วันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

กก.สิทธิฯ สรุป 10 ความคืบหน้า-10 ความถดถอยในไทย

กก.สิทธิฯ สรุป 10 ความคืบหน้า-10 ความถดถอยในไทย

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 18 กุมภาพันธ์ 2552 18:37 น.



กก.สิทธิจับมือ ครส.สรุป 10 ความคืบหน้า และ 10 ความถดถอยในสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย พบปี 51 เกิดการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน-การขึ้นแบล็กลิสต์ 14 อาจารย์ฉาวละเมิดเซ็กซ์ การจ่ายค่าชดเชยเหยื่อคิลตี้ ถือเป็นความก้าวหน้า ขณะที่ การปราบปรามประชาชนในเหตุการณ์ 7 ต.ค.เซ็กซ์แลกเกรด ความรุนแรงภาคใต้ การคุกคามนักต่อสู้สิทธิมนุษยชน ความไม่คืบหน้าในคดีสมชาย และพระสุพจน์ ถือเป็นความถดถอย

วานนี้ (18 ก.พ.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) นำโดย นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ผอ.ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติธรรม นายเมธา มาศขาว เลขาธิการ ครส.และ นางอังคณา นีละไพจิตร นักสิทธิมนุษยชน แถลง 10 ความคืบหน้า และ 10 ความถดถอย ของสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยปี 2551 โดย 10 สถานการณ์คืบหน้า ประกอบด้วย
1.การมีส่วนร่วมของประชาชนในทางสังคมการเมือง เริ่มขยายตัว และก่อรูปของสภาพัฒนาการเมือง
2.รัฐเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศรับรองสิทธิของผู้พิการ ซึ่งไทยต้องทำตามและให้สิทธิด้านต่างๆ แก่ผู้พิการ
3.ศาลเปิดคำสั่งศาลนราธิวาส “อิหม่ามยะผา” ถูกซ้อมเสียชีวิต กับบรรทัดฐานใหม่ความเป็นธรรม และสิทธิมนุษยชน (25 ธันวาคม) โดยเป็นกรณีที่ศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2551 ในคดีชันสูตรพลิกศพ นายยะผา กาเซ็ง อิหม่ามประจำมัสยิดบ้านกอตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ตามที่พนักงานอัยการยื่นคำร้อง โดยศาลเชื่อว่า “อิหม่ามยะผา” ถูกทำร้ายจนเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวโดยทหาร
4.กลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียนมีเค้าลางจะเป็นจริง เมื่อกฎบัตรอาเซียนมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ และก่อให้เกิดคณะทำงานเพื่อจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (Regional Working Group for an ASEAN Human Rights Mechanism) ขึ้น
5.สกอ.(สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา) กระทรวงศึกษาธิการ แบล็กลิสต์ 14 อาจารย์ฉาว กรณีล่วงละเมิดทางเพศ ลวนลามนักศึกษา
6.ศาลปกครองกลางสั่งกรมควบคุมมลพิษจ่ายค่าชดเชยเหยื่อคลิตี้
7.การประกาศใช้ พ.ร.บ.คำนำหน้านามหญิง พ.ศ.2551 โดยให้เลือกใช้ นาง-นางสาว ได้ตามความสมัครใจ
8.สิทธิผู้บริโภคเริ่มได้รับความใส่ใจ เช่น การดำเนินคดีแพ่งกับบริษัทที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค หรือการสั่งปรับสินค้าที่โฆษณาเกินจริง
9.สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขยายสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพประชาชน ครอบคลุมชนกลุ่มน้อย ขยายสิทธิการเข้าถึงผู้ป่วยโรคเฉพาะ ไต มะเร็ง ฯลฯ และ
10.กฎหมายค้ามนุษย์มีผลบังคับใช้

ขณะที่ 10 สถานการณ์ถดถอย ประกอบด้วย
1.ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้การใช้กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินโดยไม่มีการประเมิน การใช้นโยบายการทหารนำการเมือง
2.เหตุการณ์ 7 ตุลาคม และความรุนแรงจากความขัดแย้งทางการเมืองที่สืบเนื่อง การปราบปรามประชาชน การเผชิญหน้า 2 สี การเกิดการบุกยึดสถานที่ราชการ ที่สาธารณะ และการปะทะกันเองโดยที่เจ้าหน้าที่รัฐเพิกเฉย
3.ปัญหากระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย เช่น การ พ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ร.บ.กฎอัยการศึก โดยไม่ได้ประเมิน รวมไปถึงการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย การอ้างคำสั่งศาล และการซ้อม ทรมานผู้ต้องหา
4.วิกฤตเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น รวมถึงไม่มีหลักประกันการว่างงาน แก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ฯลฯ สิทธิของผู้ด้อยโอกาส คนชายขอบซึ่งถูกแย่งที่ดินและโอกาสทำกิน ทั้งจากนายทุนและหน่วยงานรัฐ
5.กรณีเซ็กซ์แลกเกรด คลิปฉาว ความรุนแรงในโรงเรียน และกรณีนักเรียนตีกันระหว่างสถาบันการศึกษา
6.ผลกระทบจากโครงการของรัฐที่เดินหน้าต่อและสร้างผลกระทบกับประชาชน เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ โครงการโรงถลุงเหล็กที่ป่าพรุ บางสะพาน บ่อขยะสุราษฎร์ ฯลฯ
7.การคุกคามนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน เช่น การอุ้ม นายกมล เหล่าโสภาพันธ์ หลังเดินทางไปติดตามคดีที่ สภ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น รวมไปถึงคดีที่ยังไม่คลี่คลาย เช่น กรณี นายสมชาย นีละไพจิตร และ พระสุพจน์ สุวโจ
8.การคุกคามสื่อ ยึดสำนักงาน เอ็นบีที ปิดกั้นวิทยุชุมชน ข่มขู่ คุกคาม ทำร้ายบุคลากรด้านสื่อมวลชน เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และอำนาจการปิดเว็บไซต์ของกระทรวง ICT ตาม พ.ร.บ.และคดีฟ้องร้อง และหมิ่นประมาท ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
9.การห้ามมอญจัดงานวันชาติ ที่ จ.สมุทรสาคร โดย กอ.รมน.ซึ่งถือเป็นสิทธิ์ทางวัฒนธรรมขั้นพื้นฐาน และ
10.กรณี โศกนาฏกรรมแรงงานข้ามชาติจากพม่า เสียชีวิตบนรถห้องเย็น ซึ่งเป็นผลจากการค้ามนุษย์

โดย นางอังคณา ได้กล่าวถึงสถานการณ์ในภาคใต้ ว่า เป็นเรื่องความรุนแรงในการปราบปรามและการละเมิดสิทธิ์ของ 2 ฝ่าย และเป็นสถานการณ์พิเศษ และการแก้ปัญหาเป็นแบบเบ็ดเสร็จที่ให้อำนาจกับ กอ.รมน.ภาค 4 ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนสูงมาก และมีแนวโน้มว่าจะยกเลิกยุทธศาสตร์สันติวิธี ทำให้กังวลว่า กอ.รมน.และ สมช.จะนำยุทธศาสตร์คีมสองง่าม ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติ การจัดทำบัญชีรายชื่อประชาชนที่รัฐมองว่าเป็นผู้สนับสนุนผู้ก่อความไม่สงบ การเข้าถึงพยานหลักฐานในคดีอาญาของผู้เสียหายที่ผ่านมาไม่สามารถทำได้ และมีการคุกคามนักสิทธิมนุษยชน เช่น การเข้าตรวจค้นสำนักงานและปล่อยข่าว ว่า เป็นผู้ช่วยผู้ก่อความไม่สงบ ที่สำคัญเริ่มมีการสร้างค่ายทหารในโรงเรียนมากขึ้น

นางอังคณา กล่าวว่าตน และ ครส.มีข้อเสนอไปยังรัฐบาล ประกอบด้วย
1.รัฐต้องคลี่คลายปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเสียชีวิตในช่วงสงครามการปราบ ปรามยาเสพติด หรือเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ ที่ผ่านไปกว่า 2 ปีแล้ว แต่อัยการยังไม่ได้นำเรื่องขึ้นสู่ศาล
พร้อมให้ความคุ้มครองนักสิทธิมุนษยชนภาคใต้
2.ยกเลิกการใช้ พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน และหันมาใช้ยุทธศาสตร์พลเรือนนำการทหาร โดยจัดองค์กรบริหารภาคใต้ในรูปแบบพิเศษที่ให้อำนาจอยู่ที่นายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ กอ.รมน.ภาค 4
3.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมใหม่ โดยแก้กฎหมายให้การทรมานเป็นอาชญากรรมใหม่
4.ให้รัฐตั้งกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบในกรณีที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมในคดีต่าง และ
5.เลิกวัฒนธรรมผู้กระทำผิดลอยนวลไม่ว่ากรณีใดๆ ต้องหาตัวผู้กระทำความผิดให้ได้



http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9520000018884

ไม่มีความคิดเห็น: