วันอังคารที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ศธ.ชงกมธ.สอบทุจริตประมูลนมจ่อฟัน “ 68 บริษัท”

ศธ.ชงกมธ.สอบทุจริตประมูลนมจ่อฟัน “ 68 บริษัท”
ข่าววันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 แหล่งข่าวจาก สยามรัฐ



เมื่อวันที่ 17 ก.พ.52 นายสุธรรม นทีทอง เลขานุการรมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงความคืบหน้าปัญหานมโรงเรียนไม่ได้มาตรฐานว่า ภายหลังลงพื้นที่จ.ชุมพรได้สรุปรายงานปัญหาดังกล่าวส่งมอบให้กรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อดำเนินการสอบสวนแล้ว

ขณะที่ นายธีระชาติ ปางวิรุฬห์รักษ์ รองประธานกรรมาธิการฯ แถลงว่า ขณะนี้ยังไม่สรุปว่าเป็นเรื่องการทุจริต แต่ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)เมื่อรับรู้ถึงปัญหานมไม่ได้คุณภาพ จึงไม่แจ้งกับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย(อสค.) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องคุณภาพนมโดยตรง ซึ่งจะใช้เวลาตรวจสอบประมาณ 1 เดือน โดยในวันที่ 19 ก.พ.นี้ จะเชิญผู้บริหารอ.ส.ค.มาชี้แจงเป็นหน่วยงานแรก รวมทั้งผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม นายธีระชาติ ได้นำบัญชีรายชื่อผู้ประกอบการแปรรูปนมในโครงการอาหารเสริม(นมโรงเรียน) ในภาคเรียนที่ 2/2551 มาเปิดเผย พร้อมระบุอ.ส.ค.เองก็รับจำหน่ายนมด้วย ทั้งนี้ในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด มีผู้ประกอบการ 18 ราย ภาคตะวันตกและภาคใต้ 22 จังหวัด มีผู้ประกอบการ 18 ราย ภาคกลาง ตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือ 37 จังหวัด มีผู้ประกอบการ 32 ราย รวมผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาต 68 ราย ใน 3 เขตพื้นที่ดังกล่าว

นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในฐานะส.ส.ฝ่ายค้านขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการให้ถึงที่สุด โดยรมว.ศึกษาฯ ควร ประสานกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อหาตัวคนผิดมาลงโทษให้ได้ เพราะการออกมาแถลงข่าว ของเลขาฯ รมว.ศึกษาฯ เหมือนมีข้อสงสัยว่าการทุจริตได้เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดที่แล้วและถ้ากรมการปกครองส่วนท้องถิ่น หรืออปท. กระทำความผิดหรือเข้าข่ายสมรู้ร่วมคิดในการทุจริตขอให้เร่งดำเนินการเอาผิดให้ถึงที่สุด

ด้าน นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) กล่าวว่า ในส่วนของป.ป.ท.ได้จัดชุดปฏิบัติการ 2 สาย โดยชุดแรกลงพื้นที่จ.ชุมพร เพื่อตรวจสอบโรงเรียนและอบต.ที่เกี่ยวข้อง ส่วนอีกชุดตรวจสอบในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะตรวจสอบการจัดซื้อนมโรงเรียนของกระทรวงเกษตรฯ และการดำเนินการของกรมการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะอาจมีการดำเนินการที่เข้าข่ายฮั้วแบ่งพื้นที่ โดยเจ้าของบริษัททั้ง 68 แห่ง เป็นเจ้าของเดียวกัน คาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะมีความคืบหน้ามากขึ้น

พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า ขณะนี้ดีเอสไอยังไม่ได้รับร้องเรียนในเรื่องดังกล่าว แต่ได้จัดพนักงานสอบสวนคดีพิเศษติดตาม ข้อมูลเบื้องต้นไว้เตรียมพร้อม หากพบมีการกระทำผิดในลักษณะฮั้วประมูลโครงการ ดีเอสไอก็สามารถเข้าไปดำเนินการตรวจสอบได้ทันที

ที่รัฐสภา วันเดียวกัน นายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทยในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในการประชุมสัปดาห์หน้าจะหยิบยกปัญหานมไม่ได้มาตรฐานและปัญหากลุ่ม เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม นำน้ำนมดิบมาเททิ้งเข้าหารือ พร้อมจะเชิญรมว.ศึกษาฯ รมช.มหาดไทย ที่กำกับดูแลกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ผอ.โรงเรียนที่เกี่ยวข้อง เข้าชี้แจง

นายสุวโรช พะลัง ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องที่คาราคาซังมานานแล้ว โดยมีข้อมูลคนกลุ่มหนึ่งวิ่งเต้น เป็นตัวการสำคัญในการล็อคสเปกเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทกลุ่มหนึ่ง และมีฐานะร่ำรวยผิดปกติ อย่างไรก็ตามได้ส่งคณะทำงานลงพื้นที่ จ.ชุมพร แล ะจ.ระนอง พบข้อสงสัยคือเบอร์โทรศัพท์ที่ติดไว้ข้างถุงนมอยู่คนละอำเภอกับบริษัทที่ผลิต ซึ่งคนที่ดำเนินการไม่ใช่คนที่มีพื้นเพอยู่ที่ จ.ชุมพร พวกนี้ทำมาหากินกันมานานพอสมควรแล้ว ถึงเวลาที่จะต้องกระชากหน้ากากว่าใครคือไอ้โม่งที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งอาจจะมีการขยายผลไปทั่วประเทศ

ด้าน นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ได้สั่งการให้องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย(อสค.) ซึ่งเป็นประธานคณะอนุกรรมการบริหารโครงการอาหารเสริมนมโรงเรียน เป็นผู้ชี้แจงในส่วนของกระทรวงเกษตรฯที่เป็นผู้กำหนดคุณสมบัติ คัดเลือกผู้ประกอบการตามหลักเกณฑ์การจัดซื้อ อย่างไรก็ตามเรื่องการบริหารการจัดการค่อนข้างจะมีปัญหา

“เพราะว่าตามพ.ร.บ.นมและผลิตภัณฑ์นม ซึ่งมีการร่างขึ้นและมีผลบังคับใช้เกิดขึ้นมาในช่วงรัฐบาลของคณะปฏิวัติ เพื่อต้องการที่จะแก้ปัญหาการบริหารการจัดการนมทั้งระบบ เนื่องจากประธานคณะกรรมการเป็นเพียงปลัดกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงตัวประธานให้มีอำนาจเพิ่มขึ้นโดยควรจะเป็นระดับรมว.เกษตรฯ เข้าไปดูแลและสั่งการเองน่าจะมีอำนาจมากขึ้น ขณะเดียวกันเลขาฯ ก็ไม่ควรจะเป็นอสค. เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” นายธีระ กล่าวและว่า ส่วนตัวเห็นว่าน่าจะเป็นกรมปศุสัตว์ โดยได้ชี้แจงให้คณะรัฐมนตรีรับทราบแล้ว เหลือเพียงแผนการบริหารจัดการเสนอต่อ ครม.เพื่อพิจารณา

ขณะที่ นายอำนาจ ธีระวนิช ประธานอสค. ชี้แจงว่า ในส่วนของอสค.เป็นเพียงผู้กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดซื้อนมให้เป็นไปตามระเบียบ ซึ่งหากทางบริษัททำผิดหลักเกณฑ์ ทางโรงงเรียนและอบต.ที่เป็นคู่สัญญาดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมาย พร้อมส่งชื่อบริษัทขึ้นบัญชีดำตัดสิทธิจำหน่ายนมโรงเรียน อย่างไรก็ตามเท่าที่ทราบเป็นเพียงรสชาดจืดไม่เหมือนสินค้าท้องตลาดเท่านั้น สาเหตุที่นมจืดคงผสมน้ำมากไป

ด้าน นายยุคล ลิ้มแหลมทอง อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ตรวจสอบพบมีการฮั้วประมูล ว่า เรื่องดังกล่าวต้องไปตรวจสอบทางอบต.แต่ะละท้องถิ่น มีบริษัทเข้าประมูลบ้าง เพราะราคากลางกำหนดกล่องละ 6 บาท หากได้ราคาต่ำกว่าคุณภาพก็ต้องลดลงอย่างแน่นอน ซึ่งความจริงแล้วไม่น่าเกิดขึ้นได้ เพราะมีอย.เป็นผู้ตรวจสอบ แต่ปัญหาที่เป็นอยู่ในขณะนี้ อยู่ที่ว่ากระบวนการจัดซื้อขององค์กรท้องถิ่นที่เป็นปัญหา เพราะผู้ประกอบการ 68 ราย ซึ่งส่งนมให้กับโรงเรียน เป็นผู้ที่มาสมัครตามโซนที่คณะอนุกรรมการกำหนด เพื่อความสะดวกและป้องกันนมบูดเหมือนในอดีต

วันเดียวกัน นายสุกิจ เจริญรัตนกุล อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.) กล่าวว่า ปัญหาหลักของประเทศไทยมักเกิดจากความไม่เข้าใจในข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์ อย่างปัญหานมโรงเรียนก็เช่นกัน ดังนั้นการให้ข่าวถ้าเอาข่าวข้อเท็จจริงเพียงท่อนเดียวไปสรุปจะทำให้ได้ความจริงเพียงท่อนเดียว ที่ผ่านมาได้เกิดปัญหานมล้นตลาด ดังนั้น ทางรัฐบาลจึงได้หาทางช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการจับมืออปท.และองค์กรส่งเสริมการโคนมแห่งประเทศไทย จากนั้นจึงได้ออกมาเป็นมาตรการตามมติรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 พ.ย.48

“ขอยืนยันว่าการล็อคสเปกจัดซื้อนมไม่เป็นความจริง เพราะสถ.ได้ให้ท้องถิ่นต่างๆ จัดซื้อเอง โดยผ่านองค์การส่งเสริมการโคนมฯ เป็นผู้จัดหาบริษัทขายนม สถ.มีหน้าที่ถ่ายโอนงบไปยังท้องถิ่น ซึ่งการจัดซื้อมีระบบตรวจสอบหลายขั้นตอน รวมถึงโรงเรียนจะต้องตรวจสอบก่อนรับนมด้วย” นายสุกิจ กล่าวและว่า โรงเรียนบ้านปากเลขสังกัดกระทรวงศึกษาฯ ไม่ได้ขึ้นกับท้องถิ่น แต่ได้ให้ท้องถิ่นคัดสรรบริษัทนมให้ อำนาจหน้าที่จึงอยู่ที่ผอ.เขตการศึกษา และผอ.เขตมักจะโยนให้ผอ.โรงเรียน ส่วนที่ผอ.โรงเรียนระบุสามารถซื้อนมได้จาก 2 บริษัทในพื้นที่ เรื่องนี้ก็ไม่เป็นความจริง เพราะจากการตรวจสอบพบว่า โรงเรียนดังกล่าวสามารถซื้อนมได้ 18 บริษัท ไม่ใช่ 2 บริษัท ซึ่งต้องรอผลการตรวจสอบของคณะกรรมการคาดว่าจะทราบผลภายใน 7 วัน ใครเป็นผู้จัดซื้อนมโรงเรียนที่เป็นปัญหาดังกล่าว (อ่านรายละเอียดหน้า 2)
http://www.siamrath.co.th/uifont/NewsDetail.aspx?cid=56&nid=32744

ไม่มีความคิดเห็น: