วันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

เบาะแส"วนข้าว"

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11302 มติชนรายวัน


เบาะแส"วนข้าว"

คอลัมน์ เดินหน้าชน

โดย สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม wutsara@matichon.co.th



ก่อนหน้านี้เขียนถึงขบวนการทุจริตในวงการข้าว โดยผู้ที่ชนะการประมูลซื้อข้าวในสต๊อครัฐบาล แทนที่จะเอาไปขายหรือส่งออก กลับนำเอาข้าวเก่าที่ประมูลซื้อได้ไปวนเป็นข้าวในโครงการรับจำนำแทน แล้วเอาข้าวใหม่ที่ชาวนามาจำนำไปขายฟันกำไร

แต่ที่เขียนไปนั้นเป็นเพียงข้อมูลกว้างๆ ที่ได้ยินได้ฟังมา

บังเอิญมีผู้หวังดีต่อบ้านเมือง แต่ไม่ประสงค์จะออกนาม เขียนจดหมายมายืนยันถึงข้อมูลดังกล่าวว่าเป็นจริง 100% แถมบอกเล่าถึงรายละเอียดกลโกงดังกล่าว

ผู้หวังดีดังกล่าวบอกว่าทำงานอยู่ในโรงสีแห่งหนึ่ง ถึงรับรู้ขบวนการโกงการรับจำนำข้าวที่เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย

ข้อมูลที่แจ้งมาระบุว่า เมื่อเดือนที่แล้วมีโรงสีใน จ.สุพรรณบุรี ไปซื้อข้าวหอมปทุมธานี จากโกดังรับฝากข้าวในโครงการรับจำนำ ใน อ.หันคา จ.ชัยนาท ราคา กก.ละ 18.50-18.90 บาท แล้วนำมาถ่ายใส่ลงกระสอบใหม่และเย็บเชือกสีใหม่ แล้วจัดส่งให้ โดยไม่มีการปรับปรุงคุณภาพ ก่อนไปส่งยังโกดังขององค์การตลาดเพื่อเกษตร (อ.ต.ก.) ใน อ.เดิมบางนางบวช

เจ้าของโรงสีบางแห่งเป็นเจ้าของโกดังกลางที่รับฝากข้าวที่ทำสัญญาไว้กับ อ.ต.ก. และองค์การคลังสินค้า (อคส.) ก็จัดส่งข้าวดังกล่าวเข้าโกดังใหม่ ที่ อ.ไชโย จ.อ่างทอง โดยยอมจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่ อ.ก.ต. เจ้าหน้าที่ อคส. หัวหน้าโกดัง เจ้าของโกดัง และบริษัท เซอเวเยอร์ ที่ตรวจคุณภาพ

วิธีการทำก็คือนำข้าวที่ตรงตามคุณภาพหรือสเปคที่กำหนด วางล้อมกองไว้ริมด้านนอก ส่วนข้าวที่ไม่ตรงสเปคซุกไว้ด้านใน

เมื่อมีการไปตรวจสอบก็จะเจอข้าวที่ตรงสเปค เพราะเจ้าหน้าที่ที่ไปตรวจสอบ มักไม่ค่อยเจาะกองตรวจสอบข้าวที่ซุกอยู่ในกอง หรือไม่ก็ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น เพราะมีอะไรปิดตาอยู่

ซื้อข้าวเก่ากระสอบละ 1,850-1,890 บาท มาเข้าโครงการรับจำนำกระสอบละ 2,200-2,300 บาท กำไรกระสอบละ 350-410 บาท หักค่ากระสอบใหม่ ค่าขนส่งและเงินใต้โต๊ะแล้ว ยังกำไรมหาศาล แถมยังได้ข้าวใหม่ที่รับจำนำมา แต่ไม่ต้องส่งเข้าโกดังกลาง เอาไปขายทำกำไรอีกต่างหาก

อีกเรื่องที่ผู้หวังดีแจ้งเบาะแสมาก็คือเรื่องการรับจำนำข้าวหอมมะลิ ที่ภาคอีสาน ซึ่งมักจะมีปัญหาว่าโรงสีในพื้นที่มีไม่พอที่จะรองรับการจำนำข้าวจากชาวนา

บ่อยครั้งที่โรงสีในอีสานจะสมรู้ร่วมคิดกับโรงสีในภาคกลาง ส่วนใหญ่อยู่ใน จ.สุพรรณบุรี และ จ.อ่างทอง เพื่อให้โรงสีจากภาคกลางเข้าไปเปิดจุดรับจำนำในภาคอีสาน

เมื่อโรงสีจากภาคกลางไปเปิดจุดรับจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิ และเมื่อมีการสั่งแปรสภาพเป็นข้าวสารแล้ว โรงสีก็จะร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ บริษัทเซอเวเยอร์ และเจ้าของโกดัง นำข้าวหอมปทุมธานีไปส่งแทน

ฟันส่วนต่างราคารับจำนำข้าวหอมมะลิกับข้าวหอมปทุมธานี ตันละ 2-3 พันบาท พุงกางไปตามๆ กัน

จากข้อมูลที่แจ้งมา ไม่แน่ใจว่าจะเป็นคนทำงานในโรงสีจริงหรือเปล่า เพราะรู้รายละเอียดค่อนข้างมาก เหมือนจะเป็นเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องข้าว และรับรู้ข้อมูลที่ไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับขบวนการโกงโครงการรับจำนำข้าว จึงเอาบอกเล่าให้รับรู้กัน

แต่ไม่ว่าผู้หวังดีจะเป็นใครก็ตาม ขอขอบคุณที่ช่วยแจ้งเบาะแสมา

โดยส่วนตัวก็ช่วยได้แค่เผยแพร่ข้อมูลให้ฝ่ายต่างๆ รับรู้กัน หวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย

แต่ทั้งหมดนั้นก็ขึ้นอยู่กับระดับนโยบายที่จะเอาจริงเอาจังแค่ไหนที่จะขจัดขบวนการโกงโครงการรับจำนำข้าว

หรือว่าหมดปัญญาแล้วที่จะจัดการ ต้องปล่อยให้โกงกินกันต่อไปได้ทุกปี

นี่ก็จะเริ่มโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังอีกแล้ว เตรียมตัวโกงกันอีกรอบ

หน้า 6 http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act04180252§ionid=0130&day=2009-02-18

ไม่มีความคิดเห็น: