วันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

สื่อจะสร้างสังคมธรรมาธิปไตยได้อย่างไร

สื่อจะสร้างสังคมธรรมาธิปไตยได้อย่างไร

    ในภาวะที่บ้านเมืองต้องเดินทางบนถนนลูกรังสู่เส้นทางประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นั้น อาจมีฝุ่นเหลืองแดงฟุ้งกระจายติดหัว ติดตัว ให้ระคายอยู่ไม่น้อย สื่อมวลชน ในฐานะ ผู้กระจายข้อมูลข่าวสาร ที่สามารถ ชี้นำสังคม ได้นั้น ควรมีบทบาทเช่นไรให้ฝุ่นฟุ้งกระจายน้อยที่สุด

    เมื่อ " ทุน " ที่เข้ามามีบทบาทในสังคมไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง ธรรมที่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลจึงกลับมาเป็นอัศวินม้าขาว คอยคลายทุกข์ให้สังคม

    หลายคนเคยกล่าวว่า สื่อมวลชน เป็นเช่นไรสังคมย่อมเป็นเช่นนั้น สังคมเป็นอย่างไรสะท้อนดูได้จากสื่อ สื่อมวลชนในยุคนี้คงต้องรับภาระหนักเพื่อตอบโจทย์สังคมว่า สื่อจะช่วยสร้างสังคมธรรมาธิปไตยได้อย่างไร


    จากเวทีสัมมนา " สื่อสร้างสังคมธรรมาธิปไตย" ที่จัดโดยนักศึกษานิเทศศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรังสิต พระศรีญาณโสภณ (ปิยโสภณ) พระนักวิชาการรุ่นใหม่ แห่งวัดพระรามเก้ากาญจนาภิเษก กล่าวว่า ธรรมาธิปไตย หมายถึง ความสมดุลของธรรมชาติ สมดุลระหว่างความเก่งและความดี เป็นสัจจะที่จริงแท้แน่นอน ธรรมาธิปไตยสามารถนำมาใช้ในการสื่อทุกชนิด เช่น มนุษย์สื่อกับมนุษย์ หรือแม้แต่สิ่งที่ไม่มีจิต ไม่มีร่างกายเราก็สื่อได้ หลายครั้งที่มนุษย์สื่อสารกันไม่เข้าใจ ทั้งที่พูดภาษาเดียวกัน อาจเพราะพูดไม่จบประโยคหรือตีความหมายที่ผิด ในที่สุดจึงเกิดความขัดแย้ง สาเหตุเป็นเพราะสังคมขลาดแคลนเรื่องการสื่อด้วยจิต มุ่งแต่สื่อสารกันด้วยเทคโนโลยี คำพูด ภาษา ซึ่งเป็นจิตที่หยาบมาก เพราะไม่มีคำพูดไหน สามารถอธิบายความหมายของจิตได้ทั้งหมด

    สำหรับเรื่องของธรรมาธิปไตยในสื่อมวลชนนั้น พระศรีญาณโสภณ กล่าวว่า สื่อมวลชนควรส่งสารอย่างมีสติ โดยพิจารณาว่าเหมาะสมกับสังคมหรือไม่ แม้เรื่องที่นำเสนอจะไม่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนมากเท่าไร แต่หากมีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมก็ควรนำเสนอ สำหรับเรื่องที่ผู้รับสารมักจะโทษว่าสื่อมวลชนไม่เป็นธรรม หากเรารับสารแล้วเป็นทุกข์ก็ควรปิดหู ปิดตา ทุกสิ่งทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับตัวเราเอง

    "คนส่วนใหญ่ชอบคิดว่าทำผิดก็คือผิดกฎหมาย หากอยู่ในที่คนเดียวแล้วกฎหมายไปไม่ถึง ไม่ได้หมายความว่ามันไม่ผิด มันยังคงผิดศีลธรรม เราต้องปลูกฝังคนตั้งแต่เด็กๆ ว่าควรละอายแก่ใจเมื่อทำความผิด และบางเหตุการณ์ในบ้านเมืองเหตุผลก็ตัดสินปัญหาไม่ได้ เช่น เสื้อเหลือง เสื้อแดง ต่างมีเหตุผลทั้งสิ้น แต่ทั้งสองฝ่ายยิ่งเสนอเหตุผลยิ่งขัดแย้ง แสดงว่าเหตุผลทำงานไม่ได้ เพราะเป็นเหตุผลที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของอคติ และการเอาชนะ" พระศรีญาณโสภณ กล่าว


     อาจารย์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีซีไรต์และศิลปินแห่งชาติ กล่าวว่า ธรรมมาธิปไตย มาจากคำว่า ธรรมะ ซึ่งแปลว่า องค์แห่งความเป็นธรรม ความถูกต้อง และ คำว่า อธิปปัต หรือ อธิปไตย ซึ่งแปลว่า อำนาจของธรรมะ โดยเราต้องมองแยกกันให้ได้ว่าอะไรเป็นเงื่อนไข อะไรเป็นปัจจัยชี้ขาด เช่น ไก่ที่กำลังฟักไข่ ต้องมีอุณหภูมิที่เหมาะสมเป็นเงื่อนไข และมีเชื้อเป็นปัจจัยชี้ขาด ถ้าขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งมันจะไม่เป็นลูกไก่ ในแง่ของธรรมาธิปไตยก็เช่นกัน ธรรมะต้องเป็นเงื่อนไขโดยมีอธิปไตยเป็นปัจจัยชี้ขาด จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้

    "ธรรมาธิปไตย ต้องยึดความถูกต้องเป็นหลัก แต่ความถูกต้องนั้นไม่คงที่ ในยุคหนึ่งเรื่องนี้อาจจะเป็นประโยชน์ แต่อีกสมัยหนึ่งอาจจะเปลี่ยนไปก็ได้ แม้แต่คำว่าจริยธรรม ที่แปลว่าการปฏิบัติ มันก็ขึ้นอยู่กับวิวัฒนาการของสังคม สังคมใหม่ก็ต้องมีจริยธรรมใหม่ เราจะใช้จริยธรรมยุคเดิมมาวัดไม่ได้" กวีซีไรต์และศิลปินแห่งชาติ กล่าว

    สำหรับเรื่องธรรมาธิปไตยในสื่อมวลชนนั้น อาจารย์เนาวรัตน์ กล่าวว่า สื่อมวลชนต้องทำตัวเป็นคันฉ่องส่องทุกมุมให้ผู้รับสารรับรู้ และที่สำคัญต้องเป็นโคมฉาย ฉายความเป็นตัวตนของสื่อ สิ่งที่สื่อคิดว่าดี และถูกต้อง ให้ประชาชนรับรู้ด้วย อย่างกรณีที่มีทนายความพยายามให้สินบนกับเจ้าหน้าที่ศาลโดยเอาใส่ในถุงขนมไปให้ถึงที่ทำงาน แต่ศาลไม่สามารถเอาผิดได้ เพราะองค์ประกอบของความผิดไม่ครบถ้วน ทั้งที่รู้ว่ามันผิด หากสื่อทำตัวเป็นโคมฉายในเรื่องที่กฎหมายไม่สามารถทำอะไรได้ ก็น่าจะทำให้ความจริงคลี่คลายได้เหมือนกัน

    "เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองเป็นต้นไม้ต้นเดียวกัน เมื่อเกิดปัญหาจะมองแยกส่วนกันไม่ได้ ต้องมองให้เห็นทั้ง 3 ส่วน พร้อมๆ กัน โดยทั้ง 3 ส่วน จะมีคู่ตรงข้ามที่ขัดแย้งกันเสมอ 1.เรื่องเศรษฐกิจ เป็นคู่ของทุนกับสังคม หากเราเอาทุนไปรับใช้สังคม สังคมก็จะเกิดปัญหา 2.เรื่องการเมืองเป็นคู่ของเผด็จการกับประชาธิปไตย ประชาธิปไตยไม่ได้หมายถึงการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เพราะต่อไปต้องมีการปฏิรูประบบการเมืองใหม่ทั้งหมด ต้องกำหนดจริยธรรมของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส่วนผู้ไปเลือกตั้งจะต้องมีข้อมูลข่าวสารมากพอถึงจะไปเลือกตั้งได้ และเผด็จการก็ไม่ได้เลวทรามต่ำช้าไปซะหมด ไม่ใช้การโค่นล้มอำนาจรัฐด้วยอาวุธเท่านั้น เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญบอกไว้ว่าการได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่มีในบัญญัติรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นการโค่นล้มรัฐบาลด้วยเหมือนกัน อย่างกรณียุบพรรคไทยรักไทยมีการชี้ขาดเอาไว้ว่าร้ายแรงพอๆ กับรัฐประหาร ดังนั้น เราต้องมองให้ชัดว่าอะไรเป็นประชาธิปไตยอะไรเป็นเผด็จการ 3.เรื่องสังคม ดอกผลของสังคม คือ วัฒนธรรม คู่ขัดแย้งก็คือ หายนะธรรมและอารยะธรรม ซึ่งสังคมต้องเป็นอารยะธรรมถึงจะถูกต้อง" อาจารย์เนาวรัตน์ กล่าว


     นาย ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า ธรรมาธิปไตยในแง่มุมของสื่อ คือ จรรยาบรรณ จริยธรรม และความกล้าที่จะนำเสนอความจริง ซึ่งเรามั่นใจว่ามันมีอยู่ในระดับหนึ่ง บริบทของสังคมทุกวันนี้มีความซับซ้อนมากเกินกว่า ที่จะใช้องค์ความรู้หรือความคิดเดิมๆ มาพิจารณาหรือตัดสิน ประชาชนผู้รับสารหลายๆ คน บอกว่าสื่อต้องเป็นกลาง สื่อเองต้องถามกลับว่า ผู้ที่บอกว่าสื่อไม่เป็นกลางนั้น มีจิตใจเป็นกลางหรือไม่ โดยวิชาชีพแล้วคนทำสื่อต้องรู้ข้อมูลมากกว่าผู้รับสาร เพราะต้องติดตามแหล่งข่าวอย่างใกล้ชิด ต้องยอมรับว่าบางสถานการณ์สื่อเป็นกลางไม่ได้ เพราะเห็นชัดเจนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าเป็นสิ่งที่ไม่ดี เราจำเป็นต้องเลือกยืนในข้างที่ถูกต้อง แต่ไม่ได้หมายความว่าเนื้อหาข่าวที่นำเสนอไปจะขาดความสมดุล เพราะสื่อยังเปิด โอกาสให้คนที่เราเห็นว่าผิดชี้แจงเพื่อความเป็นธรรม ตามหลักจริยธรรมของวิชาชีพ เสมอ

    "ผมถือว่าจริยธรรมหรือธรรมาธิปไตยเป็นสิ่งจำเป็นต่อสังคมในยุคนี้ แต่การที่จะไปถึงตรงนั้นเป็นเรื่องลำบาก ปัญหา คือ เรานิยามคำว่าธรรมะและจริยธรรมแตกต่างกัน นักข่าวบางคน บอกว่า ฉันอยู่เฉยๆ ไม่ได้เพราะว่าคนนี้ทำผิด ฉันต้องทำให้คนนี้อยู่ไม่ได้ นี่คือธรรมะ แต่คนที่รับรู้ข้อมูลไม่เหมือนกัน จะบอกว่าคุณไปโจมตีขนาดนี้ มันไม่ยุติธรรม นี่คือความแตกแยกที่เกิดขึ้น ที่สำคัญคือ ต่างฝ่ายต่างคิดว่าตัวเองถูก เพราะฉะนั้นจะต้องหาเหตุผลมามาสนับสนุน ในสังคมข่าวสารเต็มไปด้วยเหตุผล แต่เป็นเหตุผลของฝ่ายหนึ่งที่อยู่ในวังวนของความขัดแย้ง ดังนั้น ถ้าธรรมาธิปไตยจะเกิดขึ้น มันต้องเกิดอยู่ในบริบทนี้ทั้งหมด ทั้งสื่อ คู่ขัดแย้ง และประชาชน ถ้ามีธรรมาธิปไตยเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ที่เหลืออยู่ไม่ได้ " นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าว

    นายก่อเขต กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันนี้ สื่อตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มคนที่ ขัดแย้ งกัน คือ อ้างตนเป็นสื่อ โดยใช้ช่องทางสื่อนำเสนอเนื้อหาสนองเจตนารมณ์ของกลุ่มตนเองให้ กลุ่มประชาชนรับฟัง ดังนั้น ผู้รับสื่อควรใช้ เหตุผลอยู่เหนืออารมณ์ในการรับข่าวสาร สื่อปัจจุบันมีข้อมูลที่มากพอที่จะนำไปสู่การตัดสินใจ แม้กระทั่งสื่อที่ประกาศตัวชัดเจนว่าอยู่ฝ่ายตรงข้าม แต่ การนำเสนอก็ยังมีความเห็น มีข้อมูลของอีกด้านหนึ่งอยู่เสมอ เรา ปฏิเสธไม่ได้ว่า สื่อเกี่ยวข้องกับพาณิชย์ โดยเฉพาะสื่อละครที่ต้องผลิตให้ชาวบ้านดูเพื่อเรียกเรตติ้งและโฆษณา เป็นธรรมดาที่วงการสื่อมวลชนจะมีทั้งคนดีและไม่ดี เพราะฉะนั้น การที่สื่อจะสร้างสังคมธรรมาธิปไตยได้นั้น ตัวสื่อต้องมีธรรมาธิปไตยในตัวเองก่อน และต้องเป็นธรรมาธิปไตยที่นิยามกรอบเดียวกับสังคมด้วย


    นางสาว อมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กล่าวว่า สังคมปัจจุบันมีความละเอียดอ่อนสูง ถ้าสื่อมวลชนต้องนำเสนอข้อเท็จจริงที่อาจทำให้บ้านเมืองเกิดความแตกแยก สื่อก็จะต้องมีกรรมวิธีปรับโทนเนื้อหา โดยนำข้อคิดของคนกลาง คนนอก มาเสริม เพื่อจรรโลงและสร้างสันติสุขในสังคม การนำเสนอข่าวของสื่อมีบทบาทสำคัญ สามารถชี้นำ กำหนดทิศทาง ร่วมถึงทำร้ายสังคมได้ แม้ทุกวันนี้จะมี องค์กรวิชาชีพ เข้ามากำกับดูแลการทำหน้าที่ของสื่อ แต่ก็ทำได้ไม่ครบถ้วน เพราะองค์กรเหล่านี้ไม่ใช่กฎหมาย ไม่มีบทลงโทษ สื่อมวลชนหลายๆ คน พยายามทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด แต่เรื่องของจริยธรรมที่จะสร้างสังคมธรรมาธิปไตยนั้น ต้องขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ด้วย

    "เรื่องของจริยธรรมจิตสำนึกเป็นเรื่องของตัวบุคคล อาจไม่มีเครื่องวัดปริมาณความมากน้อย แต่ละบุคคลต้องกล่อมเกลาจิตใจตัวเอง คงเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ทุกคนมีจิตสำนึกเท่าเทียมกัน เพราะเรื่องของธรรมะ จริยธรรม ความดี คุณธรรม คือสิ่งที่ครอบครัวต้องปลูกฝังบ่มเพาะตั้งแต่เด็กๆ เมื่อเติบโตมาเป็นนักการเมือง เด็กคนนั้นก็จะเป็นนักการเมืองที่ดี เติบโตมาเป็นสื่อ ก็จะเป็นสื่อที่ดี เติบโตมาในสายอาชีพใดก็จะเป็นคนดี " ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กล่าว

    นางสาวอมรรัตน์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่าคนบริโภคสื่อฉลาดที่จะสรรหาข้อมูลต่างๆ เขาไม่ได้ดูโทรทัศน์ช่องเดียว หรืออ่านหนังสือพิมพ์ฉบับเดียว เขามีสิทธิ์เลือกที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ และความรวดเร็วทำให้สื่ออินเตอร์เน็ตผิดพลาดบ่อย แม้จะกลับมาแก้ไขได้ก็เป็นเรื่องลำบาก เพราะคนเชื่อไปแล้ว เพราะฉะนั้น เรื่องของสติเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับคนทำสื่อและคนรับสื่อ

 

http://www.rsunews.net/Thammathippatai/Nawarat.htm

Windows Live™: Keep your life in sync. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น: