วันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ประชาธิปไตยแบบพุทธทิเบต

ประชาธิปไตยแบบพุทธทิเบต

ซัมด้อง รินโปเช

นายกรัฐมนตรีทิเบตพลัดถิ่น


อาตมาได้รับเชิญให้มาพูดเรื่องประชาธิปไตยแบบพุทธ และก็รับปากโดยไม่ได้ตรึกตรองมากนัก พอเวลามาถึงก็รู้สึกว่าไม่มีประเด็นจะพูดมากนักในเรื่องประชาธิปไตยแบบพุทธศาสนา เพราะว่าหนึ่ง สมัยพระพุทธเจ้ายังไม่มีระบบที่เรียกว่าประชาธิปไตย ประการที่สอง พระพุทธเจ้าไม่ได้ให้คำสั่งสอนเรื่องการจัดการของรัฐมากนักในยุคนั้น ท่านเพียงแต่ให้นักปกครองสมัยนั้นปกครองตามหลักธรรมะ นอกจากที่ว่ามาแล้ว ท่านไม่ได้พูดรายละเอียดเกี่ยวกับการบริหารรัฐมากนัก ประการสำคัญ ความคิดเรื่องประชาธิปไตยนั้น หนึ่ง – เป็นความคิดสมัยใหม่ สอง - เป็นความคิดแบบฝรั่ง ทั้งสองเรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาแค่ไหน ข้าพเจ้าไม่แน่ใจ อย่างไรก็ตามพระพุทธเจ้าได้สอนวิธีการดำเนินชีวิต เพราะฉะนั้นเราจะสรุปบทเรียนที่เกี่ยวกับการจัดการกับรัฐได้บางอย่าง

ในสมัยพุทธกาลมีรัฐแบบหนึ่งซึ่งไม่ใช่รัฐราชาธิปไตยที่สืบทอดทางสายเลือด ทว่าเป็นรัฐที่ปกครองโดยกลุ่มที่เป็นตัวแทนของมวลชน เช่น รัฐเวสาลี เป็นต้น สมัยนั้นเรียกการปกครองแบบนี้ว่า " กัณรัฐ " กัณ คือ หมู่คณะ กัณรัฐคือรัฐที่ปกครองโดยกลุ่มหรือสภาซึ่งเลือกมาจากประชาชน การปกครองโดยประชาชนถ้ามองในแง่นี้ก็ไม่ได้เป็นของใหม่ที่มาจากฝรั่ง ตั้งแต่สมัยโบราณ อินเดียก็มีการปกครองแบบนี้ ถ้าเราดูการปกครองของรัฐเวสาลี ระบบรัฐสภาที่ใช้กันอยู่ก็มีความคล้ายคลึงกับระบบแบบเก่าที่ว่านี้ ตอนที่อินเดียได้รับเอกราชและจะตั้งรัฐสภา ก็ได้ใช้ศัพท์หลายคำที่เป็นศัพท์โบราณตั้งแต่สมัยรัฐเวสาลี ดังนั้น การปกครองโดยหมู่คณะไม่ใช่ความคิดที่ใหม่สำหรับอินเดียและสำหรับชาวพุทธ เวลาเราพูดถึงประชาธิปไตยแบบสมัยใหม่โดยนักคิดฝรั่ง เราพูดถึงกระบวนการ เราพูดถึงนิติบัญญัติต่างๆ ความคิดเหล่านี้สำคัญ ถ้าเราใช้อย่างเหมาะสมถูกต้องจะทำให้เราสามารถพัฒนามนุษย์ได้ ดังนั้นก็ถือว่าเป็นระบบที่ดีที่สุดระบบหนึ่งในหลายๆ ระบบสำหรับการปกครองรัฐ การที่บอกว่าดีที่สุดมันเป็นการเปรียบเทียบ แต่ไม่ได้หมายความว่าประชาธิปไตยแบบปัจจุบันนี้ไม่มีจุดอ่อนหรือไม่มีข้อเสีย

ตั้งแต่ปี ๑๙๕๙ ท่านทะไลลามะก็พยายามที่จะปกครองคณะชุมชนของทิเบตอพยพด้วยหลักการปกครองซึ่งโยงเข้าหาหลักพุทธศาสนา ท่านทะไลลามะนิยมประชาธิปไตยตั้งแต่ท่านยังเป็นเด็ก ตั้งแต่อายุ ๑๒ – ๑๓ ท่านปรารภว่าถ้าท่านได้อำนาจรัฐ ท่านจะใช้ระบบรัฐสภาและการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ก่อนที่ท่านจะได้มีอำนาจปกครองรัฐ จีนมายึดครองทิเบตเสียก่อน เป็นเวลากว่า ๘ ปีที่คนทิเบตอยู่ภายใต้ระบบของจีน และพยายามจะเป็นประชาธิปไตย แต่ว่าการแทรกแซงของจีนทำให้ความพยายามนี้เป็นไปไม่ได้เลย เมื่อได้ลี้ภัยออกมาก็มีโอกาสที่จะประยุกต์ใช้ธรรมะการปกครองแบบประชาธิปไตยได้ แต่ว่าตอนนั้นก็ได้สูญเสียบ้านเมืองไปแล้ว

ในปี ๑๙๖๐ ยังไม่ทันครบปีที่ได้อพยพออกมา ท่านก็สามารถชักชวนประชาชนให้เลือกรัฐสภา เพราะฉะนั้นวันที่ ๒ กันยายน ๑๙๖๐ ก็ถือเป็นวันเปิดรัฐสภา และถือกันว่าวันที่ ๒ กันยายนเป็นวันประชาธิปไตยของทิเบต นับตั้งแต่ปี ๑๙๖๐ จนถึงปัจจุบันนี้ ทิเบตมีรัฐสภามาแล้ว ๑๓ รัฐสภา บางช่วงรัฐสภาก็อยู่ ๓ ปี บางช่วงก็อยู่ ๕ ปี ปัจจุบันนี้เป็นรัฐสภาที่ ๑๓

ในปี ๑๙๖๑ ท่านทะไลลามะได้ร่างหลักรัฐธรรมนูญซึ่งมีหลักประชาธิปไตยรวมอยู่ในนั้น โดยพยายามดำเนินตามรัฐธรรมนูญอันนี้เป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่ว่าการปฏิบัตินั้นยาก เพราะว่าท่านทะไลลามะร่างรัฐธรรมนูญโดยคิดถึงเวลาที่ทิเบตได้รับเอกราชแล้ว

พอปี ๑๙๙๐ ท่านก็ได้ร่างบทพิเศษขึ้นมาสำหรับรัฐบาลทิเบตอพยพโดยเฉพาะ มีการตั้งคณะกรรมการขึ้น แล้วข้าพเจ้าก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการร่างบทพิเศษเฉพาะกาลสำหรับชาวทิเบตอพยพ ข้าพเจ้าไม่มีพื้นภูมิหลังทางรัฐศาสตร์และไม่มีภูมิหลังทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นจึงถือเป็นเรื่องยากมากในการที่จะร่วมร่างหลักอันนี้ ทว่าในฐานะที่ข้าพเจ้าดูแลมหาวิทยาลัยอยู่ จึงมีเพื่อนในมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยพาราณสี มหาวิทยาลัยเดลลี มหาวิทยาลัยโยฮาเนรู ทั้งที่เป็นนักรัฐศาสตร์และเป็นนักกฎหมายรัฐธรรมนูญได้ช่วยกันให้คำแนะนำที่จะร่างบทพิเศษนี้ขึ้นมา

ช่วงนี้เองที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ว่าหลักประชาธิปไตยหลายอย่างสอดคล้องกับหลักการในพุทธศาสนา ขณะเดียวกันก็มีหลักประชาธิปไตยที่ไม่สอดคล้องกับหลักพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นเราจะต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกอย่างดี ประเด็นที่ยากที่สุดคือเรื่องอำนาจ เรื่องอำนาจเป็นประเด็นที่ยากที่สุดในการที่จะแปลออกมาเป็นภาคปฏิบัติในชีวิตประจำวันของชาวพุทธ ในแง่นี้คำสอนของมหาตมะคานธีมีประโยชน์มากในฐานะที่เป็นหลักนำให้กับพวกเรา มหาตมะคานธีเป็นคนสอนให้เรารู้ว่าเราสามารถปกครองบ้านเมืองโดยไม่ต้องใช้อำนาจและไม่ต้องใช้ความรุนแรงได้

ด้วยความช่วยเหลือของนักรัฐศาสตร์ นักกฎหมายรัฐธรรมนูญ และความคิดของมหาตมะคานธี เราก็กลับมาร่างรัฐธรรมนูญที่ตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานของชาวพุทธได้ หลักเรื่องการแบ่งสรรอำนาจและการคานอำนาจเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ ซึ่งเราก็ได้บูรณาการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกฎบัตรของเรา

เราได้เลือกรัฐสภาขึ้นมาเป็นองค์กรที่มีอำนาจตัดสินสูงสุด ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติต่างขึ้นอยู่กับรัฐสภา รัฐสภามีอำนาจในการออกกฎหมาย ออกนโยบาย และโครงการต่างๆ สำหรับฝ่ายบริหาร ฝ่ายบริหารสามารถดำเนินการบริหารได้ ตราบเท่าที่รัฐสภายอมรับ ฝ่ายบริหารจะถูกขับออกได้ตลอดเวลาถ้าหากมีการลงมติไม่ไว้วางใจจากรัฐสภา อำนาจของท่านทะไลลามะก็ถูกลดลงอย่างมากมาย กลายเป็นเพียงประมุขของรัฐเท่านั้นในกฎหมายนี้ ถ้าสองในสามของรัฐสภาต้องการที่จะเปลี่ยนฐานะของทะไลลามะในฐานะประมุขของรัฐ ท่านก็สามารถถูกปลดออกได้ตลอดเวลา นอกจากนั้นก็จะมีองค์กรอิสระต่างๆ เช่น องค์กรว่าด้วยการเลือกตั้ง องค์กรว่าด้วยการตรวจสอบบัญชี องค์กรบริการสาธารณะ องค์กรเหล่านี้สามารถจัดตั้งเป็นองค์กรอิสระ ด้านฝ่ายบริหารก็ได้รับเลือกมาจากรัฐสภาซึ่งใกล้กับระบบของอังกฤษมาก

ข้อที่ต่างสำคัญคือเราไม่มีพรรคการเมือง เพราะฉะนั้นเราเป็นประชาธิปไตยที่ไม่มีพรรคการเมือง ในปี ๒๐๐๑ ท่านทะไลลามะได้เสนอบทแก้ไขพิเศษให้ประมุขของฝ่ายบริหารได้รับเลือกโดยตรงจากประชาชนถึงปัจจุบันนี้ระบบของทิเบตก็ใกล้เข้ามาแบบอเมริกา คือฝ่ายรัฐสภาและประมุขของฝ่ายบริหารได้รับเลือกโดยตรงจากประชาชนทั้งสองฝ่าย

ข้าพเจ้ามีหลักการใหญ่ ๓ หลักการ ซึ่งถ้างานอะไรที่ไม่ตรงกับหลักการนี้ เราจะไม่ทำในฐานะผู้บริหารรัฐ หลักการใหญ่ ๓ อัน คือ สัจจะ สันติวิธี และประชาธิปไตยที่แท้จริง งานทางสังคมหรือการเมืองใดก็ตามซึ่งขัดกับหลักของสัจจะ นำไปสู่ความรุนแรง เราจะไม่ทำเด็ดขาด และการตัดสินใจอะไรก็ตามจะต้องตัดสินใจด้วยหลักประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะฉะนั้นหลักการทำงานของเราต่างจากหลักการทำงานของรัฐทั้งหลายในปัจจุบันนี้

นักวิจารณ์ฝ่ายตะวันตกวิจารณ์ว่า เราไม่มีลักษณะของนักการทูต ซึ่งเป็นความจริง ถ้าหากเราถือตามการทูตในระบบปัจจุบันนี้ เราไม่มีนักการทูต เราวิจารณ์รัฐใกล้ชิดหรือรัฐเพื่อนบ้าน ถ้าหากว่ารัฐเพื่อนบ้านนั้นทำสงครามหรือก่อความรุนแรงขึ้น เราวิจารณ์อย่างรุนแรงเมื่ออินเดียทดลองระบบนิวเคลียร์ ในขณะที่สหรัฐฯให้การสนับสนุนชาวทิเบตอพยพอย่างมากมาย แต่เราก็วิจารณ์อย่างรุนแรงเมื่อสหรัฐส่งทหารไปรบในอิรัก เราถือว่าการทูตสำคัญน้อยกว่าสัจจะและอหิงสา อันนี้ทำให้เรามีความยากลำบากมากในการเจรจากับสาธารณรัฐประชาชนจีน เราไม่สามารถเห็นด้วยกับจีนในหลายเรื่องที่จีนวางเงื่อนไขต่างๆ เพราะว่าเงื่อนไขเหล่านั้นขัดกับหลักของสัจจะ เราไม่ต้องการที่จะประนีประนอมสัจจะเพื่อความสำเร็จทางการเมือง

การเลือกตั้งของเราก็มีลักษณะพิเศษมาก ต่างจากระบบการเลือกตั้งในโลกนี้ นอกจากว่าไม่มีพรรคการเมืองแล้ว ยังไม่มีใครที่เสนอตัวเองขึ้นมาให้คนอื่นเลือกเรา ไม่มีใครมาบอกว่าเลือกฉันนะ เลือกฉันเป็นผู้แทนเถิดนะ ไม่มีระบบนี้ ไม่มีการรณรงค์เพื่อการเลือกตั้ง เราเลือกตั้ง ๒ ครั้ง ครั้งแรกคนที่มีสิทธิ์ลงเลือกตั้งสามารถเสนอชื่อ ๑ คนเพื่อเป็นตัวแทนของตัวเองได้ พอนับคะแนนแล้ว คนที่ได้คะแนนสูงสุด ๒ คนจะถูกนำมาเลือกอีกครั้งเพื่อให้เหลือ ๑ คน โดยกรรมการการเลือกตั้งก็จะดูประวัติของ ๒ คนที่ได้คะแนนสูงสุดนี้ แล้วกรรมการการเลือกตั้งก็จะบอกกับประชาชนว่า ๒ คนที่ได้รับเลือกมาประวัติเขาเป็นยังไง คือตัวที่ถูกเลือกมาไม่มีสิทธิ์ที่จะบอกโฆษณาตัวเอง โดย ๒ คนนี้ก็มีสิทธิ์ที่จะถอนตัวเองออกจากการเสนอชื่อด้วย จากนั้นก็ลงคะแนนเลือกรอบสอง คนที่ได้คะแนนสูงสุดก็จะถูกเลือกเป็นผู้แทน

นี่ก็เป็นคำแนะนำเบื้องต้นสั้นๆ ว่าระบบประชาธิปไตยที่กำลังใช้อยู่ในกลุ่มชาวทิเบตอพยพเป็นอย่างไรบ้าง แต่นี้ไปข้าพเจ้าจะอภิปรายสั้นๆ ถึงหลักการและก็ปรัชญาของประชาธิปไตยที่ว่านี้ โดยมองจากแง่มุมของพุทธศาสนา ความเสมอภาค ความยุติธรรม และความเป็นพี่เป็นน้องถือว่าเป็นหลักสำคัญของประชาธิปไตย เราไม่มีความเห็นโต้แย้งกับหลักการเหล่านี้ แต่เราตีความหลักการเหล่านี้ต่างออกไป

ประการแรก พุทธถือว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายเสมอกันหมด ไม่ใช่เฉพาะระหว่างมนุษย์เท่านั้น และความเสมอภาคนี้อยู่บนฐานของศักยภาพที่สรรพชีวิตจะมีโอกาสได้พัฒนา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเป็นจริงของปัจจุบัน ในแง่นี้ความเสมอภาคแบบพุทธมีความลึกซึ้งมากกว่าความเสมอภาคในความคิดสมัยใหม่มาก ตรงที่ขึ้นอยู่กับศักยภาพสูงสุดของสรรพชีวิต ระบบสมัยใหม่ปฏิบัติได้เสมอภาคเฉพาะในหมู่คนที่เสมอกันอยู่แล้วเท่านั้น แต่ถ้าเรามาปฏิบัติในหมู่คนที่ไม่เสมอกันจะปฏิบัติได้ยากมาก ไม่ใช่เฉพาะคน รวมทั้งสรรพสัตว์ด้วย อาตมาจะไม่ลงรายละเอียดมาก เพราะเป็นเรื่องลึกซึ้งที่จะเสนอไว้เฉยๆ ท่านสามารถที่จะลงลึกกันเองได้

ความคิดเรื่องความเป็นธรรมในแง่ของพุทธก็กว้างและลึกกว่าความคิดเรื่องความเป็นธรรมในระบบปัจจุบันมาก ความยุติธรรมในแง่ของพุทธขึ้นอยู่กับเรื่องกฎธรรมชาติ กฎหมายที่มนุษย์สร้างขึ้นอาจจะไม่ใช่กฎที่ยุติธรรมตามกฎธรรมชาติก็ได้ ก็สะกิดใจไว้เฉยๆ ให้ท่านทั้งหลายไปคิดต่อ

ความเป็นพี่เป็นน้องในแง่ของรัฐ หรือว่าความเป็นพี่เป็นน้องในแง่ของพันธมิตรทางการเมือง ไม่ใช่ความเป็นพี่เป็นน้องที่แท้จริง ความเป็นพี่เป็นน้องที่แท้จริงต้องเป็นความเมตตาซึ่งขยายไปถึงสรรพสัตว์ อันนี้คือหลักที่แท้จริงของความเป็นพี่เป็นน้องแบบพุทธ

ถ้าหากเราจับ ๓ ประเด็นนี้เป็นหลักของประชาธิปไตย และก็ตีความแบบพุทธ พุทธศาสนาก็สามารถจะทำให้ประชาธิปไตยสมัยใหม่นี้กว้างและลึก ร่ำรวยขึ้นได้ในทางปฏิญญา

ประเด็นต่อไปคือเรื่องการตัดสินใจ เสียงส่วนใหญ่หรือเสียงเอกฉันท์ที่ปัจจุบันปฏิบัติกันทั่วโลก ส่วนใหญ่ใช้เสียงส่วนใหญ่เป็นหลัก ในหลายแง่แนวคิดนี้ก็จำเป็นสำหรับการมีประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยทั่วไปเราคิดว่าพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านเป็นองค์ประกอบสองส่วนที่สำคัญของประชาธิปไตย ถ้ามองในแง่การตัดสินใจแล้ว ไม่ถือเป็นการปกครองโดยประชาชน แต่เป็นการปกครองโดยส่วนหนึ่งของประชาชนเท่านั้น ถ้าคิดแบบนี้ความเสมอภาคก็ไม่มีความหมาย เสียงส่วนน้อยก็ไม่เท่ากับเสียงส่วนใหญ่ ไม่เสมอภาคกับเสียงส่วนใหญ่

พระพุทธเจ้าไม่ได้วางระเบียบอย่างละเอียดเกี่ยวกับการปกครองรัฐ แต่พระพุทธเจ้าได้วางระเบียบอย่างละเอียดเกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์ ในระบบของคณะสงฆ์ สังฆกรรมหรือการตัดสินใจของหมู่คณะต้องอาศัยเสียงเอกฉันท์เป็นหลัก คนไทยน่าจะโชคดีที่ได้รู้ว่าการทำสังฆกรรมนั้นมีเสียงค้านเพียงเสียงเดียวก็ถือว่าเป็นโมฆะ ถ้าพระสงฆ์ ๑๐๐ รูปอยู่ด้วยกัน แล้ว ๙๙ รูปเห็นด้วย มี ๑ รูปไม่เห็นด้วย ก็เป็นอันใช้ไม่ได้ อีก ๑ รูปที่ไม่เห็นด้วยจะต้องถูกชักชวนจนเห็นด้วย สังฆกรรมนั้นถึงจะสำเร็จ แม้จะรู้สึกว่ากระบวนการอย่างนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก แต่มันมีความสำคัญ แปลว่าคนส่วนน้อย ๑ คนมีความเสมอภาคกับคน ๙๙ คน ถ้าพูดตามตรรกะก็คือ ถ้ามันเป็นสัจจะแล้วทุกคนจะต้องเห็นด้วยได้ ถ้าคนส่วนน้อยสามารถพิสูจน์ด้วยเหตุผลได้ว่าความเห็นของตนถูก คนส่วนใหญ่ก็ต้องเห็นด้วย การใช้เหตุผลและใช้การฟังสามารถช่วยให้เกิดมติเอกฉันท์ได้ ถ้าหากเราปกครองด้วยความเห็นหรือปกครองด้วยการสร้างมติทางการเมือง เราไม่สามารถจะสร้างมติเอกฉันท์ได้ เรายอมรับว่าการปกครองรัฐในรูปแบบการจัดการรัฐแบบสมัยใหม่ จะให้ใช้มติเอกฉันท์มันเป็นไปได้ยากมาก แต่อย่างน้อยที่สุดจะต้องให้โอกาสคนส่วนน้อยได้อภิปรายอย่างเสมอภาคกัน ถ้าส่วนหนึ่งของคนถูกครอบงำโดยอีกส่วนหนึ่ง ถือว่านี่ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง ดังนั้นจึงจำเป็นที่เราจะต้องพยายามหามติเอกฉันท์โดยการฟังและด้วยเหตุผล

ลูกศิษย์คนสำคัญของคานธีชื่อ วิโนภา ภเว ได้เสนอว่างานทุกอย่างจะต้องตัดสินด้วยมติเอกฉันท์ แต่มันเป็นไปได้ยากมากในการทำงานสมัยใหม่ เพราะฉะนั้นงานจึงเชื่องช้ามากในการตัดสินปัญหาต่างๆ วิโนภา ภเว ก็แก้ไข หลักที่บอกว่าทุกอย่างต้องเป็นมติเอกฉันท์ แทนที่จะเป็นมติเอกฉันท์ก็เปลี่ยนเป็นว่า ทุกคนจะต้องยอมอนุญาตให้การตัดสินใจนั้น อนุมัติ ภาษาสันสกฤตแปลว่า ยอมให้ตัดสินใจ แปลว่าความเห็นต่างกันแต่ว่าคนที่ไม่เห็นด้วยยอมให้ถือตามความเห็นของมติส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้น ปัญญาร่วมเป็นเรื่องสำคัญมาก ปัญญาร่วมเท่านั้นที่เป็นปัจจัยให้เกิดมติเอกฉันท์ได้

อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องมติมหาชนหรือมติสาธารณะ ซึ่งประชาธิปไตยสมัยใหม่พูดถึงมาก ประเทศที่ถือว่าเป็นประชาธิปไตยทั้งหลาย เป็นเรื่องยากมากสำหรับประชาชนธรรมดาๆ ที่จะสร้างมติมหาชนขึ้น มติมหาชนส่วนใหญ่ถูกสร้างโดยกลไกของพรรคการเมืองต่างๆ จนถึงที่สุดแล้วเสรีภาพของปัจเจกบุคคลมักจะได้รับการปฏิเสธ ถ้าเราเป็นสมาชิกของพรรค เราจะเห็นต่างจากนโยบายของพรรคไม่ได้ เราจึงจำเป็นต้องคล้อยตามนโยบายของพรรค สิ่งนี้ก็ถือเป็นลักษณะที่ไม่ดีในแง่ของมติมหาชน ประชาชนจะต้องมีเสรีภาพและมีปัญญา มีโอกาสสำหรับแสดงเสรีภาพและปัญญาเต็มที่ โดยไม่ถูกกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งคณะใดคณะหนึ่งล้างสมองโดยการใช้สื่อต่างๆ ในแง่นี้ประชาธิปไตยแบบไม่มีพรรคดีกว่าประชาธิปไตยแบบมีพรรค

ต่อไปเป็นเรื่องระบบการเลือกตั้ง เดี๋ยวนี้ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั้งหลายหรือเรียกตัวเองว่าประชาธิปไตยทั้งหลายประสบกับปัญหาของการเลือกตั้ง ซึ่งเงินมีอำนาจหรือกลุ่มอิทธิพลมีอำนาจ ประเด็นนี้จะแก้ได้ถ้าการเลือกตั้งนั้นไม่มีพรรคการเมือง การแข่งขันกับการร่วมมือเป็นสองเรื่องที่ตรงข้ามกัน แม้ว่าการแข่งขันจะมีข้อดีอย่างไรก็ตาม แต่พอเมื่อแข่งขันแล้วมันต้องมีผู้แพ้และมีผู้ชนะ ดังนั้นก็เกิดการแบ่งแยกขึ้น การแบ่งแยกทำให้เกิดการขัดแย้ง ความขัดแย้งไม่ใช่สิ่งดีสำหรับสังคมมนุษย์ที่แท้จริง ประชาธิปไตยไม่ควรส่งเสริมให้เกิดความขัดแย้ง ประชาธิปไตยควรจะลดความขัดแย้ง เพราะฉะนั้นการร่วมมือเป็นเรื่องสำคัญมาก มองในแง่นี้ระบบการเลือกตั้งแบบทิเบตน่าจะดีกว่า พูดสั้นๆ ประชาธิปไตยที่แท้จะต้องเป็นการปกครองตนเอง

การปกครองแบบปกครองตัวเองไม่ได้หมายความว่าคนส่วนใหญ่ถูกปกครองด้วยตัวตน การปกครองตนเองแปลว่าตัวเราควบคุมปกครองตัวเราเอง เมื่อเราสามารถปกครองตัวเราเองได้ เราก็สามารถสื่อสารสัมพันธ์กับคนอื่นได้อย่างเหมาะสม ความสัมพันธ์ที่ไม่มีตัวตน ความสัมพันธ์ที่ไม่เห็นแก่ตัวเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย ความสัมพันธ์ที่บริสุทธิ์ระหว่างปัจเจกบุคคล ระหว่างกลุ่มคน ระหว่างประชาชาติต่างๆ เป็นปัจจัยสำคัญมากสำหรับสันติภาพและประชาธิปไตย อันนี้เป็นไปได้ต่อเมื่อเรามีปัญญาที่จะมองเห็นความเสมอภาคของสรรพสัตว์และสามารถเอาชนะอกุศลจิตด้วยกุศลจิตของเราเอง

ต่อไปนี้ก็จะขออภิปรายสั้นๆ ถึงข้อที่เราถูกวิจารณ์จากฝรั่ง

ประการแรก นักคิดฝรั่งบอกว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ รัฐต้องเป็นเรื่องทางโลกไม่ใช่เรื่องทางธรรม รัฐธรรมนูญของทิเบตไม่ได้แยกเรื่องโลกและธรรมออกจากกัน เพราะฉะนั้นฝรั่งก็มองว่ารัฐธรรมนูญแบบทิเบตไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้าเอาธรรมะมาใช้กับการเมืองก็แปลว่าเรื่องการเมืองไม่ใช่เรื่องทางโลก เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่เรื่องประชาธิปไตย

เราไม่เห็นด้วยกับข้อวิจารณ์นี้ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน หลักการของเราเชื่อเรื่องการประสานหลักธรรมและการปกครอง แต่เราไม่ได้บอกว่าต้องเป็นธรรมะของศาสนาพุทธเท่านั้น ธรรมะเป็นคำที่กว้าง หมายถึงความถูกต้องที่เป็นกลาง และรวมถึงธรรมะของทุกศาสนา เราไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่าธรรมะนี้ต้องเป็นของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่จำเพาะเจาะจงว่าธรรมะซึ่งตรงกับสัจจะ

การตีความว่าอะไรเป็นเรื่องทางโลก มีการตีความได้หลายอย่าง คำว่า " ทางโลก " ในความหมายหนึ่งคือการแยกศาสนาออกจากการเมือง ในแง่นี้ก็ต้องถือว่ารัฐของทิเบตอพยพเป็นรัฐทางโลก เพราะว่าศาสนจักรไม่ได้เข้ามาก้าวก่ายกับการงานด้านการปกครอง ท่านมหาตะมะคานธีก็มีการตีความคำว่าเรื่องทางโลกของท่านเองแบบหนึ่ง ท่านเห็นว่ารัฐแบบทางโลกก็คือรัฐที่เคารพศาสนาทุกศาสนาเสมอกันหมด ถ้ามองในแง่ของคานธี รัฐของเราก็เป็นรัฐแบบทางโลก ในแง่นี้ก็แปลว่าเราต้องตีความเรื่องทางโลกในแบบของเรา การที่พระหรือแม่ชีเข้าร่วมในกระบวนการเลือกตั้งไม่ได้ทำให้เสียหลักการที่ว่านี้

เมื่อข้าพเจ้าได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีของทิเบตอพยพ เพื่อนที่อเมริกาคนหนึ่งบอกว่าพระคุณเจ้าควรจะสึกซะ เป็นคำแนะนำที่มาจากความจริงใจและก็จริงจังมาก ข้าพเจ้าพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจังมาก และก็ปรึกษากับผู้หลักผู้ใหญ่ของชุมชนทิเบตอพยพอย่างจริงจัง ในที่สุดข้าพเจ้าก็ตัดสินใจที่จะไม่สึก อันนี้เป็นข้อดีของรัฐบาลที่ไม่มีรัฐของตัวเอง ข้าพเจ้าไม่ถูกบังคับให้ตัดสินใจอะไรที่ขัดต่อพระวินัย นี่เป็นเหตุให้ตัดสินใจที่จะไม่สึก แต่ถ้าถึงเวลาที่จะต้องตัดสินใจเลือก ถ้าต้องตัดสินใจเกี่ยวกับสิ่งที่ขัดกับธรรมวินัย อาตมาจะเลือกว่าจะคงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วสึกออกมา หรือว่าจะเป็นพระแล้วลาออกจากการเป็นรัฐมนตรี อันนั้นเป็นสิทธิเสรีภาพของอาตมาที่จะเลือก ตอนนี้ทำงานนี้มา ๓ ปี ๕ เดือน ก็ยังไม่ต้องเผชิญกับการตัดสินใจแบบนั้น

ในแง่ของข้าพเจ้า ประชาธิปไตยที่แท้ก็คือการจัดการรัฐโดยที่ไม่เกิดการแบ่งแยกในหมู่ประชาชนด้วยจิตใจที่มีเมตตากรุณา การแบ่งแยกที่ว่านี้ก็คือไม่มีการแบ่งแยกระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง ไม่ควรมีชนชั้นปกครองและชนชั้นที่ถูกปกครองในหมู่ประชาชน หลายคนอาจจะบอกว่านี่เป็นความฝันที่เป็นไปไมได้ แต่ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างปัจจุบันนี้ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ อยู่ที่ความตั้งใจของเรา ถ้าเราตั้งใจจริงน่าจะทำได้

และนี่คือหลักของธรรมะ และนี่คือประชาธิปไตยที่แท้ ขอบคุณที่อดทนฟัง


ถอดเทปและเรียบเรียงจาก ปาฐกถาเสม พริ้งพวงแก้ว ครั้งที่ ๑๑ ในหัวข้อ "ประชาธิปไตยแบบพุทธ" โดยท่านซัมด้อง ริมโปเช นายกรัฐมนตรีทิเบต แปลโดย คุณประชา หุตานุวัตร เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๔๘ ณ เรือนร้อยฉนำ สวนเงินมีมา กรุงเทพฯ


ประชาธิปไตยแบบพุทธ

ซัมด้อง รินโปเช


รัฐสมัยใหม่: ประชาชนคือผู้ถูกปกครอง

รัฐสมัยใหม่นั้นแท้จริงแล้วเป็นเพียงองค์กรหน้าไหว้หลังหลอก ประชาชนต่างหากที่เป็นผู้มอบความชอบธรรมให้กับรัฐ แต่ความชอบธรรมผ่านทางกระบวนการเลือกตั้งก็มีข้อจำกัดในตัวเอง มันเป็นธุรกิจทางการเมืองอย่างหนึ่ง บุคคล ที่มีเครื่องมือ ทางธุรกิจสามารถที่จะได้อำนาจทางการเมือง ส่วนประชาชนที่ยากจนไม่สามารถมีปากมีเสียงในกิจการของรัฐ ทักษะการบริหารงานสมัยใหม่ถูกควบคุมโดยสิ้นเชิงโดยอำนาจเงิน ความจริงพื้นฐานก็คือประชาชนคนเดียวกันไม่มีปากมีเสียงไม่ว่าธรรมชาติของระบบจะเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ประชาชนก็ถูกปกครองเหมือนกันทุกที่


ประชาธิปไตยแบบพุทธ: การปกครองที่ไม่มีผู้ปกครอง

ประชาธิปไตยที่แท้จริงซึ่งอยู่บนพื้นฐานของมุมมองของศาสนาพุทธก็คือ การปกครองของประชาชนในประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นไม่มีผู้ปกครอง และประชาชนสามารถจะปกครองตนเองได้ คานธีใช้คำว่า "Swaraj" ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งหมายถึงการปกครองตนเอง เราถูกปกครองโดยคนกลุ่มเล็กๆ ในนามของการปกครองโดยเสียงข้างมาก โดยเฉพาะในระบบหลายพรรคยิ่งจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ยิ่งในรัฐบาลผสมแทบจะไม่มีเครื่องมือที่แท้จริงที่จะวัดทัศนคติของคนส่วนใหญ่ในสังคมการเมือง โดยที่การปกครองของเสียงข้างมากนั้นมีแต่ข้อเสนอทางทฤษฎีซึ่งไม่เคยมีจริงในทางปฏิบัติ


ความแตกต่างระหว่างประชาธิปไตยแบบพุทธกับประชาธิปไตยแบบโลกร่วมสมัย

มีความเหมือนกันอย่างมากระหว่างทัศนะของศาสนาพุทธเกี่ยวกับประชาธิปไตยกับระบบประชาธิปไตยสมัยใหม่ในโลกปัจจุบัน แต่ความเหมือนกันนี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นความเหมือนกันในแง่ของทฤษฎีและปรัชญาบริสุทธิ์ของประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่พูดถึง อยู่ ในหนังสือ ทฤษฎีประชาธิปไตย นั้น ไม่ใช่ทฤษฎีที่ตายไปแล้วแต่ ก็ เกือบจะเป็นทฤษฎีที่ตายไปแล้ว เพราะถือกันว่า เป็นยูโทเปียของประชาธิปไตย เนื่องจากความล้มเหลวของผู้นำทางการเมืองและระบบการเมือง มีหลายประเทศที่เรียกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ไม่ได้มีสาระของประชาธิปไตยอยู่ในทางปฏิบัติแต่อย่างใด ประชาชนยังคงไม่มีปากมีเสียงและปราศจากอำนาจ

อาตมาขอย้ำว่า ทัศนะของศาสนาพุทธเกี่ยวกับประชาธิปไตยนั้นจะไม่สามารถปฏิบัติได้ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ ยังไม่ ตื่น ตัว ขึ้น พื้นฐานสำคัญของการจัดตั้งตัวแบบประชาธิปไตยของศาสนาพุทธก็คือหลักของการกระจายอำนาจ นั่นหมายถึงการแบ่งประเทศออกเป็นหน่วยบริหารจัดการทางการเมืองที่เล็กลง โดยเน้นการเข้ามีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครอง ท้องถิ่นของตนเอง แต่ละหน่วยอาจจะประกอบไปด้วยประชาชนตั้งแต่ ๑๐๐ ถึง ๑,๐๐๐ คน ซึ่งยัง เป็นขนาดเล็กพอจ ะ ฟ ังทัศนะของ สมาชิกแต่ละคนได้ ตัวแบบนี้ประกันทั้งเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชน

ปัจจุบันนี้ ตัวแบบประชาธิปไตยของชาวพุทธเป็น เพียง ทฤษฎีๆ หนึ่ง แต่ ยุคพุทธกาลนั้นมี การปฏิบัติอยู่ จริง ในบาง รัฐ ของอินเดียโบราณ ถ้าหากว่าเราพิจารณาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งประชาธิปไตยแบบชาวพุทธในทางปฏิบัติ เราจะต้องบ่มเพาะกลุ่มคนและสังคมที่มีปัญญารู้แจ้ง เราจะต้องเน้นในเรื่องการศึกษาและการพัฒนาเหตุผล และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานบางอย่างของจริยธรรมของชาวพุทธ นี่คือทัศนะแบบปัญญารู้แจ้งเกี่ยวกับประชาธิปไตย

อาตมา อยากจะสรุปว่า การปฏิบัติที่เป็นประชาธิปไตยในโลกปัจจุบันกับการปฏิบัติของ คณะสงฆ์ หรือวิสัยทัศน์ของชาวพุทธเกี่ยวกับประชาธิปไตยนั้น เหมือนกันน้อยมาก ทั้งสองอย่างแทบจะไปด้วยกันไม่ได้ในทางปฏิบัติ แต่ถ้าหากเราพิจารณาเฉพาะในแง่มุมทางทฤษฎีแล้ว จะพบว่ามีความเหมือนกันมากและไปกันได้


ประวัติท่านซัมด้อง รินโปเช

ซัมด้อง รินโปเช เกิดเมื่อปี ๑๙๓๙ ในหมู่บ้านแน็กดัก เมืองคัม ในธิเบต เมื่ออายุได้ ๕ ขวบ ท่านได้รับการยกย่องให้เป็นซัมด้องที่ ๕ แห่งวัดกานเด็น เดเฉินลิง พอถึง ๗ ขวบท่านก็บวชเป็นเณรโดยท่านซัมบุง รินโปเช

ท่านเริ่มการศึกษาพื้นฐานภายใต้การชี้นำของท่านงาวังจินปา และจากนั้นก็เข้ารวมในวัดดรีปุง ธิเบตกลาง เพื่อศึกษากพระสูตรขั้นสูงในพุทธศาสนา ในปี ๑๙๖๘ ท่านสำเร็จการศึกษาระดับลารัมปา และในปี ๑๙๖๙ ได้ระดับงากริมปา

ในปี ๑๙๕๙ ท่านได้หลบหนีออกจากธิเบตซึ่งขณะนั้นถูกจีนครอบครองอยู่และเดินทางไปลี้ภัยอยู่ที่อินเดีย ท่านบวชเป็นพระเมื่อปี ๑๙๖๐ ตามประเพณีของสรวาสติวาทิน ( Sarvas-tivadin) โดยมีองค์ทะไลลามะที่ ๑๔ เป็นพระอุปัชฌาย์ และท่านลิง รินโปเช ( พระพี่เลี้ยงของทะไลลามะองค์ที่ ๑๔ ) ในปี ๑๙๖๐ ท่านเป็นครูสอนธรรมะและครูใหญ่ในวัด รวมทั้งโรงเรียนหลายแห่งของธิเบต และไปเป็นศาสตราจารย์ทางด้านพุทธศาสตร์ศึกษา ณ สถาบันกลางเพื่อการศึกษาด้านธิเบตขั้นสูง ณ เมืองสารนาถ เมืองพาราณสี ท่านเป็นโฆษกของผู้แทนประชาชนชาวธิเบตและต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรีที่ผ่านการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยคนแรกที่โคลอน ทริปา เมื่อปี ๒๐๐๑

ท่านซัมด้อง รินโปเช เป็นครูในอุดมคติและเป็นผู้บริหารที่มีความสามารถ ท่านใช้เวลาส่วนใหญ่ไปในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และเผยแพร่วัฒนธรรมตลอดจนความรู้ของชาวธิเบต ท่านเป็นนักอินเดียนวิทยาที่หาตัวจับได้ยาก เป็นผู้ซึ่งเชื่อมโยงประชาชนธรรมดาและวัฒนธรรมเข้ากับความรู้อันน่ายกย่องและทักษะด้านภาษาอินเดีย ปฏิสัมพันธ์ประจำวันของท่านกับวัฒนธรรมและอารยธรรมของอินเดียมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อความคิด ชีวิต และงานของท่าน

ในฐานะผู้ที่นิยมคานธีและพระชาวพุทธ ท่านเผยแพร่คำสอนแห่งสัจธรรมสากลและอหิงสธรรม ดังที่ประกาศโดยมหาตมาคานธี และองค์ทะไลลามะ ท่านเป็นอาจารย์ของพระภิกษุลูกศิษย์จำนวน ๒๐ รูป ที่มหาบดีวิหาร พุทธคยา

ท่านได้เขียนบทความหลายบทความ รวมทั้งหนังสือหลายเล่ม เป็นภาษาธิเบต ฮินดี และอังกฤษ ได้แก่ Satyagraha ( Truth-Insistence), Satyagraha : The Right Way, Buddhist Guidelines on Economic Organization and Development

ปัจจุบัน ด้วยสถานการณ์ทางการเมือง คณะรัฐบาลประเทศธิเบตจึงตั้งอยู่ภายนอกประเทศ ที่ธรรมศาลา ประเทศอินเดีย โดยมีมติให้ท่านซัมด้อง รินโปเช เป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรีธิเบตภายนอกประเทศ

 

http://www.onopen.com/agon/294



Hotmail® has ever-growing storage! Don't worry about storage limits. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น: