วันอังคารที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ทิศทางพัฒนาศักยภาพการแพทย์ไทยรองรับการเป็นเมดิคัลฮับ!!

ทิศทางพัฒนาศักยภาพการแพทย์ไทยรองรับการเป็นเมดิคัลฮับ!!


บทวิเคราะห์:

ทิศทางพัฒนาศักยภาพการแพทย์ไทย

รองรับการเป็นเมดิคัลฮับ!!!

กรมการแพทย์สาธิตผ่าตัดทางกล้องพร้อมกัน 6 สาขา ครั้งแรกในไทย

สำนักข่าวแห่งชาติ ติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่กรมการแพทย์ ในโครงการพัฒนาเครือข่ายด้านผ่าตัดทางกล้อง ณ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จังหวัดเชียงราย เป็นความร่วมมือทางการแพทย์ โดยโรงพยาบาลราชวิถีระดมแพทย์ผ่าตัดทางกล้อง Minimally Invasive Surgery (MIS) 6 สาขาครั้งแรก ในไทย
นับเป็นการสนองรับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพด้านสาธารณสุขของประเทศเพื่อรองรับการเป็นเมดิคัล ฮับ ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลราชวิถี สังกัดกรมการแพทย์ ได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางทั้งหมด 7 ด้าน ประกอบด้วย ศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านหัวใจและหลอดเลือด อุบัติเหตุ การปลูกถ่ายอวัยวะ มะเร็งศีรษะและคอ จอประสาทตา โสต ศอ นาสิก และผ่าตัดทางกล้อง โดยมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านวิชาการ การวิจัย ถ่ายทอดองค์ความรู้ ตลอดจนการพัฒนาเครือข่ายวิชาการและการบริการระดับตติยภูมิและศูนย์รับส่งต่อภูมิภาค
เหตุผลที่เลือกโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เพราะเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่และเป็นศูนย์กลางด้านสาธารณสุขในเขตภาคเหนือตอนบน การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผ่าตัดทางกล้องและการสาธิตโดยศูนย์ผ่าตัดทางกล้อง ของโรงพยาบาลราชวิถี ครั้งนี้ นับเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผ่าตัดทางกล้องที่ถ่ายทอดในหลายสาขาพร้อมกันครั้งแรกในประเทศไทย ได้แก่ ศัลยกรรมทั่วไป อายุรกรรมทางเดินอาหาร สูติ-นรีเวช กระดูกและข้อ หู คอ จมูก และทางเดินปัสสาวะ โดยมีวิสัญญีแพทย์ร่วมในทีมด้วย การสาธิตครั้งนี้เป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ทุกสาขาการผ่าตัดทางกล้องของโรงพยาบาลในเขตภาคเหนือตอนบนและแพทย์จากประเทศใกล้เคียง จำนวน 200 คน ให้ได้รับความรู้ ความเข้าใจ เกิดทักษะ และความมั่นใจในการนำเทคโนโลยีมาให้บริการผู้ป่วยในเขตพื้นที่ของตน โดยมีการบรรยาย อภิปราย รวมทั้งสาธิตการผ่าตัดในผู้ป่วยพร้อมกันถึง 5 ห้อง และถ่ายทอดสัญญาณการผ่าตัดทั้งภาพและเสียงมายังห้องประชุม
ศักยภาพการผ่าตัดทางกล้อง

นายแพทย์ เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ บอกว่า การผ่าตัดทางกล้อง หรือ Minimally Invasive Surgery (MIS) สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับการผ่าตัดเกือบทุกอย่าง เป็นการผ่าตัดที่มีแผลขนาดเล็กเพียง 0.5 เซนติเมตร - 1.0 เซนติเมตร โดยเอากล้องที่เรียกว่า Laparoscope หรือ endoscope สอดเข้าไปในอวัยวะภายในร่างกาย จะช่วยให้เห็นภาพชัดเจน ทำให้สามารถทำการผ่าตัดได้ดีขึ้น เช่น ผ่าตัดต่อมไทรอยด์ เนื้องอกในอุ้งเชิงกราน การห้ามเลือดที่ออกมากในกระเพาะและหลอดอาหาร ผ่าตัดเส้นเลือดขอด ริดสีดวงจมูก ไต ผ่าตัดเอ็นข้อเข่า ฉีกขาด เป็นต้น ข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้องผู้ป่วยจะสูญเสียเลือดระหว่างผ่าตัดน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิด มีการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อน้อย แผลมีขนาดเล็ก อาการปวดหลังผ่าตัดน้อย และบางครั้งการผ่าตัดในลักษณะนี้ แพทย์สามารถที่จะมองเห็นพยาธิสภาพ หรือรอยโรคได้มากกว่าด้วยการขยายจากเลนส์ของกล้อง ทำให้มีความแม่นยำในการผ่าตัดมาก ลดภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยพักฟื้นในโรงพยาบาล ไม่นานก็สามารถกลับบ้านได้
นอกจากนี้การผ่าตัดบางชนิด สามารถรักษาได้ตรงจุดโดยไม่เกิดบาดแผล เช่น การส่องกล้องเข้าทางปาก ทางทวารหนัก หรือทางช่องคลอดเพื่อทำการผ่าตัดรักษาโรค ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีสิทธิในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตร 30 บาท) หรือประกันสังคมที่มารับบริการผ่าตัดทางกล้อง จะได้รับการพิจารณา ถึงความจำเป็นในการรักษาโรคโดยไม่ได้คำนึงถึงการมีสิทธิในการเบิกจ่าย หากมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่าควรรักษาด้วยวิธีดังกล่าว เช่นเดียวกับผู้ป่วยทั่วไปโดยไม่มีการแบ่งแยก
ศักยภาพโรงพยาบาลรัฐสู่ศูนย์กลางการเรียนรู้สำหรับแพทย์

โครงการพัฒนาห้องผ่าตัดผ่านกล้องอัจฉริยะ หรือ Intelligent OR ของโรงพยาบาลราชวิถีเป็นโครงการที่มุ่งให้มีห้องผ่าตัดที่ทันสมัยสามารถเชื่อมต่อกับห้องผ่าตัดของโรงพยาบาลอื่นและห้องผ่าตัดในต่างประเทศได้ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของศัลยแพทย์และแพทย์เฉพาะทางในระบบต่างๆ ซึ่งงบประมาณในการดำเนินการจัดสร้างห้องผ่าตัดผ่านกล้องอัจฉริยะนี้ ใช้งบประมาณจำนวน 8 ล้านบาท ห้องผ่าตัดอัจฉริยะ จะเป็นห้องผ่าตัดที่มีการติดตั้งอุปกรณ์การผ่าตัดผ่านกล้องทุกชนิดไว้ทั้งหมด และติดตั้งอุปกรณ์เชื่อมต่อสัญญาณไปยังจุดต่างๆ เช่น ห้องผ่าตัดในต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ กรณีที่ต้องการให้เป็นห้องเรียน แลกเปลี่ยนระหว่างแพทย์เฉพาะทางในสาขาต่างๆ โดยโรงพยาบาลราชวิถีจะเป็นศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดทางกล้องให้แก่แพทย์ที่ต้องการทำการผ่าตัดทางกล้องให้ผู้ป่วยโดยเป็นห้องปฏิบัติการการเรียนรู้ที่แพทย์สามารถเรียนรู้และนำไปใช้รักษาผู้ป่วยได้ นอกจากนี้ ห้องผ่าตัดผ่านกล้องอัจฉริยะนี้สามารถที่จะทำศัลยกรรมให้แก่ผู้ป่วยด้วยโรคในระบบต่างๆ ได้เกือบครบทุกชนิด เช่น ศัลยกรรม สมอง และศัลยกรรมประสาท ศัลยกรรมกระดูก ศัลยกรรมหัวใจ ศัลยกรรมตกแต่งรวมทั้งศัลยกรรมพลาสติกด้วย ถือเป็นห้องผ่าตัดผ่านกล้องที่สมบูรณ์แบบที่สุดในประเทศ และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เสียงสะท้อนจากศัลยแพทย์

นายแพทย์พิชัย พงศ์มั่นจิต นายแพทย์ระดับ 9 แพทย์ด้านศัลยกรรมทั่วไป โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จังหวัดเชียงราย เปิดเผยกับสำนักข่าวแห่งชาติ ภายหลังเข้าร่วมชมการสาธิตการผ่าตัดทางกล้องครั้งนี้ว่านับเป็นโครงการที่ได้ประโยชน์มาก ถึงแม้ว่า ตนเองจะเป็นศัลยแพทย์อยู่ที่นี่มานานหลายปี แต่ประสบการณ์ครั้งนี้ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สำคัญ และเป็นการเปิดโอกาสให้ชาวจังหวัดเชียงรายรวมทั้งจังหวัดอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงได้รับการรักษาด้วยวิทยาการทางการแพทย์ที่ทันสมัย ทำให้คนไข้ได้รับความเจ็บปวดทรมานน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นคนไข้ในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือคนไข้ทั่วไปก็ตาม ประการสำคัญคือ เป็นโอกาสดีที่มีโอกาสชมการสาธิตจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกด้าน ระดับแนวหน้าของประเทศ ซึ่งนอกจากจะได้รับองค์ความรู้จากแพทย์ที่มีประสบการณ์เฉพาะด้านเหล่านี้แล้ว ยังได้เห็นการสาธิตด้วยของจริง ทำให้แพทย์ในพื้นที่อื่นๆ ได้รับโอกาสในการพัฒนาและก้าวหน้าไปพร้อมๆ กัน ได้ประโยชน์สูงมาก
แต่สิ่งหนึ่งที่โรงพยาบาลในพื้นที่ต่างจังหวัดต้องการ คือ เรื่องอุปกรณ์การแพทย์ ที่ยังขาดแคลน เช่น กล้องที่ช่วยในการผ่าตัด ซึ่งยังเป็นกล้องธรรมดา ไม่ใช่กล้องที่ปลายสามารถกระดกหรือหมุนรอบได้ 360 องศาเช่นเดียวกับที่ได้เห็นการสาธิตครั้งนี้ แต่ก็คาดหวังว่า อีกไม่นานจะดีขึ้น
การวินิจฉัยโรคในปัจจุบัน ได้ใช้กล้องเข้ามาช่วย และกล้องในยุคปัจจุบันนี้ได้พัฒนาก้าวหน้าอย่างมาก นับเป็นวิทยาการทางการแพทย์ที่คิดค้นขึ้นมา เพื่อประโยชน์สูงสุดในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย รวมทั้งช่วยให้การรักษาของแพทย์มีความสะดวกและแม่นยำมากขึ้น สำหรับวงการแพทย์ไทย ล้วนมีแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและมีศักยภาพเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ จึงไม่ใช่เรื่องยาก ที่จะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านสาธารณสุขในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์หรือมากกว่านั้น!!!
http://thainews.prd.go.th/view.php?m_newsid=255202170349&tb=N255202&return=ok&news_headline='ทิศทางพัฒนาศักยภาพการแพทย์ไทยรองรับการเป็นเมดิคัลฮับ!!'

ไม่มีความคิดเห็น: