วันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

"อินเทอร์เน็ตคือโลก(?)" พื้นที่สาธารณะ/พื้นที่ส่วนตัว

Online-phobia

 

- ยุกติ มุกดาวิจิตร -

 

มีรายงาน (ตามข้อมูลเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2549) ว่ามีเว็บไซต์กว่า 35,000 แห่งถูกปิดกั้นโดยกระทรวง ICT และกรมตำรวจ และยังมีการแทรกแซงเว็บให้ดูราวกับว่าไม่ใช่การกระทำของทางการอีกจำนวนมาก ล่าสุด (ประมาณวันที่ 2 เมษายน 2550) "youtube" เว็บไซต์ที่เป็นที่นิยมทั่วโลก ถูกบล็อกทั้งเว็บ ด้วยเหตุเพราะเผยแพร่ภาพเคลื่อนไหวล้อเลียนประมุขของประเทศไทย (1)

ทั้งหมดนี้รัฐอ้างว่าเพราะเว็บเหล่านั้น "มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ" แต่ผู้เขียนมองว่านั่นคืออาการโรค "online-phobia" ของรัฐไทย ทำไมรัฐไทยจึงหวาดผวาสังคมออนไลน์

ส่วนหนึ่งเพราะการไม่เข้าใจว่า อินเทอร์เน็ตเป็นมากกว่าเพียง "สื่อ" แต่ยังเป็น "สังคม" ที่อยู่ในเครือข่ายออนไลน์ การมองอินเทอร์เน็ตเป็นเพียงสื่อเป็นการแยกเครื่องมือการสื่อสารออกจากสังคม ทำให้มองไม่เห็นคน ไม่เห็นการปฏิสังสันท์กันในสังคมเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เมื่อจัดการกับสังคมออนไลน์ รัฐอ้างว่าจัดการกับตัวสื่อ ทั้งที่อันที่จริงแล้วกำลังไม่เคารพต่อสิทธิของ "ประชาสังคมออนไลน์"

ยิ่งกว่านั้น การมองเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมักมองไม่เห็นการโยงใยเกี่ยวข้องกันระหว่าง "สังคม online" และ "สังคม offline" เชื่อว่าอะไรที่สื่อผ่านเน็ตเป็นสิ่งที่อยู่ใต้น้ำ ไม่มีระบบ ไม่น่าเชื่อถือ ไม่มีตัวตนที่จับต้องได้ ตลอดจนมองไม่เห็นด้วยว่า ในโลกออนไลน์เองก็มีระเบียบสังคมอยู่

หากมองให้ละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก จะพบว่ารัฐไทยเกลียดกลัวสังคมออนไลน์เพราะสังคมออนไลน์เปิดโอกาสให้เกิดสังคมประชาธิปไตยในแบบที่รัฐไทยไม่ต้องการหลายๆประการ

ประการแรก สังคมออนไลน์มี 'ลักษณะข้ามชาติ' รัฐจึงกลัวว่าเน็ตจะเป็นภัยต่อรัฐและชาติ มองเชยๆว่า ข้อมูลเลวร้ายจะถูกลักลอบส่งเข้ามาทำลายความมั่นคงของรัฐและชาติ การส่งผ่านข่าวสารข้ามชาติเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายโดยที่รัฐไม่มีทางที่จะควบคุมอย่างไรได้ ในสังคมออนไลน์ คนสามารถส่งสำเนาเอกสารต้องห้ามได้ในหลายๆลักษณะ นอกเหนือจากผ่านทางเว็บไซต์หลักๆที่มีที่ทางชัดเจน ยังมีช่องทางการสื่อสาร(ที่ดูเหมือนเป็น)ส่วนตัวช่องทางอื่นๆเช่น อีเมล MSN หรือการนำสำเนาไปฝากไว้ในพื้นที่ให้บริการฟรีที่มีอยู่หลายแห่งนับไม่ถ้วน ให้ใครก็ได้สามารถเข้าไปดึงเอกสารมาโดยไม่ล่วงรู้(ได้ง่ายๆนัก)ว่าใครเป็นคนนำไปฝากไว้ การสื่อสารเหล่านี้ทำให้พระราชบัญญัติการพิมพ์พ.ศ. 2484 กลายเป็นเรื่องขำๆไป

แต่ลักษณะข้ามชาติของสังคมออนไลน์ไม่จำเป็นต้องมีลักษณะทำลายชาติไปด้วยในตัว สังคมออนไลน์มีส่วนสร้างชุมชนชาติขึ้นมาได้เช่นกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีการเคลื่อนไหวต่อต้านอดีตนายกฯทักษิณ ที่เป็นเครือข่ายในชาติและข้ามชาติขนาดมหึมาที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐ "ม็อบออนไลน์"นี้สร้างความรู้สึกร่วมกันของชุมชนคนไทยทั้งในและนอกประเทศ ในขณะนี้ เครือข่ายที่กลายเป็นม็อบออนไลน์กำลังเป็นกลุ่มการเมืองที่ทรงพลังเหนือม็อบมือถือเมื่อ 15 ปีก่อนมากมาย

สังคมเน็ตจึงสามารถช่วยสร้างจินตนาการรัฐชาติไทยและความเป็นไทยได้เช่นกัน เพียงแต่ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบเดียวกับที่รัฐต้องการให้เป็น

ประการที่สอง ลักษณะ 'กึ่งสาธารณะกึ่งส่วนตัว' ด้านหนึ่ง สังคมออนไลน์มีการสนทนากันระหว่างกลุ่มคนจำกัด อาจมีการนินทาคนอื่นเฉพาะในกลุ่มได้ แต่สังคมออนไลน์ก็มีลักษณะเป็นสังคมเปิด เมื่อเรื่องที่นินทากันถูกส่งต่อๆไปเป็นจดหมายลูกโซ่ ก็จะกลายเป็นการหมิ่นประมาทล่วงละเมิดกันไปได้

อย่างไรก็ดี ข้อดีประการหนึ่งของการลักปิดลักเปิดของสังคมออนไลน์คือ การเปิดให้มีการแสดงออกโดยที่ไม่ต้องกังวลกับมาตรฐานทางสังคมทั่วไปที่บุคคลต้องระวังในสังคมออฟไลน์ เมื่อความอาวุโส ความเป็นหญิงชาย หน้าตาฐานะในสังคม ชาติพันธุ์ ฯลฯ ถูกลดทอนลง ทำให้การแสดงความเห็นเป็นไปได้อย่างเปิดเผยมากขึ้น ตรงไปตรงมามากขึ้น เอื้อต่อความเสมอภาคทางความเห็นมากขึ้น

ลักษณะก้ำกึ่งนี้เกิดขึ้นชัดเจนในพื้นที่แสดงความเห็นหรือกระดานข่าว ที่คนสามารถคุยกันได้โดยไม่ต้องเปิดเผยตัว เพื่อกันการละเมิด บางเว็บไซต์จึงบังคับให้ผู้แสดงความเห็นลงทะเบียน เป็นการเปิดเผยตัวให้มีความรับผิดชอบ แต่บางแห่งที่ไม่ได้มีมาตรการที่เข้มงวดอย่างใด ก็สามารถมีการแลกเปลี่ยนอย่างสร้างสรรค์ได้ โดยผู้เข้าร่วมสนทนาดูแลตักเตือนกันเอง หรือหากละเมิดกันรุนแรงก็แจ้งผู้ดูแลเว็บ

สังคมออนไลน์จึงดูแลกันเองได้ ไม่จำเป็นที่รัฐจะต้องเข้ามาควบคุมเสมือนมีตำรวจมานั่งคอยจับผิดคนพูดคุยกันตามร้านกาแฟ

ประการที่สาม สังคมออนไลน์ 'ไร้รากทางวัฒนธรรม' การที่สารในสังคมออนไลน์เดินทางข้ามพรมแดนทางวัฒนธรรมอย่างค่อนข้างเสรี ทำให้สารที่ถูกมองว่าไม่ผิดศีลธรรมในมาตรฐานของสังคมหนึ่ง เล็ดรอดเข้ามายังสังคมที่ไม่ต้องการสารนั้นได้

แต่หากเรายอมรับข้อเท็จจริงว่า สื่อวัฒนธรรมในสังคมหนึ่งหากไม่เป็นที่ต้องการในอีกสังคมหนึ่ง ก็ไม่สามารถเข้ามามีบทบาทในสังคมนั้นได้ หากเป็นดังนั้น การเดินทางของสื่อทางวัฒนธรรมข้ามสังคมก็ไม่มีความหมาย แต่โดยมาก สื่อวัฒนธรรมที่ส่งผ่านเครือข่ายออนไลน์เข้ามาสู่สังคมไทย ล้วนเป็นสื่อที่คนบางกลุ่มในสังคมไทยเองก็ต้องการเสพ มีแต่เพียงคนบางกลุ่มที่ตนเองก็ต้องการเสพแต่ไม่อยากให้คนอื่นเสพ โดยเฉพาะที่พูดกันมากคือสื่อลามก

แต่การกำจัดสารลามกจากเครือข่ายออนไลน์ การปิดกั้นการส่งสารลามกในสื่อออนไลน์ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถกำจัดความลามกในใจคนไทยออกไปได้ การที่ภาพเปลือยลามกของสตรีสูงศักดิ์ของบางสังคมที่ถ่ายโดยสามีนางเอง ได้ปรากฏแก่สายตาชาวโลกอยู่เนืองๆในเครือข่ายออนไลน์ ย่อมแสดงให้เห็นได้ดีอยู่แล้วว่า ความเสื่อมของคนในสังคมไม่สามารถแก้ได้ด้วยเพียงการควบคุมสื่อที่เข้าใจว่าเสื่อม

ประการที่สี่ ในสังคมออนไลน์ 'ผู้เสพคือสื่อ, สื่อคือผู้เสพ' เพราะในสังคมนี้ นอกจากเราจะเป็นผู้เสพสื่อแล้ว ใครก็สามารถผลิตและนำเสนอสารบนสื่อออนไลน์ได้ มีพื้นที่ฟรีมากมายสำหรับให้คนสร้างสื่อนำสื่อมาเสนอได้อย่างเสรี สังคมออนไลน์จึงทำให้ความเป็นผู้ผลิตกับผู้บริโภคลางเลือน สังคมออนไลน์จึงมีธรรมชาติของความเป็นแหล่งข้อมูลเปิดอยู่ในตัว ผู้เผยแพร่ทำไปเพื่อให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทางอินเตอร์เน็ตอย่างเสมอภาค หรือเพื่อเผยแพร่ความคิด อุดมการณ์ของตน โดยไม่จำเป็นต้องมุ่งหวังกำไร (2)

เมื่อใครก็เป็นสื่อมวลชนได้ รัฐก็ควบคุมสารไม่ได้ รัฐสามารถควบคุมทีวี หนังสือพิมพ์ ไม่ให้ออกข่าวการชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร หรือข่าวความเคลื่อนไหวของทักษิณ ชินวัตรได้ แต่รัฐไม่มีทางควบคุมผู้สื่อข่าวอาสาสมัครที่นำภาพข่าวเหล่านี้มาเผยแพร่ในเน็ตได้ รวมทั้งไม่อาจปิดกั้นการส่งต่อภาพ ข้อความ ภาพเคลื่อนไหวใดๆบนเครือข่ายออนไลน์โดยสิ้นเชิงได้ (นอกจากจะยกเลิกการสื่อสารชนิดนี้ไปเลยโดยสิ้นเชิง)

สังคมออนไลน์จึงมีพื้นฐานหลายๆประการที่สอดคล้องกับสังคมประชาธิปไตย ดังนั้น วัฒนธรรมการเมืองที่ขัดขวางการพัฒนาและการแสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพของประชาชน ย่อมเกรงกลัวสังคมออนไลน์ และจ้องออกกฎหมายที่ขัดขวางเสรีภาพของสังคมออนไลน์

รัฐที่จินตนาการให้สังคมอยู่ในระบบของบุญบารมี รัฐที่สร้างจินตนาการให้ตนเองปกครองประชาสังคมแบบพ่อ-แม่ปกครองลูก รัฐที่มุ่งภาพความสามัคคีเหนือสิ่งอื่นใด รัฐที่อ้างคุณธรรมแต่ไม่รู้จักส่งเสริมความเสมอภาคในทุกๆด้าน ย่อมขยาดกลัวสังคมออนไลน์

 

หมายเหตุ: ปรับปรุงจากบทความตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 22 พฤศจิกายน 2549

 

เชิงอรรถ

(1) หลังการรัฐประหาร คงจำกันได้ดีว่า เว็บไชต์ของสำนักข่าว CNN และ BBC ที่รายงานข่าวการรัฐประหารถูกปิดกั้น คนไทยอ่านคำแนะนำหนังสือเล่มสำคัญเกี่ยวกับประเทศไทยในสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเยลและร้านหนังสือออนไลน์ "amezon.com" ไม่ได้ตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร ส่วนเว็บไซต์ในประเทศอย่าง 'มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน' ที่อุดมไปด้วยบทความทางวิชาการและการแลกเปลี่ยนความเห็นที่ก้าวหน้าที่สุดของไทย เคยถูกปิดหลายครั้งทั้งก่อนและหลังรัฐประหาร เช่นเดียวกันกับเว็บของเครือข่ายต่อต้านรัฐประหารอย่าง "19sep.org" เคยถูกก่อกวนหลายครั้งอย่างไร้ผู้รับผิดชอบ ล่าสุดมีข่าวว่าเว็บไซต์ที่ล่ารายชื่อถอดถอนบุคคลหนึ่งที่แทบไม่มีใครเชื่อว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารครั้งล่าสุด ก็กำลังถูกคุกคาม

(2) ในแง่นี้ การส่งสารและข่าวสารในสังคมออนไลน์จำนวนมากจึงเป็น open source ในความหมายกว้างที่ไม่จำกัดอยู่เพียง free software

 

http://www.onopen.com/iamyukti/07-04-05/3455



Windows Live™: Keep your life in sync. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น: