วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย "ส.ว.สมานฉันท์"

วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11390 มติชนรายวัน


สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย "ส.ว.สมานฉันท์"


สกุณา ประยูรศุข-เรื่อง ฉลาด จันทร์เดช-ภาพ



ตำแหน่งที่เป็นทางการของ "สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย" เรียกเต็มๆ "ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา"

ที่สำคัญเขาเป็น 1 ใน 7 สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่เป็น "คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ"

ชื่อของ "สุรชัย" ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น ส.ว. "ใจซื่อ-มือสะอาด" คนหนึ่ง ที่ได้รับการยอมรับนับถือในขณะนี้

เขาได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการสภาทนายความ 2 สมัย ได้รับการคัดเลือกเป็น ส.ส.ร. ร่วมร่างรัฐธรรมนูญปี 2550

เมื่อมีการเปิดรับสมัคร ส.ว.สรรหา สุรชัยเป็นตัวแทนจากเนติบัณฑิตสภาเข้าไปร่วมสรรหา และได้รับเลือก หลังจากนั้นก็ได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ

ปัจจุบันอยู่ในตำแหน่งมาปีเศษยังเหลือเวลาอีกกว่า 1 ปี

เรื่องราวของเขาแม้จะไม่โลดโผนเหมือนเจมส์บอนด์ 007 แต่ก็น่าสนใจมิใช่น้อย

เริ่มขึ้นตรงที่เมื่อ นพ.เหวง โตจิราการ หนึ่งในแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ต่อรัฐสภา และมีการรับร่างเข้าบรรจุในวาระ ซึ่งหากดูอย่างพินิจพิเคราะห์แล้ว ร่างดังกล่าว ว่ากันว่า เท่ากับเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการเขียนใหม่หมดทั้งฉบับ

ประเด็นนี้กลายเป็นชนวนความขัดแย้งของกลุ่มเสื้อเหลือง-แดง ในสังคม

สุรชัยเองก็เห็นเช่นนั้น จึงคิดว่าต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องสำคัญเช่นนี้ เป็นเหตุผลทำให้เขาลงสมัคร "กรรมการสมานฉันท์" และก็ได้รับความไว้วางใจให้เข้าไปทำหน้าที่

แม้การประชุมของคณะกรรมการชุดนี้เพิ่งจะมีขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อไม่นานมานี้ สุรชัยก็เห็นว่าเวลาถึง 4-5 ชั่วโมงนั้น มีความคาดหวังลึกๆ ว่าน่าจะค้นพบแนวทางในการหา "ทางออก" ให้กับประเทศได้

"แม้ว่าจะยากมากพอสมควร"

"ผมผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19 และ 17 พฤษภา 35 มา มันเป็นสามเหตุการณ์ที่ประชาชนออกมาต่อสู้กับภาครัฐ แต่สถานการณ์ปัจจุบันประชาชนถูกใช้เป็นเครื่องมือ ซึ่งผมเห็นว่าเรายอมรับไม่ได้หากมันต้องเกิดเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 ขึ้นมาอีกครั้ง

เพราะมันบาดหัวใจมากเหลือเกิน

"ลึกๆ ผมห่วงว่า ถ้ามันจะเป็นแนวทางสมานฉันท์ โดยแนวทางใดแนวทางหนึ่ง แต่ถ้าสมมุติมันถูกซ่อนเร้นด้วยผลประโยชน์ของนักการเมือง..."

""...แน่นอน ว่ามันไม่มีทางที่จะนำความสงบสุขกลับมาสู่สังคมได้""

ตอนเด็กชีวิตเป็นอย่างไรบ้าง-สนุกสนานดี?

ผมเกิดที่ฝั่งธนบุรี แถวกรมอู่ทหารเรือ ถนนอรุณอัมรินทร์ ครอบครัวทำอาชีพค้าขาย-ขายพวกของชำอยู่ในตลาดบ้านขมิ้น รู้สึกว่าเดี๋ยวนี้ตลาดไม่มีแล้ว เขาเลิกไปแล้ว มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน เป็นชาย 5 หญิง 3 ผมเป็นลูกคนรองสุดท้อง ตามวิสัยลูกคนจีนก็ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าง แล้วก็เรียนหนังสือ เพราะที่บ้านเห็นความสำคัญของการเรียน ส่วนเรื่องเล่นก็มีตามประสาเด็กทั่วไปแต่ไม่ได้โลดโผนอะไร

เด็กๆ เรียนที่โรงเรียนทวีธาภิเษก จากนั้นไปต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ พระนคร จบชั้น ม.ศ.4-5 แล้วไปสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เลือกคณะนิติศาสตร์

ตอนอยู่อำนวยศิลป์รู้จัก พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ?

ผมเป็นรุ่นน้อง พล.อ.ชวลิตหลายปีมาก แต่ก็ได้ยินชื่อเสียงท่าน รุ่นผมมีฉายาว่า "รุ่นจานทอง" (หัวเราะ)


ทำไมถึงเรียกรุ่นจานทองก็เพราะว่า เวลากินข้าวเสร็วแล้วจะโยน ร่อนจานใส่กัน มันเป็นพฤติกรรมแปลกๆของเด็กวัยรุ่นเมื่อก่อน ตามประสาน่ะ ตอนนี้เพื่อนๆ รุ่นจานทองที่ไต่เต้าขึ้นมาในวงการเมืองก็มีบ้าง แต่ไม่ใช่ห้องเดียวกันกับผม

เลือกเรียนคณะนิติศาสตร์มาจากอะไร?

ส่วนหนึ่งมาจากตัวผมเองที่ชอบเรื่องกฎหมายมาตั้งแต่เด็ก เพราะเป็นคนชอบการต่อสู้ อีกสาเหตุเป็นความตั้งใจที่อยากจะเรียนกฎหมายเพื่อจะนำมาใช้ต่อสู้เพื่อความยุติธรรม

ผมตัดสินใจตั้งแต่เด็กเลยนะว่าจะต้องเรียนกฎหมายจึงไม่สอบเข้ารับราชการที่ไหนเลย ไม่เลือกเส้นทางที่จะเป็นผู้พิพากษา ไม่เลือกที่จะเป็นพนักงานอัยการ ซึ่งเป็นอาชีพยอดนิยมของคนที่จบนิติศาสตร์ ผมถือว่าในเส้นทางอาชีพนั้นมีข้อจำกัดหลายอย่าง ด้วยระบบด้วยความเป็นข้าราชการประจำทำให้ไม่สามารถนำความรู้ที่เล่าเรียนมา-มาต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมได้

ทำไมถึงพูดว่าต้องต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมมีอะไรหรือเปล่า?

...มีบ้าง คือผมเติบโตมาในครอบครัวค้าขาย บางครั้งมีปัญหาเรื่องค้าๆ ขายๆ ที่เกิดขึ้นกับพ่อและแม่ ซึ่งมันมีเรื่องของตัวบทกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ผมเห็นมาตลอด แล้วพ่อผมก็เป็นผู้ใหญ่ที่คนแถวบ้านเขาให้ความเคารพนับถือ เวลาชาวบ้านมีปัญหาอะไรจะมาปรึกษาพ่อ หรือญาติพี่น้องไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเวลามีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกัน จะมาให้พ่อเป็นคนชี้ขาด

ผมก็เลยเห็นว่าถ้ามีความรู้ทางด้านกฎหมาย สามารถใช้กฎหมายอย่างถูกต้องก็สามารถอำนวยความยุติธรรม ขจัดปัญหาข้อขัดแย้งได้

ไม่ชอบเครื่องแบบ?

ไม่ชอบเลย ผมมองว่าเรื่องของเครื่องแบบเป็นเรื่องของตำรวจ เรื่องของข้าราชการประจำ ซึ่งจะมีข้อจำกัดมาก เพราะต้องทำงานอยู่ในกรอบ กฎเกณฑ์ ที่ทางราชการกำหนด ถ้าเราอยู่ของเราประกอบอาชีพอิสระก็จะสามารถใช้ความรู้ทางกฎหมายตามเป้าหมายที่เราอยากมากกว่า ดังนั้น พอเรียนจบนิติศาสตร์ ผมจึงประกอบอาชีพทนายความอย่างเดียว

นึกว่าเรียนธรรมศาสตร์เลยไม่ชอบเครื่องแบบ?

(หัวเราะ) ผมเข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์ปี 1 ตรงกับเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 พอดี เป็นน้องใหม่ได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองกับเขาด้วย แต่เป็นเพียงแนวร่วม ไม่ใช่ระดับแกนนำ แล้วพอมาปี 4 ก็เจอเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 อีก มันก็ยิ่งเป็นตัวฟูมฟักให้เราในเรื่องของการต่อสู้ ในเรื่องของการแสวงหาความเป็นธรรม ไม่ได้ฟูมฟักเราในเรื่องของธุรกิจ หรือในเรื่องระบบราชการ

ที่ว่าเป็นแนวร่วมเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ทำหน้าที่อะไร?

ก็เข้าร่วมชุมนุมในฐานะนักศึกษา และเป็นหนึ่งในหน่วยปฏิบัติการด้านแจกใบปลิวที่ท้องสนามหลวง ปิดโปสเตอร์ตามรั้วมหาวิทยาลัย แจกใบปลิวตามท้องสนามหลวง ในรุ่นของผมเหตุการณ์ปกติถึงวันสอบ แต่ไม่แน่ว่าจะได้สอบ บางทีห้องสอบถูกล็อค ไม่ได้สอบก็เลื่อนออกไป แต่เป็นรุ่นที่ไม่ได้เข้าป่า ตัวผมเองไม่ได้เข้าป่าแต่เพื่อนร่วมรุ่นหลายคนเข้าป่า ก็จะมีนริศ ชัยสูตร, สมคิด จาตุศรีพิทักษ์, สุรชัย ดนัยตั้งตระกูล พวกนี้เรียนปี 1 ด้วยกัน

ฝึกทนายที่ไหน?

ผมเรียนจบนิติฯปี 2520 ก็เริ่มอาชีพทนายความ เป็นทนายความฝึกหัดอยู่ถนนตะนาว ที่สำนักงานชัยพัฒน์ทนายความ แถวศาลเจ้าพ่อเสือ ของคุณสุนทร โภคาชัยพัฒน์ และเรียนเนติบัณฑิตควบคู่ไปด้วย ถือว่าเป็นความโชคดีของผมที่อยู่สำนักงานกฎหมายที่มีคดีความมากจึงได้ประสบการณ์ว่าความจากที่นี่มาก ถือว่าเป็นครูทางด้านวิชาว่าความของผมเลยทีเดียว


แล้วมีสำนักงานของตัวเองหรือเปล่า?

อยู่สำนักงานชัยพัฒน์ได้ 7 ปี ก็แยกออกมาตั้งสำนักงานของตัวเอง ชื่อสำนักงานกฎหมายไชยรพี อยู่แถวถนนพรานนก เป็นสำนักงานเล็กๆ อยู่กัน 5-6 คน ก็ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง กระทั่งปี 2536 ก็ย้ายสำนักงานไปอยู่ถนนบรมราชชนนี และอยู่มากระทั่งปัจจุบัน

ตอนเป็นทนายบุกเบิกโครงการใหม่ๆ?

ผมทำกิจกรรมให้สังคมมาตลอด เพราะผมมีความตั้งใจอยู่สองอย่างในชีวิต คือหากผมประสบความสำเร็จนอกจากทดแทนบุญคุณพ่อแม่แล้ว มีอีกสองสิ่งที่ผมตั้งไว้เลยว่าจะต้องทำ คือ หนึ่ง-ทดแทนคุณให้มหาวิทยาลัยที่เราเรียนมา ซึ่งเป็นแหล่งประศาสน์วิชาความรู้ให้กับเรามีโอกาสเป็นทนายความ อีกสิ่งหนึ่งคือทดแทนบุณคุณให้แก่แผ่นดิน

เพราะฉะนั้น เมื่อมีสำนักงานของตัวเองเท่ากับว่าเรามีความมั่นคงในอาชีพระดับหนึ่งแล้ว ก็เริ่มทำตามสิ่งที่ตนเองตั้งปณิธานไว้ พยายามทำสิ่งที่คิดไว้ให้กับสังคม

สิ่งหนึ่งที่ผมทำคือเป็นเลขาธิการของสมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอยู่สองสมัยหกปี ตั้งแต่ปี 2540-2546 ขณะเดียวกันเริ่มเข้าไปช่วยกิจกรรมของสภาทนายความ ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารสภาทนายความ ก็ได้รับเลือกเป็นอยู่สองสมัย

สมัยแรกทำอยู่กับคุณสัก กอแสงเรือง เป็นนายก ช่วงปี 2544-2547 เป็นนายทะเบียนสภาทนายความ มีหน้าที่ดูแลเรื่องใบอนุญาตของทนายความทั่วประเทศ เมื่อทำงานนี้ผมคิดว่ามันไม่น่าจะแค่นี้ เพราะถ้าแค่นี้มันเป็นงานธุรการไม่ต้องให้เรามาทำก็ได้ ผมคิดว่านายทะเบียนน่าจะมีบทบาทมากกว่านี้ เลยคิด "โครงการจัดระเบียบสำนักงานทนายความ" ขึ้นมา

มีผลอย่างไรบ้าง?

คือในตอนนั้นประชาชนไม่มีหลักประกันเลย ว่าสำนักงานที่ไปใช้บริการอันไหนแท้อันไหนเถื่อน เพราะไม่มีใบอนุญาตจัดตั้ง แม้แต่ผมเป็นนายทะเบียนเองยังตอบไม่ได้ว่ามีสำนักงานทนายความกี่แห่ง เพราะไม่มีการควบคุม ผมจึงเป็นคนแรกที่เริ่มทำหลักสูตรเทคนิคบริหารสำนักงานทนายความ เปิดอบรมให้ความรู้กับทนายความฟรีๆ

เริ่มแรกก็ใช้วิธีสมัครใจไม่บังคับ ใครอยากเข้าสู่ระบบก็มาขึ้นทะเบียน มาถึง ณ วันนี้เข้ารูปเข้ารอยหมดแล้ว เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่านอกจากขึ้นทะเบียนแล้ว ยังมาขอให้ออกหนังสือรับรองให้ด้วย เพราะเขาสามารถใช้หนังสือรับรองนี้ไปแสดงในการรับงาน โดยเฉพาะกับพวกสถานทูตต่างๆ และสถาบันการเงิน เขาจะเชื่อถือหากสำนักงานทนายความนั้นๆ มีใบรับรองจากสภาทนายความไปยืนยัน

กลายเป็นว่าเขาชอบกันมากกว่าคัดค้าน?

ครับ อีกโครงการ คือเรื่องงานของทนายความ ชาวบ้านส่วนใหญ่แม้กระทั่งตัวทนายความเอง มักจะคิดว่าตัวเองมีหน้าที่รับว่าความทั่วราชอาณาจักร ผมต้องเปลี่ยนความคิดนี้เสียใหม่ ให้ทนายความทั่วประเทศดำรงตนอยู่อย่างไม่สวนทางกับความสงบสุขของสังคม

หมายความว่าอย่างไร?

หมายความว่าหากทนายเข้าใจว่าตัวเองทำหน้าที่ "รับจ้างว่าความ" แปลว่าทนายความอยากได้งานมากๆ เพื่อรายได้มาก การอยากให้มีคดีมากๆ เท่ากับทนายความสวนทางกับความสงบสุขของสังคมตลอดเวลา ถามว่าสังคมมีคดีความมาก สังคมมีความสุขหรือ?

ผมเปลี่ยนความคิดใหม่ ว่าทนายคือผู้ให้บริการทางกฎหมาย เพื่อว่าเวลาประชาชนมีปํญหาจะได้ไม่เป็นความกัน และงานบริการทางกฎหมายมีมากมาย อาทิ ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย รับจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือตั้งบริษัท ขณะเดียวกันความมั่นคงในวิชาชีพก็ไม่ได้ลดน้อยถอยลงไป และสิ่งหนึ่งที่ผมมองว่ามีความใกล้ชิดกับชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะในภาคธุรกิจและเป็นสิ่งที่ยังไม่มีเลยในประเทศไทย นั่นคืองานให้บริการในการทำคำรับรองประเภทต่างๆ

คือในต่างประเทศที่มีกฎหมายเรื่อง "โนตารี พับลิก" (notary public) จะมีอาชีพอยู่อาชีพหนึ่งคือเป็น "คนกลาง" ในการทำคำรับรองในประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะไปทำงาน หรือเรียนต่อ จะต้องมีการแนบคำรับรองนอกเหนือจากหลักฐานการสมัครอื่นๆ สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่มีกฎหมายโนตารี พับลิก ก็จะต้องให้ "ทนายความ" เป็นคนรับรอง เพราะถือว่าเป็นอาชีพที่สังคมยอมรับ เพราะคนนี้คือนักกฎหมาย

ผมผลักดันเรื่องนี้จนได้รับการพัฒนากระทั่งมีกฎหมายรองรับ งานอีกอย่าง คือได้สร้างระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ใช้ชื่อว่า "โครงการทนายความผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท" ผมตระเวนเดินสายอบรมทนายความทั่วประเทศ ใส่ความคิดว่าต่อไปนี้เราต้องเอาเรื่องของการไกล่เกลี่ยมาเป็นหลัก ไม่ใช่ทำคดีฟ้องลูกเดียว ซึ่งทำให้บทบาทของทนายความปัจจุบันเปลี่ยนไปเยอะ

มีคดีอะไรที่เป็นคดีดังๆ แล้วเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

อืม...คดี "ยุทธ-ตู้เย็น" คดี "ขังลอยที่ สน.ลุมพินี" เป็นคดีที่จับขังโดยไม่มีหมายศาล คดี "ตากใบ-กรือเซะ" คดี "บุกรื้อตลาดนัดจตุจักร" คดี "โจ-ด่านช้าง" คดีพวกนี้มีข้อสังเกตหนึ่งว่าถ้าเป็นคดีที่เกิดจากการใช้อำนาจรัฐ คดีที่เกิดจากเจ้าหน้ารัฐปฏิบัติการโดยมิชอบ หลังจากมีการร้องเรียน พอสภาทนายความเข้าไปช่วยเหลือ คดีมักจะยุติ โดยมีการเสนอชดใช้ค่าเสียหายด้วยเงินจำนวนหนึ่ง แล้วผู้ร้องก็ถอนฟ้องโดยไม่บอกทางสภาทนายความ

ผมอยากจะบอกว่า บางทีเงินแค่นี้ซื้อความยุติธรรมให้กับคุณได้ คุณพอใจ แต่มันไม่คืนความยุติธรรมให้กับสังคมได้

เส้นทางจากนักกฎหมายมาเป็นนักการเมืองมันเป็นตามอุดมคติที่เราคิดไว้

ต้องปรับตัวในบางสิ่งบางอย่าง- -และมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ประสบ บางทีทำให้เราท้อแท้เหมือนกัน เพราะมันไม่เป็นอย่างที่คิด คาดไม่ถึงว่ายังมีสิ่งเหล่านี้อยู่แล้วบ้านเมืองจะไปได้อย่างไร แต่เมื่อเรามีความตั้งใจอยู่เดิม ว่าต้องคืนทุนให้กับแผ่นดิน เราก็ต้องกัดฟันต่อสู้ และต้องพยายามทำใจให้ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างมันต้องใช้เวลา

การทำหน้าที่ของผมในปัจจุบัน ผมกล้าพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าไม่มีร่างกฎหมายฉบับไหนที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและเข้าสู่วุฒิสภาแล้วผมจะไม่อ่าน ผมอ่านทุกฉบับ ไม่ใช่อ่านให้รู้เท่านั้น แต่จะอ่านแบบพินิจพิเคราะห์ และถ้าไม่เห็นด้วยกับร่างผมจะใช้เสียงแปรญัตติ

ฉบับหนึ่งซึ่งกำลังพิจารณาอยู่คือ ฉบับว่าด้วยการทำประชามติ อีกฉบับคือกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร

เพราะผมมีหลักการในการออกกฎหมาย ว่ากฎหมายนั้นจะต้องเป็นเครื่องมือในการสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม และการเขียนกฎหมายแล้วต้องปฏิบัติใช้บังคับได้จริง

"เพราะมันเป็นความภูมิใจของผมที่ได้ใช้ความรู้ที่เล่าเรียนมาเพื่อประโยชน์กับแผ่นดินอย่างจริง-จริง"

หน้า 17
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01fun01170552&sectionid=0140&day=2009-05-17

ไม่มีความคิดเห็น: