วันศุกร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2551

อัยการกับผลประโยชน์ทับซ้อน

บทความวันนี้ไม่ได้เฉพาะเจาะจงตรงไปที่สำนักงานอัยการสูงสุดหรืออัยการสูงสุด หรือพนักงานอัยการท่านหนึ่งท่านใดโดยเฉพาะ แต่หมายจะกล่าวในภาพรวมเพื่อพิทักษ์รักษาความอิสระ ความเป็นกลาง ความน่าเชื่อถือศรัทธาและความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันอัยการที่บรรพชนของอัยการได้สั่งสมมาเป็นเวลานับศตวรรษแล้ว

ที่ต้องกล่าวเรื่องนี้ก็เพราะคนจำนวนหนึ่งมองว่าภาพลักษณ์ของอัยการในวันนี้เสื่อมทรุดเน่าเฟะจนกระทบต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนอย่างรุนแรงว่าจะเป็นหลักของกระบวนการยุติธรรมได้แค่ไหนเพียงใด

อย่าได้คิดอย่าได้เข้าใจว่าไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเข้าใจในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้ และควรจะได้ตระหนักว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับอัยการในขณะนี้อยู่ในสายตาจับจ้องของประชาชนอย่างใกล้ชิด ด้วยความหวาดหวั่น ด้วยความวิตก ด้วยความกลัว ด้วยความสิ้นหวัง และบ้างก็ด้วยความหวังว่าจะฟื้นคืนดีได้อีกครั้งหนึ่ง

ด้วยหวังว่าพนักงานอัยการทั่วประเทศจะได้พร้อมเพรียงน้ำใจกันลุกขึ้นต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง กับความเสื่อมเสียเน่าเฟะที่กำลังกัดกร่อนสถาบันอัยการอย่างร้ายกาจอยู่ในขณะนี้ แล้วกอบกู้ฟื้นฟูสถาบันนี้ให้เป็นหลักชัยแห่งกระบวนการยุติธรรมสืบไปอีกครั้งหนึ่ง

ก่อนอื่นก็ต้องเตือนใจกันว่าบทบาทของอัยการนั้นคือทนายความแผ่นดิน ไม่ใช่ทนายโจรหรือที่ปรึกษาโจร โดยเฉพาะโจรปล้นชาติปล้นประชาชน

เพราะมุ่งธำรงบทบาทที่ว่านี้บรรพชนของอัยการจึงต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้สถาบันอัยการปลอดจากการครอบงำของฝ่ายการเมือง ทำให้สถาบันอัยการสามารถตั้งตนอยู่ในความเป็นอิสระ มีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ศรัทธาเชื่อมั่นของคนทั้งหลาย

และทำให้กระบวนการยุติธรรมของบ้านเมืองมีความถูกต้องสมบูรณ์ ทำให้ขื่อแปของบ้านเมืองมีความมั่นคงแข็งแรง

แล้วต้องท้วงไว้ด้วยว่ามีภาษิตกฎหมายอยู่บทหนึ่งว่า ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม ดังนั้นการประพฤติอธรรมหรือในทางที่ไม่ยุติธรรม นอกจากการไม่รักษาขื่อแปบ้านเมือง ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสัตย์สุจริต หรือรับสินบาทคาดสินบนแล้ว ยังรวมไปถึงการทำให้กระบวนการยุติธรรมในชั้นอัยการล่าช้า ไม่ทันการ และเกิดความเสียหายขึ้นด้วย

ภาพลักษณ์ที่แท้จริงของอัยการโดยรวมในขณะนี้เป็นอย่างไรกันเล่า? ไม่ค่อยมีใครพูดถึงเพราะกลัวว่าจะถูกกล่าวหาฟ้องร้อง ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น มีวิธีที่จะกล่าวถึงได้และต้องเชื่อมั่นด้วยว่าพนักงานอัยการส่วนใหญ่เกือบทั้งประเทศนั้นเป็นผู้มีน้ำใจเป็นธรรม

เป็นผู้ที่ต้องการพิทักษ์รักษาและฟื้นฟูเกียรติภูมิของสถาบันอัยการให้เป็นหลักชัยแห่งกระบวนการยุติธรรมเช่นเดียวกับบรรพชนเหมือนกัน

ภาพลักษณ์ของอัยการโดยรวมในวันนี้แสดงออกในรูปแบบสำคัญ 4 รูปแบบคือ

รูปแบบที่หนึ่ง เข้าไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ที่ฝ่ายรัฐบาลเอื้อให้ แต่เป็นการเอื้อเฉพาะบุคคล และเป็นผลประโยชน์เฉพาะบุคคลบางตำแหน่งเท่านั้น เช่น การได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ หรือในองค์กรของรัฐ หรือในคณะกรรมการบางคณะ ซึ่งมีผลประโยชน์ตอบแทนและบางทีก็อาจมีผลประโยชน์นอกรูปแบบแฝงฝังอยู่ด้วย

ดังเช่นการที่อัยการสูงสุดซึ่งเป็นประมุขของฝ่ายอัยการได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการในการท่าอากาศยาน และในที่สุดก็ถูกกล่าวหาและถูกสอบสวนโดย คตส. ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในการจัดซื้อเครื่องซีทีเอ็กซ์

หรือการที่อัยการสูงสุดได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลให้เป็นกรรมการในบริษัทการบินไทยซึ่งมีผลประโยชน์เฉพาะตัวเป็นจำนวนมาก

ประโยชน์ลักษณะนี้ย่อมทับซ้อนกับอำนาจหน้าที่ของสถาบันอัยการ ที่จะต้องมีความเป็นอิสระ มีความเป็นกลาง ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

เพราะเมื่อเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์เช่นนี้แล้วก็ย่อมเสี่ยงผิดเสี่ยงถูกได้ และย่อมเกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ ตลอดจนเครือข่ายของสถาบันอัยการโดยไม่ต้องสงสัย

วันนี้จึงมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าปรากฏการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องหรือไม่กับผลประโยชน์ทับซ้อนดังกล่าว ซึ่งเป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการทั้งประเทศที่จะต้องดูแลตรวจสอบกันเองอย่างเข้มข้น

รูปแบบที่สอง ปรากฏการณ์ความขัดแย้งระหว่าง คตส. กับอัยการ ที่คดีแล้วคดีเล่าซึ่ง คตส. ลงมติส่งฟ้อง แต่อัยการเห็นว่าหลักฐานไม่เพียงพอบ้าง ต้องสอบสวนเพิ่มเติมบ้าง

เป็นเหตุให้ยื้อกันไปยื้อกันมา ซึ่งเสียเวลาและเกิดความเสียหายขึ้น จนแล้วจนรอดในที่สุดอัยการก็ไม่ฟ้องคดี และทำให้ คตส. ต้องเป็นผู้ฟ้องคดีเอง

มิหนำซ้ำ ยังมีคนมาออกความเห็นให้อัยการเป็นทนายความแก้ต่างให้กับพวกจำเลยซึ่งถูกกล่าวหาว่าทุจริตในการปฏิบัติหน้าที่เสียอีก ซึ่งแม้ไม่อาจหยั่งทราบเจตนาลึกของผู้เสนอดังกล่าวนี้ แต่โดยผลก็เห็นแล้วว่าเป็นข้อเสนอที่จะทำให้อัยการเปลี่ยนสภาพจากทนายแผ่นดินเป็นทนายโจร

เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเพียงเรื่องเดียวคดีเดียวก็สงสัยหรือกังขาได้โดยยาก แต่หากเกิดขึ้นหลายคดีต่อเนื่องกัน อัยการก็จะหลีกไม่พ้นจากความกังขาและสงสัยดังที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้

มิหนำซ้ำ กรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษซึ่งเคยสั่งฟ้องคดีแล้วมาค้างคาอยู่ที่อัยการ และต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนผู้มีอำนาจในกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็มีการสั่งคดีให้สอบสวนเพิ่มเติม จนเกิดความสงสัยกันว่าการสอบสวนเพิ่มเติมดังกล่าวจะทำให้คดีพลิกกลับได้

ความเสียหายก็จะเกิดขึ้นกับอัยการอีก

ซ้ำร้ายกว่านั้นก็คือการที่จู่ๆ กกต. ท่านหนึ่งออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่ากรณีคดีของ กกต. ที่จะส่งฟ้องพรรคการเมืองต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น ถ้าอัยการไม่ฟ้อง กกต. ก็จะต้องฟ้องเอง

พนักงานอัยการที่มีน้ำใจเป็นธรรมและห่วงใยสถาบันอัยการทั่วประเทศจะรู้สึก และเข้าใจความรู้สึกของประชาชนต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร นี่คือภาระหน้าที่ของพนักงานอัยการทั้งประเทศที่ต้องหาทางแก้ไขแล้ว

รูปแบบที่สาม กระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า ซึ่งได้กล่าวมาแต่ต้นแล้วว่าทางกฎหมายถือว่าเป็นความไม่ยุติธรรมนั้นได้เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใดกันแน่

คดีจำนวนมากที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาสั่งหรือการสอบสวนเพิ่มเติม โดยที่ไม่มีระยะเวลาที่แน่นอนว่าจะสิ้นสุดยุติเมื่อใดนั้น ผลที่แท้ก็คือคนผิดยังลอยนวล

ในขณะที่พยานและผู้สุจริตทั้งหลายถูกข่มขู่คุกคามข่มเหงรังแกและถูกล่าดุจดั่งเนื้อที่ถูกหมาป่าไล่ล่าฉะนั้น และในที่สุดก็ย่อมส่งผลให้คดีพลิกผันได้ไม่ใช่หรือ

สิ่งที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดเหล่านี้ใครจะต้องรับผิดชอบหากไม่ใช่อัยการ จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ดูดายและเพิกเฉยไม่ได้

จะเป็นคดีอะไรบ้างที่ยังคาราคาซังและอยู่ในสภาพที่ว่านี้ อัยการย่อมรู้ดี ประชาชนก็จับตามองกันอยู่

รูปแบบที่สี่ การตั้งตนหรือแสดงภาพลักษณ์เป็นฝักฝ่ายของผู้มีอำนาจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลย แต่กลับปรากฏรูปโฉมให้เห็นเด่นชัดขึ้นทุกวันในปัจจุบันนี้

อันเดิมทีนั้นอัยการเป็นหน่วยงานระดับกรมอยู่ในกระทรวงมหาดไทย แต่บรรพชนของอัยการตระหนักดีว่าการเป็นหน่วยงานระดับกรมอยู่ภายใต้นักการเมืองอย่างนี้ยากที่จะดำรงความเป็นอิสระ ความเที่ยงธรรม และพิทักษ์รักษาความยุติธรรมเอาไว้ได้

ดังนั้นบรรพชนอัยการคนแล้วคนเล่า รุ่นแล้วรุ่นเล่า จึงดิ้นรนต่อสู้จนเป็นผลให้มีการแยกกรมอัยการออกมาจากกระทรวงมหาดไทย และพัฒนามาโดยลำดับ จนมาเป็นสำนักงานอัยการสูงสุดดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้

จึงย่อมเป็นที่หวังและตั้งความปรารถนาร่วมกันของผู้คนทั้งที่เป็นอัยการก็ดี ทั้งที่เป็นภาคประชาชนก็ดี ว่าเมื่อบัดนี้สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นอิสระและปลอดจากการครอบงำจากนักการเมืองแล้ว ย่อมเป็นสถาบันความยุติธรรมที่ประชาชนหวังพึ่งพาอาศัยได้เป็นแน่แท้

แต่ความหวังของประชาชนและอัยการด้วยกันเองจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ถ้าหากกระบวนการหรือผลประโยชน์ทับซ้อนยังเกิดขึ้นและดำรงอยู่ในระดับผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานอัยการสูงสุด

ไม่มีวันที่เกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของผู้ที่หรือสถาบันที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเช่นนี้จะได้รับการเคารพนับถือเหมือนกับผู้ที่หรือสถาบันที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

สถาบันศาล ป.ป.ช. ไม่สามารถไปดำรงตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจหรือรับผลประโยชน์อย่างอื่นได้ แล้วทำไมเมื่อสถาบันอัยการต้องการมีศักดิ์และศรีในระดับเดียวกันจึงไม่ประพฤติปฏิบัติในบรรทัดฐานเดียวกัน?

กลับไปข้องแวะและรับเอาซึ่งผลประโยชน์ ซึ่งก็เป็นแค่ผลประโยชน์เฉพาะคนเฉพาะตำแหน่ง แต่กลับแผ่เครือข่ายครอบงำไปถึงระดับล่าง จนกระทั่งเกิดปรากฏการณ์ดังที่เห็นๆ กันอยู่

ดังนั้นลักษณะผลประโยชน์ทับซ้อนจึงไม่เพียงแต่เป็นอันตรายเฉพาะตน ของบุคคลที่อาจต้องเสี่ยงผิดเสี่ยงถูกและเสี่ยงต่อการตกเป็นจำเลยในคดีความต่างๆ เท่านั้น

หากยังเป็นอันตรายต่อสถาบันอัยการและต่อพนักงานอัยการทั่วทั้งประเทศอย่างรุนแรงด้วย
เพราะในปัญหาภาพลักษณ์และความศรัทธาเชื่อถือนั้นย่อมกระทบในเชิงสถาบัน
เพราะปัญหาความเป็นอิสระที่แท้จริงหรือแอบแฝงผลประโยชน์ย่อมกระทบในเชิงสถาบัน
และผลจากการปฏิบัติที่เป็นจริงก็เห็นกันชัดๆ ขึ้นทุกวันแล้วว่ากระทบในเชิงสถาบัน

ที่สำคัญที่สุดก็คือเป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการทั้งประเทศที่ต้องเร่งกอบกู้ฟื้นฟูศักดิ์ศรีและภาพลักษณ์ของสถาบันอัยการ อย่าให้ถูกตำหนิติเตียนหรือถูกเพ่งเล็งหรือติฉินนินทาว่าไม่ใช่ทนายความแผ่นดินเป็นอันขาด

เพราะถ้าเมื่อใดก็ตามที่ความรู้สึกดังกล่าวนี้กินใจลึก ฝังซึ้งตรึงใจประชาชนแล้ว ย่อมยากที่จะแก้ไขให้คืนดีได้ อัยการในรุ่นปัจจุบันและอนาคตก็จะมีตราบาปติดตัวโดยไม่เป็นธรรมกับท่านเหล่านั้น

เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้รับส่วนบุญส่วนกุศลจากคนที่มีตำแหน่งสูงที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเลย แต่กลับต้องแบกของเน่าของเสียเทินไว้บนหัวตลอดกาล

จึงถึงเวลาที่ต้องช่วยกันกอบกู้ฟื้นฟูสถาบันอัยการให้ดำรงคงความเป็นอิสระ เป็นกลาง เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชนที่จะเป็นหลักชัยสำคัญของกระบวนการยุติธรรมของประเทศแล้ว.

ไม่มีความคิดเห็น: