วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

คลังปล่อยคมนาคมผ่า "บินไทย" เคลิ้ม ! แผน 10 ปี ลงทุน 4 แสนล้าน

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4080

คลังปล่อยคมนาคมผ่า "บินไทย" เคลิ้ม ! แผน 10 ปี ลงทุน 4 แสนล้าน

คอลัมน์ เจาะลึกวิกฤตการบินไทย

ความมุ่งมั่นของทีมคณะกรรมการผ่าตัดปัญหาธุรกิจและการเงิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยังคงเข้มข้น แต่สถานการณ์ โดยรวม กระทรวงผู้รับผิดชอบระหว่าง "คมนาคม-คลัง" เริ่มจะไปกันคนละทาง

นอกจาก 2 รัฐมนตรี "โสภณ ซารัมย์-กรณ์ จาติกวณิช" จะมีแบ็กกราวนด์ต่างกันลิบลับ ในส่วนแนวนโยบายและวิธีการทำงานยังแตกต่างโดยสิ้นเชิงอีกด้วย

จากเหตุผลดังกล่าวทำให้การเข้ามาแก้ วิกฤตการบินไทยครั้งนี้ได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากคนทั่วๆ ไป นักธุรกิจ สายการบินคู่แข่ง ฯลฯ เมื่อถึงจุดหมายปลายทางสายการบินแห่งชาติของไทยจะหาทางออกจากวิบากการเงินครั้งนี้อย่างไร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผ่าโครงสร้างการบินไทยขณะนี้เริ่มเห็นเค้ารางบ้างแล้วว่า "คมนาคม" จะเสนอให้ใช้กรอบของแผนวิสาหกิจการบินไทย 10 ปี พ.ศ.2552-2560 เป็นแผนที่นำทาง แผนวิสาหกิจ ฉบับนี้การบินไทยจะต้องใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นถึง 418,970 ล้านบาท ลงทุนจัดซื้อฝูงบินทั้งเก่าและใหม่ถึง 50 ลำ

บวกการลงทุนอะไหล่ ปรับปรุงเครื่องบิน ซื้อคืนเครื่องบินเช่า และเงินลงทุนอื่นๆ อีกก้อนใหญ่ ซึ่งคณะกรรมการฟื้นฟูฯ ที่มีนายศรีสุข จันทรางศุ เป็นประธาน มั่นใจว่าการลงทุนท่ามกลางวิกฤตครั้งนี้จะทำให้การบินไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นตามเป้าหมายที่ต้องการได้

เป็นการพิสูจน์ว่า ระหว่างกระทรวงคมนาคมซึ่งกำกับและดูแลนโยบายการบริหารของการบินไทยโดยตรง กับกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวน 51% สุดท้ายแล้วเมื่อแผนฟื้นฟูฯเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ กระทรวงใดจะมีบทบาทต่อการบินไทยอย่างแท้จริง



จากที่ผ่านมา "โสภณ ซารัมย์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบความไว้วางใจทั้งหมดให้นายศรีสุข ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาเครือข่ายการขนส่งทางอากาศของ บมจ. การบินไทย ร่วมกับทหารเอกอย่างนาย ธีรศักดิ์ สุวรรณยศ นักบริหารการเงินมืออาชีพที่ดำรงสถานะอยู่ได้ทั้งอดีตรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเพื่อนสนิทของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ยังมีนายวัลลภ พุกกะณะสุต อดีตรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายพาณิชย์ การบินไทย น้องชายนายนิพัทธ พุกกะณะสุต ซึ่งรู้เส้นทางการหารายได้จากอุตสาหกรรมการบินเป็นอย่างดีเข้ามา เสริมทัพ

การประชุมต่อเนื่องตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา นอกเหนือจากการทำแผนฉบับย่อให้ "โสภณ" ทำความเข้าใจ ระหว่างนั้นนายศรีสุขจะประชุมร่วมกับทีมงานทั้ง 13 คน ถึงการปรับรายละเอียดตัวแปรต่างๆ ใช้เป็นสูตรกำหนดเป้า "เพิ่มรายได้-ลดค่าใช้จ่าย-ปรับปรุงเส้นทางบิน" ให้สอดคล้องกับแผนการลงทุนจัดซื้อฝูงบินใหม่จำนวน 58 ลำ และขายฝูงบินเก่าทิ้ง 53 ลำ

ขณะที่ฟากฝั่ง "กรณ์ จาติกวณิช" ถึงจะไม่มีทีมงานปรากฏให้เห็นชัดเจน แต่ได้ใช้บริษัทที่ปรึกษา AVANT GUARD CAPITAL ที่มีนายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช เป็นตัวแทนเพียงคนเดียว หอบเอกสารฟื้นฟูจากกระทรวงการคลังมาประชุมร่วมกับคณะกรรมการ 2 ฝ่าย คือคณะกรรมการฟื้นฟูภายในการบินไทย ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร เป็นประธาน และคณะกรรมการฟื้นฟูฯ ชุดของนายศรีสุข จันทรางศุ

แทบไม่มีทีมจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนอื่นๆ ที่แสดงตนเข้ามาดูแลแผนฟื้นฟูสายการบินแห่งนี้

จะมีก็แต่นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิสาหกิจ (สคร.) ทำหน้าที่เสมือนตัวแทนกระทรวงการคลัง ให้ข้อมูลความเคลื่อน ไหวของการบินไทยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มต้นเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน



อย่างไรก็ตาม ที่เคียงข้างกับ "กรณ์ จาติกวณิช" ส่วนใหญ่เป็นนักการเงินรุ่นใหม่วัยสามสิบต้นๆ อย่าง "ตรัยรักษ์ เต็ง" ที่ออกจาก บมจ.เมอรŒริล ลินชŒ ภัทร มารับตำแหน่งที่ปรึกษา และ "ศิโรฒน์ เสตะพันธุ" อดีตผู้จัดการ บมจ.เจพี มอร์แกน ประเทศไทย นักวิเคราะห์ บจ.ไทยพาณิชย์ ยอมสละทุกตำแหน่งเพื่อมาเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา "อารีพงศ์" ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนด้วยการส่งสัญญาณต่างจากครั้งที่ผ่านๆ มา ทำนองว่า ถึงขณะนี้การบินไทยยังไม่ได้ยื่นขอความช่วยเหลือจาก สคร. เช่นเดียวกับที่ยังไม่ได้ส่งแผนฟื้นฟูมาให้พิจารณา จึงเชื่อได้ว่าการบินไทยจะแก้ปัญหาภายในด้วยวิธีเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ปรับปรุงเส้นทางการบิน รวมทั้งหาเงินมาเสริมสภาพคล่องระยะสั้น 19,000 ล้านบาทเอง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งกระทรวงการคลังอีก

อารีพงศ์บอกอีกว่า จากนี้ไป สคร.และกระทรวงการคลังจะไม่เข้าไปมีส่วนในเรื่องนี้ รวมทั้งจะยกเลิกไม่นำแผนเพิ่มทุนที่เตรียมไว้สำหรับการบินไทยมาใช้ เป็นผลจากการประเมินสถานการณ์ ทั้งการที่ การบินไทยไม่ยื่นขอความช่วยเหลือและ ส่งแผนฟื้นฟูมาตามกำหนด เช่นเดียวกับ ผลการดำเนินงานในเดือนมกราคมสูงกว่า ที่คาดการณ์ไว้

ถ้าเหตุการณ์ไม่เลวร้ายไปกว่านี้ "อารีพงศ์" เชื่อว่าการดำเนินธุรกิจของการบินไทยตลอดปี 2552 ก็น่าจะดีขึ้นตามลำดับ

ขณะที่การประชุมบอร์ดการบินไทย เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา "สุรชัย ธารสิทธิพงษ์" ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานบอร์ด ระบุว่าบอร์ดเห็นชอบให้การบินไทยเดินตามแผนวิสาหกิจระยะสั้นปี 2552-2554 เพื่อคลี่คลายเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น

ขั้นแรกต้องปรับเป้ารายได้จากเดิม 1.7 แสนล้านบาท เหลือประมาณ 1.2 แสนล้านบาท พร้อมกับ "ลดค่าใช้จ่าย" ภายใน 3 ปี เป็นขั้นบันได ในปี 2552 ลดจากเป้าเดิม 3% ประมาณ 6,000 ล้านบาท ปี 2553 ลดเพิ่มเป็น 5% ประมาณ 10,000 ล้านบาท และปี 2554 ลด 10% ประมาณ 20,000 ล้านบาท ด้วยการ "ปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางบิน"

เป็นผลจากการนำฝูงบินใหม่แอร์บัส A330-300 จำนวน 6 ลำ ที่ทยอยรับมอบเข้าฝูง ซึ่งจะเพิ่มที่นั่งผู้โดยสารให้มากขึ้นได้

น่าสังเกตว่าสัญญาณการจัดทำแผนฟื้นฟูการบินไทยในขณะนี้เริ่มพลิกกลับแบบ 360 องศา จากเดิมกระทรวงการคลังเคยพูดจาแข็งขัน กำหนดกรอบให้การบินไทยส่งมอบแผนฟื้นฟูฯให้รัฐมนตรีพิจารณาตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่เมื่อทุกอย่างล่วงเลย แผนขอความช่วยเหลือ แผนฟื้นฟูฯก็ไม่ส่งมาถึงคลัง

จังหวะเดียวกันกระทรวงคมนาคมได้พยายามทำให้ทุกอย่างลงเอยใน ครม. ด้วยการพิจารณาแผนวิสาหกิจการบินไทย 10 ปี เป็นกรอบในการผ่าทางตันทั้งหมด

น่าจับตาอย่างยิ่งว่าแผนวิสาหกิจ 10 ปี ที่การบินไทยจะเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ก่อนเดือนเมษายนนี้ จะใช้ประเพณีปฏิบัติเหมือนการเมืองยุคเดิมๆ นั่นคือ พออนุมัติกรอบการลงทุน 4.18 แสนล้านบาท ทุกอย่างจะลงเอยด้วยดีหรือไม่

หน้า 1 http://matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02p0104160252&day=2009-02-16§ionid=0201

ไม่มีความคิดเห็น: