วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ประธานบอร์ดบริษัท การบินไทยคือ ดร.อำพน กิตติอำพน

อำพล กิตติอำพล ประธานบอร์ดจำปี เก้าอี้ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

รายงานโดย :ทีมข่าวคมนาคม:
วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
สรุปลงตัวไปแล้วกับตำแหน่งประธานบอร์ดบริษัท การบินไทย ที่สุดท้ายหวยล็อกหน้าแตกเป็นแถว

เพราะชื่อสุดท้ายที่ได้นั่งหัวโต๊ะเวลาประชุมบอร์ดจำปี คือ ดร.อำพน  กิตติอำพน หรือดร.กบ เลขาธิการสำนักงาน คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มาแรงแซงโค้ง
แทนตัวเต็งอย่าง พิชัย ชุณหวชิร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่การเงินและบัญชี บริษัท ปตท. ที่มีกระทรวงการคลังหนุนหลัง กับ สุรชัย ธารสิทธิ์พงษ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ที่มีโสภณ ซารัมย์ ยืนค้ำอยู่เห็นๆ
ว่ากันว่า ดร.กบได้งานนี้เพราะสนิทสนมกับเนวิน ชิดชอบ ตัวจริงเสียงจริงของรัฐบาลนี้

แต่จะมาจากไหนไม่สำคัญ เพราะนับจากวันนี้ประสบการณ์ที่ดร.กบ บอกเองว่า "เป็นคนไม่โดดเด่น ไม่มีผลงานเรื่องการเงิน ไปคิดดูแล้วกัน ผมนั่งกนง.มา 5 ปี เขียนนโยบายรัฐบาลมา 5 รัฐบาล เข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจหลายเรื่อง" นั้นจะนำมาแก้ปัญหาในการบินไทย

หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีรายได้ปีละนับแสนล้านบาท และมีกลิ่นของทุจริตคอร์รัปชัน คละคลุ้งมากที่สุดหน่วยงานหนึ่งได้หรือไม่

มือการเงินระดับเซียนอย่าง ดร.โกร่ง วีรพงษ์ รามางกูร ได้เคยรับรู้ความหินและ โหดของการบินไทยมาแล้วในสมัยที่นั่งในตำแหน่งประธานบอร์ดการบินไทย

การบินไทยไม่ได้มีปัญหาเพียงแค่การเงินแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แม้ว่าขณะนี้การบินไทยจะประสบปัญหาเรื่องสถานะการเงินอย่างหนัก ถึงขนาดต้องตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูสถานะทางการเงินขึ้นมาทีเดียวก็ตาม

ปัญหาที่ดร.กบ ต้องเจออย่างแน่นอน คือ ปัญหาในเรื่องของการจัดการคราบไคลเก่าๆ ที่ฝ่ายบริหารการบินไทยชุดก่อนๆ เคยดำเนินการไว้ และยังไม่ได้สะสาง ส่งผลกลายเป็นดินพอกหางหมูให้การบินไทยต้องเจ็บหนักมาจนถึงขนาดนี้

อย่างเรื่องการซื้อเครื่องบินที่เป็นปัญหามาทุกยุคทุกสมัย เพราะมูลค่าเครื่องบินที่จะซื้อแต่ละครั้งนั้นมีหลักเป็นแสนล้านบาททั้งสิ้น นั่นหมายความว่า การซื้อเครื่องบินเป็นแหล่งขุมทรัพย์ที่กลุ่มการเมืองจ้องเข้ามามีส่วนร่วมตลอดเวลา

แม้ว่าดร.กบ จะบอกว่า ในเรื่องการซื้อเครื่องบินบอร์ดจะดูแผนธุรกิจเป็นหลัก ส่วนกระบวนการทำงานจัดซื้อจัดจ้างขั้นตอนต้องโปร่งใส เป็นหน้าที่ฝ่ายบริหารที่จะต้องวิเคราะห์ก่อนการลงทุนนั้น เป็นคำพูดที่ได้ยินมานักต่อนักว่าขั้นตอนการซื้อต้องโปร่งใส แต่ก็ไม่มีสักครั้งที่การซื้อเครื่องบินของการบินไทยนั้นสะอาดแบบดมได้

ทั้งนี้ เพราะเรื่องดังกล่าวถูกชงขึ้นมาจากฝ่ายบริหารของบริษัท ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากฝ่ายการเมืองมาแล้วทั้งสิ้น และแผนการตลาดที่ชงขึ้นมานั้น ก็ชงขึ้นมาเพื่อให้ซื้อเครื่องบินตามที่ต้องการ

เป็นการเขียนแผนการตลาดให้สอดคล้องกับเครื่องบิน ไม่ได้หาเครื่องบินให้สอดคล้องกับแผนตลาด

และยังมีการบ้านข้อใหญ่ที่ต้องเคลียร์คือ เรื่องการจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัส A330-300 จำนวน 8 ลำ ที่ผู้ถือหุ้นได้ทำหนังสือถึงสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่าการบินไทยดำเนินการขัดกับมติครม. เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดหาจากการเช่าดำเนินการ (Operation Lease) เป็นการเช่าทางการเงิน (Financial Lease) ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่า จริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นอย่างไรกันแน่

นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องกลุ่มก๊วนภายในของการบินไทย ที่คอยเตะตัดแข้งตัดขากันอยู่ตลอดเวลา ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่คอยกัดกร่อนการบินไทยอยู่ตลอดเวลา

จะเห็นได้ว่าปัญหาของการบินไทยนั้นไม่ได้อยู่ที่การเงินเพียงอย่างเดียว แต่การเงินเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการ แต่ยังมีปัญหาอื่นๆ ที่ซุกอยู่ใต้พรม ซึ่งไม่มีใครอยากจะนำขึ้นมาพูดถึง

หากดร.กบ ไม่แก้ปัญหาที่อยู่ใต้พรมควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาเรื่องการเงินแล้วละก็ ไม่มีทางที่การบินไทยจะผงกหัวขึ้นมาทัดเทียมสายการบินระดับโลกได้เลย
 
http://www.posttoday.com/business.php?id=46101



Hotmail® has ever-growing storage! Don't worry about storage limits. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น: