วันเสาร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2551

กทม.ย่ำยีกรุงเทพฯ ไม่ระแวดระวังผังเมือง ร.1


กทม.ย่ำยีกรุงเทพฯ ไม่ระแวดระวังผังเมือง ร.1

คอลัมน์ สยามประเทศไทย

โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ
วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10994

ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร (กทม.) ทั้งกลุ่มการเมืองและกลุ่มข้าราชการประจำ ต่างมีทัศนคติต่อประวัติศาสตร์ความเป็นมาของกรุงเทพฯไปในทิศทางเดียวกัน คือชิงกันมี 'ผลประโยชน์ทับซ้อน' จากประวัติศาสตร์ แต่ไม่พิทักษ์รักษาและไม่เผยแพร่ความรู้ประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ

ผมเคยเขียนตำหนิหลายเรื่อง หลายหน แต่ไม่เป็นผลกับกลุ่มคน 'กะล่อน' ดีแต่ปาก good but mouth เอาแต่ได้ ไม่นึกถึงคนอื่นที่อ่อนแอในชุมชนกรุงเทพฯ และประทศไทย จึงจะขอคัดข่าวจาก X-Cite ไทยโพสต์ (ฉบับประจำวันที่ 9-10 เมษายน 2551 หน้า 2 ) มาช่วยกันอ่านแล้วพิจารณา จะได้รู้ทั่วกันว่าไม่ได้มีผมคนเดียว แต่มีคนอีกมากที่อยากให้อวัยวะบางส่วนต่อผู้มีอำนาจใน กทม.

หลังจากพระราชวิจิตรปฏิภาณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรวิหาร ออกมาสนับสนุนให้รื้อย้าย 'ศาลพระวิษณุกรรม' ข้างวัดสุทัศน์ ตามมติของคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ที่สั่งให้กรุงเทพมหานครรื้อศาลดังกล่าวไปประดิษฐานในสถานที่เหมาะสม เนื่องจากการตั้งศาลพระวิษณุผิดหลักอนุรักษ์เกาะรัตนโกสินทร์และทำลายมรดกทางวัฒนธรรม รวมทั้งความสง่างามโดยรอบวัดสุทัศน์

นายประเสริฐ ฤทธิ์สำเริง นักอนุรักษ์อิสระ กรรมการมูลนิธิชุมชนไทย ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 8 เมษายน ว่า กรณีการจัดตั้งศาลพระวิษณุ หากไม่ใส่ใจจะเห็นแค่เรื่องความเชื่อความศรัทธาต่อเทวรูปศาสนาฮินดู แต่เบื้องลึกแล้วกลับกลายเป็นเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง โดย กทม.มีส่วนรู้เห็นกับภาคเอกชนในการจัดตั้งเป็นมูลนิธิวิษณุกรรมเพื่อหารายได้จากเงินบริจาค ดอกไม้ธูปเทียน ของเซ่นไหว้ ตลอดจนเงินค่าประกอบพิธีกรรมต่างๆ ในศาลพระวิษณุ ตนเชื่อว่าเป็นสาเหตุที่ กทม. ไม่ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ และยังปล่อยให้เรื่องยืดเยื้อมาจนถึงวันนี้

'เรื่องนี้รู้กันมานานแล้ว แต่ผู้บริหาร กทม.กลับนิ่งเฉย วัดสุทัศน์ถือว่าเป็นศูนย์กลางผังเมืองกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างกรุงเทพฯตามคติโบราณ แต่วันนี้ กทม.กลับเป็นผู้ทำลาย ก่อนจะสร้างอะไรต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของสถานที่ตั้ง ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดทรรศนะอุจาด เขตโบราณสถานหลายแห่งทั่วเกาะรัตนโกสินทร์กลายเป็นซ่องกับส้วม เป็นแหล่งหากินของโสเภณีและคนเร่ร่อนใช้เป็นสถานที่หลับนอนขับถ่ายสกปรกเลอะเทอะ' นายประเสริฐกล่าว

ศ.อดุลย์ วิเชียรเจริญ ประธานคณะอนุกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวว่า นอกจากศาลพระวิษณุข้างวัดสุทัศน์ที่เป็นปัญหาต่อมรดกทางวัฒนธรรม และส่งผลกระทบต่อการจัดทำขอบเขตพื้นที่โดยรอบวัดสุทัศน์ และผนวกรวมกับเสาชิงช้าเพื่อเสนอชื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว ยังมีสิ่งปลูกสร้างที่ขัดต่อหลักการอนุรักษ์คือ ศาลาอเนกประสงค์อยู่ข้างอนุสาวรีย์หมู กทม. เป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง โดยมีกรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบ แต่ปรากฏว่ารูปแบบของศาลาอเนกประสงค์ไม่ถูกต้องตามหลักสถาปัตยกรรมแวดล้อมที่มีทั้งคลองคูเมืองเดิมขุดขึ้นสมัยกรุงธนบุรี วัดราชประดิษฐ์ ตลอดจนอนุสาวรีย์หมู

'ศาลาอเนกประสงค์สร้างในสมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่าฯกทม. ต่อมาคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์พิจารณาเห็นว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมที่สร้างขึ้นใหม่และไม่สอดคล้องกับอนุสาวรีย์หมูและโบราณสถานบริเวณใกล้เคียง จึงสั่งให้รื้อถอน แต่ กทม.ยังไม่ดำเนินการ ส่วนกรมศิลปากรก็พยายามปัดภาระความรับผิดชอบ อ้างไม่เกี่ยวข้อง' ศ. อดุลย์กล่าว

ทั้งนี้ 'อนุสาวรีย์หมู' มีอีกชื่อว่า 'อนุสาวรีย์สหชาติ' โดยสมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 5 ทรงอุทิศพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างขึ้นขณะมีพระชนมายุ 50 พรรษา และมีสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้ออกแบบ ปัจจุบันศาลาอเนกประสงค์ทรุดโทรมลง เนื่องจากไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาดูแลและปล่อยให้เป็นที่หลับนอนของคนเร่ร่อนจรจัด ตัวศาลาทำด้วยท่อเหล็ก แต่ขึ้นสนิมจนผุกร่อน ส่วนอนุสาวรีย์หมูมีการนำผ้าใบมาคลุมตัวประติมากรรมรูปหมูโดยไม่ทราบวัตถุประสงค์ ซึ่งมีผู้ร้องเรียนกรมศิลปากรเข้ามาตรวจสอบกรณีดังกล่าวด้วย

กรุงเทพฯมีกำเนิดต้นเดือนเมษายนช่วงสงกรานต์ มีสถานที่สำคัญๆ อีกมากที่ กทม. ไม่ดูแล แล้วยังทำลายฉิบหายหมด ใครพบเห็นช่วยเขียนมาบอกด้วย

หน้า 21

ไม่มีความคิดเห็น: