วันจันทร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

บีอาร์ทีชี้ปูเค็มหมู่เกาะทะเลใต้ ช่วยเพิ่มระบบนิเวศสมบูรณ์

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11301 มติชนรายวัน


บีอาร์ทีชี้ปูเค็มหมู่เกาะทะเลใต้ ช่วยเพิ่มระบบนิเวศสมบูรณ์



นายเรืองฤทธิ์ พรหมดำ หนึ่งในทีมนักวิจัยชุดโครงการขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ โดยการสนับสนุนของโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยาการชีวภาพในประเทศไทย (BRT) และบริษัทโททาล อีแอนด์พีไทยแลนด์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้ศึกษาเรื่องปูน้ำเค็มในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ พบว่า ปูน้ำเค็มจะทำหน้าที่เป็นผู้หมุนเวียนสารอาหาร และเร่งอัตราการย่อยสลายของอินทรียสารให้กับป่าชายเลน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ปูกลุ่มที่กินอาหารได้หลากหลายชนิด และปูที่กินดินกินทราย โดยกลุ่มแรก คือ ปูที่อาหารหลากลายชนิดนั้น จะเป็นปูจำพวกปูแสมก้ามแดง Episesarma spp. หรือปูเค็ม ปูกลุ่มนี้จะกินใบไม้นำไปเก็บไว้ในรู เพื่อให้จุลินทรีย์ย่อยสลายเศษใบไม้จากนั้นปูค่อยกินเศษซากใบไม้ อินทรียสารที่ได้รับการย่อยสลายจากปูกลุ่มนี้ถูกส่งต่อไปเป็นอาหารทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ปลากระบอก กุ้งทะเล หอยแมลงภู่ และหอยอีกหลายชนิด

นายเรืองฤทธิ์กล่าวอีกว่า อีกกลุ่มคือปูที่กินดินกินทราย ซึ่งได้สารอาหารส่วนหนึ่งจากมูลของปูกลุ่มแรก เมื่อปูกินอินทรียสารแล้วขับถ่ายออกมา มูลของปูจะกลายเป็นปุ๋ย เป็นแร่ธาตุกลับคืนสู่ดิน และสู่ต้นไม้อย่างเป็นวัฏจักร หรือแม้แต่พฤติกรรมการขุดรูของปูที่ขุดชอนไชลงไปในดินเพื่ออาศัย ยังเป็นเส้นทางนำพาออกซิเจนเข้าสู่ชั้นดินเบื้องล่าง เพิ่มความสามารถในการย่อยสลายอินทรียสารให้กับจุลชีพซึ่งสร้างแร่ธาตุให้กับดินอีกด้วย นอกจากนี้ จากการศึกษาชนิดความหลากหลายของปูน้ำเค็มในพื้นที่ป่าชายเลนบริเวณอุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ ยังพบว่าพื้นที่บริเวณนี้มีความหลากหลายของปูน้ำเค็มหลายชนิด โดยขณะนี้สามารถรวบรวมได้แล้วถึง 21 ชนิด จาก 14 สกุล ใน 7 วงศ์ ซึ่งแต่ละชนิดมีสีสันที่สวยงาม จนเปรียบได้ว่าเป็น อัญมณีสีสดใสในผืนป่าชายเลน อาทิ ปูก้ามดาบ หรือเปี้ยวโนรา

หน้า 10 http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01lif04170252§ionid=0132&day=2009-02-17

ไม่มีความคิดเห็น: