วันอังคารที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2551

บทเส้นทางสู่เครือข่ายไร้สาย

Permalink : http://www.oknation.net/blog/jigko
วันจันทร์ ที่ 14 เมษายน 2551
บทเส้นทางสู่เครือข่ายไร้สาย Posted by jigko , ผู้อ่าน : 21 , 22:38:59 น. หมวดหมู่ : MobilePhone พิมพ์หน้านี้
พบกันทุกสิ้นปีกับบทความวิเคราะห์สภาพธุรกิจและเทคโนโลยีสื่อสารไร้สาย ต้องยอมรับกันว่าเรื่องราวของเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายตลอดปี พ.ศ. 2548 ที่ผ่านมานั้นไม่มีเรื่องน่าตื่นเต้นหรือเป็นประเด็นสำคัญให้จดจำมากเท่าใด ทั้งในส่วนของเครือข่ายสื่อสารระดับองค์กรที่มาตรฐานสื่อสาร IEEE802.11b ยังคงเป็นตัวเลือกที่ปราศจากผู้ท้าชิง หรือแม้กระทั่งในฝากของเครือข่ายสื่อสารไร้สายสาธารณะอันได้แก่บรรดามาตรฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบต่าง ๆ ที่ตลอดปี พ.ศ. 2548 นี้ มีเพียงการแข่งขันแย่งชิงลูกค้ากันโดยใช้การผสมผสานแพ็กเกจ
<a
href='http://202.44.52.138/sp_ads/adclick.php?n=acf3e4a7'
target='_blank'><img
src='http://202.44.52.138/sp_ads/adview.php?what=zone:3&n=acf3e4a7'
border='0' alt=''></a>ทางการตลาดร่วมกับเทคโนโลยีเสริมพิเศษบางอย่าง ภาพดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นเฉพาะกับประเทศไทย หรือหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น หากแต่เป็นภาพแห่งความเป็นจริงที่เกิดขึ้นทั่วโลก เมื่อมองไปข้างหน้าถึงทิศทางของเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายที่ผ่านเข้ามานั้น จะมองเห็นการปรากฏตัวขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึงแนวคิดในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจในหลาย ๆ รูปแบบ บทความพิเศษเรื่องนี้จึงขอทำหน้าที่หยิบยกประเด็นน่าสนใจที่ควรติดตามเพื่อให้รู้เท่าทันเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายตลอดปี พ.ศ. 2548 ได้อย่างเกาะติดสถานการณ์
WiMAX กับการสร้างแรงผลักดันโลกสื่อสารไร้สายยุคใหม่
เรื่องแรกที่ผู้เขียนขอกล่าวถึงก็คือความพร้อมของเทคโนโลยี WiMAX (Worldwide Interoperability for Microwave Access) ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการพัฒนาข้อกำหนดมาตรฐาน IEEE802.16 เพื่อให้เป็นเครือข่ายสื่อสารไร้สายความเร็วสูง มีพื้นที่ให้บริการครอบคลุมกว้างขวางได้หลายกิโลเมตร ในขณะที่รับประกันความเร็วในการสื่อสารข้อมูลได้ทัดเทียมกับมาตรฐาน WiFi ที่มีใช้งานกันอยู่ในปัจจุบัน เรื่องราวของ WiMAX กำลังได้รับการนำเสนอสู่สาธารณะชนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีการกำหนดเส้นทางพัฒนาของเทคโนโลยีเครือข่ายไว้อย่างชัดเจน เริ่มจากมาตรฐาน IEEE802.16a ที่เป็นรุ่นทดลองสำหรับใช้ในห้องปฏิบัติการ ต่อเนื่องมาถึงมาตรฐาน IEEE802.11d ซึ่งกำลังจะมีกำหนดเปิดตัวผลิตภัณฑ์ทั้งในส่วนของเครื่องลูกข่ายและอุปกรณ์เครือข่ายในช่วงปลายปี พ.ศ. 2548 หลังจากการผลิตชิปเซ็ต WiMAX รุ่นแรกโดยค่ายยักษ์ใหญ่อย่าง IBM และคู่แข่งขันรายอื่น ๆ ซึ่งคาดว่าน่าเกิดขึ้นภายในไตรมาสที่สองของปี พ.ศ. 2548
มาตรฐาน WiMAX รุ่นแรกที่จะเปิดตัวคือ IEEE802.11d นั้นยังไม่สามารถรองรับการใช้งานอุปกรณ์สื่อสารที่มีการเคลื่อนที่ได้ เนื่องจากข้อจำกัดของมาตรฐานการสื่อสารผ่านคลื่นวิทยุ การให้บริการ WiMAX ในขั้นแรกน่าจะอยู่ในรูปของการติดตั้งสถานีฐาน WiMAX เพื่อทำหน้าที่รับส่งสัญญาณคลื่นความถี่วิทยุไปยังอุปกรณ์ CPE (Customer Premises Equipment) ที่ผู้ให้บริการเครือข่าย WiMAX จัดจำหน่ายให้กับผู้ใช้งาน โดย CPE จะทำหน้าที่คล้าย Set-top-box รับสัญญาณคลื่นความถี่วิทยุจากเครือข่าย WiMAX มาทำการแปลงรูปแบบการเชื่อมต่อเป็นแบบ LAN หรือ USB เพื่อส่งต่อไปให้กับเครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์สื่อสารอื่น ๆ ที่ติดตั้งอยู่ภายในอาคารสำนักงานหรือที่พักอาศัย ถือเป็นการให้บริการ Wireless DSL ที่ผู้ให้บริการ ซึ่งอาจเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือผู้ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (ISP) ให้ความสนใจ เพราะมีงบประมาณในการลงทุนต่ำ ไม่ต้องวุ่นวายและเสียงบประมาณในการลงทุนสร้างหรือเช่าเครือข่ายคู่สายนำสัญญาณไปยังอาคารสำนักงานหรือที่พักอาศัยของผู้ใช้บริการ
จริงอยู่ที่ว่าการให้บริการเครือข่ายไร้สายแบบ WiMAX โดยมีข้อจำกัดที่ว่าผู้ใช้บริการไม่สามารถเคลื่อนที่ได้จะไม่อาจสร้างแรงจูงใจต่อการให้บริการได้ เมื่อเปรียบเทียบกับความคล่องตัวในการใช้บริการเครือข่าย WiFi หรือการสื่อสารผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่หากผู้ให้บริการเครือข่าย WiMAX กำหนดกลยุทธ์ในการทำตลาดร่วมกับการวางตำแหน่งของสินค้า (Product Positioning) ที่ชัดเจนว่าจะเริ่มจากการให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบ Wireless DSL เพื่อรองรับการสื่อสารของกลุ่มผู้ใช้งานตามอาคารสำนักงานหรือที่พักอาศัยแล้ว ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการลงหลักปักฐานสร้างเครือข่าย WiMAX เพื่อการพัฒนาต่อไปสู่ขั้นตอนของมาตรฐาน IEEE802.16e ที่รองรับการใช้งานเครื่องลูกข่าย WiMAX ซึ่งสามารถเคลื่อนที่ได้ รวมถึงมาตรฐาน IEEE802.16e+ ที่สนับสนุนการสื่อสารแบบเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง อันเป็นหนึ่งในมาตรฐานการสื่อสารแบบ 4 th Generation (4G) โดยเหตุการณ์เหล่านี้คงจะเกิดให้เห็นชัดเป็นรูปธรรมมากขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2549-2550
ภายในปี พ.ศ. 2548 นี้ เราคงจะได้เห็นการจัดสัมมนาและการเปิดประเด็นในวงการวิชาการและธุรกิจโทรคมนาคมที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุ และนโยบายในการออกใบอนุญาตเพื่อเปิดให้บริการ WiMAX ในประเทศไทย ทั้งนี้เพราะย่านความถี่มาตรฐานที่คณะกรรมการทำงานมาตรฐาน WiMAX ซึ่งมีชื่อเรียกว่า WiMAX Forum (http://www.wimaxforum.org) มีการกำหนดไว้ มีทั้งย่านความถี่ 2.5 GHz, 3.5 GHz และ 5GHz ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่มีความถี่ใดที่ได้รับการจัดสรรเป็นย่านความถี่สาธารณะสำหรับใช้งานในประเทศไทยเลย ผิดกับย่านความถี่ 2.4GHz ที่มีการกำหนดให้ใช้งานอย่างเสรีสำหรับการสื่อสารแบบ Bluetooth และ WiFi ซึ่งมีการใช้งานอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน การเร่งรัดให้คณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กำหนดนโยบายในการออกใบอนุญาตเพื่อให้บริการ WiMAX ก็น่าจะเป็นประเด็นเร่งด่วนที่คาดว่าจะได้ข้อยุติภายในช่วงกลางปี พ.ศ. 2548 ติดตามมาด้วยการแข่งขันเพื่อประมูลหรือดำเนินกระบวนการใด ๆ ให้ได้สิทธิ์ในการเปิดบริการ WiMAX ของบรรดาผู้ประกอบการโทรคมนาคมทั้งหลาย ซึ่งอาจรวมถึงผู้ประกอบการนอกวงการอีกหลายรายที่สนใจเข้ามาแข่งขันแย่งชิงสิทธิ์ในการให้บริการ
เครือข่าย 3G กับการย้อนสูตรสำเร็จของยักษ์ใหญ่แห่งเอเซีย
การสัประยุทธ์ระหว่างผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รายต่าง ๆ ในประเทศไทย กับการปรับเปลี่ยนเป้าหมายทางการตลาดไปสู่การเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายสื่อสารข้อมูลไร้สายอย่างเต็มตัว มิใช่เรื่องใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2548 เราคงเห็นความตั้งใจจริงของผู้ให้บริการแต่ละรายในอันที่จะพัฒนาเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตนจากมาตรฐานแบบ 2G มาเป็น 2.5G และ 2.75G ไม่ว่าจะเป็นค่ายผู้ให้บริการเครือข่าย GSM อันได้แก่ AIS, DTAC และ TRUE หรือผู้ท้าชิงจากค่าย CDMA อย่าง Hutch ซึ่งเร่งรีบพัฒนาเครือข่ายของตนให้รองรับมาตรฐานสื่อสารแบบ cdma2000 1xEV-DO ที่ถือว่าเป็นมาตรฐานเครือข่ายแบบ 3G เหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตลอดปี พ.ศ. 2547 เพียงแต่ว่าผู้ให้บริการเหล่านี้ยังไม่อาจสร้างกระแสความนิยมใช้งานที่รุนแรง จนส่งผลให้เกิดการขยายตัวของการใช้ประโยชน์เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับสื่อสารข้อมูลจนถึงระดับมวลชน (Mass Market) วัดได้จากปริมาณการใช้งานข้อมูลซึ่งไม่สูงมากนัก บริการสื่อสารข้อมูลที่สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้กับผู้ให้บริการเครือข่ายเหล่านี้ ส่วนใหญ่ยังเป็นข้อมูลที่มีขนาดเล็ก เช่น การดาวน์โหลดรูปภาพ หรือการส่งรูปถ่าย ซึ่งยากที่จะนำมาตั้งเป็นสมมติฐานถึงความสำเร็จอย่างงดงาม หากจะมีการพัฒนาเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เหล่านี้ไปเป็นมาตรฐาน 3G
นอกจากนั้นเมื่อพิจารณาในแง่ของช่องทางและสิทธิ์ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายต่าง ๆ แล้ว จะเห็นได้ว่ามี Hutch เพียงรายเดียวเท่านั้นที่สามารถก้าวไปสู่การให้บริการเครือข่าย 3G เนื่องจากมาตรฐาน cdma2000 มีการกำหนดเส้นทางในการพัฒนาเครือข่ายจากยุค 2G ไปเป็น 3G ที่ไม่ต้องใช้ย่านความถี่ใหม่ ในขณะที่บรรดาผู้ให้บริการเครือข่าย GSM ต้องปรับไปใช้งานย่านความถี่ 2GHz เพื่อเปิดให้บรีการ 3G ควบคู่ไปกับการลงทุนวางเครือข่าย 3G ขึ้นต่างหาก นอกเหนือไปจากการสร้างเครือข่าย 2.75G ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อผู้ให้บริการเครือข่ายในตระกูล GSM เนื่องจากติดขัดที่การขอใบอนุญาตใช้งานความถี่ 2G ซึ่งต้องจนกว่าจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) เสียก่อน ซึ่งในปัจจุบันก็ยังไม่ทราบว่าจะเกิดได้เมื่อไร
กิจการร่วมค้าไทย - โมบาย ซึ่งเป็นเพียงผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ GSM เพียงรายเดียวที่มีสิทธิ์ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G มาตรฐาน Wideband Code Division Multiple Access (W-CDMA) กำลังกลายเป็นดาวดวงเด่นที่สร้างบริการ 3G ขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากการเปิดให้บริการ W-CDMA ของไทย - โมบาย จะกลายเป็นช่องทางทางธุรกิจที่สามารถเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ GSM รายอื่น ๆ ขอร่วมใช้เครือข่ายโดยมีการกำหนดผลตอบแทนทางธุรกิจที่เหมาะสม ซึ่งการดำเนินกิจการในลักษณะดังกล่าวเป็นรูปแบบปกติที่มีการนิยมทำกันในหลาย ๆ ประเทศ ผลในท้ายที่สุดก็คือประเทศไทยจะเริ่มมีการให้บริการเครือข่ายสื่อสารไร้สายสาธารณะแบบ 3G กันขึ้น โดยมีทั้งมาตรฐาน W-CDMA และ cdma2000 1xEV-DO ที่สมบูรณ์แบบภายในปี พ.ศ. 2548 นี้
ถึงจุดนี้การวางกลยุทธ์เพื่อสร้างบริการในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านเครือข่าย 3G ก็จะเริ่มชัดเจนขึ้น เมื่อพิจารณาถึงความเร็วในการสื่อสารข้อมูลผ่านเครือข่าย 3G ที่แม้จะมีค่าไม่มากนักหากเทียบกับการสื่อสารแบบ WiFi กล่าวคือ 384kbps สำหรับมาตรฐาน W-CDMA และ 2Mbps สำหรับมาตรฐาน cdma2000 1xEV-DO แต่ทั้งสองมาตรฐานก็มีเส้นทางในการพัฒนาขีดความสามารถเพื่อรองรับความเร็วในการสื่อสารที่สูงขึ้น โดยในท้ายที่สุดก็จะสามารถเทียบชั้นได้กับมาตรฐาน WiFi ที่กำลังมีบทบาทเป็นตัวเปรียบเทียบในใจผู้บริโภค เชื่อได้ว่าบรรดาผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็จะเริ่มกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจรวมถึงตำแหน่งทางการตลาด (Market Positioning) ของตนเองที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้รวมถึงบรรดาผู้ให้บริการเครือข่ายที่ได้รับสิทธิ์เปิดให้บริการเทคโนโลยี WiMAX ซึ่งจะยิ่งมีเขี้ยวเล็บในการแข่งขันแย่งชิงตลาดเหนือคู่แข่งรายอื่น ๆ
การศึกษากลยุทธ์ด้านบริการจากบริษัทผู้ให้บริการเครือข่าย 3G ที่ประสบความสำเร็จจะกลายเป็นอีกหนึ่งในสูตรสำเร็จของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ไม่ว่าจะเป็นการเดินตามรอยความสำเร็จของธุรกิจ 3G ในประเทศญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ ที่กลายเป็นตำนานคลาสสิคของธุรกิจสื่อสารไร้สายในระดับโลก หรือแม้กระทั่งการจับมือเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศเหล่านั้น เพื่อร่วมกันคิดสร้างบริการที่เหมาะสมกับผู้บริโภคชาวไทย ทั้งกลุ่มองค์กร หรือผู้บริโภคทั่วไป ทั้งบริการในระดับมวลชน (Mass Product) หรือบริการเฉพาะเจาะจงกลุ่มผู้ใช้งาน (Segmented Product) สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะกลายเป็นเรื่องสำคัญที่สร้างปรากฏการณ์สื่อสารไร้สายในรูปแบบใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในบ้านเราภายในปี พ.ศ. 2548 สิ่งที่มีความเป็นได้ประการหนึ่งสำหรับกลุ่มลูกค้าระดับองค์กรก็คือ การคิดค้นบริการแบบ Corporate Wireless Solution (CWS) หรือการเปิดให้องค์กรได้ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสื่อสารไร้สายความเร็วสูงเหล่านี้ โดยมีการออกแบบบริการพิเศษเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการ และสร้างความน่าเชื่อถือในแง่ของการรักษาความปลอดภัยให้กับข้อมูลข่าวสารภายในองค์กร ผู้ที่สนใจรายละเอียดของการให้บริการแบบ CWS สามารถติดตามได้จากบทความชุด “ Corporate Wireless Solution ทางเลือกสำหรับการสื่อสารไร้สายระดับองค์กร ” ซึ่งผู้เขียนตีพิมพ์ลงในนิตยสารไมโครคอมพิวเตอร์เช่นเดียวกัน
Convergence Charging นวัตกรรมที่กำลังมาแรง
เรื่องที่หลาย ๆ ฝ่ายมองข้าม หรือมิฉะนั้นก็เข้าใจว่าเป็นประเด็นที่ไม่สลักสำคัญก็คือแนวทางในการเชื่อมต่อระบบจัดการ (Back office) ของเครือข่ายไร้สายชนิดต่าง ๆ เข้าหากัน เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการใช้งานเครือข่ายของผู้ใช้บริการรายเดียวกันได้ อันจะนำไปสู่ความสามารถในการคิดเงินค่าบริการแบบเบ็ดเสร็จ ผู้เขียนขอตั้งประเด็นไว้ให้คิดว่าในเมื่อปัจจุบันอุปกรณ์สื่อสารยุคใหม่ต่างก็ได้รับการออกแบบให้สามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายสื่อสารไร้สายได้หลากหลายชนิดตามสภาพการณ์จะอำนวย ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ PDA ที่มีการติดตั้งทั้งการ์ดสื่อสารแบบ Wireless LAN พร้อมทั้งสามารถสื่อสารกับเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2.5/2.75G หรือเครื่องคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คที่ติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารแบบ WiFi ไว้ในตัว ซึ่งในอนาคตน่าจะครอบคลุมรวมถึงอุปกรณ์สื่อสาร WiMAX ด้วย มีแนวโน้มที่ผู้คนกลุ่มหนึ่งจะติดตั้งแผงวงจรสื่อสารแบบ PCMCIA รุ่นใหม่ ๆ ที่สามารถสื่อสารกับเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้หลาย ๆ ชนิดพร้อม ๆ กัน ในลักษณะ Dual Mode/Multi Mode Air Card เช่นเลือกจับใช้งานเครือข่าย GSM หรือ cdma2000 หรือแม้กระทั่งกับเครือข่าย W-CDMA โดยขึ้นกับเงื่อนไขของระดับความแรงสัญญาณ และการลงทะเบียนใช้งาน
ปัจจุบันมีผู้ให้บริการเครือข่ายสื่อสารไร้สายหลาย ๆ รายทั่วโลก ที่เปิดให้บริการทั้งเครือข่าย GSM/GPRS/EGDE พร้อม ๆ ไปกับการให้บริการ WiFi โดยเปิดโอกาสให้ลูกค้าผู้ใช้บริการของตนสามารถเลือกจับใช้งานเครือข่ายเพื่อการสื่อสารข้อมูลได้ตามความต้องการและเงื่อนไขการใช้งาน ที่เห็นได้ชัดในประเทศไทยก็คือการเปิดให้บริการในลักษณะเช่นเดียวกันนี้ของบริษัท TRUE โดยผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ TA Orange สามารถใช้บริการ WiFi ได้ในพื้นที่ที่ออกแบบเป็น Hot Spot เช่นร้านอาหาร, โรงภาพยนตร์, ห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ โดยยังคงสามารถติดต่อสื่อสารข้อมูลได้ตามปกติ แต่จะได้รับความเร็วในการสื่อสารมากขึ้น ทั้งนี้ผู้ใช้บริการจำเป็นต้องปรับหรือเปลี่ยนอุปกรณ์สื่อสารของตนให้สามารถรองรับได้ทั้งการติดต่อสื่อสารกับเครือข่าย WiFi และ GSM
แนวโน้มดังกล่าวน่าจะเริ่มชัดเจนมากยิ่งขึ้น จนอาจเรียกได้ว่ากลายเป็นหนึ่งในเงื่อนไขการแข่งขันระหว่าง “ กลุ่ม” ผู้ให้บริการเครือข่ายไร้สาย ซึ่งอาจเป็นกลุ่มบริษัทเดียวกันที่มีธุรกิจย่อยเกื้อหนุนกัน หรือเป็นการจับมือข้ามค่ายระหว่างผู้ประกอบการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่กับผู้ให้บริการ WiFi ยิ่งต่อไปก็อาจมีการเพิ่มการให้บริการเครือข่าย WiMAX เข้าไปในกลุ่มด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของผลิตภัณฑ์ประเภทอุปกรณ์สื่อสารไร้สายที่มีการผลิตออกสู่ตลาดว่ารองรับได้กี่มาตรฐาน ระดับราคาสูงหรือไม่ และมีจำนวนรุ่นหลากหลายเพียงใด ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นพื้นฐานสำหรับการขยายขอบเขตของกลุ่มผู้บริโภคเทคโนโลยีแบบผสมผสานเหล่านี้ ซึ่งในมุมมองของผู้ใช้บริการแล้วจะรู้สึกว่าได้รับความสะดวกจากการให้บริการของเครือข่าย เนื่องจากสามารถใช้เครือข่ายต่าง ๆ ที่เป็นพันธมิตรร่วมกันในการบริโภคข่าวสารข้อมูลโดยไม่ต้องกังวลใจถึงความแตกต่างทางเทคนิค หรือขอบเขตความเป็นเจ้าของของแต่ละเครือข่ายแต่อย่างใด
แนวโน้มทางเทคโนโลยีเครือข่ายที่สำคัญที่จะเกิดตามมาก็คือ การหาทางเชื่อมต่อระบบ Bank-end ของเครือข่ายต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่มาตรฐานต่าง ๆ เครือข่ายสื่อสารไร้สายอย่าง WiFi หรือ WiMAX ของผู้ให้บริการรายเดียวกัน หรือระหว่างผู้ให้บริการเครือข่ายที่จับมือเป็นพันธมิตรกัน รวมถึงการเปิดให้บริการเชื่อมต่อเครือข่ายไร้สายระหว่างผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่กับเครือข่ายสื่อสารภายในองค์กร ดังเช่นในกรณีของธุรกิจ CWS เพื่อทำให้สามารถคำนวณและคิดค่าบริการใช้งานได้อย่างถูกต้องและมีความละเอียด ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการสื่อสารข้อมูลผ่านเครือข่ายชนิดต่าง ๆ ได้อย่างไร้ข้อติดขัด ( Seamless Roaming ) ได้อย่างแท้จริง เทคโนโลยี Convergence Charging ซึ่งได้รับการคิดค้นมาเพื่อรองรับความต้องการดังกล่าวจึงน่าจะได้รับการนำมาใช้งานอย่างจริงจัง
อุปกรณ์สื่อสารไร้สายอันหลากหลาย
อันที่จริงแล้ว สามารถกล่าวได้ว่าบรรดาเครื่องมือสื่อสารไร้สายชนิดต่าง ๆ ที่มีการจำหน่ายในช่วงปี พ.ศ. 2547 ที่ผ่านมานี้ เริ่มมีแนวโน้มของการออกแบบให้เป็นอุปกรณ์สื่อสารไร้สายแบบเบ็ดเสร็จมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คที่ค่ายผู้ผลิตรายใหญ่เลือกที่จะติดตั้งอุปกรณ์รับส่งแบบ WiFi และ Bluetooth ให้เป็นฟังก์ชั่นมาตรฐาน ทำให้สามารถติดต่อสื่อสารกับเครือข่ายส่วนบุคคล (Personal Network) ผ่านทางเครือข่าย Wireless LAN และแลกเปลี่ยนข้อมูลกับอุปกรณ์สื่อสารอื่น ๆ ผ่านทางมาตรฐานเชื่อมต่อ Bluetooth ได้อย่างง่ายดาย แม้ในส่วนของตลาดอุปกรณ์สื่อสารประเภท PDA ก็มีนวัตกรรมการออกแบบที่ไม่แตกต่างจากตลาดโน๊ตบุ๊คมากนัก
สำหรับสินค้ากลุ่มโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้งที่เป็นกลุ่มที่ได้รับการออกแบบให้มีรูปลักษณ์เป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่ว ๆ ไป หรือกลุ่มที่ถูกกำหนดให้เป็นเครื่องแบบ Smartphone ซึ่งอาจมีคุณลักษณะและศักยภาพทัดเทียมกับ PDA หลาย ๆ รุ่น ต่างก็ได้รับการเสริมเพิ่มความสามารถในการติดต่อสื่อสารมากขึ้น บรรดาเครื่องในกลุ่มตลาดบน (High-end Product) มีฟังก์ชั่นการติดต่อสื่อสารแบบพิเศษมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น SyncML, USB, IrDA และ Bluetooth) จริงอยู่ที่ว่าหากมีการเสริมเติมความสามารถในการสื่อสารไร้สายอื่น ๆ เข้าไปในตัวเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่มากไปกว่านี้ เช่น เพิ่มความสามารถในการสื่อสารแบบ WiFi เข้าไป จะทำให้สินค้าแลดูแปลก และยากที่จะกำหนดเป้าหมายทางการตลาดได้อย่างชัดเจน แต่ผู้เขียนก็มีความเชื่อว่าในกลุ่มของอุปกรณ์ประเภท Smartphone ซึ่งมีความคาบเกี่ยวกับเครื่อง PDA ไร้สาย น่าจะมีแนวคิดในการรวมมาตรฐานการสื่อสารไร้สายแบบต่าง ๆ เข้าไว้รวมกัน โดยชูจุดขายในแง่ของการเป็นเครื่องมือสื่อสารแบบ Multi-Network Standard แต่ทั้งนี้สิ่งที่จะสามารถสร้างรายได้ให้กับผู้จำหน่ายเครื่องลูกข่าย รวมทั้งส่งผลต่อการเพิ่มรายได้ของผู้ให้บริการเครือข่ายต่าง ๆ ก็คือการคิดอ่านหาทางเปิดให้บริการ Seamless Roaming เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ที่ตนจะได้รับจากการซื้อเครื่องมือสื่อสารแบบ Multi-Network Standard เหล่านี้มาใช้งาน
บรรดาอุปกรณ์ต่อพ่วงประเภท Wireless Network Adapter เช่น การ์ดแบบ PCMCIA ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแปลงสัญญาณและติดต่อสื่อสารกับเครือข่ายสื่อสารไร้สายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเครือข่าย GSM/GPRS/EDGE เครือข่าย cdma2000-1X เครือข่าย WiFi หรือแม้กระทั่งเครือข่าย WiMAX น่าจะมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น อันจะส่งผลให้ทำให้ระดับราคาของอุปกรณ์ต่อพ่วงเหล่านี้ต่ำลงกว่าในปัจจุบันที่ส่วนใหญ่อยู่ในระดับราคา 8,000 – 9,000 บาทขึ้นไป นอกจากนั้นความต้องการเพิ่มศักยภาพในการสื่อสารให้กับอุปกรณ์ PDA หรือเครื่องคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก จะเป็นแรงผลักดันที่ดี ทำให้เกิดการพัฒนาอุปกรณ์ต่อพ่วงในลักษณะ Combo Card ซึ่งรวมมาตรฐานการสื่อสารแบบต่าง ๆ ไว้ด้วยกันมากขึ้น เช่น สามารถติดต่อได้ทั้งกับเครือข่าย GPRS และ WiFi หรือติดต่อได้ทั้งเครือข่าย GPRS/EDGE, cdma2000-1x และ WiFi โดยเน้นการเจาะตลาดกลุ่มบนที่มีความต้องการติดต่อสื่อสารได้ตลอดเวลา
อุปกรณ์สื่อสารอีกประเภทหนึ่งที่จะละเว้นกล่าวถึงไปไม่ได้ก็คือบรรดาอุปกรณ์ CPE ต่าง ๆ ที่น่าจะเริ่มมีการนำเข้ามาทำตลาดภายในปี พ.ศ. 2548 หลังจากเริ่มมีการทดลองให้บริการเครือข่าย WiMAX ในบ้านเรา ทั้งนี้ดังได้กล่าวมาแล้วว่ามาตรฐาน WiMAX ในระยะแรก (IEEE802.16d) รองรับเฉพาะการสื่อสารแบบที่ผู้ใช้งานไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ รูปแบบการให้บริการที่จะเกิดขึ้นก็ย่อมต้องเป็นการเปิดบริการ Wireless DSL ซึ่งบรรดาผู้ให้บริการ WiMAX จะต้องทำหน้าที่ผลักดันให้เกิดกระแสนิยมติดตั้งอุปกรณ์ CPE อันเทียบได้กับ DSL Router หรือ DSL MODEM ในกรณีของคู่สายบรอดแบนด์ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน โดย CPE จะทำหน้าที่รับและส่งสัญญาณกับเครือข่ายสถานีฐาน WiMAX ผ่านคลื่นความถี่วิทยุ พร้อมแปลงสัญญาณดังกล่าวเพื่อให้สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ต่าง ๆ โดยมีตัวเลือกได้ทั้งเป็นพอร์ตแบบ Ethernet LAN หรือ USB ทั้งนี้ผู้ใช้งานภายในอาคารสำนักงานหรือที่พักอาศัยก็จะสามารถนำสัญญาณที่ส่งออกมาจากอุปกรณ์ CPE ไปเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายคอมพิวเตอร์ภายในบ้านหรือสำนักงานต่อไป
แนวโน้มและทิศทางธุรกิจสื่อสารไร้สาย พ.ศ. 2548
เมื่อกล่าวถึงทิศทางของเทคโนโลยีเครือข่ายและอุปกรณ์สื่อสารไร้สายที่จะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2548 ไปแล้ว ก็น่าที่จะกล่าวต่อไปถึงทิศทางของธุรกิจไร้สายในปี พ.ศ. 2548 ประเด็นสำคัญที่จะนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างหน่วยธุรกิจต่าง ๆ เพื่อผลักดันนวัตกรรมของการให้บริการชนิดใหม่ ๆ น่าจะอยู่ที่ความหลากหลายของมาตรฐานสื่อสารไร้สาย และความเร็วในการสื่อสารที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะกระตุ้นให้สามารถสร้างบริการถ่ายโอนฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Database Transfer) การสื่อสารแบบมัลติมีเดีย ที่อาจจะเริ่มต้นจากการสนทนาแบบเห็นภาพได้ (Video Call) ทั้งหมดนี้มีความเป็นไปได้ว่าบรรดาผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รายต่าง ๆ ซึ่งล้วนมีศักยภาพในการให้บริการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงโดยอาศัยเทคโนโลยีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น EDGE, cdma2000 1X หรือแม้กระทั่ง 3G W-CDMA จะเริ่มแข็งขันแย่งชิงตลาดในกลุ่มองค์กร โดยสร้างบริการพิเศษต่าง ๆ ร่วมกับเทคโนโลยีไอทีที่มีการใช้งานอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น การร่วมมือกับกลุ่มโรงพยาบาลชั้นนำ เพื่อเปิดให้บริการ Wireless Hospital Information Service โดยใช้การสื่อสารผ่านเครือข่ายไร้สายเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลของผู้ป่วย ร่วมกับการสื่อสารแบบเห็นภาพโดยใช้เทคโนโลยี Video Call ในกรณีที่เกิดการผ่าตัดหรือรักษาด่วนนอกสถานที่ โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยดูรายละเอียดและให้คำแนะนำจากอีกสถานที่หนึ่ง ในอนาคตเทคโนโลยีสามารถพัฒนาไปใช้งานเครือข่ายขนาดใหญ่อื่น ๆ เช่น WiMAX ได้ในทันทีที่มีความพร้อมในด้านของเครือข่ายและอุปกรณ์เครื่องลูกข่าย
การนำบริการ Location Base Service หรือ LBS ซึ่งสามารถระบุตำแหน่งที่อยู่ของเครื่องลูกข่าย ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรืออุปกรณ์ PDA มาพัฒนาให้เกิดเป็นแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ แม้จะยังคงได้รับการต่อต้านอย่างมากผู้บริโภคจำนวนหนึ่งในแง่ของการละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคล จนทำให้ค่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หลายรายที่มีแนวคิดเปิดให้บริการในลักษณะนี้ต้องคิดทบทวนแผนการตลาดใหม่ แต่ก็มีแนวโน้มที่ดีว่าเริ่มปรากฏความต้องการบริการ LBS ในตลาดเฉพาะกลุ่มบางราย ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเติบโตมากขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งอุปกรณ์นำร่องแบบ Traffic Navigation ในรถยนต์ช้ำนำบางรุ่น หรือแม้กระทั่งความจำเป็นในการทำระบบ Fleet Tracking Management ในยานพาหนะของบริษัทขนส่งต่าง ๆ ซึ่งหากตลาดในกลุ่มมีการเติบโตขึ้นจริง เราคงได้เห็นความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่กับองค์กรหลาย ๆ แห่งในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี LBS โดยมีการเร่งผลิตแอปพลิเคชั่นเฉพาะด้านออกมาใช้งานมากขึ้น
ในส่วนสุดท้ายของบทความนี้ ผู้เขียนขอนำเสนอตัวอย่างกรณีศึกษาของการสร้างธุรกิจต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของเครือข่ายสื่อสารไร้สาย โดยเป็นแนวทางการทำธุรกิจของบริษัท KDDI ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่มาตรฐาน cdma2000-1x ในประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้ประกอบการที่นับว่าประสบความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ของการทำธุรกิจสื่อสารไร้สาย และเป็นอีกหนึ่งในบรรดาแม่แบบสำคัญที่อุตสาหกรรมสื่อสารไร้สายทั่วโลกให้ความสำคัญนำไปทดลองประยุกต์ใช้งาน แม้จะเป็นกรณีศึกษาที่เน้นไปยังเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่มากกว่าเครือข่าย WiFi หรือ WiMAX แต่ก็ถือเป็นกรณีศึกษาคลาสสิคที่สามารถหยิบยกไปประยุกต์ใช้ได้กับเครือข่ายสื่อสารไร้สายแบบอื่น ๆ ขอเพียงให้มีพื้นฐานขีดความสามารถทางเทคนิคที่เป็นไปในลักษณะเดียวกัน
ส่งท้าย
เป็นธรรมเนียมที่จะต้องกล่าวปิดท้ายและสรุปถึงทิศทางของเทคโนโลยีและธุรกิจสื่อสารไร้สายในประเทศไทย สำหรับในปี พ.ศ. 2548 นี้ การเติบโตของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งเป็นแกนหลักของธุรกิจสื่อสารไร้สายไทยน่าจะมีความชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากการอิ่มตัวของฐานผู้บริโภค จำนวนเลขหมายโดยรวมอาจไม่เพิ่มมากขึ้นมากนัก การแข่งขันแย่งชิงฐานลูกค้าและการเสื่อมความภักดีในตราสินค้า (Declining Brand Awareness) จะปรากฏชัดเจนมาก สิ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บรรดาผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายเริ่ม “ คิดใหม่ - ทำใหม่ ” มองหาลู่ทางในการทำธุรกิจสื่อสารไร้สายที่แตกต่างจากแนวทางเดิม ๆ ที่จับเฉพาะตลาดกลุ่มผู้บริโภคขนาดใหญ่และเน้นการสื่อสารส่วนบุคคล (Mass and Personal Communication Market) ไปเป็นการนำเทคโนโลยีเสริมต่าง ๆ เข้ามาประกอบร่วมกับการให้บริการมากขึ้น พร้อม ๆ ไปกับการเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม และเปลี่ยนบทบาทในการให้บริการออกไปจากเดิม สิ่งนี้เองที่จะกระตุ้นให้องค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และบริษัทเอกชน มีส่วนร่วมในการสร้างและใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสื่อสารไร้สายในรูปแบบที่ตรงกับความต้องการของตนมากขึ้น เมื่อผู้ให้บริการเครือข่ายไร้สายสาธารณะเริ่มมองหาตลาดเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ในขณะที่มีเทคโนโลยีเสริมทดแทน เช่น WiFi หรือ WiMAX ปรากฏชัดเจนขึ้น ในขณะที่ช่องว่างระหว่างผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มองค์กร กับผู้ประกอบการเครือข่ายเริ่มแคบลง ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการพัฒนารูปแบบการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสื่อสารไร้สายได้หลากหลายยิ่งกว่ายุคก่อน ๆ ที่ผ่านมา
บทความโดย อ.ไพโรจน์ ไววานิชกิจ (wpairoj@chula.com) - เว็บไซต์ http://www.pairoj.comร่วมแสดงความเห็นของคุณ "3G บนเส้นทางสู่เครือข่ายไร้สาย 2005" :http://board.siamphone.com/viewtopic.php?t=143937
*** ก็อปเค้ามา มันเก่าแล้วแหละ แต่เผื่อบางคนอยากรู้ และไม่รู้***

ไม่มีความคิดเห็น: