วันอังคารที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

มุมมองนักมานุษยวิทยาฝรั่ง: สถาบันกษัตริย์สมัยใหม่และการล่วงละเมิดมิได้

--------------------------------------------------------------------------------

มุมมองนักมานุษยวิทยาฝรั่ง: สถาบันกษัตริย์สมัยใหม่และการล่วงละเมิดมิได้


แกรนท์ อีแวนส์

ตีพิมพ์ครั้งแรกในบางกอกโพสต์ 14 กพ. 2552

มันเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ปัญญาชนและนักการเมืองไทยบางส่วนจะอ้างว่าชาวต่างชาติไม่เข้าใจถึงทัศนคติของคนไทยที่มีต่อพระมหากษัตริย์ และมันก็จริงที่ฝรั่งหลายคนไม่เข้าใจถึงความรู้สึกเกรงขามและความเคารพของคนไทยส่วนใหญ่ แต่มันก็จริงเช่นกันที่ชาวต่างชาติเคยมีความรู้สึกเช่นเดียวกันต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นชาวอังกฤษ ออสเตรเลีย สวีเดน ญี่ปุ่น หรืออื่นๆ

สำหรับผมตอนเด็กๆที่อยู่ออสเตรเลียในช่วงทศวรรษ 1950 สถาบันกษัตริย์ดูเหมือนเป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติ เวลาผมไปโรงเรียนพวกเราร้องเพลง God Save the Queen เพื่อเริ่มต้นอาทิตย์ใหม่ และร้องเพลงนี้เมื่อมีงานสำคัญ และจริงๆแล้วผมยังจำมันได้แม่นกว่าเพลงชาติเสียอีก

ผมโบกธงออสเตรเลียให้พระราชินีอลิซาเบธในปี 1954 ตอนเธอมาเยือน Mildura เมืองชนบทที่ผมโตขึ้นมา พวกเรายืนตรงสำหรับเพลงชาติในโรงหนัง และมีรูปพระราชินีอลิซาเบธแขวนอยู่ในห้องเรียนเกือบทุกห้อง ในสถานที่สำคัญทุกแห่ง และในบ้านจำนวนมาก หนังสือพิมพ์และวิทยุรายงานความเคลื่อนไหวของราชวงศ์ (สมัยนั้นไม่มีโทรทัศน์ในชนบทจนกระทั่งปี 1967) และโดยเฉพาะในแมกกาซีนผู้หญิงมีรายงานข่าวของราชวงศ์และข่าวซุบซิบ ฉบับระลึกถึงการเดินทางต่างประเทศของพระราชินี เจ้าชาย หรือเจ้าหญิงขายหมดอย่างเร็ว นี่เป็นเรื่องปกติในแคนาดา นิวซีแลนด์ และประเทศในเครือจักรภพของอังกฤษ ไม่ต้องพูดถึงสหราชอาณาจักรเอง

ทุกวันนี้บรรยากาศการมีอยู่ทุกบ้านของสถาบันกษัตริย์ได้หายไปจากสังคมออสเตรเลีย คนรุ่นผมเป็นคนรุ่นท้ายๆ ที่ยังจำ "ความเป็นธรรมชาติของการมีสถาบันฯ" ได้อยู่ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าครุ่นคิดว่า"ความเป็นธรรมชาติ" หรือ "ความขลัง" ของสถาบันฯ นั้นจางหายไปอย่างรวดเร็วได้อย่างไร ส่วนหนึ่งมันสัมพันธ์กับการเสื่อมถอยอย่างรวดเร็วของคริสตศาสนจักรในทั้งอังกฤษและออสเตรเลียตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง แต่ก็มีเหตุผลอื่นด้วยเช่นกัน

น่าสังเกตด้วยว่าในขณะที่ทัศนคติได้เปลี่ยนไปอย่างมาก แต่สถาบันกษัตริย์ของอังกฤษในปัจจุบันดูจะมีความมั่นคงมากทีเดียวและพระราชินีอลิซาเบธก็ทรงอยู่ในจุดสูงสุดของพระองค์

การปกครองระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้นเป็นการประนีประนอมทางประวัติศาสตร์ที่แปลกของหลักการทางการเมืองต่างๆ เป็นแบบกึ่งๆ ที่ผู้นิยมสาธารณรัฐรับไม่ได้ เป็นระบอบที่มักทำงานได้ดีโดยเฉพาะถ้าเทียบกับระบบที่ยึดอุดมการณ์เดียวโดดๆ อย่างตึงตัว เหมือนในระบอบคอมมิวนิสต์หรือฟาสชิสต์แนวเข้ม แต่สถาบันกษัตริย์ในโลกสมัยใหม่นั้นเป็นสถาบันที่ถูกกำจัดได้ทางการเมือง ไม่เหมือนอุดมการณ์ชาตินิยมหรือสถาบันเช่นกองทัพในยุคใหม่ ซึ่งความระมัดระวังทางการเมืองของกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญทุกพระองค์ล้วนเป็นสิ่งเน้นย้ำถึงเรื่องนี้ สถาบันกษัตริย์ไม่สามารถจะแข่งขันกับอุดมการณ์ที่โดดเด่นอย่างชาตินิยมและประชาธิปไตยได้ และจำเป็นต้องถูกมองว่าเป็นสถาบันฯ ที่อยู่ร่วมกับอุดมการณ์เหล่านั้นได้อย่างกลมกลืน

สถาบันกษัตริย์สมัยใหม่จึงกลายเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของ "ขนบประเพณีของชาติ" การที่สถาบันกษัตริย์สมัยใหม่บางทีอาจมีลักษณะความเป็นพ่อและผดุงคุณธรรม และบางครั้งอาจจะให้ภาพวาดฝันถึงสังคมเกษตรแบบเรียบง่าย อย่างเช่น “เศรษฐกิจพอเพียง” ก็ไม่น่าแปลกใจ และเสมือนเป็นการต้านความเจริญอย่างรวดเร็วอย่างหนึ่ง จึงได้รับการยอมรับ และจริงๆ แล้วก็ได้รับการยอมรับจากคนจำนวนมาก

สถาบันกษัตริย์ดึงดูดใจนักมานุษยวิทยาตั้งแต่มีสาขาวิชานี้กำเนิดขึ้นมาเพราะการปกครองประเภทนี้ได้คร่อมอยู่บนวัฒนธรรมและสังคมที่แตกต่างหลากหลาย ดังที่ได้เห็น สารัตถะของความเป็นเจ้าและขุนนางสูงศักดิ์คือการแบ่งแยกด้วยพิธีกรรม การแต่งกาย การพูด และอื่นๆ กิจกรรมเหล่านี้ในแง่หนึ่งแยกแยะความบริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์ออกจากกัน ราชวงศ์เป็น "ศูนย์กลางของแบบอย่างที่ดี" ตามคำของ Clifford Geertz และสถาบันกษัตริย์ยังเป็นรูปแบบสังคมที่สามารถข้ามพ้นความขัดแย้งทางการเมือง และช่วยประกันความมีเสถียรภาพและความสามัคคี ความยากลำบากประการหนึ่งของสถาบันฯ ยุคใหม่คือการวัดว่าควรจะอยู่ห่างจากประชาชนมากเท่าใด โดยเฉพาะในสังคมที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากอ่านผิดก็อาจเสื่อมถอยหรือแย่ยิ่งกว่านั้น

และจากการแยกแยะความเป็นเจ้านี่เองที่ทำให้เกิดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพขึ้นมา ซึ่งถูกออกแบบออกมาเพื่อปกป้องเกียรติยศหรือความบริสุทธิ์ของราชวงศ์ แต่ในเมืองไทยนั้น ตั้งแต่กฏหมายนี้ถูกลากมาเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปลายทศวรรษ 1950 ก็ถูกใช้อย่างสุรุ่ยสุร่ายโดยนักการเมืองทุกประเภท น่าสะท้อนใจที่กฏหมายนี้ไม่ได้อยู่ในพระราชดุลยพินิจของพระมหากษัตริย์อย่างที่ควรจะเป็น ผลที่ตามมาคือการใช้กฏหมายหมิ่นฯ อย่างสุรุ่ยสุร่ายนี้ทำให้เกิดผลตรงข้ามกับจุดมุ่งหมายที่ออกแบบมาตั้งแต่ต้น แทนที่จะทำให้สถาบันกษัตริย์บริสุทธิ์กลับกลายเป็นทำให้หม่นหมองด้วยการเมืองรายวัน ในแต่ละคดีของข้อหาหมิ่น ประชาชนถูกถามให้เลือกระหว่างสถาบันกษัตริย์และประชาธิปไตย และในที่สุดมันจะมีผลร้ายต่อสถานภาพของสถาบันกษัตริย์

ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น สถาบันกษัตริย์ไม่สามารถถูกมองได้ว่าต่อต้านประชาธิปไตย มีแต่จะขจัดกฏหมายหมิ่นฯ ออกจากการเมืองเท่านั้นที่จะหลีกเลี่ยงหนทางที่ไม่พึงน่าปรารถนานี้ได้ เพราะฉะนั้นจากแง่มุมของนักมนุษยวิทยา การที่บางกลุ่มในพรรคประชาธิปัตย์ได้เสนอให้กฏหมายนี้มีความโหดเข้มมากขึ้นรังแต่จะทำให้ปัญหาบานปลายมากขึ้นไปอีก ดูเหมือนพวกเขาจะเข้ารกเข้าพงด้วยเหตุผลสองประการ

หนึ่งคือ การฉวยโอกาสทางการเมืองแบบเดิมๆ ที่ทำให้กฏหมายนี้เปรอะเปื้อนมาแต่อดีต นั่นคือการอ้างว่ามีการสมรู้ร่วมคิดในการกำจัดสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งพวกเขาอ้างว่ากระทำโดยศัตรูของเขาคืออดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร มันไม่มีหลักฐานยืนยันในเรื่องดังกล่าว และผมคนหนึ่งล่ะเชื่อว่าทักษิณจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตามการโค่นล้มรัฐบาลทักษิณและพวกที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนอย่างใช้เล่ห์เพทุบายโดยอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ก่อให้เกิดกระแสการต่อต้านสถาบันฯ ขึ้นมา

ในระบอบกษัตริย์ทุกที่ย่อมต้องมีผู้ต่อต้านสถาบันฯ ไม่มีสังคมใดที่คนจะเชื่อมั่น 100% ต่อผู้นำของเขา - แม้กระทั่งในเกาหลีเหนือ! และในความคิดปกติเมื่อคนยุคใหม่ถูกถามให้เลือกระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประช าธิปไตยเขาจะเลือกข้อหลัง เพราะฉะนั้นเราควรสรุปว่าพวกที่ใช้อำนาจปฏิปักษ์ประชาธิปไตยในนามของกษัตริย์เป็นผู้ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านกษัตริย์ขึ้นมานั่นเอง

เหตุผลที่สองดูเหมือนจะเป็นเพราะพวกอนุรักษ์นิยมในสังคมไทยตกหลุมโฆษณาชวนเชื่อการท่องเที่ยวของตัวเองว่าด้วย "สังคมไทยพุทธแบบดั้งเดิม" แต่สังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงอย่างมากในระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมาและมันคงจะน่าหัวร่อถ้าคิดว่าทัศนคติของคนไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปด้วย แค่ลองเปรียบเทียบศาสนาพุทธที่ประชาให้ความนิยมในประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวหรือพม่ากับของไทยเพื่อดูว่าศาสนาพุทธได้ถดถอยอย่างไร และวงการสงฆ์ไทยก็มีเรื่องอื้อฉาวไม่แพ้ศาสนจักรคาธอลิก

ฝ่ายอนุรักษ์นิยมชอบคิดว่าการหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมทำได้ด้วยการบังคับกฏหมายอย่างโหดหิน แทนที่จะพยายามเข้าใจการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวตามอย่างสร้างสรรค์

ตัวอย่างที่เพิ่งเห็นไม่นานนี้ของแนวทางแบบอนุรักษ์นิยมคืออดีตกษัตริย์คยาเนนทราของเนปาล ที่โต้ตอบเสียงเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงด้วยการหันกลับไปสู่ระบอบเผด็จการแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ถ้าพระองค์พยายามขยับขยายประชาธิปไตยให้กับประชาชนแล้วล่ะก็ สถาบันกษัตริย์ของเนปาลคงจะยังอยู่ถึงทุกวันนี้

คนไทยบางคนบางครั้งเปรียบเทียบสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษกับสถาบันฯ ไทยในเชิงลบ แต่นักข่าวชาวอังกฤษที่มีความคิดนอกกรอบคนหนึ่งชื่อเจเรมี แพ็กซ์แมนได้สรุปในหนังสือของเขา On Royalty (2006) (เรื่องราชวงศ์) ว่าราชวงศ์วินด์เซอร์จะดำรงอยู่ต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ แต่การจะทำนายอนาคตประเทศไทยที่สุมไปด้วยวิกฤตนั้นเป็นเรื่องที่อันตราย ซึ่งถูกทำให้ซับซ้อนยุ่งเหยิงเป็นพิเศษด้วยการที่พวกกษัตริย์นิยมทำตนเป็นศาลเตี้ยดูเหมือนจะเป็นภัยคุกคามหลักต่อความยืนยงของสถาบันกษัตริย์ไทยเสียเอง

นักมานุษยวิทยา Grant Evans มีผลงานเล่มล่าสุดคือ The Last Century of Lao Royalty: A Documentary History (Silkworm Books, 2009) ศตวรรษสุดท้ายของราชวงศ์ลาว: ประวัติศาสตร์สารคดี







--------------------------------------------------------------------------------
โดย : ประชาไท
วันที่ : 18/2/2552

ไม่มีความคิดเห็น: