วันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

บ.พีอาร์รุกพื้นที่สื่อมวลชน

บ.พีอาร์รุกพื้นที่สื่อมวลชน
    โดย อนล นาครทรรพ

    หนึ่งในสุดยอดวาทะกรรมคลาสสิกในประวัติศาสตร์สื่อสารมวลชน คือข้อความในโทรเลขระหว่างเจ้าพ่อหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกัน "วิลเลียม แรนดอลฟ เฮิร์สต์" กับ "เฟดเดอริก เรมมิงตัน" ศิลปินผู้วาดภาพประกอบข่าวให้กับหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กเจอร์นัลของเฮิร์สต์ ในขณะนั้น เรมมิงตันได้รับมอบหมายให้ไปผลิตภาพข่าวการปฏิวัติการปกครองในประเทศคิวบา ซึ่งเป็นที่มาของข้อพิพาทระหว่างสเปน (ผู้ปกครองคิวบาในขณะนั้น) กับ สหรัฐอเมริกา ที่อ้างว่าทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ในภูมิภาคอเมริกาทั้งหมด โดยหนังสือพิมพ์ดังกล่าวได้สั่งให้เรมมิงตันประจำอยู่ที่คิวบาจนกว่าสงครามระหว่างมหาอำนาจทั้งสองจะเกิดขึ้น

    โทรเลขโต้ตอบระหว่างเฮิร์สต์และเรมมิงตันที่ได้กลายเป็นตำนาน มีใจความดังนี้

        ถึง ดับบลิว อาร์ เฮิร์สต์ นิวยอร์กเจอร์นัล นครนิวยอร์ก

        ทุกอย่างสงบเงียบ ที่นี่ไม่มีความวุ่นวาย คงไม่มีสงคราม ผมต้องการกลับบ้าน จาก เรมมิงตัน

    เฮิร์สต์จึงตอบกลับไปว่า

        ถึง เรมมิงตัน เมืองฮาวานา

        กรุณาอยู่ต่อ คุณส่งภาพมา แล้วผมจะจัดสงครามไปให้เอง จาก ดับบลิว อาร์ เฮิร์สต์

    แน่นอน เฮิร์สต์ออกมาปฏิเสธในภายหลังว่าไม่เคยมีการส่งโทรเลขระหว่างเขากับเรมมิงตันตามที่เป็นข่าว แม้จะไม่มีหลักฐานใดมายืนยันว่าการสื่อสารดังกล่าวเกิดขึ้นจริง แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าบทบาทและการนำเสนอข่าวประโคมอย่างดุเดือดของนิวยอร์กเจอร์นัลและสื่ออื่นๆ ในสหรัฐอเมริกามีส่วนสำคัญในการจุดชนวนสงครามระหว่างสหรัฐฯ กับสเปนเมื่อปี ค.ศ. 1898

    ในยุคที่อุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว การโฆษณาชวนเชื่อหรือ propaganda ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในภาวะสงคราม การรายงานข่าวจะเต็มไปด้วยถ้อยคำที่ปลุกเร้าความรู้สึกรักชาติ เพื่อให้สาธารณชนสนับสนุนรัฐบาลในการทำสงคราม จะเห็นได้ว่าในบริบทของความขัดแย้งดังกล่าว วาทะกรรมของเฮิร์สต์ได้กลายเป็นตำนานที่สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลและศักยภาพของสื่อมวลชนในการโน้มน้าวหรือเปลี่ยนแปลงทัศนคติของประชาชน

    นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ เป็นเวลากว่าร้อยปีแล้ว มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในแวดวงสื่อมวลชน โดยเฉพาะการแทรกซึมของบริษัทประชาสัมพันธ์หรือที่เรียกกันว่า "บริษัทพีอาร์" เรียกได้ว่าแทบจะเข้ามาทำหน้าที่แทนสื่อมวลชนหรือฐานันดรที่สี่ ในการสร้างข่าวหรือสร้างปรากฏการณ์ทางสื่อเพื่อโน้มน้าวและเปลี่ยนแปลงทัศนะของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางสังคม สิ่งแวดล้อม หรือการขายสินค้าที่ให้โทษต่อสุขภาพ เช่น บุหรี่ หรือการสร้างภาพลักษณ์ของตัวบุคคลและองค์กร ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องการนำประเทศเข้าสู่ภาวะสงคราม ในอีกด้านหนึ่ง จะเห็นได้ว่านักล็อบบี้ยิสต์สามารถใช้บริษัทพีอาร์เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้อย่างง่ายดายหากมีเงินมากพอ เพราะบริษัทพีอาร์มีศักยภาพที่จะทำให้สื่อต่างๆ นำข้อมูลของตนไปเสนอต่อสาธารณะได้อีกทอดหนึ่ง

    ทั้งนี้ สังคมคงไม่ตั้งความหวังให้สื่อมวลชนเป็นเหมือนรถถังที่คอยจ้องจะคว่ำรัฐบาล แต่หากฐานันดรที่สี่สามารถทำหน้าที่เป็นเหมือนรถกู้ภัยหรือแม้แต่เป็นแค่สัญญาณเตือนภัยได้ ก็คงจะดีกว่าที่เป็นอยู่อย่างนี้ไม่น้อย

    กรณีตัวอย่างที่ดีที่สุด คือการใช้บริษัทพีอาร์สร้างความชอบธรรมให้กับสหรัฐอเมริกาในการทำสงครามอ่าวเปอร์เซีย หลังจากที่กองทัพอิรักของซัดดัม ฮุสเซน ได้บุกยึดประเทศเพื่อนบ้านคือ คูเวต เมื่อปี พ.ศ. 2533 จากเหตุการณ์ดังกล่าว รัฐบาลคูเวตได้กลายเป็นลูกค้าคนสำคัญของอุตสาหกรรมประชาสัมพันธ์ โดยได้ว่าจ้างบริษัท ฮิล แอนด์ โนลว์ตันและบริษัทพีอาร์อื่นๆ ในสหรัฐฯ อีกกว่า 20 บริษัทเพื่อโน้มน้าวให้ชาวอเมริกันเห็นด้วยกับการที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะเข้าไปแทรกแซงและยุติการรุกรานของอิรักบนผืนแผ่นดินคูเวต โดยมีการจัดตั้งกลุ่มประชาชนเพื่ออิสรภาพของคูเวต ซึ่งใช้เงินกว่า 12 ล้านเหรียญสหรัฐในการรณรงค์ดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการใช้เงินจากต่างประเทศเพื่อโน้มน้าวความคิดเห็นของชาวอเมริกันมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

    ยุทธวิธีสำคัญที่สร้างกระแสสนับสนุนสงครามได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดในครั้งนั้น คือคำให้การของ "นาริยา" เด็กหญิงวัย 15 ปีชาวคูเวต พยาบาลอาสาของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงคูเวต ซิตี้ ที่ร้องไห้ในระหว่างให้การต่อคณะสิทธิมนุษยชนของรัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งมีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ ว่าเธอเห็นทหารอิรักบุกเข้าไปในโรงพยาบาลและฆ่าเด็กทารกแรกเกิดหลายร้อยคน รวมทั้งได้ดึงเด็กแรกเกิดออกจากตู้อบไออุ่นและปล่อยบรรดาเด็กทารกดังกล่าวให้ตายอยู่บนพื้นห้องพยาบาล

    ไม่มีเครื่องมืออะไรสามารถวัดได้แน่ชัดว่าคำให้การของนาริยามีผลมากน้อยเพียงใดต่อการที่รัฐสภาสหรัฐฯ อนุมัติให้รัฐบาลประกาศสงครามกับอิรัก แต่ประธานาธิบดีจอร์จ บุชและเหล่าผู้แทนของสภาฯ ได้นำคำให้การของเด็กสาวชาวคูเวตผู้นี้ไปใช้อ้างกับสื่อมวลชนและในการประชุมสภาฯ หลายรอบก่อนจะมีการลงคะแนนเสียงผ่านการอนุมัติดังกล่าว

    สิ่งที่ปรากฏชัดเจนภายหลังสงครามยุติลงก็คือ การเปิดเผยข้อมูลโดยผู้สื่อข่าวโทรทัศน์รายหนึ่งว่า นอกจาก "นาริยา" จะเป็นนางพยาบาลอาสาแล้ว เธอยังเป็นถึงลูกสาวของเอกอัครราชทูตคูเวตประจำสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น และคำให้การของเธอทั้งหมดก็เป็นเรื่องราวที่สร้างขึ้นมาโดยกลุ่มบริษัทพีอาร์ โดยมีการซักซ้อมและรังสรรค์เป็นละครตบตาอย่างแยบยล

    จากวาทะกรรมของเฮิร์สต์ จนถึงการจัดฉากของกลุ่มบริษัทพีอาร์ในสงครามอ่าวเปอร์เซีย จะเห็นได้ว่าขบวนการบริหารข้อมูลได้แตกแขนงออกเป็นฐานันดรย่อย อีกทั้งยังมีบทบาทเข้ามาบดบังและชักจูงการนำเสนอข่าวโดยสื่อมวลชน วิธีการใช้บริษัทพีอาร์เพื่อชักจูงโน้มน้าวความคิดเห็นยิ่งใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในสื่อระดับสากล จึงไม่เป็นที่แปลกใจว่ากลุ่มผลประโยชน์ได้หันมาใช้บริการพีอาร์มากขึ้นในปัจจุบัน

 

http://www.rsunews.net/Did%20you%20know/PR/DYNpage.htm



Insert movie times and more without leaving Hotmail®. See how.

ไม่มีความคิดเห็น: