![]() |
มืออาชีพชี้ สื่อยุคดิจิตอลไทยขาดธรรมาธิปไตยรุนแรง จากการพัฒนาเทคโนโลยีในยุคดิจิตอล ก่อให้เกิดสื่อแขนงใหม่ๆ เช่น เว็บไซต์ และเว็บบล็อก ที่กลุ่มคนจำนวนหนึ่งใช้เป็นช่องทางถ่ายทอดข่าวสารโดยไม่ต้องพึ่งช่องทางของสื่อกระแสหลักอีกต่อไป แต่คนทำสื่อแขนงใหม่ดังกล่าวส่วนใหญ่ไม่ได้คำนึงถึงการใช้หลักธรรมและความถูกต้องในการนำเสนอข่าว จนก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาคสังคม จากปัญหาดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการจัดเสวนา " ธรรมาธิปไตยนักนิเทศศาสตร์ยุคดิจิตอล" โดยมีการเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในวงการสื่อมวลชน เพื่อร่วมกันวิเคราะห์และหาแนวทางแก้ปัญหาจรรยาบรรณของสื่อมวลชนในฐานะ " ฐานันดรที่ 4" เพื่อร่วมสร้างสังคมธรรมาธิปไตยให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล นักวิชาการสื่อสารมวลชน ผู้ผลิตรายการข่าวโลกยามเช้า ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้ยกตัวอย่างวิกฤติการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับสื่อมวลชนในสหรัฐอเมริกา กรณีปัญหาสื่อสมัยใหม่ที่ขาดจรรยาบรรณในการนำเสนอความจริงว่า " เมื่อปี พ.ศ. 2540 หรือ ค.ศ. 1997 อเมริกาเกิดวิกฤติการณ์เกี่ยวกับสื่อ จนสื่อมวลชนเริ่มโดนสาธารณะชนดูถูกเหยียดหยาม เพราะเห็นแก่ความก้าวหน้าทางวัตถุ และถูกแทรกแซงจากโฆษณา หลังจากนั้น 4 ปี จึงได้มีการออกหนังสือที่ชื่อว่า The Element of Journalism โดยมีเนื้อหากล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนกับเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย จนเกิดสื่อใหม่ อย่างเช่นเว็บบล็อก เว็บไซต์ข่าว จนทำให้นักสื่อสารมวลชนตัวจริงเริ่มไม่มั่นใจในอาชีพที่ดำเนินอยู่ เพราะส่วนมากไม่ใช่สื่อที่สร้างความบันเทิง แต่เป็นสื่อที่มุ่งเน้นเสนอความจริง" จากหนังสือดังกล่าว ดร.สมเกียรติ ได้สรุปแนวทางการแก้ปัญหา และหน้าที่ให้สื่อมวลชนพึงปฏิบัติไว้ดังนี้ 1. สื่อสารมวลชนต้องยึดถือความจริงเหนือสิ่งอื่นใด 2. ต้องจงรักภักดีต่อพลเมือง โดยการนำเสนอความจริง 3.มีวินัยเป็นหัวใจหลักในการตรวจสอบความจริง 4.ต้องรักษาความเป็นอิสระจากแหล่งข่าว 5.ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบคนที่มีอำนาจในสังคม โดยที่ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก 6.ต้องเป็นเวทีสาธารณะ เพื่อหาทางออกในข้อพิพาทให้กับสังคม 7.ต้องมีศิลปะในการนำเสนองาน เพื่อสร้างเนื้อหาให้น่าสนใจ 8.ทำความจริงให้ได้สัดส่วนเหมาะสมที่จะนำเสนอ 9.มีจิตสำนึกและรับผิดชอบงานทุกชิ้นที่นำเสนอ 10.เปิดโอกาสให้ประชาชนใช้สิทธิในการตรวจสอบข่าวสาร เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในข้อมูลที่นำเสนอ นอกจากนี้ ผู้ผลิตรายการข่าวโลกยามเช้า ยังได้แสดงทัศนะถึงปัญหาที่เกิดกับสื่อมวลชนในปัจจุบันว่า " ประเทศตะวันตกเริ่มพบความแตกต่างว่า ระหว่างคำว่า Fact (ข้อเท็จจริง) และ Truth (ความจริง) จนต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่ขึ้นทุกปีเพื่อความชัดเจน อย่างเช่น คำว่า Truthiness คือ ความจริงที่แท้จริง ซึ่งทำให้เห็นว่าสื่อมวลชนเริ่มมีความยุ่งยากในการนำเสนอ จนบางครั้งทำให้สื่อเริ่มตอบไม่ได้ว่า อะไรเป็นข่าว อะไรเป็นโฆษณา หรือประชาสัมพันธ์ ดังนั้นสื่อแท้จริงจะต้องยึดหลักจรรยาบรรณของสื่อไว้เป็นหลัก โดยที่ไม่ต้องสนใจสื่ออื่นเพราะถือเป็นวิวัฒนาการของสื่อในปัจจุบันที่ต้องการสอดแทรกโฆษณาลงในเนื้อหา" ทั้งนี้ ดร.สมเกียรติ ได้ยกตัวอย่างรายการเล่าข่าวเช้าของผู้ดำเนินรายการชื่อดังคนหนึ่งว่า หากลองไล่เรียงเนื้อหารายการไปทีละประโยคก็จะพบความไม่จริงอยู่ในการเล่าข่าวมากกว่าความเป็นจริง เช่นคำว่า จริงหรือเปล่า , ผมไม่แน่ใจ , ถ้าผมจำไม่ผิด ซึ่งในความเป็นจริง หากผู้ดำเนินรายการจำผิดผู้รับสารก็จะซึมซับข้อมูลที่ผิดไป ทั้งนี้ ผู้ที่จะเป็นสื่อสารมวลชนจะต้องรู้จักนำเสนอความจริงในรูปแบบที่สั้นกระชับ เหมาะสม น่ารู้ น่าดู น่าชม โดยรายการที่ดีต้องใช้เวลาเตรียมเรื่อง ไม่ใช่แค่เดินเข้าห้องสตูดิโอแล้วหยิบหนังสือพิมพ์ขึ้นมาอ่าน ซึ่งทั้งรายการเต็มไปด้วยความไม่รู้แต่ดูเพลิน " ผมเคยเสนอหนังสือพิมพ์ให้ฟ้องร้อง หรือเขียนที่มุมหนังสือว่าสงวนลิขสิทธิ์ เพราะพฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลให้ประชาชนอ่านหนังสือกันน้อยลง" ดร.สมเกียรติกล่าว ด้านนาย อดิศักดิ์ ลิมปพัฒนกิจ ผู้จัดการบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า สื่อมวลชนในปัจจุบันไม่ควรตั้งตนเป็นฐานันดรที่ 4 เพราะจะทำให้สื่อมีสถานะอยู่เหนือคนทั่วไป ปัจจุบันสื่อมีความหลากหลายมากขึ้น อีกทั้งผู้รับสารยังสามารถผลิตสื่อผ่านทางการสื่อสารรูปแบบใหม่ได้เอง ณ ตอนนี้สื่อสารมวลชนทั้งประเทศจึงเกิดคำถามว่า ทำอย่างไรให้สื่อมีจิตวิญญาณของนักสื่อสารมวลชน และดำรงอยู่ต่อไปได้ " ผมเชื่อว่าสื่อยังต้องเป็นกลาง ไม่จำเป็นต้องเลือกข้าง สื่อบางสำนักนำบทความของผมไปเผยแพร่เฉพาะข้อมูลที่เขียนสนับสนุนกับกลุ่มของตน แต่กลับไม่ได้อ่านข้อมูลในบทความทั้งหมดที่ผมเขียนด้วยความเป็นกลาง ซึ่งผมคิดว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เป็นปัญหาสำคัญในวงการสื่อมวลชนไทย ที่นักวิชาการและคนในแวดวงวิชาชีพต้องมาร่วมกันหาทางแก้ไข" นายอดิศักดิ์ กล่าว นอกจากนี้ ผู้จัดการบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด ยังเห็นว่า สถานี ASTV หรือสถานี DTV มีการนำเสนอเนื้อหาชักจูงความสนใจของผู้ชมในลักษณะเรียลลิตี้ทีวี โดยนำเสนอความจริงเพียงด้านเดียว ทำให้ภาคสังคมจำแนกสื่อมวลชนอาชีพกับสื่อภาคองค์กรไม่ออก ดังนั้นทุกคนต้องช่วยกันจัดระบบว่าสื่อใดเป็นสื่อแท้ และสื่อใดไม่ใช่สื่อ และในวงการสื่อเองควรตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว เพื่อสร้างสิ่งที่มีค่าที่สุดนั่นก็คือ " ความน่าเชื่อถือ" ที่กำลังลดน้อยลง จนทำให้ประชาชนเริ่มแยกแยะไม่ออกว่าอะไรคือความจริง อะไรคือความถูกต้อง ด้านนาย บุญเลิศ คชายุทธเดช บรรณาธิการอาวุโสหนังสือพิมพ์มติชน กล่าวถึงปัญหาการในวงการสื่อในปัจจุบันไว้ว่า ตอนนี้วงการสื่อสารมวลชนกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ ดังนั้นสิ่งจำเป็นสำหรับนักนิเทศศาสตร์ ในยุคธรรมาธิปไตย คือต้องมีคุณธรรม มโนธรรม และจริยธรรมในการประกอบอาชีพ ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่สื่อละเลยความรับผิดชอบด้วยการเปิดเผยหน้าตาของนักศึกษาที่เข้าแจ้งความว่าถูกผู้บริหารสื่อบันเทิงคนหนึ่งลวนลาม ซึ่งถือว่าไม่มีมโนธรรมในการเสนอข่าว โดยตามหลักแล้ว สื่อควรจะทำหน้าที่ตรวจสอบกันเอง แต่ปัจจุบันกลับพบว่าไม่มีใครตรวจสอบใครแต่กลับนำเสนอไปในทางเดียวกัน ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งปัญหาของวงการสื่อบางส่วน " ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบหมดทุกสถาบัน โดยเฉพาะสถาบันเบื้องสูง เช่น กรณีข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่มีทั้งชาวต่างชาติ และคนไทยตกเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้มากมาย ปัจจุบันนี้กรณีพูดจากระทบสถาบันผ่านสื่อต่างๆ ทั้งในเว็บไซต์ และในวิทยุชุมชนยังคงมีอยู่กว้างขวาง ตนจึงอยากให้ทุกคนเปิดหูเปิดตารับรู้ความเป็นจริงในสังคม ทำความเข้าใจและศึกษาเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น รวมทั้งวิเคราะห์สื่อมวลชนทุกประเภท ว่าใช้สื่อเป็นเครื่องมือในทางการเมืองหรือไม่ และที่สำคัญต้องพิจารณาจากคนผลิตสื่อด้วย" นายบุญเลิศกล่าว นอกจากนี้ บรรณาธิการอาวุโสหนังสือพิมพ์มติชน ยังกล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการสื่อโทรทัศน์ว่า ตนรู้สึกไม่ได้สาระอะไรจากรายการโทรทัศน์เพราะส่วนมากทีวีจะนำเสนอก็มักมีแค่ภาพและสรุปข่าวเล็กน้อย ไม่มีสาระรอบด้านมารายงาน เช่น บางข่าวมีแค่ภาพการให้สัมภาษณ์ของ นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่กลับไม่มีภาพและเสียงของพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งส่วนใหญ่มักอ้างเหตุผลว่าใช้ถ้อยคำรุนแรงเกินไป และในบางครั้งสื่อโทรทัศน์เลือกให้ความสำคัญกับข่าวแค่บางประเด็น ทำให้ตนรู้สึกว่าบทบาทของข่าวโทรทัศน์ไม่สามารถทำหน้าที่สื่อได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นปัญหาที่ภาคสังคมต้องให้ความสำคัญ |
Windows Live™: Keep your life in sync. Check it out.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น