วันอังคารที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

สมุนไพรอันตรายปัดเอื้อทุน/สภาจี้จุดยืนนายกฯรมว.อุตฯยอมถอน

สมุนไพรอันตรายปัดเอื้อทุน/สภาจี้จุดยืนนายกฯ รมว.อุตฯยอมถอน
ข่าววันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552 แหล่งข่าวจาก สยามรัฐ



อุตฯพร้อมทบทวนถอนประกาศ 13 พืชสมุนไพรอันตราย รอหนังสือทางการ ด้านอธิบดีกรมวิชาการเกษตรแถลงการณ์ขอโทษทำประชาชนตื่นตระหนก สภาฯถล่มยับทำลายวิถีชาวบ้าน จี้นายกฯแสดงจุดยืน เฉ่งเอื้อนายทุนข้ามชาติค้าเคมี “อภิสิทธิ์”เต้น สั่ง “กอร์ปศักดิ์” แจงด่วนเครือข่ายเกษตรฯภาคใต้ วอนรัฐแก้ไขจัดเวทีสาธารณะชี้แจง




ที่กรมวิชาการเกษตร เมื่อเวลา 09.30 น.เมื่อวันที่ 12 ก.พ.52 นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร แถลงข่าวขอโทษประชาชน กรณีการออกประกาศของคณะกรรมการวัตถุอันตราย กระทรวงอุตสาหกรรม ที่กำหนดให้พืชสมุนไพร 13ชนิด ได้แก่ สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก ขึ้นฉ่าย ชุดเห็ดเทศ ดอกดึง และหนอนตายอยาก เป็นวัตถุอันตราย ว่าประกาศดังกล่าวเป็นการควบคุมเฉพาะการนำพืชสมุนไพรมาแปรรูปเป็นสารกำจัด ควบคุมโรค และแมลงศัตรูพืชเพื่อการค้าเท่านั้น ไม่รวมถึงการผลิตเพื่อใช้ในครัวเรือน กลุ่มเกษตรกร หรือชุมชน “ขอยืนยันว่าประกาศดังกล่าวไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน หรือบริษัทต่างชาติ แต่ต้องการป้องกันไม่ให้เกษตรกรโดนหลอกลวง จากผู้จำหน่ายสารสกัดจากพืชสมุนไพรที่ไม่ได้มาตรฐาน และเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้เข้มงวดมากขึ้น เพราะปัจจุบันผลิตภัณฑ์กว่าร้อยละ 90 ที่วางจำหน่ายทั่วไปไม่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายเพื่อลดการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตร ซึ่งมีมูลค่าสูงถึงเกือบ 2 หมื่นล้านบาทต่อปี” อธิบดีฯ กล่าวและว่า ขณะนี้ได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อเสนอให้ถอนรายชื่อพืชสมุนไพรทั้ง 13 ชนิดแล้ว

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า ได้มอบให้นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกฯ ไปหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมถึงที่มากรณีดังกล่าว

และยอมรับว่าเป็นเรื่องที่อ่อนไหวและส่งผลกระทบต่อวิถีชาวบ้าน ส่วนที่การระบุว่าฝ่ายการเมืองเข้าไปมีผลประโยชน์เรื่องการผลิตยาฆ่าแมลงนั้น กำลังขอให้ผู้เกี่ยวข้องชี้แจงมา ซึ่งคงไม่ช้าเพราะไม่ใช่เรื่องซับซ้อน

ขณะเดียวกันที่รัฐสภา กลุ่ม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ และนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ส.ส.สัดส่วน ได้ร่วมกันแถลงข้อเรียกร้องให้นายกฯ และนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม รีบทบทวนและยกเลิกประกาศบัญชี 13 พืชสมุนไพรอันตราย เนื่องจากเห็นว่าขัดต่อรัฐธนนมนูญ ม.65 (สิทธิชุมชน) ม.79 (อนุรักษ์ปกป้องภูมิปัญญาท้องถิ่น) ม.82 (แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง) และ ม.85 (ทรัพย์สินทางปัญญาและรักษาพัฒนาถูมิปัญญาท้องถิ่น) อีกทั้งส่งผลกระทบต่อวิถีการผลิตทางเกษตร อุตสาหกรรมครัวเรือน และอุตสาหกรรมการส่งออก ทำลายและตัดตอนองค์ความรู้ในวิถีชาวบ้านที่สะสมและมีวัฒนาการมาช้านาน ในทางกลับกันประกาศดังกล่าวส่งผลดีต่อเกษตรเคมีและระบบทุนเกษตรผูกขาดแบบครบวงจร

“นายกฯ ควรมีจุดยืนในเรื่องนี้ และขอเรียกร้องให้ รมว.อุตสาหกรรม ยกเลิกประกาศฉบับนี้ หากยังไม่ดำเนินการใดๆ ก็พร้อมจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือว่าประกาศนี้เอื้อประโยชน์ให้ใคร” นายสมเกียรติ กล่าว

เช่นเดียวกับกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ นำโดยนายเอกชัย อิสระทะแกนนำเครือข่ายฯ ที่ออกมาเรียกร้องให้มีการถอนประกาศฉบับดังกล่าวโดยด่วน เนื่องจากจะผลกระทบต่อเกษตรกร และสร้างภาระอุปสรรคในการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรทั้งในด้านการเกษตร การสาธารณสุขอื่นๆ โดยร้องขอให้รัฐบาล ดำเนินการให้กระทรวงอุตฯ ยกเลิกประกาศอย่างเร่งด่วน และให้จัดเวทีสาธารณะชี้แจงเรื่องนี้ให้เกษตรกร และภาคประชาสังคมทราบอย่างกว้างขวาง

ด้านนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม กล่าวยืนยันว่า หากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิกประกาศให้ผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพร 13 ชนิด ที่ใช้เพื่อปราบศัตรูพืชออกจากบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ก็พร้อมที่จะเรียกประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้ทันที แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือใดๆ จากกระทรวงเกษตรฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ หากถอนพืชสมุนไพรทั้ง 13 ชนิด ออกจากบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์จากพืชดังกล่าว จะถูกจัดให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2บัญชี ข ลำดับที่ 103 ซึ่งกำหนดว่าสารสกัดจากพืช เช่น สะเดา ข่า ตะไคร้หอม เพื่อใช้ประโยชน์ในการป้องกันกำจัดแมลง ศัตรูพืชและสัตว์ ผู้ผลิตจะต้องแจ้ง ขึ้นทะเบียน และเสียค่าธรรมเนียมปีละ 5,000 บาท ตามประกาศกระทรวง เรื่องบัญชีวัตถุอันตราย พ.ศ.2546 ฉบับเดิม ส่งผลให้ผู้ผลิต จำหน่าย นำเข้าและส่งออกมีความยุ่งยากมากขึ้น
http://www.siamrath.co.th/uifont/NewsDetail.aspx?cid=104&nid=32451

ไม่มีความคิดเห็น: