วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

The Return of Depression Economics and the Crisis of 2008 การกลับมาของวิกฤตเศรษฐกิจโลก (1)

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4080

The Return of Depression Economics and the Crisis of 2008 การกลับมาของวิกฤตเศรษฐกิจโลก (1)
คอลัมน์ ผ่ามันสมองของปราชญ์
โดย พ.ญ.นภาพร ลิมป์ปิยากร naaplimp2@hotmail.com

เป็นเวลาหลายทศวรรษหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในระหว่างปี 2473-82 เศรษฐกิจโลกโดยรวมเติบโตจนทำให้จำนวนคนยากจนลดลงมาก แม้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะยังเกิดขึ้นบ้าง แต่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่กลับเชื่อว่าวิกฤตแบบนั้นจะไม่มีวันหวนกลับมาอีก เบน เบอร์แนนเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐคนปัจจุบันซึ่งเป็นผู้ที่ศึกษาภาวะเศรษฐกิจถดถอยอันยาวนานของญี่ปุ่นมาอย่างช่ำชองก็ยังกล่าวไว้ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตันว่า นโยบายเศรษฐศาสตร์มหภาคสมัยใหม่ได้แก้ไขปัญหาวงจรเศรษฐกิจไปแล้ว โลกคงไม่มีโอกาสจะตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจเลวร้ายเช่นที่เคยเกิดขึ้นในระหว่างปี 2473-82 อีกอย่างแน่นอน แต่ความจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าเศรษฐกิจของสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว แต่มันจะลุกลามและยาวนานจนกลายเป็นเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในระหว่างปี 2473-82 หรือไม่ พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี 2551 ตอบคำถามนี้ไว้ในหนังสือที่ชื่อ The Return of Depression Economics and the Crisis of 2008 นอกจากนั้นหนังสือขนาด 191 หน้าซึ่งตีพิมพ์ขึ้นในปี 2551 เล่มนี้ยังอธิบายว่า ภาวะเศรษฐกิจที่โลกกำลังเผชิญอยู่นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ผู้กำหนดนโยบายจะต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถทำให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นคืนชีพได้ โลกจะสามารถป้องกันมิให้วิกฤตเช่นนี้เกิดขึ้นได้อีกหรือไม่และด้วยวิธีการอย่างไร

ในปัจจุบันสาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่บ้างในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ แต่พอล ครุกแมนได้ยกเหตุการณ์ง่ายๆ เพื่อสร้างความเข้าใจถึงสาเหตุของการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่โดยอาศัยบริษัทรับดูแลเด็กมาเป็นตัวอย่างในการอธิบาย สมมติว่ามีบริษัทรับดูแลเด็กเล็กแห่งหนึ่งประกอบด้วยคู่สามีภรรยาที่เป็นสมาชิกราว 150 คู่ พวกเขาจะทำหน้าที่ผลัดกันดูแลเด็กเล็กหรือลูกของสมาชิกโดยกำหนดให้ผลตอบแทนของการเสียเวลาดูแลลูกเป็นคูปอง เช่น การดูแลลูกให้คนอื่นหนึ่งชั่วโมงมีค่าเท่ากับคูปองหนึ่งใบ ธุรกิจการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนดูแลลูกกลับไม่ราบรื่น ทั้งนี้เพราะมีคู่สามีภรรยาที่มีเวลาว่างเพื่อดูแลลูกให้คนอื่นเพื่อสะสมคูปองไว้ใช้ในอนาคตเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจำนวนคูปองที่หมุนเวียนจึงมีน้อยเกินไปอันเป็นผลมาจากการที่คนส่วนใหญ่ไม่ยอมใช้คูปองเพื่อจ้างให้คนอื่นดูแลลูกให้ ซ้ำร้ายคู่สามีที่มีจำนวนคูปองน้อยก็ไม่กล้าออกนอกบ้านเพื่อขอให้คนอื่นดูแลลูกให้จึงพยายามเลี้ยงลูกเองส่งผลให้โอกาสในการสะสมคูปองของสมาชิกทุกคนหมดไปเพราะไม่มีใครกล้าจ้างเลี้ยงลูก

ครุกแมนใช้ตัวอย่างนี้อธิบายภาวะเศรษฐกิจถดถอยว่า การที่บริษัทรับจ้างเลี้ยงลูกเข้าสู่ภาวะถดถอยมิใช่เป็นผลมาจากการที่คนอื่นขาดความสามารถในการเลี้ยงลูก ขาดเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือมีคู่แข่ง แต่เป็นเพราะบริษัทขาดอุปสงค์อันเป็นผลมาจากการที่ทุกคนพยายามสะสมคูปองหรือหลีกเลี่ยงการใช้คูปอง ส่วนหนทางในการแก้ไขก็คือ คณะกรรมการบริษัทต้องออกระเบียบให้คู่สมรสต้องออกนอกบ้านอย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้งเพื่อเปิดโอกาสให้คนอื่นเลี้ยงลูกให้ซึ่งจะทำให้ปริมาณคูปองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อสมาชิกมีโอกาสสะสมคูปองเพิ่มขึ้น พวกเขาก็ยินดีจะใช้คูปองเพิ่มขึ้นยังผลให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ นั่นหมายความว่า ภาวะถดถอยสามารถแก้ไขได้อย่างง่ายดายด้วยการพิมพ์เงินหรือเพิ่มอุปทานนั่นเอง เขาสรุปว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยของโลกเป็นผลมาจากการที่ทุกคนพยายามสะสมเงินซึ่งเขาคิดว่าวิธีการแก้ไขง่ายๆ ก็คือการพิมพ์เงินเพิ่มเข้าไปในระบบ

อย่างไรก็ดี การเพิ่มเงินเข้าไปในระบบก็มีข้อจำกัด รัฐอาจขาดความสามารถในการเพิ่มเงินเข้าไปในระบบเองเพราะการพิมพ์เงินต้องมีทุนสำรอง เช่น วิกฤตการเงินของเม็กซิโกในปี 2537 เริ่มต้นขึ้นหลังจากที่โดนัลโด โคโลซิโอ ผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีถูกลอบสังหาร ทำให้เม็กซิโกตกอยู่ในสถานการณ์มืดมนเพราะประชาชนไม่ต้องการการปฏิรูป เออร์เนสโต เซดิโยซึ่งกลายเป็นผู้สมัครประธานาธิบดีคนใหม่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความสามารถแต่ไม่เชี่ยวชาญทางด้านการเมือง เขาจึงดำเนินนโยบายตามที่พรรคต้องการ นั่นคือเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐและยินยอมให้ประชาชนแลกเงินเปโซเป็นดอลลาร์โดยไม่จำกัดส่งผลให้มีการนำเงินดอลลาร์ออกนอกประเทศมากขึ้น เมื่อเกิดการสูญเสียเงินสำรองเป็นจำนวนมาก ทางเลือกก็คือ 1) ขึ้นดอกเบี้ย แต่การทำเช่นนั้นย่อมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับผู้ประกอบการ 2) ลดค่าเงินเปโซ จริงอยู่การทำเช่นนั้นไม่เพียงแต่จะเป็นผลดีต่อการส่งออก ยังสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยลดลงอีกด้วย แต่มันก็อาจทำให้นักเก็งกำไรค่าเงินเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินอย่างกว้างขวางเพราะพวกเขาคาดว่าการลดค่าเงินจะเกิดขึ้นอีกในเร็ววัน ดังนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องทำตามกฎ 1) ลดค่าเงินครั้งเดียวในขนาดที่มากพอ 2) หลังลดค่าเงินต้องส่งสัญญาณว่ารัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว มิเช่นนั้นการลดค่าเงินจะเป็นการส่งสัญญาณให้กับนักลงทุนและโลกภายนอกว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากและทำให้ผู้คนตื่นตระหนก นอกจากรัฐบาลเม็กซิโกจะไม่ทำตามกฎทั้งสองข้อแล้ว ยังกลับลดค่าเงินเพียงแค่ 15% หรือครึ่งหนึ่งของที่นักเศรษฐศาสตร์แนะนำอีกด้วย ร้ายกว่านั้นนักลงทุนส่วนหนึ่งยังล่วงรู้ข้อมูลภายในและเคลื่อนย้ายเงินออกนอกประเทศไปก่อนจนในที่สุดรัฐบาลต้องประกาศลอยตัวค่าเงิน เมื่อนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น พันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลจึงเป็นสินค้าที่ไม่มีใครต้องการแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะสูงถึง 75% แล้วก็ตาม ในช่วงแห่งความวุ่นวายในปี 2538 นี้ รายได้ประชาชาติของเม็กซิโกลดลงถึง 7% ดัชนีอุตสาหกรรมลดลงถึง 15% ซึ่งเลวร้ายกว่าสหรัฐ ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่เสียอีก ซ้ำร้ายวิกฤตการณ์การเงินยังได้ลุกลามเข้าสู่อาร์เจนตินาอีกด้วย

เมื่อนักลงทุนเริ่มเกรงว่าวิกฤตการณ์การเงินของเม็กซิโกจะลุกลามไปทั่วภูมิภาค พวกเขาจึงเริ่มทยอยขนเงินออกจากประเทศต่างๆ ทั่วทั้งภูมิภาครวมทั้งอาร์เจนตินาด้วย เมื่อธนาคารต่างชาติเรียกคืนเงินกู้จากอาร์เจนตินา เงินเปโซในประเทศย่อมลดลง ทั้งนี้เพราะเงินที่อยู่ในธนาคารอาร์เจนตินาส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ เมื่อธนาคารไม่มีเงินปล่อยกู้ เศรษฐกิจอาร์เจนตินาจึงอยู่ในภาวะตึงตัว ร้ายกว่านั้นประชาชนเริ่มขาดความมั่นใจ พวกเขาก็เริ่มทยอยถอนเงินทำให้ธนาคารยิ่งขาดสภาพคล่อง สถานการณ์เช่นนี้ก็เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับสหรัฐ ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่นั่นเอง แม้ว่าผู้ฝากเงินส่วนหนึ่งยังคงมั่นใจว่าธนาคารจะมีเงินคืนให้แก่พวกเขาทุกครั้งที่พวกเขาต้องการถอนเงิน แต่ค่าเงินเปโซเทียบกับดอลลาร์อาจลดลงเรื่อยๆ เมื่อพวกเขาต้องการเงินดอลลาร์ในทันที พวกเขาจึงพากันถอนเงินเพื่อแลกเป็นดอลลาร์ แต่ธนาคารกลางอาร์เจนตินากลับไม่สามารถเป็นแหล่งกู้เงินสุดท้ายได้เพราะขาดอำนาจในการพิมพ์เงินเปโซเพื่อแลกกับดอลลาร์ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่เดือนเปลี่ยนเม็กซิโกและอาร์เจนตินาจากสวรรค์เป็นนรกไปในทันที

สิ่งที่ละตินอเมริกาต้องการมากที่สุดในช่วงเวลานั้นก็คือเงินดอลลาร์ แต่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดเสรีทางการค้ากับเม็กซิโกไม่อยากให้สหรัฐช่วยเหลือเม็กซิโก นอกจากนี้คนอีกส่วนหนึ่งยังเห็นว่าการที่รัฐบาลสหรัฐเอาเงินไปช่วยเหลือต่างประเทศเป็นเรื่องไม่ถูกต้องและไม่ควรไปยุ่งกับตลาดด้วย แต่ในที่สุดรัฐมนตรีคลังสหรัฐก็อนุมัติให้เม็กซิโกกู้ยืมเงินได้ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนอาร์เจนตินาก็ได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารโลก เมื่อประเทศทั้งสองได้รับความช่วยเหลือจากภายนอก นักลงทุนก็หยุดตื่นตระหนก อัตราดอกเบี้ยก็ลดลงและการใช้จ่ายเริ่มเพิ่มขึ้น ไม่นานเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศก็เริ่มฟื้นตัว

หน้า 34 http://matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02edi07160252&day=2009-02-16§ionid=0212

ไม่มีความคิดเห็น: