วันอังคารที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

อุทธาหรณ์13 สมุนไพรกับโยงใยเกษตรอินทรีย์

อุทธาหรณ์ 13 สมุนไพรกับโยงใยเกษตรอินทรีย์ / ทางเสือผ่าน
แสงไทย เค้าภูไทย18/2/2552




อุทธาหรณ์13 สมุนไพรกับโยงใยเกษตรอินทรีย์


ประเด็น 13 สมุนไพรในรูปเคมีควบคุมน่าจะจบลงได้แล้วเมื่อมีการยอมรับความผิดพลาดและแก้ต่างกันจนเรื่องเริ่มเงียบ

แต่ก่อนจะเงียบ ขอฟื้นฝอยหาตะเข็บกันส่งท้ายอีกละลอก อย่าคิดว่าเป็นการซ้ำเติมเลย

เพราะเมืองไทยยังต้องอาศัยสินค้าเกษตรเป็นรายได้ต้นทางกระจายสู่ประชากรกว่า 37 ล้านคนและรายได้ปลายทางจากต่างประเทศอีกปีละกว่าแสนล้านบาท

สมุนไพรเหล่านี้จึงมีค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล โดยเฉพาะด้านลดต้นทุนการผลิตและลดพิษภัยจากยากำจัดศัตรูพืช

มีการใช้สารเคมีฉีดพ่นกันเสียจนคนฉีดป่วยเรื้อรัง หมดสภาพ บางรายก็ถึงตาย เพราะสารเคมีเป็นสารพิษ (toxin)กำจัดหรือฆ่าแมลงด้วยการสัมผัส สลายตัวช้า ก็เมื่อแมลงตายได้ คนก็ตายด้วย

ต่างจากสารจากพืชที่ฤทธิของมันแค่ไล่แมลง(expellance) เสียเป็นส่วนใหญ่ ซ้ำยังสลายตัวได้ ทั้งในอุณหภูมิปกติหรือที่ความร้อนระดับหุงต้ม ต่างจากสารเคมีซึ่งเป็นสารบริสุทธิ อยู่ยงคงกระพันแม้ความร้อนสูงๆ

สิ่งที่น่ากลัวอีกอย่างก็คือ สารเคมีกำจัดแมลงในตลาดเมืองไทยขณะนี้ล้วนมาจากจีนซึ่งมีราคาถูก แต่พิษตกค้างและขีดความปลอดภัยหรือ lethal dose (LD)ต่ำ คนเจอเข้านิดเดียว ก็เกิดพิษถึงตายได้ เข้ามาขึ้นทะเบียนในเมืองไทยได้ยังไงก็ไม่รู้

ระบบราชการเมืองไทยก็เป็นอย่างนี้แหละ บริษัทสารเคมีเลี้ยงข้าราชการกันตั้งแต่ยังเป็นหัวหน้ากองขึ้นมาจนถึงอธิบดี จึงเป็นการยากที่สารกำจัดศัตรูพืชจากสมุนไพรที่เขากำหนดให้เป็นเคมีภัณฑ์ควบคุมจะผ่านด่านไปขึ้นทะเบียนแข่งกับสารเคมีที่นำเข้าจากต่างประเทศได้

ครั้งหนึ่งผมเคยสนใจพืชพิษ คิดจะทำวิจัย จึงโทร.ไปขอข้อมูลจากเจ้าหน้าที่หน่วยงานหนึ่งซึ่งทำงานด้านวิชาการเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ โดยผมเจาะจงไปที่วัชพืชพิษ

ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ปฏิเสธว่าไม่มีข้อมูล แต่เมื่อซักไซ้และยืนยันว่าผมเคยเห็นข่าวว่าค้นพบโน่นนี่ เจ้าหน้าที่รายนั้นจึงสารภาพว่ามีจริง

“พี่อย่าไปออกข่าวนะ หนูตายแน่ งานวิจัยน่ะมีเป็นพันชิ้น แต่เสนอขึ้นไปแล้วก็หาย พวกเราจึงได้แต่ทำเรื่องขึ้นไปแล้วก็เก็บเข้าลิ้นชัก เจ้านายไม่ยอมให้เผยแพร่”

เล่นดักกันตั้งแต่ต้นทาง แล้วงานวิจัยที่รัฐเสียเงินเสียทอง เสียเงินเดือนให้ข้าราชการทำงาน มิเป็นการสูญเปล่าหรือ ?

เท่านั้นยังไม่เสียหายพอ ปีหนึ่งๆตลาดเคมีภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท เงินไหลออกนอกเท่าไร ? ข้าราชการระดับสูงงาบไปเท่าไร ?

เมื่อกระแสตื่นตัวในด้านเกษตรอินทรีย์แรงขึ้น โดยเฉพาะโครงการพระราชดำริเป็นต้นแบบจนบรรดากรมที่เกี่ยวข้องกับเคมีภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชต้านกระแสไม่ไหว จำต้องยอมรับสมุนไพรกำจัดศัตรูพืชว่ามีผลทัดเทียมกับการใช้สารเคมีจริง

แต่ถ้าให้เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรทำใช้กันอย่างอิสระ บริษัทผลิตภัณฑ์เคมีกำจัดศัตรูพืชก็จะได้รับผลกระทบรุนแรง โดยเฉพาะปัจจุบันนี้ เริ่มมีการผลิตชีวเคมีภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชกันเชิงอุตสาหกรรมแล้ว

จึงต้องจับเข้ากลุ่มเดียวกันกับวัตถุอันตราย ต้องควบคุม ต้องขึ้นทะเบียน แล้วก็เสียค่าโสหุ้ยแบบเคมีภัณฑ์อันตราย

การขึ้นกำหนดให้สมุนไพร 13 ตัวเป็นวัตถุอันตราย ไปขัดกับพ.ร.บ.อาหารและยาและพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 ตรงๆเลยทีเดียว

สมุนไพรตัวเดียวกัน คนไทยจะนำไปใช้ จะต้องเจอกับกรอบกฎหมายทับซ้อนกันถึง 2-3 ฉบับเลยหรือ ?

จะอ้างว่า กฎหมายของกระทรวงสาธารณสุขครอบคลุมเฉพาะการใช้เป็นยาและอาหารเท่านั้น ไม่ได้คลุมไปถึงการใช้ในทางกำจัดศัตรูพืช ได้หรือ?

คงต้องดูการใช้สมุนไพรเหล่านี้ที่นอกเหนือจากการเป็นยาสัก2-3 ตัวอย่างเช่น:

เกษตรกรใช้หนอนตายหยากผสมขมิ้นชันกับน้ำมันพืชทาแผลให้วัว ควายและสัตว์เลี้ยงกันแมลงหนอนชอนไชบาดแผลมานานแล้ว

อีกด้านหนึ่ง ใช้หนอนตายหยากสับยัดปากไหจู๋ที่หมักปลาร้าเพื่อฆ่าหนอนแมลงวันที่มาไข่ทิ้งไว้ เมื่อเอาปลาร้าไปปรุงอาหารด้วยความร้อน ฤทธิของสมุนไพรตัวนี้ก็หมดไป

ส่วนพวกที่นิยมกินปลาร้าดิบ ที่หมักในไหปิดปากด้วยหนอนตายหยากก็ยังไม่พบว่าเป็นอันตราย ดีไม่ดีพยาธิใบไม้อาจจะถูกฤทธิของหนอนตายหยากฆ่าตายไปด้วยก็ได้

เมล็ดสะเดาก็เช่นกัน มีสารออกฤทธิทำให้แมลงไม่กินอาหารจนตายไปในที่สุด

มนุษย์และสัตว์เลี้ยงหากได้รับสารนี้เข้าสู่ร่างกาย ก็จะมีอาการเดียวกัน แต่ค่า LD ของเมล็ดสะเดาสูง จึงไม่เป็นอันตรายรุนแรง

มีเรื่องเล่ากันถึงสรรพคุณของสะเดาว่า สมัยก่อนเมื่อสามีจะเข้าป่า ภรรยาไม่อยากให้ไปนานจึงสั่งไว้ว่า ขาไปเวลานอน ให้นอนใต้ต้นมะขาม แต่ขากลับให้นอนใต้ต้นสะเดา

สามีไปได้ 7 วัน 7 คืน นอนใต้ต้นมะขามตามเมียสั่งทุกคืน จนเป็นไข้ตัวร้อนรุมๆจนรุนแรงขึ้นในวันที่ 7 ก็นึกอยากกลับบ้าน นึกถึงคำเมียได้ว่า ขากลับให้นอนใต้ต้นสะเดา จึงทำตามจนครบ 7 วันก็ถึงบ้านไข้ก็หายสนิทพอดี

เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะ กลางคืนใบมะขามจะคายน้ำออกมามาก หายใจเข้าปอดมากเกินไปก็เลยเป็นไข้ขึ้นมา ส่วนการนอนใต้ต้นสะเดาทำให้ได้รับสารแก้ไข้ระเหยออกมา

แล้วยังงี้จะให้เห็นว่าสะเดาคู่น้ำปลาหวาน เป็นวัตถุอันตรายได้ยังไง

สะเดามีคู่หูคือควินิน หน้าตา กลิ่นรสละม้ายกันมาก แทนกันได้ แต่ควินินฤทธิแรงกว่าในทางรักษามาลาเรีย

สมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ย้ายเมืองหลวงไปอยู่เพชรบูรณ์ มีการย้ายโรงเรียนนายร้อยจปร.ไปด้วย นักเรียนนายร้อยไปตายด้วยไข้ป่าหรือมาลาเรียกันเสียหลายคน

สมัยโน้นขาดแคลนยามาก จึงใช้ควินินกินรักษากันตามมีตามเกิด ซึ่งก็ได้ผลดี จนจอมพล ป.เชื่อมั่นในสรรพคุณ สั่งให้ปลูกต้นควินินขนาบ 2 ข้างทางตั้งแต่เข้าเขตเพชรบูรณ์ไปจนถึงตัวเมือง แต่เดี๋ยวนี้มีการขยายถนน ต้นควินินที่มีประวัติศาสตร์จารึกอยู่ในต้นถูกโค่นเสียเกือบหมดแล้ว

ขิง ข่า ตะไคร้ พริก อย่าไปพูดถึงเลย พูดแล้วจะเสียดายต้มยำ

แต่ก็มีข้อให้คิดอยู่เปราะหนึ่ง คือเราปลูกพริกกันจนถึงขั้นส่งออกแต่เรากลับซื้อสารสกัดแคปไซซินจากนิวซีแลนด์ปอนด์หนึ่งกว่าหมื่นบาท

สาบเสือ ได้ชื่อเพราะกลิ่นฉุนชนิดที่เสือสาปส่งไม่เข้าใกล้ ชาวบ้านตัดส่วนเหนือดินมาสะไว้ตามยุ้งฉางกันมอด กันแมลงมากินข้าว

มีการนำทั้งต้นมาทุบแล้วแช่ปลายบ่อปลาหรือบ่อกุ้งสัก 4-5 วันจนเริ่มเน่า น้ำบริเวณที่แช่จะเริ่มใส กระจายออกมา เอาใบพัดมาตีน้ำให้กระจายไปทั่วบ่อ น้ำในบ่อก็จะค่อยๆใสขึ้น

ใบสาบเสือมีน้ำมันหอมระเหยมาก กลิ่นหอมเย็นฉุนเอียน ฝรั่งเอาไปสกัดทำหัวน้ำหอมเพื่อแต่งกลิ่นน้ำหอมชนิดกลิ่นอ่อนเนียนให้กลิ่นเข้มข้นขึ้น

อีกตัวคือดอกดาวเรือง ที่ได้ฉายาว่าพีรีธั่มเมืองไทย เพราะใช้ไล่แมลงได้ปลอดภัยพอกัน

ดอกดาวเรือง ยังไม่ปรากฏว่าบริโภคแล้วเป็นอันตราย โดยมีการนำไปผสมกับอาหารไก่และเป็ดเพื่อให้ไข่ออกมาสีเหลืองเข้มขึ้น

เวลามีการเลือกตั้ง เอามาทำมาลัยคล้องคอนักการเมืองเวลาหาเสียง ก็ยังไม่เห็นมีใครตายคาพวงมาลัย จะมีก็แต่พวกซิ่งเท่านั้นที่ตาย

วันนี้มีคนมาบอกว่าดาวเรืองเป็นวัตถุอันตราย ถ้าเป็นจริงตามนั้น ต่อไปเกลียดขี้หน้านักการเมืองคนไหน เอาพวงมาลัยดาวเรืองไปคล้องเสียให้ล้นคอ เวลาปราศรัยออกแอคชั่นมากๆ ดมกลิ่นมากๆ จะได้เมาดอกดาวเรือง หัวทิ่มตกเวทีตาย

-------------------------
http://www.siamrath.co.th/uifont/Articledetail.aspx?nid=2742&acid=2742

ไม่มีความคิดเห็น: