รายงานพิเศษ แกะรอย "เส้นทางขนเด็กขอทานเข้าเมือง" โดย : ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา เมื่อ : 25/05/2009 03:22 PM |
ภาพเด็กขอทานที่นั่งเรียงรายตามข้างถนน บนสะพานลอย และย่านที่ผู้คนสัญจรผ่านไปมา ทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและตามหัวเมืองใหญ่ ถูกตั้งคำถามว่าพวกเขามีที่มาที่ไปอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กขอทานจากประเทศกัมพูชา ซึ่งมีอัตรามากที่สุดในบรรดาขอทานทั้งหมด ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ลงพื้นที่ค้นหาความจริง ตามแนวชายแดน ในภารกิจ "แกะรอย...เส้นทางขนเด็กขอทานเข้าเมือง" เรื่องเล่าจากสถานแรกรับฯ ![]() จากคำตอบที่ได้รับ นั่นหมายความว่าต้องมีขบวนการนายหน้า ทำหน้าที่นำพาเด็กขอทานเหล่านี้เข้ามาในประเทศไทย !!! คุยกับ "ขาใหญ่" ภายในอู่ซ่อมรถยนต์เล็กๆ แห่งหนึ่งกลางเมืองอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ทีมงานศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ได้มีโอกาสพูดคุยกับ "ขาใหญ่" คนหนึ่ง จากการประสานงานของอดีตนายตำรวจด้านความมั่นคง ขาใหญ่ ที่ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา มีโอกาส ได้สนทนาด้วย เป็นผู้กว้างขวางด้านการค้าชายแดน อายุอานามราว 50 กว่าปี โดยภูมิหลังน่าจะเป็นอดีตคนมีสี ขาใหญ่ เล่าให้เราฟังว่า "ขบวนการขนเด็กขอทาน ก็คือกลุ่มเดียวกันกับที่ขนแรงงานเถื่อนนั่นเอง ตามแนวชายแดน ก็รู้ว่าใครทำกันบ้าง ตอนนี้ชาวบ้านไม่ต้องทำอะไรแล้ว ออกรถมารับงานขนคนอย่างเดียว.." "ตำบลป่าไร่ และอำเภอคลองหาด ลองไปดูเถอะ..." จากข้อมูลเดิม เรารู้เพียงว่า ตำบลป่าไร่ เป็นเขตแนวชายแดน อยู่ขึ้นไปทางทิศเหนือห่างจากตลาดโรงเกลือประมาณ 5-10 กิโลเมตร พรมแดนติดต่อกันตลอดเส้นทาง โดยมีการไปมาหาสู่ระหว่างชาวบ้านโดยช่องทางธรรมชาติ และ จุดผ่อนปรนชั่วคราวบ้านป่าไร่ เท่านั้น ขาใหญ่เล่าต่อว่า "มีหัวหน้าใหญ่รับงานเพื่อส่งต่อให้ลูกทีมซึ่งเป็นชาวบ้านอีกที คนเขมรจะเข้าเมืองไทย จ่ายคนละ 2,500-3,000บาท มีลูกเล็กเด็กแดงติดมาด้วยก็นับเป็นผู้ติดตาม จ่ายแค่ผู้ใหญ่ที่พามา เด็กมันไม่กินที่ รถคันหนึ่งขั้นต่ำก็ขนได้ 15 คนแล้ว" "ชาวบ้านเจ้าของรถได้รอบละ 2,500-3,000 บาท ต่อเที่ยว ส่วนใหญ่เข้ากรุงเทพฯ ปากน้ำสมุทรปราการ และก็ไปทางชลบุรี รายได้ดีขนาดนี้ใครจะไม่ทำ" คำถามต่อมา คือ จะเป็นไปได้ยังไง ด่านตรวจของตำรวจ ทหารเยอะแยะไปหมด รถขนแรงงานเถื่อน จะผ่านหูผ่านตาไปได้อย่างไร ขาใหญ่ จึงเล่าต่อว่า "มันต้องเคลียร์ทาง จากชายแดนเข้าไปจนถึงที่หมาย ต้องจ่ายทั้งหมด 7 ด่าน ด่านละ 500 บาท พวกนี้รู้เลย วิ่งมาต้องเตรียมเงินไว้..." แล้วจะรู้ได้ไง ใครอยู่สายไหน ทีมใคร ขาใหญ่ เฉลยทันที "มันจะมีสติ๊กเกอร์ รูปวัดชื่อดังติดทำเป็นสัญลักษณ์อยู่" ก่อนเราร่ำลาขาใหญ่ เพื่อหาข้อมูลต่อ ขาใหญ่ให้คำแนะนำที่น่าสนใจว่า "ไปถามใครเรื่องนี้ก็ไม่มีใครยอมบอกหรอก เขาหากินกันมานาน มันเป็นเรื่องปกติของที่นี่แล้ว..." รถไฟก็ไปได้ ![]() สอดคล้องกับการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่จำหน่ายตั๋วโดยสารที่สถานีรถไฟอรัญประเทศว่า ปกติจะจำหน่ายตั๋วให้กับทุกคนไม่ว่าชาติไหน ขอให้มีเงินมาซื้อก็รับตั๋วโดยสารไปได้เลย นอกจากนี้ตำรวจรถไฟชั้นผู้น้อยคนหนึ่ง เดินเข้ามาให้ข้อมูลกับศูนย์ปฎิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงาเกี่ยวกับเรื่องการขนแรงงานเถื่อนและเด็กขอทานจากประเทศเพื่อนบ้านว่า "ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นผลประโยชน์ คนอยู่มานานพอทำแล้วมันก็กลายเป็นอาชีพ เลิกไม่ได้ ใครจะห้ามก็ไม่ได้ ต้องยอมรับว่ามีจริง..." ข้อเท็จจริงดังกล่าว อาจจะไม่เพียงพอต่อการรับฟัง ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา จึงได้ส่ง "สายลับ" เดินทางโดยรถไฟ ตั้งแต่สถานีต้นทางอรัญประเทศ จนถึงสถานีปลายทางหัวลำโพง ในเที่ยวบ่ายของวันหนึ่ง "สายลับ" ของเราพบเจอเหตุการณ์กับตัวเอง บนโบกี้รถไฟที่นั่งมา ปรากฏภาพหญิงกัมพูชาอุ้มเด็ก ขึ้นมาบนรถไฟ แล้วมีเจ้าหน้าที่บางคน ชี้ให้หญิงคนดังกล่าวไปนั่งในตำแหน่งที่กำหนดไว้ จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เดินมาคุยกับหญิงคนดังกล่าวและปิดหน้าต่างลง ไม่นานนัก เจ้าหน้าที่คนเดิมก็ชี้นิ้วให้เธอไปนั่งบริเวณอื่น โดยในระหว่างทางก็สั่งให้หญิงคนดังกล่าวย้ายที่นั่งอีกหลายรอบ จนกระทั่งถึงกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ได้มาบอกให้เธอลง ที่ป้ายหยุดรถอโศก... โดยปกติแล้วการโดยสารรถไฟเพื่อเข้ากรุงเทพฯ ของชาวกัมพูชา ไม่ค่อยได้ขึ้นที่สถานีรถไฟอรัญประเทศ เนื่องจากจะเป็นที่ผิดสังเกตและมีเจ้าหน้าที่อยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จึงมาขึ้นรถไฟที่สถานีระหว่างทางเรื่อยไปจนถึงสถานีใหญ่ที่สุดคือ สถานีรถไฟกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี กองทัพมด ด้วยความที่อาณาเขตติดต่อระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา ด้านจังหวัดสระแก้วมีความยาวเกือบสองร้อยกิโลเมตร ดังนั้นเส้นทางธรรมชาติ จึงมีเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการไปมาหาสู่และรับจ้างทำงานตามชายแดนแบบเช้าไปเย็นกลับ จึงเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ทางการทั้งสองประเทศจะผ่อนปรนให้ข้ามแดนไปได้โดยไม่ตรวจเอกสาร ซึ่งทำให้ส่วนหนึ่งมีแรงงานและเด็กกัมพูชา ที่ทำทีเข้ามารับจ้างทำงานตามแนวชายแดน ข้ามแดนมาแล้วและไม่ได้กลับไป อาศัยแอบนอนตามหมู่บ้าน และทุ่งนา เพื่อติดต่อนายหน้าเดินเท้าเข้าไปหางานทำในกรุงเทพฯ "จากคลองหาด อรัญประเทศ ป่าไร่ โนนหมากมุ่น ไปจนถึงตาพระยา" มีขบวนการนายหน้ากองทัพมดในการพาแรงงานและเด็ก เข้ากรุงเทพฯ ทั้งนั้น เดินเท้าเป็นกองทัพมดในตอนกลางคืน เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับของเจ้าหน้าที่ จากนั้น จะมีรถมารับอีกทอดหนึ่ง สนนราคาตกที่คนละประมาณ 2,500-3,000 บาท เช่นกัน อาจกล่าวได้ว่า การนำเด็กจากประเทศกัมพูชา มาเป็นเครื่องมือในการขอทานไม่ว่าจะมากับครอบครัวหรือนายหน้าก็ตาม มีขบวนการนำพา ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ไทยเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน ดังนั้นคงไม่ต้องแปลกใจ ถ้าตามถนนหนทางในเมืองหลวงยังพบเห็นเด็กขอทานจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมาก การขนเด็กขอทานแฝงเข้ามากับแรงงานเถื่อน นับเป็นเรื่องที่สังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรีบสะสางและอุดรอยรั่วดังกล่าว เพื่อขจัดการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการถูกค้ามนุษย์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า... เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข |
http://www.thaingo.org/writer/view.php?id=1207 |
Invite your mail contacts to join your friends list with Windows Live Spaces. It's easy! Try it!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น