วันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

"ม่าย ab-แบ๊ว ฮ่ะป๋า" : ภาษาศาสตร์ชาติ/อำนาจนิยม

"ม่าย ab-แบ๊ว ฮ่ะป๋า" : ภาษาศาสตร์ชาติ/อำนาจนิยม

 

- ยุกติ มุกดาวิจิตร -

 

"ม่าย ab-แบ๊ว ฮ่ะป๋า" เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการใช้ภาษาแสลง

หากใครอ่านเข้าใจ ทำนองที่ว่า "ไม่น่าจะต้องทำหน้าซื่อตาใสอยู่เลยครับท่าน" ก็แสดงว่าประโยคนี้เป็นภาษาที่ใช้สื่อความกันได้ หากท่านใดยังคิดเลยเถิดไปได้ด้วยว่าผู้เขียนกำลังล้อเลียนใครอยู่ ก็แสดงว่าคำว่า "ab-แบ๊ว" (คำอังกฤษแบบย่นย่อสมาสกับคำแสลงของเด็กแนว) และ "ป๋า" (คำจีนดัดแปลงที่ติดปากคนไทยมานานแล้ว) กำลังมีความหมายเฉพาะเจาะจงในสังคมไทยปัจจุบัน ทั้งๆที่ไม่จำเป็นต้องหมายความเช่นนั้น และหากใครเกิดรู้สึกว่าผู้เขียนไม่บังควรพูดประโยคนี้ ก็แสดงว่าผู้อ่านเดาเอาเองว่า "ป๋า" อยู่ใน "ฐานะทางสังคม" ที่ผู้เขียนไม่สมควรใช้ภาษาลักษณะนี้ด้วย ทั้งๆที่ผู้เขียนไม่ได้หมายความดังนั้นเลยแม้แต่น้อย

แต่กระนั้นก็เถอะ ในเมื่อการใช้ภาษาเช่นนี้เป็นการสื่อความหมายที่ผู้คนเข้าใจกันได้ดีพอสมควร ทำไมคนบางกลุ่มจึงกังวลนักหนา และคอยหาโอกาสมาแสดงความห่วงใยในวันภาษาไทยแทบทุกปีว่าภาษาไทยทุกวันนี้เสื่อมลงไปทุกที ผู้เขียนคิดว่าความห่วงใยดังกล่าวสะท้อน "อุดมการณ์ของภาษา" (linguistic ideology) ลักษณะหนึ่ง [1] ที่อยากเสนอให้เรียกว่าเป็น "ภาษาศาสตร์ชาติ/อำนาจนิยม"

ความหมายเชิงซ้อนยอกย้อนของประโยค "ม่าย ab-แบ๊ว ฮ่ะป๋า" แสดงให้เห็นชัดเจนอยู่แล้วว่า ภาษาไม่ได้มีไว้เพียงสื่อถึงความหมายอย่างตรงไปตรงมา แสดงว่าภาษามีชีวิต แสดงว่าคนเราไม่ได้ต้องการสื่อสารกันด้วยภาษาทางการแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น แสดงว่าในการใช้ภาษาจริงๆ คนใช้ภาษาหยิบยืมภาษา ถ้อยคำ ข้ามตระกูลภาษากันได้ และแสดงด้วยว่าภาษาและการใช้ภาษาเกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับความสัมพันธ์ทางสังคม

แต่เมื่อภาษากลายมาเป็นส่วนหนึ่งของ "การสร้างรัฐชาติ" ภาษามักถูกแช่แข็ง จำกัดถิ่น ถูกจินตนาการให้แน่นิ่งทั้งในทางเวลาและสถานที่ ทั้งๆที่ชีวิตของภาษาและการใช้ภาษาในสังคมของผู้คนจริงๆไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ปรมาจารย์ด้านภาษาไทยทุกท่านต่างทราบดีว่า ภาษาไทยถิ่นกรุงเทพฯที่ใช้เป็นภาษากลางและราชการของประเทศไทยนั้น เป็นเพียงหนึ่งในจำนวนเกือบ 80 สำเนียงเสียงภาษาตระกูลภาษาไต-กะได [2] นักภาษาศาสตร์เชื่อกันว่า ภาษาถิ่นไต-กะไดน่าจะมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิม ณ มณฑลกวางสี ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน เนื่องจากพบว่าบริเวณนั้นมีภาษาถิ่นของภาษาตระกูลนี้หลากหลายที่สุด

ในปัจจุบัน ประชากรที่มีภาษาไทยถิ่นกรุงเทพฯเป็นภาษาแม่มีจำนวนอย่างมากก็ราว 10 ล้านกว่าคน คนพูดภาษาถิ่นกรุงเทพฯจริงๆจึงเป็นประชากรส่วนน้อย ประมาณเพียง 10% ของคนใช้ภาษาตระกูลไต-กะไดทั้งหมด นับเฉพาะคนใช้ภาษาไต-กะไดอื่นๆที่มีถิ่นพำนักอยู่นอกประเทศไทยแล้ว ก็มีจำนวนเกือบ 30 ล้านคน หากรวมคนไทยที่ไม่มีภาษาถิ่นกรุงเทพฯเป็นภาษาแม่แล้ว คนพูดภาษาไต-กะไดอื่นๆที่ไม่ใช่ภาษาถิ่นกรุงเทพฯจึงน่าจะมีจำนวนมากเกือบ 100 ล้านคน

ฉะนั้นในแง่ของ "อุดมการณ์ของภาษา" การหยิบเอาภาษาถิ่นกรุงเทพฯมาบังคับใช้เป็นภาษากลางและภาษาราชการของไทย จึงเป็นกระบวนการที่ทั้ง หนึ่ง สร้างภาพแทน "ภาษาไทย/คนไทย" ด้วยภาษาถิ่นถิ่นหนึ่ง สอง ใช้ลักษณะเฉพาะของภาษาเพื่อสร้างความแตกต่างระหว่าง "คนไทย" กับ "คนชาติอื่น" และ สาม จำกัดและอาจถึงกับขจัดความหลากหลายของภาษาในประเทศไทย [3]

ตัวอย่างกระบวนการสร้าง "ภาษาไทย/คนไทย" ที่เห็นได้ชัดได้แก่

ประการแรก การหยิบยกเอาพยัญชนะบางตัวมาเป็นภาพแทน "คนไทย/ภาษาไทย" เสียงพยัญชนะที่นักภาษาศาสตร์ชาติ/อำนาจนิยมไทยมักเลือกมาเชิดชูคือ อักษร "ร" เราถูกฝึกกันตั้งแต่ยังเล็กยังน้อยในโรงเรียนว่าต้องออกเสียง "ร" ให้ชัด บัณฑิตจาก "สำนักเทวาลัย" เสาหลักของภาษาศาสตร์ชาติ/อำนาจนิยมแทบทุกคนล้วนออกเสียง "ร" อย่างเน้นหนักชัดเจนจนเกินจริง ในประเทศไทย เสียง "ร" กลายเป็นเสียงบังคับอย่างยิ่งยวดในการสอบเป็นผู้ประกาศข่าววิทยุ-โทรทัศน์ ราวกับว่าคนไทยจะสิ้นชาติไปหากว่าออกเสียง "ร" ไม่ชัด

ประการที่สอง ภาพแทน "ภาษาไทย/คนไทย" ได้ย้อนมาจำแนกแตกต่าง "ภาษาไทย/คนไทย" ออกจาก "ภาษาอื่น/คนชาติอื่น" เช่นในกรณีเสียง "ร" ที่ประเทศไทยเน้นนั้น ไม่ได้เป็นเสียงที่มีความสำคัญมากนักหรือเกือบไม่มีคนใช้ภาษาไต-ไทถิ่นใดใช้ คนเหนือ คนอีสานในประเทศไทย และคนลาว คนไตในประเทศอื่นๆ ล้วนใช้เสียง "ฮ" แทนคำที่ภาษาถิ่นกรุงเทพฯใช้เสียง "ร" ส่วนคนภาคกลางและภาคใต้ในประเทศไทยส่วนใหญ่ก็ใช้เสียง "ล" แทนแทบทั้งสิ้น

นอกจากความคลั่งชาติด้วยความหลงใหลต่อเสียง "ร" แล้ว นักภาษาศาสตร์ชาติ/อำนาจนิยมไทยยังคลั่งไคล้เสียงควบกล้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสียงกล้ำ "ล" เสียงดังกล่าวพบได้น้อยมากหรือเกือบไม่มีเลยในภาษาไต-ไทถิ่นอื่นๆ เช่นคำพื้นๆอย่างคำว่า "ปลา" ในภาษาไตดำ ไตขาว และไตแดงในเวียดนาม จีน และลาว ล้วนออกเสียงและเขียนว่า "ปา" ทั้งสิ้น

ประการที่สาม การทำลายเสียงบางเสียงของภาษาไท-ไต เป็นธรรมดาที่ภาษาถิ่นใดก็ตามเมื่อกาลเวลาผ่านไป ก็อาจทำลายเสียงบางเสียงลงไป เช่น ภาษาไทยเดิม น่าจะมีเสียง "ฃ" และ "ฅ" ดังที่พบว่า ในจารึกสมัยสุโขทัย อักษร "ฃ" ถูกใช้แตกต่างกับอักษร "ข" อย่างเป็นระบบชัดเจนกว่าในภาษาไทยยุคหลังๆ [4] ภาษาถิ่นกรุงเทพฯจึงทำลายเสียงที่แตกต่างกันของ "ฃ" กับ "ข" ลง ในการใช้ภาษาของนักภาษาศาสตร์ชาติ/อำนาจนิยมไทย ความแตกต่างของ "ฃ" และ "ข" จึงถูกลบลืมไปเช่นกัน ทั้งๆที่เสียงที่แตกต่างกันของพยัญชนะทั้งสองยังอาจพบได้ในภาษาไท-ไตถิ่นอื่น เช่นภาษาไทขาวในเวียดนาม

นอกจากนั้น เสียงสระบางเสียงยังได้ถูกภาษาถิ่นกรุงเทพฯทำลายเช่นกัน เช่นเสียงสระ "ใ" ที่น่าจะเคยแตกต่างจากเสียงสระ "ไ" และทำให้ภาษาไทยเขียนสระทั้งสองแตกต่างกัน แม้จะออกเสียงเหมือนกัน แต่ในภาษาไท-ไตถิ่นอื่นๆ เช่นภาษาไทดำในเวียดนาม คำที่ใช้สระ "ใ" เช่นคำว่า "ใส" ออกเสียงว่า "สอื๋อ" ไม่ใช่ "ไส" อย่างภาษาไทยถิ่นกรุงเทพฯ [5] ฉะนั้น เสียง "ใ" และ "ไ" จึงถูกหลงลืมความแตกต่างไปในกระบวนการใช้ภาษาถิ่นกรุงเทพฯสร้างชาติไทย กระทั่งเคยมีปรมาจารย์ทางอักขระไทยบางท่านเสนอให้ยกเลิกการใช้สระ "ใ" เสีย

ในกระบวนการสร้าง "ภาษาไทย/คนไทย" ดังกล่าว นอกเหนือจากความหลากหลายของภาษาตระกูลต่างๆจะถูกลบล้างไปอย่างเห็นได้ชัดแล้ว นักภาษาศาสตร์ชาติ/อำนาจนิยมยังได้แยกแตกต่างและทำลายภาษาไทยเดิมเองและภาษาไต-กะไดอื่นๆ อันเป็นเครือญาติทางภาษาของภาษาไทย

ฉะนั้น ใช่ว่าจะเป็นดังที่ใครต่อใครว่า "เด็กแนว" เป็นคนทำภาษาไทยวิบัติ เพราะออกเสียงไม่ชัด คอยทะลึ่งคิดคำใหม่ๆที่ไม่มีในพจนานุกรม สมาสคำต่างภาษาแบบไม่มีหลักเกณฑ์ หรือดัดจริตลากเสียงสระยืดยานหรอก ภาษาแนวๆเกิดแล้วตาย เปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์ขำๆซนๆของยุคสมัย ดังนั้นภาษาแนวๆจึงยากที่จะสถาปนาอำนาจนำเหนือภาษาทางการอย่างยาวนาน

แต่กระบวนการสร้าง "ภาษาไทย/คนไทย" ของ "นักภาษาศาสตร์ชาติ/อำนาจนิยม" ต่างหาก ที่บ่อนทำลายภาษาอย่างร้ายกาจ ขนาดและคุณภาพของความวิบัติที่การสร้างชาติด้วยการสร้าง "ภาษาไทย/คนไทย" กระทำต่อภาษาและการใช้ภาษานั้น รุนแรง ใหญ่หลวง และยั่งยืนยิ่งกว่าที่เด็กแนวยุคใดจะทำได้มากนัก

(ปรับปรุงจากที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 1 สิงหาคม 2007)

...................

เชิงอรรถ

[1] หากสนใจ โปรดศึกษาการวิเคราะห์อุดมการณ์ของภาษาข้ามวัฒนธรรมในหนังสือต่างๆ เช่น Schieffelin, Bambi B. et al., eds. Language Ideologies: Practice and Theory. New York: Oxford University Press, 1998. และ Paul Kroskrity, ed. Regimes of Language: Ideologies, Politics, and Identity. Santa Fe: School of American Research Press, 2000.

[2] ดูรายละเอียดได้ใน http://www.ethnologue.com

[3] งานที่แนะนำแนววิเคราะห์นี้ได้แก่ Susan Gal "Multiplicity and Contention among Language Ideologies: A Commentary" In Language Ideologies: Practice and Theory. Schieffelin, Bambi B. et al., eds. Pp. 317-332. New York: Oxford University Press, 1998.

[4] Antony Diller "Consonant Merges and Inscription One" In In The Ram Khamhaeng Controversy: Collected Papers. J.R. Chamberlain, ed. Pp. 161-189. Bangkok: The Siam Society, 1991.

[5] ภาษาไท-ไตถิ่นอื่นบางถิ่นออกเสียงคำที่ใช้ "ใ" บางคำเป็น "เออ" บ้าง "อือ" บ้าง เช่นไทถิ่นหนึ่งในจังหวัดหว่า บิ่งญ์ ออกเสียง "ใด" เป็น "เดอ"

http://www.onopen.com/iamyukti/07-08-06/2930



Hotmail® has ever-growing storage! Don't worry about storage limits. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น: