว่าง เนื่องจากเมื่อ 29 มกราคม 2552 ช่วงเช้าอนุมัติให้ขยายสิทธิประโยชน์วีซ่าแก่สมาชิกอีลิตการ์ดต่อไปอีก 5 ปี ตกบ่ายกลับมีมติให้ทบทวนการดำเนินงาน ซึ่ง ขัดแย้งกันอย่างมาก และ/หรือบางฝ่ายใน ครม.อธิบายว่า เป็นกรณีบังคับเพราะฝ่ายบริหารทีพีซีเจตนา เนื่องจากวีซ่าสมาชิกบัตรนับจากวันเปิดดำเนินการครบอายุ 5 ปีพอดี จำเป็นจะต้องต่ออายุให้แก่สมาชิกกลุ่มดังกล่าว เดิม ครม.ไม่ตั้งใจจะมีมติทบทวน แต่พอเห็นแผนงานประจำปีบัญชี ทีพีซีขาดทุนยาวเหยียดต่อกันเป็น 10 ปี แต่บางฝ่ายก็ยืนยันว่า ครม.ชุดนี้ตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลที่อ่อนมาก

วันนี้ไม่ว่าจะเลือกวิธีจัดการกับทีพีซีด้วยแนวทางใด จะ "ปิด-รื้อ-ขาย" ประเทศก็เสียหายยับเยิน และ/หรือรูรั่ว พันถึงหมื่นล้านบาท ก็ซึมบ่อทรายมาตลอดทุกสมัย

หน้า 22 http://matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02tou01160252&day=2009-02-16§ionid=0208

ไม่มีความคิดเห็น: