วันศุกร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2551

ถอดรหัสคำพิพากษาศาลฎีกาคดีค่าเงินบาท ย้อนรอยวิกฤต 40 เปิดขบวนการปล้นชาติ ตอนที่ 2 : เปิดบัญชี “ชินวัตร” ก่อนลอยค่าเงิน

ถอดรหัสคำพิพากษาศาลฎีกาคดีค่าเงินบาท ย้อนรอยวิกฤต 40 เปิดขบวนการปล้นชาติ ตอนที่ 2 : เปิดบัญชี “ชินวัตร” ก่อนลอยค่าเงิน

โดย ผู้จัดการรายวัน 18 เมษายน 2551 07:49 น.



ข่าวเชิงวิเคราะห์ โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์


เปิดหลักฐานการเตรียมตัวล่วงหน้าของบริษัทในเครือของครอบครัวชินวัตร พบบัญชีวันปิดงบครึ่งปีก่อนลอยค่าเงินบาท 2 วัน มีสัญญาคุ้มครองความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา สินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดถึง 2 เท่าตัว ตามด้วยภรรยานักธุรกิจสื่อสารถอนเงินบาทขนไปแลกสิงค์โปร์ให้กลับมาโจมตีค่าเงินบาทตามสัญญา SWAP อีกหลายระลอก

[อ่าน ถอดรหัสคำพิพากษาศาลฎีกาคดีค่าเงินบาท ย้อนรอยวิกฤต 40 เปิดขบวนการปล้นชาติ - ตอนที่ 1 : เวลา 4 ทุ่ม กับคืนที่ทักษิณรู้ข่าวลดค่าเงินบาท]

หลังจากการลอยค่าเงินบาทในปี พ.ศ. 2540 ประชาชนชาวไทยจำนวนมากต้องตกระกำลำบาก ตกงาน ล้มละลาย ล่มจม ทรัพย์สินถูกยึด เจ้าหนี้ที่เคยขอร้องให้ลูกหนี้ก็หันมาอาฆาตลูกหนี้เยี่ยงศัตรู ลามไปจนถึงการฆ่าตัวตายจากปัญหาเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน กิจการสุจริตจำนวนมากที่สร้างมาหลายทศวรรษต้องประสบปัญหาการขาดทุนจนถึงขั้นล่มสลายเพราะไม่สามารถจะรู้ล่วงหน้าถึงการลอยค่าเงินบาทก่อนได้ และไม่สามารถจะทราบล่วงหน้าในการปิดสถาบันการเงินจำนวนมากๆ ได้ ในขณะมีคนบางกลุ่มได้อาศัยการล่วงรู้ข้อมูลลับทางราชการแสวงหาผลกำไรอย่างมหาศาลร่ำรวยบนความเดือดร้อนและคราบน้ำตาของประชาชน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนชาวไทยเป็นล้นพ้น ที่ทรงพระราชทานกระแสพระราชดำรัสแสดงความห่วงใยกับวิกฤตการณ์ปี 2540 เกี่ยวกับนักเก็งกำไรค่าเงินบาทกับระบบค่าเงินบาทเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต เมื่อวันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม 2541 และวันพฤหัสบดีที่ 23 ธันวาคม 2542

วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม 2541 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยกับระบบการลอยค่าการเงินที่ไร้เสถียรภาพในยุคนั้นว่าคนส่วนใหญ่ล่มจม แต่พวก “หัวใส” ซื้อตุนเงินเหรียญสหรัฐ เพราะทราบว่าจะลอยค่าเงิน ดังปรากฏความตอนหนึ่งในกระแสพระราชดำรัสอย่างชัดเจนในครั้งนั้นว่า :

“เขาพูดกันว่า คนที่เป็นนักธุรกิจส่งนอก บอกว่าเดี๋ยวนี้เงินบาทแข็งเกินไป แต่ก่อนนี้เงินบาทลอยไป ไม่ต้องมีเครื่องบิน ไม่ต้องมีบอลลูนหรอก มันลอยขึ้นไป พวกที่หัวใสในทางเก็งราคา ก็เก็งราคาดอลลาร์ ไปซื้อดอลลาร์ เพราะทราบว่าจะลอย ก็ซื้อดอลลาร์มากมายทีเดียว เมื่อลอยก็ขายได้กำไร ถ้าซื้อล้านบาทก็ได้กำไรกลับคืนมาสองล้านบาทภายในไม่กี่เดือน

ถ้าเงินขึ้นลง บางคนที่ไม่เก่งนักซื้อวัตถุดิบมาในราคาแพง แล้วขายสินค้าของเขาในราคาถูก คนเหล่านั้นก็ล่มจม ส่วนใหญ่ นักธุรกิจธรรมดาๆ ก็ไม่ทราบว่าเมื่อไหร่จะขึ้น เมื่อไหร่จะลง ก็เลยผิดจังหวะ เขาก็ล่มจม ในวงการธุรกิจจึงบอกว่าล่มจม ส่วนผู้ที่เรียกว่าฉลาดหรือหัวใสเก็งราคา คือรู้ว่าเงินมีขึ้นมีลง ก็เล็งเอาตอนที่เหมาะสม ซื้อวัตถุดิบมาในราคาถูก และขายสินค้าในราคาแพง อย่างนี้ควบคุมไม่ได้ ก็ทำให้พวกนี้สบาย”


วันพฤหัสบดีที่ 23 ธันวาคม 2542 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีกระแสพระราชดำรัสเกี่ยวข้องกับค่าเงินบาทเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยในปีนั้นทรงพระราชทานคำแปลภาษาอังกฤษจากคำว่า Insider ว่าเป็น “พวกรู้ไส้” ที่ร่ำรวยด้วยการล่วงรู้ข้อมูลและทำกำไรจากค่าเงินบาทภายในไมกี่วัน แต่ทำให้เศรษฐกิจของชาติพัง ดังปรากฎความตอนหนึ่งในกระแสพระราชดำรัสครั้งนั้นว่า :

“พูดมาก่อนนี้แล้ว พูดมาก่อนที่ผู้ที่เป็นตัวละครในการถกเถียงกัน ได้มาอยู่ในตำแหน่งนั้น พูดมานานแล้ว แต่ว่าถ้าเงิน 20 บาท 25 บาทมั่งต่อดอลลาร์ 50 บาทมั่งต่อดอลลาร์ คนที่ ขอใช้คำว่าหัวใส เขารู้ ไปซื้อดอลลาร์ในราคา 25 บาท ไม่กี่วันดอลลาร์ขึ้นเป็น 50 บาท เขาขาย 50 บาทได้กำไร 2 เท่า อย่างนั้นเราเห็นว่าคนได้กำไรเราก็ยินดีด้วย ยินดีด้วยกับเขา ว่าคนไหนรวยก็ดี แต่ที่ไม่ยินดี เพราะว่าคนไหนที่ได้กำไรโดยมีเทคนิคสูงในการแลกเปลี่ยน หรือมีความรู้ รู้ไส้ ฝรั่งเขาเรียกว่าอินไซเดอร์ ถ้าคนไหนรู้ไส้ของเศรษฐกิจชั้นสูงๆอย่างนี้ รวย แต่ว่าคนนั้นรวย ก็อย่างที่ว่า เรายินดีด้วยกับเขา ถ้าเขารวยแล้วใจบุญ แต่ว่าอย่างนี้เศรษฐกิจพัง พังเพราะอย่างนี้ จะไม่พูดว่าอันนี้เป็นทุจริต แต่ว่าได้พูดไปแล้ว”


จากกรณีที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาที่ 5730/2550 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2550 ที่ยกฟ้องคดีความที่นายโภคิน พลกุล ในฐานะอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นโจทก์ ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้อภิปรายญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2540 เรื่องการลดค่าเงินบาท โดยนายสุเทพตั้งข้อสงสัยว่านายโภคินได้นำมติจากที่ประชุมลับเรื่องการลดค่าเงินบาท ไปบอก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้บริษัทของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ประโยชน์ ย่อมแสดงให้เห็นว่าศาลฎีกาได้พิพากษาการอภิปรายของนายสุเทพ เทือกสุบรรณในครั้งนั้นมีมูลเพียงพอที่จะตั้งข้อสงสัยเช่นนั้นได้

คำถามที่หลายคนสงสัยในเวลานี้ก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้รับรู้เรื่องของค่าเงินบาทได้อย่างไร, รู้ตั้งแต่เมื่อไร และนายโภคิน พลกุล เป็นสาเหตุแต่เพียงผู้เดียวตามทีนายสุเทพได้เคยตั้งข้อสงสัย ใช่หรือไม่?

ตามคำพิพากษาศาลฎีการะบุความตอนหนึ่งว่า : พันตำรวจโททักษิณซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจการค้ารายใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบเสียหายรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอย่างผู้ประกอบธุรกิจการค้าใหญ่รายอื่นที่มีหนี้สินเป็นเงินตราต่างประเทศที่ต่างประสบความเสียหายอย่างรุนแรง ย่อมเป็นมูลเหตุเพียงพอที่จะทำให้จำเลยที่ 1 (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายตั้งข้อสงสัยโจทก์ได้

จากการตรวจสอบได้ปรากฏว่า มีคำสัมภาษณ์ของนายนิวัฒน์ บุญทรง ประธานกรรมการสายธุรกิจ มีเดีย บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์แอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ในหนังสือผู้จัดการรายสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7-13 กรกฎาคม 2540 ระบุให้ความเห็นต่อกรณีการลดค่าเงินบาทความตอนหนึ่งว่า :

“ส่วนตัวแล้วผมเห็นด้วยกับนโยบายครั้งนี้ เพราะจะทำให้เงินบาทมีคาตามความเป็นจริงมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา เงินจากต่างประเทศก็จะไหลเข้าประเทศไทยมากขึ้น เห็นได้ชัดจากตลาดหลักทรัพย์ที่ดัชนีพุ่งสูงขึ้นมาก

เห็นด้วยกับการลดค่าเงินบาท เพราะยิ่งช้ายิ่งแย่ ผมคิดว่านักธุรกิจไทยส่วนใหญ่คงเห็นด้วยกับนโยบายนี้ ส่วนผลกระทบกับกลุ่มชินวัตรนั้นมีบ้างแต่ไม่มากนัก เพราะชินวัตรติดตามสถานการณ์เงินบาทอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาเงินกู้ไหนสามารถชำระได้ ก็รีบชำระหรือไม่ก็ทำประกันความเสี่ยงกับสถาบันการเงิน”

และเมื่อตรวจสอบกับงบการเงินของบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2540 ซึ่งเป็นวันปิดงบครึ่งปีก่อนลอยค่าเงินบาทเพียงแค่ 2 วัน พบข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

ประการแรก บริษัทฯ และบริษัทย่อยได้ทำสัญญาซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าและแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย จำนวน 16 ฉบับ เพื่อป้องกันความเสี่ยงขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ยจากการชำระเงินกู้ และดอกเบี้ยภายใต้สัญญาเงินกู้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศเป็นจำนวนเงิน 264,831,200 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ในมูลค่าที่สัญญาไว้เป็นจำนวนเงินรวม 6,775,025,447 บาท ในขณะไตรมาสแรกของปี 2540 ก็ไม่พบหมายเหตุประกอบงบการเงินในลักษณะเดียวกัน

ประการที่สอง บริษัทฯ และบริษัทย่อยได้ทำสัญญาซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าจำนวน 6 ฉบับ เพื่อป้องกันความเสี่ยงขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน จากการชำระเงินกู้ภายใต้สัญญาเงินกู้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศจำนวน 61 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ในมูลค่าที่สัญญาไว้ ณ วันที่ 28 กรกฎาคม 2540 และวันที่ 15 สิงหาคม 2540 เป็นจำนวนเงินอีก 1,592.96 ล้านบาท ในขณะที่ไตรมาสแรกของปีเดียวกันก็ไม่พบหมายเหตุประกอบงบการเงินในลักษณะดังกล่าว

ประการที่สาม บริษัทฯ และบริษัทย่อยพบว่า มีสินค้าคงเหลือจาก 869,541,000 บาท จากไตรมาสแรกของปี 2540 เพิ่มขึ้นกลายมาเป็น 2,196,940,000 บาท มากกว่าไตรมาสแรกถึง 2.52 เท่าตัว และมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 2.14 เท่า

การแสวงหาผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราในช่วงเวลานั้นสามารถทำได้หลายรูปแบบหากมีความเชื่อหรือรู้ข้อมูลว่าจะต้องลดค่าเงินบาท เช่น การซื้อเงินตราต่างประเทศกักตุนเอาไว้ล่วงหน้า, การทำสัญญา SWAP กับธนาคารแห่งประเทศไทย, การกักตุนสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ, การชำระหนี้ต่างประเทศก่อนกำหนด, การกู้เงินบาทจากธนาคารพาณิชย์ในประเทศไปแลกเงินตราต่างประเทศ, การทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงเงินกู้ต่างประเทศ, การที่ต่างชาติซื้อหุ้นด้วยมาร์จิ้นเทขายหุ้นเพื่อนำเงินตราต่างประเทศออกนอกประเทศ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้จากการรู้ข้อมูลภายใน การเก็งกำไรค่าเงินบาท และการโจมตีค่าเงินบาท

ซึ่งการแสวงหาผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยเงินตรานั้น ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการแสดงงบการเงินของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงยังสามารถทำกันในนามส่วนบุคคลซึ่งไม่สามารถที่จะไปตรวจสอบได้ง่ายนัก โดยเฉพาะการโอนเงินหรือการขนเงินเพื่อแลกเปลี่ยนเงินตราใต้ดินที่เรียกกันว่า “โพยก๊วน”

แต่เนื่องจากในเวลานั้น ฐานะของทุนสำรองระหว่งประเทศ และภาระผูกพันของการทำ SWAP ของแบงก์ชาติ ถือเป็นความลับที่สุด ที่คนไทยทั่วไปไม่มีทางที่จะเข้าถึงข้อมูลได้จึงทำให้การเก็งกำไรทำได้ยาก เช่นเดียวกับยุคในปัจจุบัที่หลายคนเชื่อว่าเงินหยวนของจีนจะแข็งค่าขึ้นในวันหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถระบุได้ว่าจะแข็งค่าอีกเท่าใดและเมื่อใด เช่นเดียวกันกับเงินเหรียญสหรัฐที่หลายคนเชื่อว่าจะอ่อนค่าลงไป แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าจะอ่อนค่าที่สุดเมื่อใด

ถึงแม้ว่าจากการประเมินฐานะทางเศรษฐกิจก็น่าเชื่อได้ว่า ค่าเงินบาทควรจะอ่อนค่าลงในวันใดวันหนึ่ง แต่การเก็งกำไรจะทำได้ยากขึ้นไปอีกในปี 2540 เมื่อแบงก์ชาติใช้ทุกวิถีทางในการปกป้องค่าเงิน ทั้งการทำ SWAP มาเพื่อเพิ่มทุนสำรองในการต่อสู้กับการโจมตีค่าเงิน จนกองทุนเฮดจ์ฟันด์ได้พ่ายแพ้ขาดทุนจากการโจมตีค่าเงินบาทไปถึง 2 ระลอก การที่นักธุรกิจจะรู้ล่วงหน้าว่าค่าเงินบาทจะต้องลดค่าเงินลงในวันใดยิ่งทำได้ยากมากขึ้นเป็นหลายเท่าทวีคูณ เพราะไม่รู้หน้าตักที่แท้จริงของแบงก์ชาติว่าเหลืออยู่อีกเท่าใด

โดยเฉพาะมาตรการ “หักดิบ” ที่แบงก์ชาติได้ออกมาเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2540 เพื่อแยกตลาดเงินบาทในประเทศและนอกประเทศออกจากกัน และห้ามนำเงินบาทออกนอกประเทศโดยเด็ดขาด เพื่อทำให้นักเก็งกำไรต่างชาติที่เป็นคู่สัญญา SWAP ไม่สามารถหาเงินบาทมาคืนแบงก์ชาติตามสัญญาได้ เป็นการสร้างอำนาจต่อรองในยามที่แบงก์ชาติมีทุนสำรองร่อยหรอจนจะไม่สามารถหาเงินเหรียญสหรัฐมาคืนตามสัญญา SWAP ให้สามารถเจรจาผ่อนปรนกับคู่สัญญา SWAP ได้

ดังนั้น ช่วงสุดท้ายของสงครามการปกป้องค่าเงินและการโจมตีค่าเงินก่อนที่จะพ่ายแพ้ จึงน่าจะเกิดขึ้นด้วยการผสมโรงของคนไทยด้วยกันเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขนเงินสดที่เป็นเงินบาทไปแลกกับเงินดอลลาร์ที่ชายแดนไทย เพื่อให้นักเก็งกำไรต่างชาตินำเงินบาทไปคืนแบงก์ชาติของไทยตามสัญญา SWAP ได้สำเร็จ

การเก็งกำไรในช่วงเวลานั้นจึงเกิดขึ้นจากคน 2 กลุ่มหลัก กลุ่มแรกคือกลุ่มที่เก็งกำไรจากการตั้งใจร่วมมือกับต่างชาติเพื่อโจมตีถล่มค่าเงินบาท และกลุ่มที่สองคือกลุ่มที่เก็งกำไรจากการรู้ไส้ค่าเงินบาท

สำหรับกลุ่มที่เก็งกำไรจากการตั้งใจร่วมมือกับต่างชาติเพื่อโจมตีถล่มค่าเงินบาทนั้น ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นก่อนปลายเดือนมิถุนายน 2540 ได้ปรากฏคำสัมภาษณ์ของ นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ทีพีไอ จำกัด (มหาชน) ที่เคยเปิดแถลงข่าวเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2548 ว่า

“ในปี 2540 นายจอร์จ โซรอส ได้วางแผนโจมตีค่าเงินบาทของไทย โดยนายจอร์จ โซรอส ได้ติดต่อผ่านบริษัทไฟแนนซ์ขนาดใหญ่ เช่น บริษัท โกลด์แมน แซค บริษัท จีอี แคปปิตอล บริษัท เลห์แมน บราเธอร์ ให้ร่วมกันซื้อขายเงินบาทและดอลลาร์ โดยบริษัทเหล่านี้ได้มาเชิญชวนนายประชัยและนักธุรกิจรายใหญ่ของประเทศรวมทั้งกลุ่มบริษัทสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของประเทศ 2 คน ให้เข้าร่วมกันซื้อ-ขายเงินบาทและดอลลาร์ด้วย

โดยนายจอร์จ โซรอส ต้องการส่วนต่างจากการซื้อขายเงินบาทและดอลลาร์ จำนวน 3 บาท สำหรับนายประชัยกลับคิดว่าการดำเนินการไม่คุ้มกับการทำลายประเทศ ดังนั้นจึงได้ปฏิเสธไม่ร่วมมือด้วย แต่สำหรับกลุ่มบริษัทธุรกิจสื่อสาร 2 คนนั้น ก็ได้ตกลงร่วมทำการซื้อ-ขายเงินบาทและดอลลาร์กับกลุ่มนายจอร์จ โซรอสตั้งแต่ต้นปี 2540 และภรรยาของนักธุรกิจสื่อสารผู้นี้ได้นำเงินบาทซึ่งเป็นเงินสดออกไปประเทศสิงค์โปร์เพื่อไปขายให้ต่างชาติ ให้ต่างชาติมีเงินบาทมาทำการซื้อ-ขายดอลลาร์และโจมตีค่าเงินบาทต่อไป....”

แต่สำหรับ “คนรู้ไส้” ที่ล่วงรู้แนวโน้มการลดค่าเงินบาท ถ้ามีการล่วงรู้ข้อมูลลับทางราชการแล้ว ก็สามารถแบ่งออกเป็นความชัดเจนได้หลายระดับ

ระดับแรก คือการประชุมร่วมกันของผู้บริหารแบงก์ชาติ เมื่อ วันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน 2540 ถือได้ว่ามีความเชื่อมั่นว่าจะต้องมีการลอยค่าเงินบาทอยู่ในระดับหนึ่ง

ระดับที่สอง คือการประชุมร่วมกันของผู้บริหารแบงก์ชาติ กับนายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยที่นายทนง พิทยะ ให้เปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราในวันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน 2540 ถือว่ามีความชัดเจนมากขึ้นค่อนข้างแน่นอน

ระดับที่สาม คือการประชุมของผู้ว่าการและรองผู้ว่าการแบงก์ชาติ ร่วมประชุมร่วมกับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และนายโภคิน พลกุล ในเช้าวันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน 2540 เห็นว่าต้องลอยค่าเงินแน่นอน ถือว่ามีความชัดเจนที่สุด

เพราะเหตุนี้ อัตราในการไหลเงินออกจึงเป็นอัตราเร่งเพิ่มขึ้นทุกวันแบบก้าวกระโดดหลังวันที่ 24 มิถุนายน 2540 โดยมีเงินไหลออกสุทธิเกือบ 5 หมื่นล้านบาทในสัปดาห์สุดท้ายก่อนลอยค่าเงินบาท และแบงก์ชาติมีการทำสัญญา SWAP กับเอกชนในวันที่ 30 มิถุนายน 2540 ถึง 3,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ในวันเดียวเท่านั้น

ถ้าหากมีการรั่วไหลของข้อมูลไม่ว่าในวันใดระหว่างวันที่ 21 – 30 มิถุนายน 2540 ก็สามารถที่จะทำประโยชน์ที่มีความชัดเจนมากขึ้นทุกวันตามระดับของข้อมูลในแต่ละวันเวลา ซึ่งเรื่องนี้แบงก์ชาติควรจะต้องเปิดเผยข้อมูลให้ปรากฏต่อสาธารณชน

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มักจะมีอุปนิสัยที่จะตอบแทนหรือสมนาคุณให้กับคนที่ทุ่มเทหรือทำประโยชน์ให้กับตัวเอง นายโภคิน พลกุล, นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์, นายทนง พิทยะ และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ต่างก็ได้มีตำแหน่งในทางการเมืองและตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลทักษิณอย่างต่อเนื่อง สังคมย่อมเกิดความสงสัยในความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ก่อนลอยค่าเงินบาทครั้งนั้นอย่างหลีกเลี่ยงได้

อย่างน้อยประชาชนจำนวนมากที่ได้รับความเจ็บปวดจากวิกฤตการณ์ ปี 2540 ก็คงอยากให้คนที่คิดไม่ดีต่อบ้านเมือง ได้ชดใช้ผลแห่งกรรมที่ทำเอาไว้กับประชาชน

อ่านเรื่องเกี่ยวเนื่อง
-ถอดรหัสคำพิพากษาศาลฎีกาคดีค่าเงินบาท ย้อนรอยวิกฤต 40 เปิดขบวนการปล้นชาติ - ตอนที่ 1 : เวลา 4 ทุ่ม กับคืนที่ทักษิณรู้ข่าวลดค่าเงินบาท
-เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาคดีลดค่าเงินบาท(ฉบับเต็ม) ไขความลับดำมืด “ทักษิณ” อินไซด์ข้อมูล สะสมทุนตั้งพรรคกินเมือง??

ไม่มีความคิดเห็น: