วันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

การสร้างสังคมสวัสดิการเพื่อคุณภาพชีวิต

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11302 มติชนรายวัน


การสร้างสังคมสวัสดิการเพื่อคุณภาพชีวิต

คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ

โดย นวลน้อย ตรีรัตน์



การเรียกร้องเพื่อให้เกิดสังคมสวัสดิการเกิดขึ้นมานานแล้วในสังคมไทย เช่นอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก็เคยเสนอว่าอยากให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีการดูแลกัน "จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" พูดง่ายๆ ก็คือตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ข้อเสนอนี้ยังไม่เป็นจริงในการปฏิบัติ ด้วยข้ออ้างว่ามีงบประมาณไม่เพียงพอ ระบบสวัสดิการจึงถูกจัดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาให้กับกลุ่มที่มีความเดือดร้อนหรือต้องการมากที่สุดก่อน คือกลุ่มคนจนที่สุด การจัดการเช่นนี้จึงถูกเรียกขานว่าเป็นสังคมสงเคราะห์ มากกว่าจะเป็นระบบสวัสดิการ และถูกวิจารณ์ว่าทำให้ผู้ได้รับความช่วยเหลือถูกแบ่งแยกและลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และในข้อเท็จจริงระบบดังกล่าวก็ไม่สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลทำให้คนที่ได้รับความช่วยเหลือมีโอกาสที่จะหลุดพ้นความจนได้

การเรียกร้องให้ภาครัฐต้องมีการจัดระบบสวัสดิการอย่างครอบคลุมมีเสียงดังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการกำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน การปรับเปลี่ยนมีความเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้มากขึ้น เช่นกรณีหลักประกันสุขภาพ หรือการเรียนฟรี 12 ปี เป็นต้น ขณะเดียวกันฝ่ายการเมืองหรือพรรคการเมืองต่างๆ ได้นำความต้องการเหล่านี้ของประชาชนออกมานำเสนอในลักษณะโครงการประชานิยม ซึ่งมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ความแตกต่างระหว่างนโยบายประชานิยมกับการจัดระบบสวัสดิการ น่าจะอยู่ตรงที่การผลักดันให้เกิดระบบสวัสดิการอย่างครอบคลุมนั้น ไม่ได้มีเพียงแต่เรียกร้องสวัสดิการจากภาครัฐอย่างครอบคลุม มิได้เป็นไปเพื่อกลุ่มคนเฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น และได้มีการนำเสนอการเตรียมความพร้อมผ่านการปฏิรูปทางการคลังเพื่อเป็นการรองรับระบบสวัสดิการ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน มิได้ขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง และการเตรียมความพร้อมทางด้านการคลังจะช่วยให้การจัดสวัสดิการนั้นเป็นไปอย่างทั่วถึง และไม่เป็นภาระทางการคลัง จนจะต้องมีการยกเลิกในภายหลัง

การปฏิรูปทางทางการคลังนั้นหมายรวมถึงการปฏิรูปทั้งทางด้านรายได้และรายจ่าย ทางด้านรายได้นั้นจะต้องมีการปฏิรูประบบภาษีเพื่อให้สามารถรองรับระบบสวัสดิการได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันก็ต้องมีการปฏิรูปงบประมาณทางด้านรายจ่าย เพื่อตัดรายจ่ายประเภทไม่จำเป็นมาใช้จ่ายด้านระบบสวัสดิการมากขึ้น

ในการปฏิรูประบบภาษีนั้น มีข้อเสนอซึ่งไม่ใช่ใหม่ แต่แม้ผลักดันกันมานานก็ไม่ปรากฏเป็นจริง คือการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินและภาษีมรดก รัฐบาลปัจจุบันได้เสนอว่าควรจะมีการดำเนินการอย่างจริงจัง สอดคล้องกับข้อเสนอของภาคประชาสังคม ทั้งนี้เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง จากข้อมูลการกระจายรายได้ พบว่าความแตกต่างทางด้านรายได้ระหว่างคนจนและคนรวย (เปรียบเทียบ 20% ของประชากรที่มีรายได้สูงที่สุดกับ 20% ของประชากรที่มีรายได้ต่ำที่สุด) อยู่ที่ประมาณ 13 เท่า แต่ถ้าเปรียบเทียบในเชิงของการครอบครองทรัพย์สิน มีการประเมินว่าน่าจะสูงกว่านี้มากทีเดียว

ฐานการจัดเก็บภาษีในประเทศต่างๆ มักจะมาจากฐานทางด้านรายได้ การบริโภค และทรัพย์สิน สำหรับประเทศไทย ฐานการจัดเก็บภาษีหลักมาจากฐานการบริโภค รองลงมาคือฐานทางด้านรายได้ สำหรับฐานทรัพย์สิน มีการจัดเก็บน้อยมากๆ จึงคงถึงเวลาที่จะต้องมีการจัดเก็บภาษีฐานทางด้านทรัพย์สินขึ้นมาเสียที

เหตุผลในการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน สำหรับกรณีของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นเกี่ยวข้องกับหลักของการได้รับประโยชน์จากภาครัฐ และหลักความสามารถในการจ่าย ดังนั้น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นการจัดเก็บอยู่บนฐานของมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะเห็นได้ว่ามูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมีราคาที่สูงขึ้น ถ้ามีการพัฒนาความเจริญเข้าสู่พื้นที่ดังกล่าว เช่นยิ่งมีระบบสาธารณูปโภคเข้าไปมากเท่าไร ราคาของสินทรัพย์ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นผู้เป็นเจ้าของจึงควรมีการจ่ายภาษีกลับคืนมาให้กับรัฐ และเป็นการสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างผู้จ่ายภาษีในเขตเมืองและชนบท นอกจากนี้แล้ว ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังควรมีการแบ่งแยกประเภทของการใช้ที่ดินด้วย เช่นถ้าเป็นการใช้เพื่อเกษตรกรรม อัตราการจัดเก็บควรจะต่ำกว่า การใช้เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย หรือประกอบการอุตสาหกรรม หรือเชิงพาณิชย์อื่นๆ และสำหรับที่ดินที่รกร้าง กล่าวคือเป็นการซื้อที่ดินเพื่อการเก็งกำไร ซึ่งมีผลให้ปัจจัยการผลิตถูกนำไปครอบครองไว้เฉยๆ ไม่ทำประโยชน์ ควรจะมีการจัดเก็บในอัตราที่สูงเพื่อเป็นการสร้างต้นทุนในการเก็งกำไร เพื่อผลักดันให้มีการนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

ส่วนภาษีมรดก เป็นภาษีที่ถือว่าเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพราะความไม่สมบูรณ์ของตลาดและประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี จึงเปิดโอกาสให้คนบางกลุ่มสามารถสะสมทรัพย์สินหรือโภคทรัพย์จนมากเกินไป การจัดเก็บภาษีมรดกถือเป็นการคืนกำไรหรือผลผลิตส่วนเกินให้กับสังคม ซึ่งมีเป็นจำนวนมากที่การสร้างรายได้เหล่านี้มักจะมาควบคู่กับการการสร้างต้นทุนทางสังคม ประเทศต่างๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงมีการจัดเก็บภาษีมรดกทั้งสิ้น

ผู้เขียนได้เข้าร่วมการสัมมนาของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในหัวข้อ "การสร้างสังคมสวัสดิการเพื่อคุณภาพชีวิต" ได้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์มากจากศาสตราจารย์อานันท์ กาญจนพันธุ์ จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งให้ข้อคิดเห็นที่เป็นระบบ และเป็นการสังเคราะห์จากประสบการณ์การศึกษาสังคมชุมชนไทยมาอย่างยาวนาน อาจารย์มีความเห็นว่า การขับเคลื่อนนั้นต้องมี 3 เรื่องด้วยกันคือ

1.สร้างกลไกสถาบันแบบใหม่ เนื่องจากสถาบันและกลไกเดิมที่สังคมไทยเคยใช้ คือ บ้าน วัด และโรงเรียน มีความอ่อนแอลงค่อนข้างมาก เมื่อพิจารณาจากสภาพความสลับซับซ้อนของสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองในปัจจุบัน จึงมีความจำเป็นต้องสร้างสถาบันและกลไกใหม่ที่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในสังคมในปัจจุบัน ซึ่งมีอยู่ 3 ประเด็นด้วยกันคือ

กลไกทางภาษี อาจารย์ให้ความเห็นว่า กลไกทางภาษีเป็นกลไกสำคัญของระบบทุนนิยม ที่จะขจัดความไม่เท่าเทียม เป็นการกระจายโภคทรัพย์ และลดความไม่เท่าเทียมทางสังคม ประเด็นนี้ตรงกับแนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อว่ากลไกภาษีเป็นกลไกหลักในการกระจายรายได้ คือเก็บภาษีคนรวย มาใช้จ่าย และรองรับการจัดระบบสวัสดิการสังคม

ระบบกรรมสิทธิ์เชิงซ้อน หมายถึงระบบกรรมสิทธิ์ไม่ได้มีเพียงกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลเท่านั้น แต่ยังมีกรรมสิทธิ์รูปแบบอื่นๆ ดำรงอยู่ เช่นสิทธิบุคคลกับสิทธิส่วนรวม ระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลทำให้เกิดความเป็นเจ้าของ เช่นการเป็นเจ้าของในที่ดิน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถทำอะไรก็ได้ในพื้นที่ของตน ถ้าการทำนั้นทำให้เกิดผลกระทบกับผู้อื่น การใช้ประโยชน์จึงไปกระทบสิทธิส่วนรวม ดังนั้นจึงต้องคำนึงถึงระบบกรรมสิทธิ์ทั้งหมด และต้องตระหนักว่ากรรมสิทธิ์ส่วนรวมนั้นสูงกว่ากรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล

ธรรมาภิบาล ต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลที่ดี เช่นกรณีป่าชุมชน รัฐเป็นเจ้าของพื้นที่ป่า ประชาชนได้รับสิทธิในการในการใช้ประโยชน์ และดูแลรักษา แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีองค์กรภาคประชาสังคมขึ้นมาตรวจสอบถ่วงดุลการใช้ประโยชน์ของประชาชนด้วย ว่าเป็นไปในทางที่จะดูแลรักษาป่าไว้ได้ด้วย

2.การสร้างพื้นที่ทางสังคม ซึ่งหมายถึงการรวมกลุ่ม การเปิดประเด็นทางสาธารณะ โดยจะต้องมีพื้นที่ทางสาธารณะที่สำคัญคือ

พื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชีวิต

พื้นที่เกี่ยวกับความรู้ จะต้องมีการยอมรับในความรู้ที่มีหลายระบบ ไม่ใช่ความรู้เชิงเดี่ยวแต่เพียงอย่างเดียว เช่นการสาธารณสุข ความรู้มิได้มีเพียงความรู้ทางการแพทย์แบบตะวันตกเท่านั้น แต่เรามีความรู้ทางการแพทย์แบบตะวันออก และภูมิปัญญาชาวบ้าน

พื้นที่ของภาษาที่มีความแตกต่างกัน การต้องยอมรับความแตกต่างของวัฒนธรรม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความแตกต่างทางด้านภาษา

3.การสร้างตัวตนของคนกลุ่มต่างๆ อาจจะเนื่องจากข้อจำกัดทางด้านเวลา ทำให้อาจารย์ไม่ได้ขยายความในเรื่องนี้มากนัก แต่หัวใจของเรื่องก็คือ เราจะต้องมองเห็นตัวตนที่เป็นมนุษย์ของคนกลุ่มต่างๆ ที่มีความแตกต่างกันในสังคม

มีข้อคิดเห็นสุดท้ายก็คือการสร้างสังคมสวัสดิการเพื่อคุณภาพชีวิต จะต้องผลักดันให้มีกลไกที่สร้างการมีส่วนร่วมทั้งรัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคมต่างๆ

หน้า 6 http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act01180252§ionid=0130&day=2009-02-18

ไม่มีความคิดเห็น: