วันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

จวก กม.“ขอทาน” เลอะเทอะ ซัดบีบให้ถือกะลา-น้อยใจหมาจรจัด ยังดีกว่า

จวก กม.“ขอทาน” เลอะเทอะ ซัดบีบให้ถือกะลา-น้อยใจหมาจรจัด ยังดีกว่า

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 18 กุมภาพันธ์ 2552 14:02 น.





“สภาคนพิการ” จวกให้ยกเลิกความคิดนำเสนอ พ.ร.บ.ควบคุมขอทาน เข้าสู่การพิจารณา ครม.ระบุเหมือนการตอกย้ำ ส่งเสริมให้คนเป็นขอทาน แนะรัฐบาลสนใจให้การศึกษา ฝึกอาชีพ ดีกว่าโยนกะลาให้ ด้าน “อิสสระ” แจงต้องทำประชาพิจารณ์-ศึกษาให้รอบด้าน ก่อนตัดสินใจนำเข้า ครม.อีกครั้ง

วันนี้ (18 ก.พ.) นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยถึงกรณีการถอนพิจารณา พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน ว่า ภายหลังจากที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวถูกบรรจุอยู่ในระเบียบวาระเพื่อพิจารณาของครม.แต่ด้วยความเป็นห่วงของนายกรัฐมนตรีในประเด็นที่จะมีการขึ้นทะเบียนขอทานนั้น ทำให้ต้องถอนวาระออกไปก่อน เนื่องจากอยากให้มีการศึกษา ทบทวนให้รอบคอบอีกครั้ง โดยการที่จะนำคนขอทานมาจดทะเบียนนั้น อยากให้มีการหาข้อมูลที่รอบด้าน เพราะอาจมีคนมองได้ว่าเป็นการสนับสนุนให้มีอาชีพขอทานเกิดขึ้น ต้องให้มีคณะทำงานศึกษา ทั้งด้านสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อีกทั้งการยอมรับของสังคมไทยว่าการที่นำขอทานมาขึ้นทะเบียนจะเท่ากับเป็นการตีตราและประจานหรือไม่ จะยอมรับได้หรือไม่ ซึ่งตนจะเชิญอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการมาพบหารือเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง

นายอิสสระ กล่าวอีกว่า ตนเข้าใจดีว่า พ.ร.บ.ควบคุมการขอทานนี้อาจครอบคลุมถึงการกีดกันคนต่างด้าว ที่จะเข้ามาปะปน ทำงานในไทย จึงอยากให้มีการขึ้นทะเบียนขอทานซึ่งส่วนหนึ่งของ พ.ร.บ.ก็น่าจะมาจากเหตุนี้เช่นกัน แต่ถึงอย่างไรก็ต้องมีการทำประชาพิจารณ์ถึงความเหมาะสม ก่อนจะมีการเสนอเข้าพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ยืนยันได้ว่าจะใช้เวลาในการศึกษาไม่นาน และจะดูแลปัญหานี้อย่างจริงจัง

ด้านอาจารย์ประหยัด ภูหนองโอง ประธานฝ่ายการศึกษา สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้พิการทางสายตา กล่าวว่า ในเรื่อง พ.ร.บ.ควบคุมขอทานนั้น ตนอยากให้มีการยกเลิกความคิดไปเลย เพราะนั่นจะเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความเลวร้ายในสังคมไทย คือ การที่จะขอทานก็ต้องมาจดทะเบียน เป็นการส่งเสริมให้มีอาชีพขอทานหรือไม่ รัฐบาลควรจะให้การศึกษา อาชีพ แทนที่จะให้กะลา หากให้การศึกษาที่ดีเราก็จะได้คนพิการ คนด้อยโอกาส ที่มีศักยภาพมากขึ้น หากให้ พ.ร.บ.นี้ออกไปก็เท่ากับว่ายื่นกะลาให้พวกเขา และเราก็จะได้ประชากรขอทานเพิ่มขึ้น ส่วนเนื้อหาของ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ที่จะมีการพิจารณานี้ก็ไม่ได้มีอะไรใหม่ เพียงแต่เปลี่ยนจากกะลา มาเป็นเครื่องดนตรี เปลี่ยนจากขอทานมาเป็นนักแสดงสาธารณะ ไม่ได้เป็นการสร้างมนุษย์แต่เป็นการทำลายความสามารถกันมากกว่า

“รัฐบาลลงทุนแจกเงิน 2 พันบาท เพื่อสนับสนุน ช่วยเหลือคนที่มีโอกาส มีงานทำอยู่แล้ว แต่คนพิการกลับไม่ได้ดูแลเท่าที่ควร กลับจะมายัดเยียดให้มีอาชีพเป็นวณิพก ปัญหาที่เป็นอยู่ตอนนี้ คือ เมื่อเก็บขอทานได้ ก็เอาไปไว้ยังสถานสงเคราะห์ ซึ่งคิดว่าน่าจะทำอะไรได้ดีกว่านี้และสอดคล้องกับยุคสมัยมากกว่านี้ ควรให้ความสำคัญกับการศึกษา ฝึกอาชีพ ส่งเสริมให้พวกเขาเหล่านั้นมีงานทำมากกว่าจะตอกย้ำให้เขามาเป็นขอทาน หากเป็นไปได้ก็จะเห็นว่าพวกเขามีศักยภาพที่จะทำอะไรได้มากกว่าการมาเป็นขอทาน เป็นวณิพก คนในรัฐบาลไม่ควรคิดแบบไดโนเสาร์ อย่ามาบังคับกัน”อ.ประหยัด กล่าว

อ.ประหยัด กล่าวอีกว่า ใน กทม.อดีตผู้ว่าฯ กทม.ที่ผ่านมา ให้ความสนใจคนพิการคนด้อยโอกาสน้อย มัวแต่สนใจแต่เรื่องหมา แมว เพราะคนด้อยโอกาสที่มาเป็นขอทานที่อยู่ในพื้นที่ของ กทม.มีความเสี่ยงมาก ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดูว่าจะให้ความช่วยเหลืออย่างไร เพื่อไม่ให้มีคนขอทานเกิดขึ้น เอาใจใส่ ปรับความรู้สึกสงสาร เวทนาให้หมดไป ต้องกลับมาค้นหาว่าจะช่วยในการพัฒนาศักยภาพพวกเขาอย่างไร ขาที่เคยง่อยก็จะได้เดินได้ ตาที่บอดก็จะได้ทำในสิ่งที่มากกว่าขอทาน จึงอยากให้รัฐบาลคิดอะไรให้มีความก้าวหน้า ไม่ใช่สิ่งคิดมาแล้วจะทำให้คนมีแต่ความล้าหลังลงไปอีก

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000018694

ไม่มีความคิดเห็น: