วันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ชำแหละอุตสาหกรรมเหล็ก ของดีที่ไม่มีใครเอา?

ชำแหละอุตสาหกรรมเหล็ก ของดีที่ไม่มีใครเอา?

    ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา กลุ่มบริษัท เครือสหวิริยาฝันจะสร้างโครงการ"เหล็กต้นน้ำ" อุตสาหกรรมถลุงเหล็กขนาดใหญ่ไว้ใน อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อดูดเม็ดเงินหลายแสนล้านบาทเข้าประเทศ แต่โครงการดังกล่าวกลับส่งกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของพื้นที่จึงรวมกลุ่มกันต่อสู้โดยมีวิถีชีวิตและธรรมชาติของชาวบ้านเป็นเดิมพัน

    สุพจน์ ส่งเสียง หนึ่งในแกนนำชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง ชี้แจงถึงปัญหาจากอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำที่กำลังกลืนกินวิถีชีวิตและธรรมชาติของชาวบ้าน ว่า "สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้กำหนดให้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นพื้นที่การลงทุนที่ได้รับการลดหย่อนภาษีสูง เนื่องจากมีทำเลเหมาะสำหรับการพัฒนาเป็นท่าเรือน้ำลึกหลายจุด ทำให้กลุ่มทุนมีการขวนขวายจับจ้องพื้นที่ดังกล่าวเพื่อลงทุน ทั้งนี้องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมสหประชาชาติ(UNIDO) ได้สำรวจพบว่าแหลมแม่รำพึง ในอ.บางสะพาน มีลักษณะเป็นร่องน้ำลึกสามารถพัฒนาเป็นท่าเรือน้ำลึกได้ จากข้อมูลดังกล่าวเป็นเหตุให้หน่วยงานของรัฐตั้งแหลมแม่รำพึงเป็นตำบลใหม่แยกออกมาจาก ต.กำเนิดนพคุณ และกำหนดให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือเป็นเขตวนอุทยานแห่งชาติ แต่ยังโชคดีที่ผังเมืองหมดอายุลงเมื่อปี 2546 ชาวบ้านจึงเรียกร้องพื้นที่สีเขียวกลับคืนมาได้บางส่วน"

    "บริเวณจุดก่อสร้างท่าเรือบริเวณน้ำลึกได้สร้างปัญหาต่อชาวประมงในพื้นที่เป็นอย่างมาก จากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ระบุว่า เมื่อ 10 ปีก่อน ชาวประมงบริเวณดังกล่าวมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือน ประมาณ 12,000 บาท แต่ปัจจุบันรายได้ลดน้อยลงมาก นอกจากนี้ ยังพบว่ากลุ่มทุนยังแอบขุดร่องน้ำลึกบริเวณท่าเรือปีละ 4-5 ครั้ง เพื่อลดความตื้นเขิน อีกทั้งยังสร้างตัวกันคลื่นเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งเหล็กทางเรือ ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวของกลุ่มนายทุนได้ทำลายระบบนิเวศใต้ทะเลที่เคยเป็นอยู่และทำให้ทิศทางของกระแสน้ำและลมเปลี่ยนแปลง หาดหินที่เคยเป็นแหล่งวางไข่ของกุ้งแชบ๊วย และสัตว์ทะเลอื่นๆ ได้กลายเป็นหาดทรายตื้นเขิน ปลาทูจำนวนมากที่เคยใช้บริเวณแหลมและหาดแม่รำพึงเป็นที่วางไข่ก็ได้รับส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิต นอกจากนี้การสร้างโรงถลุงเหล็กขนาดใหญ่บริเวณป่าต้นน้ำยังเป็นการขวางทางน้ำ เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาน้ำท่วม อ.บางสะพาน สร้างความเสียหายประมาณปีละ 20 ล้าน "

    "กลุ่มนายทุนที่กว้านซื้อที่ดินส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองที่ตั้งบริษัทเกี่ยวกับธุรกิจการเกษตรบังหน้า อีกทั้งยังจ้างให้ชาวบ้านบุกรุกที่สาธารณะเพื่อถือครองเอกสารสิทธิ์ (สค.1) แล้วแอบซื้อคืนในภายหลัง นอกจากนี้ยังพบว่าโรงถลุงเหล็กสร้างทับเขตพื้นที่ป่าพรุซึ่งเป็นวนอุทยาน กว่า 1,200 ไร่ ต่อมาปี 2548 กลุ่มทุนจึงแก้ปัญหาโดยการทำเรื่องขอเช่าไปที่ดินดังกล่าวกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แม่รำพึงและได้รับการอนุมัติ จนกระทั่งปี พ.ศ.2549 ชาวบ้านจึงได้ทำเรื่องขอให้คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ดินและป่า (กสม.) เข้ามาตรวจสอบ ผลรายงานสรุปว่า ควรมีการเพิกถอนที่ดินทั้งหมด 18 แปลง จำนวนกว่า300 ไร่ และได้นำเรื่องดังกล่าวยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครอง"

    "เหตุใดกรมที่ดินได้ออกเอกสารสิทธิ์และปล่อยให้มีการบุกรุกป่าได้ ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่ามีขบวนการอุปถัมภ์อยู่เบื้องหลัง ขณะที่ผังโครงการตามรายงานของ EIA ฉบับล่าสุดที่กำลังจะยื่นต่อสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมยังมีพื้นที่โรงถลุงเหล็กติดกับพื้นที่ชุ่มน้ำอยู่ นอกจากนี้ยังมีการลอบขุดคลองระบายน้ำ ทั้งที่ EIA ยังไม่ผ่าน ทั้งนี้หากนำแผนที่ของกรมที่ดินมาตรวจสอบก็จะพบว่ามีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติไปจนถึงบริเวณท่าเรือน้ำลึก ซึ่งขณะนี้มีคำสั่งของกรมที่ดินให้เพิกถอนที่ดิน ประมาณ 410 ไร่ ทั้งหมด 58 แปลงแล้ว ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า มีที่ดินที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงแค่ 2 แปลงเท่านั้น ทั้งนี้ชาวบ้าน ยังพบความผิดปกติคือ มีการนำที่ดิน 410 ไร่ ที่ถูกคำสั่งเพิกถอนไปยื่นค้ำประกันในการกู้เงิน 971 ล้านบาท ของธนาคารนครหลวงไทย ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามีผู้บริหารอาวุโสของธนาคารดังกล่าวเกี่ยวข้องด้วย"

    "จากรายงาน EIA ยังมีการระบุว่าหากมีการตั้งอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำจะต้องมีการก่อสร้างบ่อขยะพิษขนาดหลายสิบไร่ เพื่อรองรับขยะพิษถึง 1,576 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเป็นดินทรายซึ่งสารพิษอาจซึมผ่านแหล่งน้ำใต้ดินลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้ ทั้งนี้หากมีการอนุมัติให้ดำเนินโครงการจริงก็จะมีปล่องควันเกิดขึ้นมากกว่า 50 ปล่อง และจะมีฝุ่นควัน 435 ตันต่อปี ซึ่งโครงการดังกล่าวอยู่ห่างจากหมู่บ้านแค่ 500 เมตรเท่านั้น"

    "หากมองในแง่เศรษฐกิจพบว่าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ ปีละ 2 พันล้านบาทซึ่งมีมูลค่าสูง ดังนั้นรัฐควรคิดทบทวนใหม่ว่า การทุ่มภาษีช่วยเหลือกลุ่มทุนอย่างมหาศาลในการลงทุน แล้วมีการจ้างงานเพียงแค่ 3 พันกว่าคนนั้นคุ้มค่าหรือไม่ ในทางกลับกันการลงทุนในภาคเกษตรกรรมและการท่องเที่ยว เพียง 9 พันกว่าล้านบาทกลับสร้างงานได้ถึง 25,520 ตำแหน่ง หากเทียบอัตราการจ้างงานจะพบว่า ภาคอุตสาหกรรมต้องใช้เงินลงทุน 25 ล้านบาท ต่อการจ้างงาน 1 อัตรา ในขณะที่ภาคการเกษตรและท่องเที่ยวใช้เพียง 3 แสนบาทต่อการจ้างงาน 1 อัตรา นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเหล็กยังมีการใช้พลังงานในระดับมหาศาลด้วย"

    "ผมตั้งข้อสงสัยสงสัยว่า หากอุตสาหกรรมถลุงเหล็กดีจริง เหตุใดต่างประเทศจึงพยายามผลักดันให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทำไมถึงไม่เปิดให้ลงทุนในประเทศของตนเอง"

    "ตนเห็นว่าการลุกขึ้นมาต่อสู้ของชาวบ้านส่วนใหญ่เกิดจากการถูกกลุ่มทุนเป็นฝ่ายกระทำก่อน ในขณะที่รัฐก็พยายามสร้างความลำบากด้วยการใช้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) และกฎหมายต่างๆ มาขัดขวางชาวบ้านไม่ให้มีการเคลื่อนไหวคัดค้าน หากรัฐบาลยังไม่เพิ่มบทลงโทษต่อผู้กระทำผิด และควบคุมหน่วยงานใต้สังกัดให้ทำงานอย่างรัดกุมและเห็นแก่ประชาชน ในอนาคตลูกหลานไทยคงต้องใช้เวลาศึกษากฎหมายเป็นกอง ก่อนจะมีสิทธิหายใจในอากาศบริสุทธิ์"

    เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ได้นำเสนอข่าว เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ดินโรงถลุงเหล็กดังกล่าวว่า นายวิน วิริยประไพกิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) และกรรมการ เครือสหวิริยา เปิดเผยกรณีศาลปกครองกลางรับฟ้องคดีสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐ 11 แห่ง ฐานเพิกเฉย ละเลยหน้าที่ในการอนุรักษ์ดูแลพื้นที่ป่าพรุ ป่าชายเลน ต.แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยขอให้เพิกถอนเอกสารสิทธิที่ออกโดยไม่ชอบว่า การยื่นฟ้องดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนโครงการโรงถลุงเหล็กของบริษัทฯ เนื่องจากเอกสารสิทธิต่างๆที่บริษัทฯถือครองที่ดินได้มาอย่างถูกกฎหมาย เจ้าหน้าที่มีการตรวจสอบยืนยันว่า ไม่ได้มีการบุกรุกป่า และบริษัทฯได้ซื้อต่อจากชาวบ้านมานานหลายสิบปีแล้ว ซึ่งพื้นที่ตั้งโครงการฯ 1,163 ไร่ แม้ว่าจะเป็นพื้นที่เอกสารสิทธิที่ถูกต้อง แต่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาข้อพิพาท บริษัทฯได้ตัดพื้นที่ซึ่งมีข้อโต้แย้งดังกล่าวออกจากผังของโครงการฯ จำนวน 17 แปลง หรือประมาณ 200 ไร่ไปนานแล้วทั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่จะให้ศาลพิจารณาเพื่อยุติข้อสงสัยดังกล่าว

    "บริษัทฯจะศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในจีนและเวียดนามโดยมองว่าโครงการมีความจำเป็นในแง่เศรษฐกิจ ที่ภาครัฐต้องการส่งเสริมการลงทุนให้เกิดการจ้างงานในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ"

    นายวิน กล่าวว่า การชะลอโครงการโรงถลุงเหล็กเพื่อรอความชัดเจนของรัฐบาลนั้น หากรัฐมีนโยบายชัดเจนขึ้นบริษัทฯก็พร้อมที่จะลงทุน ขณะเดียวกันบริษัทฯก็ศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโครงการดังกล่าวในจีนและเวียดนามด้วยโดยมองว่าโครงการมีความจำเป็นในแง่เศรษฐกิจ ที่ภาครัฐต้องการส่งเสริมการลงทุนให้เกิดการจ้างงานในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ขณะเดียวค่าใช้จ่ายในการลงทุนก่อสร้าง อุปกรณ์เครื่องจักรต่ำลงด้วย เนื่องจากหลายประเทศชะลอการลงทุนลง

วันที่ 23/04/2552

http://www.rsunews.net/Green/SteelIndustry/Gpage.htm

Hotmail® has a new way to see what's up with your friends. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น: