วันอังคารที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2551

ผู้นำแบบพระยาตาก http://www.oknation.net/blog/kosol

โกศล อนุสิม
หลากเรื่อง หลายรส... ข้าพเจ้าเขียน ท่านอ่าน ท่านไม่อ่าน ข้าพเจ้าก็ยังเขียน Permalink : http://www.oknation.net/blog/kosol
วันพุธ ที่ 16 เมษายน 2551
ผู้นำแบบพระยาตาก Posted by โกศล , ผู้อ่าน : 6 , 11:40:17 น. หมวดหมู่ : การเมืองแม่เอ๊ย พิมพ์หน้านี้
คุณสมบัติสำคัญของผู้นำคือมองการณ์ไกลเพื่ออนาคตของสังคม ทำความเข้าใจปัจจุบันเพื่อที่จะสร้างอนาคต มีปณิธานอันแน่วแน่ในการสร้างสรรค์ความเจริญแก่ชนหมู่มาก แล้วลงมือทำ ด้วยเงื่อนไขที่ยากลำบากนี้ จึงไม่ใช่ทุกคนจะสามารถทำได้ มีเพียงบางคนเท่านั้นที่มีคุณสมบัติครบถ้วน คนๆนั้นจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้นำก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2310 นั้น ประวัติศาสตร์สอนให้เราทุกคนได้รู้ว่า ภาวะผู้นำมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในภาวะวิกฤติ หากมีผู้นำที่เข้มแข็ง มองวิเคราะห์ปัจจุบันได้ถูกต้อง มองการณ์ไกลได้ปรุโปร่ง ย่อมจะสามารถแก้วิกฤตการณ์ได้แต่ปรากฏว่า ผู้นำในกรุงศรีอยุธยาที่มีอำนาจทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน ต่างไม่มีคุณสมบัติดังกล่าว มีเพียงขุนนางจากหัวเมืองเหนือคนหนึ่งที่ถูกเรียกเข้ามาเป็นกำลังในการป้องกันพระนครคือ พระยาตาก ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองบ้านนอกที่ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจใดๆในทางการเมืองการทหาร ที่สามารถมองสถานการณ์ได้ทะลุปรุโปร่ง หากแต่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของขุนนางที่ไม่มีความรู้ทางการทหารโดยไม่มีความหวังว่าจะเอาชนะข้าศึกที่ประชิดปิดล้อมพระนครได้ แม้จะโต้แย้งแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติการทางหารด้วยข้อมูลที่เป็นจริง แต่ก็ไม่มีขุนนางผู้เปี่ยมอำนาจวาสนาคนใดรับฟัง มิหนำซ้ำยังอาจจะถูกเอาโทษฐานกบฏศึกอีกด้วยเมื่อวิกฤตการณ์ถึงจุดที่ไม่สามารถจะรับได้ พระยาตากจึงตัดสินใจนำกำลังตีฝ่าวงล้มข้าศึกออกจากพระนคร มุ่งหน้าสู่ภาคตะวันออก การถอยในครั้งนี้ก็เพื่อสงวนรักษาชีวิตเอาไว้ จะได้กลับมากอบกู้พระนครคืนภายหลัง เพราะหากปักหลักสู้ตายในพระนคร ผลที่ออกมาก็คือคงได้ตายสมใจ หากแต่ต้องตายเปล่า เพราะโอกาสรอดจากการถูกทำลายเหลือเป็นศูนย์ประวัติศาสตร์ก็บอกอยู่แล้วว่า ในที่สุดพระยาตากที่มีกองทหารขนาดเล็ก (Small) ติดตามจากพระนคร เมื่อตั้งหลักได้ที่จันทบุรีก็พัฒนาให้กองทัพใหญ่ขึ้น (Medium) กลายเป็นกองทัพ SME อันทรงพลัง เป็นฐานกำลังในการรุกคืนศัตรูเพื่อปลดปล่อยประเทศให้เป็นอิสระ เพียงใช้เวลาไม่นานก็พัฒนากองทัพ SME ให้กลายเป็นกองทัพขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมรบอย่างเต็มที่ จนในที่สุดก็สามารถปลดปล่อยประเทศจากการยึดครองของศัตรูได้ แม้ประเทศปราศจากศัตรู แต่คนไทยยังแตกเป็นก๊กเป็นเหล่าเพราะอำนาจรัฐเดิมล่มสลายลง บรรดาขุนนางจริงและขุนนางเก๊ในหัวเมืองต่างๆก็ล้วนแต่อยากเป็นใหญ่ ต้องการสถาปนาอำนาจรัฐขึ้นมาใหม่ในเขตของตน แต่มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่มีคุณสมบัติเป็นผู้นำสูงสุด สถาปนาอำนาจรัฐที่สมบูรณ์ได้ แล้วผลก็ปรากฏว่า พระยาตากคือผู้นำคนดังกล่าว ที่ใช้ยุทธวิธีทั้งไม้อ่อนคือการเจรจา และไม้แข็งคือการใช้กำลังทหารตามความจำเป็น จนสามารถรวบรวมก๊กกลุ่มต่างๆให้เข้ามารวมศูนย์ที่กรุงธนบุรี การรวมชาติจึงบรรลุผลโดยสมบูรณ์เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ทำให้เราเห็นถึงคุณสมบัติผู้นำอันสมบูรณ์ของพระยาตาก โดยก่อนจะยกกำลังตีฝ่าออกจากพระนครเพื่อไปตั้งหลักที่ภาคตะวันออกนั้น ได้กำหนดยุทธศาสตร์และยุทธวิธีอย่างเป็นขั้นเป็นตอนไว้แล้ว ไม่ใช่การออกไปโดยไร้จุดมุ่งหมายชนิดไปตายเอาดาบหน้า ในที่นี้จะเรียบเรียงเป็นข้อๆตามลำดับเหตุการณ์เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น1.สถานการณ์ในพระนคร พระยาตากวิเคราะห์แล้วว่าถูกยึดครองแน่นอน เมื่อประเทศถูกยึดครองจำต้องมีกำลังทหารที่จะใช้กอบกู้บ้านเมือง ดังนั้น จึงกำหนดยุทศาสตร์ในการดำเนินงานไว้เป็นขั้นเป็นตอน ยุทธศาสตร์แรกก็คือ การสร้างกองทัพขึ้นมาใหม่ ที่ต้องอาศัยยุทธภูมิอันเหมาะสม นั่นคือ เขตแดนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามน้อยที่สุด อยู่ใกล้ที่สุด และยังมีกำลังคนพร้อมเสบียงอาหารสมบูรณ์ นักรบที่มีประสบการณ์ช่ำชองอย่างพระเจ้าตากจึงมองทะลุปรุโปร่งว่า ภาคตะวันออกคือสถานที่ที่เหมาะสมในการใช้เป็นฐานที่มั่นเพื่อดำเนินยุทธศาสตร์การสร้างกองทัพใหม่ให้บรรลุผล ยุทธวิธีที่ใช้คือการถอยออกจากพระนคร มุ่งหน้าสู่ภาคตะวันออก ใช้คุณสมบัติของผู้นำรวบรวมกำลังคนสร้างกองทัพขึ้น ด้วยยุทธวิธีทั้งการเจรจาและการใช้กำลังทหาร จนบรรลุยุทธศาสตร์แรกคือสร้างกองทัพขนาดใหญ่ได้สำเร็จ2. เมื่อยุทธศาสตร์แรกคือการสร้างกองทัพบรรลุผล ยุทธศาสตร์ต่อมาก็คือการรุกคืนศัตรูเพื่อปลดปล่อยประเทศให้เป็นอิสระ โดยจะต้องโจมตีศัตรูให้เร็วที่สุด ด้วยกองทหารขนาดใหญ่ การที่จะสามารถเข้าโจมตีได้รวดเร็วได้ก็ต้องอาศัยการเดินทางด้วยเรือ ดังนั้นจึงมีการต่อเรือเพื่อนำกำลังทหารหลักรุกเข้าไปทางแม่น้ำแล้วขึ้นบกเข้าโจมตีตามจุดต่างๆ ผสานกับกองกำลังส่วนหนึ่งที่เข้าโจมตีทางบก ด้วยยุทธวิธีนี้จึงสามารถปลดปล่อยประเทศได้สำเร็จ ไม่มีกองทัพของศัตรูอยู่ในแผ่นดินอีก3.เมื่อยุทศาสตร์ในการปลดปล่อยประเทศบรรลุผล ยุทธศาสตร์ต่อมาก็คือการสปานาอำนาจรัฐใหม่ให้สมบูรณ์ โดยต้องรวบรวมผู้คนที่แตกเป็นก๊กเป็นเหล่าให้เข้ามาเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งตรงนี้แหละที่จะเป็นการพิสูจน์ความเป็นผู้นำที่โหดหินที่สุด เพราะเป็นการต่อสู้กับคนไทยด้วยกันเอง แบบต้องให้เสียเลือดเนื้อน้อยที่สุด โดยใช้ความเป็นธรรม ความชอบธรรม และการประสานผลประโยชน์เพื่อคนทุกกลุ่ม ซึ่งการณ์ปรากฏว่า พระเจ้าตากเมื่อปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ได้ทรงใช้ยุทธวิธีการเจรจาก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง เพราะประเทศชาติต้องการกำลังคนในการฟื้นฟูพัฒนาบ้านเมืองหลังสงคราม หากมีความจำเป็นจริงๆจึงใช้กำลังทหาร ถ้าเลี่ยงได้ก็ทรงเลี่ยง เมื่อเห็นว่าผู้นำกลุ่มใดมีความรู้ความสามารถ ก็จะทรงเชื้อเชิญเข้ามาทำงานเพื่อบ้านเมือง ดังเช่นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช เป็นต้น ในที่สุด ยุทธศาสตร์ที่สามคือการรวมชาติก็บรรลุผลโดยสมบูรณ์
ด้วยคุณสมบัติของผู้นำที่กล่าวไว้ในเบื้องต้น คือ มองการณ์ไกลเพื่ออนาคตของสังคม ทำความเข้าใจปัจจุบันเพื่อที่จะสร้างอนาคต มีปณิธานอันแน่วแน่ในการสร้างสรรค์ความเจริญแก่ชนหมู่มาก แล้วลงมือทำ นั้นเองจึงทำให้พระยาตากสามารถกอบกู้บ้านเมืองที่ล่มสลายจนสามารถสร้างอำนาจรัฐอันสมบูรณ์ขึ้นมาใหม่ ฟื้นฟูและพัฒนาประเทศเพื่อให้คนไทยทั้งมวลอยู่อย่างสบายตามอัตภาพ จึงทรงกลายเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยหันมามองสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน ขณะนี้ประเทศไทยไม่ต่างอะไรกับเมื่อช่วง พ.ศ.2309-2310 ศัตรูของไทยคือสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและสังคมของโลกที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ต่างอะไรกับกองทัพพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยา สถานการณ์ทางการเมืองไทยก็ไม่ต่างอะไรกับการเมืองในกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งนั้น นั่นคือ ไร้ความหวังในการกอบกู้วิกฤติจนแทบจะสิ้นเชิงคนไทยจึงต้องการผู้นำที่มองปัจจุบันทะลุ วางแผนอนาคตได้ปรุโปร่ง มีปณิธานในการสร้างอนาคตเพื่อชนหมู่มากและพร้อมจะลงมือทำเหมือนพระยาตากเมื่อครั้งนั้น คำถามจึงมีอยู่ว่า ในปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีผู้นำแบบพระยาตากบ้างหรือไม่.
[ยกมาจาก Kosolanusim.com]

ไม่มีความคิดเห็น: