วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

บรอดแบนด์และ 3 จี อนาคตและทางรอดของ"ทีโอที"

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4080

บรอดแบนด์และ 3 จี อนาคตและทางรอดของ"ทีโอที"

หลังจากนั่งเก้าอี้ซีอีโอ "ทีโอที" มา 6 เดือน เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา "วรุธ สุวกร" ได้ถือโอกาสเปิดใจกับผู้บริหารและพนักงานของ ทีโอทีอีกครั้ง เพื่อบอกเล่าสิ่งที่ทีโอทีต้องเผชิญในปีนี้ พร้อมกับเชียร์อัพให้พนักงานร่วมแรงร่วมใจพาองค์กรฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ

กรรมการผู้จัดการใหญ่ของทีโอทีเปิดเผยว่า สิ่งที่ต้องเผชิญในปีนี้ ด้านปัจจัยภายนอก ทั้งความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐและกฎเกณฑ์ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ปัญหาภาวะเศรษฐกิจที่ค่อยๆ เคลื่อนตัวมาที่ประเทศไทย ทำให้คนไม่ใช้จ่ายและไม่ลงทุน รวมถึงการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ HSPA และบรอดแบนด์ผ่านสายไฟ

ขณะที่ตลาดมีการแข่งขันรุนแรง โดยเฉพาะตลาดบรอดแบนด์ที่มีเอกชนรุกหนักหลายราย โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค

ขณะที่ปัจจัยภายใน ที่เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เป็นภาระขององค์กร คือเรื่องเกณฑ์ที่จะนำมาคำนวณภาษีจากที่สรรพากรได้ใช้ "เกณฑ์สิทธิ" มาคำนวณจากรายได้ค่าเชื่อมโยงโครงข่าย (เอซี)

"สรรพากรคิดว่าเราจะได้เงินตรงนี้ จึงได้ประเมินภาษีออกมา แต่ทีโอทียังไม่ได้รับเงินเข้ามา กลายเป็นภาระภาษีของเรา 4,200 ล้านบาท จึงให้ฝ่ายการเงินเจรจาและอุทธรณ์กับสรรพากรว่าควรจะประเมินจากเกณฑ์เงินสดมากกว่าเกณฑ์สิทธิ"

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากคดีฟ้องร้อง 57,000 ล้านบาท ที่หนักๆ คือกรณีค่าเชื่อมโยงโครงข่ายเอซี-ไอซี ที่ทรูและทีทีแอนด์ทีฟ้องร้องเรียกค่าส่วนแบ่งรายได้จากทีโอทีที่นำทราฟฟิกวิ่งผ่านโครงข่ายของเขา

"ขณะที่ภาพรวมธุรกิจของทีโอทีตอนนี้ โทรศัพท์ประจำที่มีส่วนแบ่งตลาด 55% หรือ 3.71 ล้านเลขหมายอินเทอร์ เน็ตบรอดแบนด์ (เอดีเอสแอล)

มีส่วนแบ่งตลาด 36% หรือ 675,000 พอร์ต มากกว่าทรูประมาณ 20,000 พอร์ต แต่ก็มีปัญหาอัตราการยกเลิกค่อนข้างสูง"

ผลการดำเนินงานของทีโอทีในปีที่ผ่านมามีกำไรลดลง เนื่องจากรายได้โดยรวมลดลง 0.5% มีเพียงบริการบรอดแบนด์เท่านั้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 73% โดยติดตั้งได้ประมาณ 250,000 พอร์ต สำหรับการขยายอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ล้านพอร์ตอยู่ระหว่างประกวดราคา การตรวจสอบเทคนิคเช่นเดียวกับโครงการไอพีบรอดแบนด์ คาดว่าจะสามารถอีอ็อกชั่นได้ภายในเดือน ก.พ.นี้ และทยอยเปิดให้บริการได้ภายในปีนี้

กรรมการผู้จัดการทีโอทีกล่าวว่า การลงทุนที่หนักๆ ในปีนี้ คือโครงการไอพีบรอดแบนด์เน็ตเวิร์ก 4,200 ล้านบาท โครงการบรอดแบนด์ 1 ล้านพอร์ต 3,600 ล้านบาท โครงการ 3จี อีก 29,000 ล้านบาท และโครงการเปลี่ยนชุมสายทั้งหมดให้เป็นโครงข่ายเอ็นจีเอ็น 13,000 ล้านบาท รวมแล้วก็เกือบ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของทีโอที

ความคืบหน‰าของโครงการ 3จี ตอนนี้ได้มีการโอนหุ้นบริษัท เอซีที โมบาย จำกัด ในส่วนของ บมจ.กสท โทรคมนาคม ให้กับทีโอทีแล้ว ต่อไปจะพิจารณาว่าการให้บริการ 3 จี จะให้บริษัท เอซีที โมบาย หรือทีโอที เป็นผู้ดำเนินการ สิ่งสำคัญคือกำลังพยายามเร่งรัดทั้งการทำทีโออาร์ ซึ่งตอนนี้ข้อกำหนดด้านเทคนิคก็น่าจะเรียบร้อยแล้ว รวมถึงการหาพาร์ตเนอร์และหาสถาบันการเงินที่จะปล่อยกู้

และสิ่งที่ทีโอทีจะต้องทำในปี 2552 คือต้องสร้างรายได้โตไม่น้อยกว่า 5.9% เพื่อให้ทีโอทีอยู่ได้โดยกำไรไม่ลดลงไปจากเดิม ซึ่งถ้าจะคำนวณเป็นตัวเลขการติดตั้ง บรอดแบนด์ เท่ากับปีนี้ต้องขยายเพิ่มอีกประมาณ 350,000 พอร์ต

"อีกส่วนคือต้องเพิ่มรายได้จากบริการ ไอทีโซลูชั่น เพราะปีที่แล้วมีรายได้ส่วนนี้เพียง 340 ล้านบาท ซึ่งน้อยมาก ปีนี้ต้องพยายามให้มากขึ้น"

ปีนี้ถือว่าเป็นปีแห่งความท้าทายของเหล่าพนักงานและผู้บริหารทีโอทีที่จะต้องร่วมมือร่วมใจพาองค์กรให้ผ่านวิกฤตทางภายในและภายนอก

หน้า 24 http://matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02com02160252&day=2009-02-16§ionid=0209

ไม่มีความคิดเห็น: