วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

จ.ม.เปิดผนึก ถึงชุมชนการศึกษาไทย (1)

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11300 มติชนรายวัน


จ.ม.เปิดผนึก ถึงชุมชนการศึกษาไทย (1)

คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12

โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์



เหตุเพราะการปฏิรูปการศึกษา 10 ปีที่ผ่านมายังไม่ส่งผลถึงเด็กอย่างแท้จริง ผลการทดสอบความรู้นักเรียนทุกวิชาต่ำกว่าร้อยละ 50 โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ต่ำกว่าร้อยละ 35 ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องผลักดันให้ทบทวนทิศทางการปฏิรูปการศึกษารอบใหม่ ในทศวรรษที่ 2 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 เป็นต้นไป

ผมเกรงว่าหากเราไม่วางน้ำหนักของเรื่องที่จะทำ อะไรต้องทำให้มากและทำให้ดีที่สุด ถึงที่สุดก่อน อะไรควรทำภายหลัง การทำหลายๆ เรื่องไปพร้อมกันทีเดียว โดยไม่จัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง อาจจะเกิดความผิดพลาดหรือย่ำเท้าอยู่กับที่ได้

ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ได้เขียนจดหมายลาออกจากการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ ยื่นต่อนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2543

ความคิดเห็นของ อาจารย์โกวิท ที่มีต่อทิศทางการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมา น่าจะเป็นบทเรียนที่ดีต่อทุกฝ่าย ก่อนที่เราจะร่วมกันเดินหน้าต่อไป ผมเลยคัดลอกมาเป็นอนุสติกันอีกครั้งหนึ่ง

ผมเคยเรียนท่านรัฐมนตรี ท่านรัฐมนตรีช่วยฯ และในที่ประชุมคณะกรรมการหลายครั้งว่า ปัญหาการศึกษาที่ต้องเร่งปฏิรูป ซึ่งหากไม่ปฏิรูปบ้านเมืองจะพังยิ่งกว่าวิกฤตคราวนี้อีก มีอยู่ไม่กี่ปัญหา หากให้ผมเลือกให้เหลือปัญหาเดียวก็ยังได้ คือเลือกปฏิรูปปัญหาตามมาตรา 26 ของ พ.ร.บ.การศึกษา 2542 ให้เต็มรูป ซึ่งท่านรัฐมนตรี ท่าน รมช. และคณะกรรมการก็เห็นด้วย ไม่มีใครค้าน แต่ไม่เคยเห็นหยิบขึ้นมาพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ ให้สมกับที่ผู้ทรงคุณวุฒิคนหนึ่งซึ่งก็มีไม่กี่คน เน้นนักเน้นหนา พูดแล้วพูดอีก คงบันทึกรวมไว้กับข้อเสนออื่นๆ ร้อยข้อพันข้อ

ผมขอถือโอกาสนี้เรียนท่าน รมว.ศธ. ว่าในช่วงเวลาที่เหลือที่ท่านและคณะกรรมการอาจช่วยบ้านเมืองได้มาก โดยการปฏิรูปการศึกษานั้น ท่านอาจพิจารณาทำเรื่องต่อไปนี้ให้เข้มข้นคือ

1.ยกหรือแยกการฝึกหัดครูออกมาให้ชัดเจน ในสถาบันราชภัฏ ในมหาวิทยาลัย การฝึกหัดครูต้องคัดคนเป็นพิเศษ ไม่ใช่คนเรียนเก่งอย่างเดียว แต่มีคุณลักษณะเหมาะกับการเป็นครูด้วย (เขามีจาระไนไว้ว่าคุณลักษณะอย่างไรที่เหมาะสมจะเป็นครู) ในระหว่างเรียนต้องให้อยู่หอพักกินนอนแบบนักเรียนนายร้อย จปร. ได้รับเงินเดือนระหว่างเรียน ใครเรียนเก่ง แต่ลักษณะนิสัยไม่เหมาะสมจะเป็นครูก็คัดเลือกออกระหว่างเรียน อาจให้ไปเรียนบัญชี วิทยาศาสตร์ นิเทศศาสตร์ ฯลฯ จะเหลือแต่ผู้ที่เหมาะสมเป็นครู เรียนจบบรรจุให้ทันที อาจเริ่มจากโครงการคุรุทายาทก็ได้

2.จัดเงินเดือนครูให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การศึกษาปี 2542 ให้มีเงินเดือนสูงเป็นพิเศษ เพื่อชักจูงให้คนดี คนเก่ง เป็นครู เงินเดือนให้เป็นไปตามทำนองเงินเดือนของผู้พิพากษา ของอัยการ เพราะครูต้องทำงานหนัก ต้องสอนคน สอนลูกหลานเรา "ครุ แปลว่า หนัก" หากยังไม่สามารถจะจัดกับครูทั้งหมดเพราะหางบประมาณไม่ได้จะเริ่มจากครูรุ่นใหม่ตามข้อ 1 ก็ยังได้ แต่หากเริ่มทั้งหมดได้ก็ดี

3.ให้สวัสดิการครูให้ดีเป็นพิเศษ ตาม พ.ร.บ.การศึกษา 2542 ผมไปช่วยงาน ดร.พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ท่านสามารถให้สภา กทม.ออกกฎของสภา กทม.ให้ทุนบุตรครูตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนจบปริญญาตรี โดยเหตุผลง่ายๆ ว่า ครูต้องสอนลูกหลานเรา แต่บุตรครูนั้น ครูไม่มั่นใจว่าครูจะมีเงินส่งให้เรียนหรือเปล่า ฉะนั้น ท่านผู้ว่าฯพิจิตต และสภา กทม.สามารถตัดภาระความกังวลของครูไปได้ประการหนึ่ง

สวัสดิการครูหากจะช่วยกันคิด จะช่วยกันหาทางให้จริงๆ มีอยู่มากมาย โดยรัฐอาจไม่ต้องเสียงบประมาณหรือจะเสียก็น้อยมาก ยกตัวอย่าง ครูเป็นจำนวนมากไม่เคยเห็นทะเล ไม่เคยไปแม่ฮ่องสอน สุไหงโก-ลก จันทบุรี ในขณะที่นักเรียนจำนวนมากปิดเทอมบินไปเที่ยวอังกฤษ ญี่ปุ่น อเมริกา บินไปกินกาแฟที่ฮ่องกง แล้วมาคุยกันอย่างสนุกสนาน เมื่อเป็นเช่นนี้ครูย่อมมีปมด้อยเป็นธรรมดา แม้ในสมัยนี้จะพูดกันว่าครูไม่จำเป็นต้องมีความรู้ดีกว่าผู้เรียนทุกเรื่อง นักเรียนอาจสอนครูในบางเรื่อง หรือบางเรื่องเรียนรู้ไปพร้อมกัน แต่หากใครเป็นครูแล้วจะรู้ว่า ครูต้องเป็นผู้รู้ "เป็นพหูสูต" มิฉะนั้น ครูจะไม่อยู่ในสายตาของศิษย์ ของชาวบ้าน

หากประเทศเราตกลงกันให้ครูขึ้นเครื่องบิน ขึ้นรถไฟ ขึ้นเรือยนต์ ขึ้นรถยนต์โดยสารที่ว่างโดยไม่ต้องเสียเงิน ยิ่งให้ลูกเมียไปด้วยได้ยิ่งดี ยิ่งมีเงินติดกระเป๋าให้ครูได้ใช้บ้าง รัฐหรือเราจะเสียเงินเพื่อเป็นสวัสดิการให้ท่านและครอบครัวสักเท่าไร เพราะที่นั่งที่ว่างปกติก็ไม่มีคนนั่งอยู่แล้ว การให้นี้จะจำกัดอยู่ในช่วงปิดภาคเรียนก็ได้ หรือยังจำกัดอยู่เฉพาะภายในประเทศก็ได้

ครับ จดหมายยังไม่จบ ขอไว้ต่อจันทร์หน้า โปรดติดตาม

หน้า 2 http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01col02160252§ionid=0116&day=2009-02-16

ไม่มีความคิดเห็น: