วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

บทบาท SMEs กับการพัฒนาเศรษฐกิจไทย

บทบาท SMEs กับการพัฒนาเศรษฐกิจไทย
ผลสำเร็จจากนโยบายการพัฒนาผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องของประเทศที่แสดงผลให้เห็นถึงความคิดด้านบวกต่อการพัฒนาธุรกิจรายใหม่เสริมให้กับระบบเศรษฐกิจของไทย ทำให้มีการกระตุ้นให้เกิดการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่รวมไปถึงธุรกิจทางด้านการบริการต่างๆ เพิ่มขึ้น
ผู้เขียน: อ. พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ ชมแล้ว: 39,467 ครั้ง
post ครั้งแรก: Thu 10 January 2008, 2:23 pm ปรับปรุงล่าสุด: Fri 18 January 2008, 11:49 am
 
หน้าที่ 1 - ผลสำเร็จจากนโยบายการพัฒนาผู้ประกอบการ
บทบาท SMEs กับการพัฒนาเศรษฐกิจไทย

พีระพงษ์  กิติเวชโภคาวัฒน์


peerapong@consultant.com


www.peerapong.com


 


                ผลสำเร็จจากนโยบายการพัฒนาผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องของประเทศที่แสดงผลให้เห็นถึงความคิดด้านบวกต่อการพัฒนาธุรกิจรายใหม่เสริมให้กับระบบเศรษฐกิจของไทย ทำให้มีการกระตุ้นให้เกิดการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่รวมไปถึงธุรกิจทางด้านการบริการต่างๆ เพิ่มขึ้น


ถ้าจะว่าไปแล้ววันนี้ภาพรวมของธุรกิจของคนไทยก็ถือได้ว่ามีความเข็งแรงมากขึ้น ยิ่งถ้ามองย้อนเวลาภายหลังภาวะค่าเงินบาทผันผวนได้ผ่านไป พร้อมกับการพิสูจน์ความเข้มแข็งของนักธุรกิจรวมถึงวิธีการคิดที่ปรับตัวพร้อมการยืดหยุ่นกับสภาวะนั้นถือว่า ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งสามารถปรับตัวและหาวิธีการแก้ปัญหาได้อย่างดี นอกจากนั้นเมื่อสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจพื้นฐานได้มีการพัฒนาเพิ่มขึ้นทำให้สภาพเศรษฐกิจไทยโดยรวมถือว่าค่อนข้างพัฒนาได้ดีขึ้นกว่าช่วงก่อนวิกฤตการณ์ การได้รับบทเรียนที่ดีทำให้ระบบเศรษฐกิจของเรายืดหยุ่นพอสมควร การกระจายความเข้มแข็งเข้าไปสู่ภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทำให้ระบบธุรกิจกระจายตัวได้สม่ำเสมอ น่าเสียดายที่มาสะดุดอีกครั้งก็ในช่วงที่สภาวะการเมืองที่สร้างความสับสนในระยะสองสามปีที่ผ่านมานี้เท่านั้น


ต้องยอมรับว่าประเทศไทยในช่วง10 ปีที่ผ่านมายังเป็นช่วงปรับตัวเพิ่มขึ้น ปัญหาระบบเศรษฐกิจช่วงหลังที่ต้องขบคิดกันนั้นกลับไม่ใช่เรื่องสร้างหรือแก้ไขระบบเศรษฐกิจแต่เป็นเรื่องที่เราจะต้องรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยให้คงรักษาสภาพที่ถือว่าดีนี้ไปอย่างยืนยาวได้อย่างไร  ในขณะที่มีหลายสาเหตุที่ทำให้ความมั่นคงด้านค้าขายผันผวน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าเงินที่ไม่เสถียรที่ยังเป็นปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ได้อย่างถาวร นอกจากนั้นปัญหาอีกด้านในปัจจุบันที่เป็นเรื่องน่าห่วงอย่างมากคือ ความไม่แน่นอนในเรื่องราคาน้ำมัน ทำให้การค้าขายปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนรูปแบบการค้าภาวการณ์แข่งขันก็รุนแรงขึ้น ยิ่งพฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนไปด้วยมีความซับซ้อนยากขึ้น สิริรวมความแล้วเรียกได้ว่า เป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจจะมีมากขึ้น ต้นทุนสูงขึ้น แต่ตรงข้ามที่วิธีการปรับราคาสร้างกำไรให้ธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยใช้วิธีการปรับภาระสู่ผู้บริโภคเป็นไปได้ยากกว่าสภาพตลาดในช่วงอดีต นั่นคือสิ่งที่ท้าทายของนักธุรกิจ SMEs ปัจจุบัน


จุดสำคัญของการพัฒนาปรับตัวของพวกเราที่เป็นธุรกิจขนาดเล็กมาถึงจุดที่จะต้องมีการส่งเสริมตามศักยภาพจริงที่เรามี หาทางทำให้เห็นรูปธรรมจากวิธีการพัฒนามากขึ้นทำให้การหมุนของเงินทุนและกำลังซื้อสร้างตลาดขึ้นมาพร้อมๆกันอย่าสร้างภาระมากเกินไป รวมถึงต้องบอกให้ทุกคนมองด้านบวกของสถานการณ์ให้มากเข้าไว้แต่ต้องติดตามเรื่องราวต่างๆมากขึ้นเพื่อการปรับตัวให้ทันการ


สิ่งที่จะเป็นปัจจัยเชิงลบที่ส่งผลกระทบกับธุรกิจในระยะจากนี้ไป 4-5 ปีข้างหน้าไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ภาวะดอกเบี้ยซึ่งคาดว่าจะต้องมีการปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนั้นยังมีบางปัจจัยที่มีความเสี่ยงในระยะสั้น โดยเฉพาะความไม่สมดุลทางการเงิน ธุรกิจขนาดเล็กจึงต้องระลึกไว้เสมอว่าอย่าใช้จ่ายเกินตัว ถ้าต้องมีการลงทุนต้องมีความมั่นใจและแผนงานที่ชัดเจนก่อนวางโครงการ ตามมาด้วยเรื่องราคาน้ำมันที่จะต้องมีการปรับตัวสูงขึ้นหาจุดลงตัวยากซึ่งการขึ้นราคาในระดับนี้จะเป็นการขึ้นอย่างถาวรเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การปรับราคาน้ำมันจะทำให้ต้นทุนทุกด้านโดยเฉพาะการขนส่งมีการปรับสูงขึ้นมากกว่าเท่าตัว ต้องพร้อมในการจัดการเรื่องนี้ไว้แต่เนิ่นๆ เรื่องต่อมาอาจจะเป็นสิ่งไกลตัวขึ้นอีกนิดคือ ระบบการเงินของโลกโชคดีที่ผลการปรับค่าเงินที่ผ่านมาทำให้เราเรียนรู้ถึงความสำคัญของการเปลี่ยนค่าเงินมากขึ้น ดังนั้นการสังเกตค่าเงินที่เปลี่ยนแปลงก็เท่ากับการสร้างเครื่องป้องกันธุรกิจได้มากขึ้น การป้องกันเรื่องค่าของเงินจึงยังเป็นสิ่งที่สำคัญต่อเนื่องในระยะห้าปีต่อไป สุดท้ายคือเรื่องของปัญหาทางสังคม การเมือง ที่ยังมองเห็นฝั่งฝนได้ยากก็ตามแต่เมื่อไรที่เราร่วมมือสร้างให้ระบบประชาธิปไตยเข้มแข็งได้ มีความโปร่งใส มีความสะอาดบริสุทธิ์ได้จะต้องเกิดจากสังคมที่เข้มแข็ง เป็นสังคมที่สามารถควบคุมรัฐบาลได้ ระบบเศรษฐกิจก็จะเริ่มสมบูรณ์ได้ด้วยตัวเอง


อย่างไรก็ตามการเติบโตของระบบธุรกิจยังมีต่อเนื่องถึงอย่างไรการบริโภคและใช้จ่ายของประชาชนคาดการณ์ว่ายังมีการเติบโต และการเติบโตของระบบเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องดังกล่าวนั้นเป็นผลจากการเติบโตของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่สร้างตลาดและการย่อยผลิตภัณฑ์สู่ตลาดระดับมวลชนและสร้างตลาดวงกว้างได้อย่างดีแม้ว่าต้นทุนการจัดการจะสูงขึ้น การปรับตัวขยายธุรกิจจะต้องระวังผลจากการปรับต้นทุนการประกอบ การโดยรวมให้ดีเสียก่อนลงมือทำอะไรเพราะถ้าขยายธุรกิจที่ขาดแผนรองรับ ถ้าเป็นไปได้น่าจะหันมามุ่งเน้นปรับปรุงภายในให้เข้มแข็งขึ้น เน้นการสร้างระบบงานมาตรฐานต่างๆ ในธุรกิจของตัวเองให้มากขึ้น อย่าทำธุรกิจในเชิงระบบเก็งกำไร ซึ่งช่วงนี้จะยังไม่สามารถสร้างผลกำไรได้จริง สู้ธุรกิจที่เป็นพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตจึงจะสร้างตลาดของตัวเองและสร้างกำไรเป็นของจริงมากกว่าหากำไรจากทุนภายในของตัวเองที่เป็นความเชี่ยวชาญของตนเองมาทำธุรกิจจะช่วยให้เสี่ยงน้อยกว่าการมุ่งสร้างกำไรมาจากภายนอกโดยไม่ลงทุนลงแรงเลย


 นอกจากนั้น ในส่วนของภาครัฐ ที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเองก็จะต้องปรับตัวจากแนวคิดเก่าๆ ที่ต้องการเพียงการปกป้องธุรกิจของประเทศเป็นหลัก และควรเริ่มที่ปรับแนวทางใหม่ที่แต่เดิมมีไว้เพียงเพื่อรักษาและป้องกันอุตสาหกรรมและสิทธิในการทำงานต่อต้านการเปลี่ยนแปลงของโลกและป้องกันแรงงานต่างชาติเท่านั้น นอกจากนั้นแนวทางที่ผ่านมาของหน่วยงานรัฐมักจะมุ่งเน้นที่กลุ่มธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและมีความสมบูรณ์เท่านั้น สำหรับแนวนโยบายจากนี้ไปควรจะเพิ่มงานเน้นการส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยและแนวคิดธุรกิจใหม่ๆ เพื่อจะได้สร้างสินค้าใหม่ พัฒนาการตลาดการผลิตที่ดีขึ้น รวมถึงการส่งเสริมธุรกรรมต่างๆ ให้เกิดขึ้น


ส่วนในแวดวงธุรกิจก็ควรพัฒนาแนวทางการแข่งขันให้สามารถเข้าสู่รูปแบบสากลที่เน้นการแข่งขัน และต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่เป็นแรงกดดันให้พัฒนาไม่รู้จบ ดังนั้นการปรับตัวของธุรกิจที่มีขนาดเล็กต่างๆจะต้องตอบสนองต่อแนวทางธุรกิจจริงมากขึ้น การสร้างนวัตกรรมกรรม การศึกษาวิจัยเพื่อให้เกิดความพร้อมในการแข่งขันระดับประเทศ การดำเนินธุรกิจข้ามชาติ การเพิ่มจำนวนการค้าขายลงทุน การเพิ่มการร่วมมือ และการลงทุนร่วมที่มีความซับซ้อนทั้งด้านการผลิตและการตลาด การค้นพบใหม่ๆทางวิทยาศาสตร์ ได้ปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมทั้งหมด ปรับตลาดด้านการเงิน ส่งสัญญาณให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในสังคมถึงความต้องการ การบริหารการปกครองที่โปร่งใสที่ดี การค้าขายที่ผ่านระบบอีเลคโทรนิค ที่มีรูปแบบหลากหลายที่ท้าทายทั้งภาพธุรกิจและองค์กรรัฐ เมื่อสังคมของโลกเปลี่ยนไปแล้วเราจะเปลี่ยนนโยบายทั้งด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมอย่างไรถึงจะสามารถปรับตัวไปกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมต่างๆ ของโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่ง


 


ความสำคัญของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมนั้นมีบทบาทสำคัญมากขึ้นทั้งในระดับธุรกิจพื้นฐานและธุรกิจระดับประเทศ การขยายตัวต่างเพิ่มทวีอย่างต่อเนื่อง ยิ่งนับวันก็กลายเป็นองคาพยพที่ขาดไม่ได้ของระบบธุรกิจที่แท้จริง สำคัญก็คือ ทำอย่างไรที่ระดับกิจกรรมความเป็นผู้ประกอบการของประเทศไทยดังกล่าวจะยกระดับผลผลิตและประสิทธิภาพมากขึ้นทั้งด้านปริมาณและคุณภาพทั้งในด้านตัวผลิตภัณฑ์ การจัดการและรวมถึงคุณภาพของปัจเจกบุคคลในสังคมเพิ่มขึ้น ยิ่งมีระบบธุรกิจระดับภาคประชาชนมากขึ้นแข็งแรงขึ้นก็จะยิ่งสร้างความเข้มแข็งต่อระบบเศรษฐกิจมากขึ้นเท่านั้น


 



*หมายเหตุ งานเขียนชิ้นนี้ ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิทางปัญญา โดยลิขสิทธิเป็นของผู้เขียน ที่ให้เกียรตินำเผยแพร่ผ่าน วิชาการ.คอม เรามีความยินดีและอนุญาตให้ทำซ้ำหรือเผยแพร่ต่อเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาเท่านั้น กรุณาให้เกียรติผู้เขียน โดยอ้างชื่อผู้เขียนและ วิชาการ.คอม (www.vcharkarn.com) ทุกครั้งที่ทำการเผยแพร่ต่อ ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อในสื่อที่เอื้อประโยชน์ทางธุรกิจก่อนได้รับอนุญาต ขอขอบคุณที่ร่วมกันช่วยสร้างให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งปัญญา
Creative Commons License
สงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต ครีเอทีฟคอมมอนส์ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย.
ท่านสามารถนำเนื้อหาในส่วนบทความไปใช้ แสดง เผยแพร่ โดยต้องอ้างอิงที่มา ห้ามใช้เพื่อการค้าและห้ามดัดแปลง

http://www.vcharkarn.com/varticle/34548


Windows Live™: Keep your life in sync. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น: