วันศุกร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2551

ผู้หญิงพลัดถิ่นจากพม่า ได้บอกเล่าเรื่องราวของการถูกทารุณกรรมทางเพศ

วันเสาร์ ที่ 12 เมษายน 2551
ความจริงของการลี้ภัย..จากพม่า
Posted by phenuz , ผู้อ่าน : 25 , 09:51:37 น.
พิมพ์หน้านี้

ข้อมูลที่เราเองควรจะรู้และตระหนักถึงความจริงของการลี้ภัย

มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (SHRF) ได้ประมาณการตัวเลขของผู้อพยพที่เพิ่มสูงกว่าตัวเลขของทางการไทย โดย หลังจากมีนาคม 2539 เป็นต้นมา อันเป็นปีที่รัฐบาลทหารพม่าเริ่มนโยบายการอพยพโยกย้ายชาวบ้านในตอนกลางของรัฐไทใหญ่ มีชาวไทใหญ่ไม่น้อยกว่า 8,000 ถึง 15,000 คน หนีตายเข้ามาในไทย ซึ่ง 47% ของชาวบ้านเหล่านี้มีอายุอยู่ระหว่าง 17 ปีหรือต่ำกว่านั้น และ 45 ปี หรือสูงกว่านั้น ซึ่งชี้ให้เห็นว่า การอพยพดังกล่าว เป็นการหนีมาของทั้งครอบครัว ไม่ใช่การอพยพมาหางานทำแบบปกติ ทั้งนี้ ข้อค้นพบดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าความคิดของรัฐไทย หรือกระทั่งคนไทยทั่วไปที่มีต่อการอพยพของชาวไทใหญ่ ว่าเป็นเพียงมางานทำ จึงไม่ถูกต้องนัก (SHRF 2545)




นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2539 เป็นต้นมา ทหารพม่าได้ทำการบังคับโยกย้ายชาวบ้านไม่น้อยกว่า 1,400 หมู่บ้าน ในพื้นที่กว่า 7,000 ตารางไมล์ ในรัฐไทใหญ่ตอนกลาง ซึ่งยังผลให้ชาวไทใหญ่ไม่น้อยกว่า 300,000 คน ถูกบังคับให้อพยพออกจากบ้านเกิดของตน เข้าไปอยู่ในพื้นที่รองรับทางยุทธศาสตร์ ชาวบ้านเหล่านี้ ได้ถูกบังคับให้เป็นแรงงาน ในโครงการต่างๆของพม่า ขณะเดียวกัน ก็มีชาวบ้านอีกจำนวนไม่น้อยที่พากันหลบหนี และลี้ภัยอยู่ในเขตป่า และอีกกว่าครึ่งล้านคนที่พากันหนีอพยพเข้ามาในไทย ที่ซึ่งสถานะภาพของผู้ลี้ภัยของชาวไทใหญ่ไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลไทย




จากสถิติในช่วงปี พ.ศ.2545-2547 ลำพังบริเวณชายแดนอำเภอไชยปราการ ฝาง และแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ มีชาวไทใหญ่เดินทางจากเมืองต่างๆในรัฐไทใหญ่เข้าสู่ไทยปีละไม่น้อยกว่า 10,000 คน บางเดือนสูงถึง 1,000 คน โดยชาวบ้านเหล่านี้ มาจาก เมืองลายค่า เมืองนาย เมืองกึ๋ง เมื่องน้ำจั๋ง เมืองปั่น เมืองขุนหิ้ง เมืองปูโหลง ฯลฯ ซึ่งเป็นเมืองที่ทหารพม่ามักเข้าไปยึดเอาทรัพย์สินจากคนไทใหญ่ทั้งสิ้น




จากการสัมภาษณ์และพูดคุยกับผู้หญิงพลัดถิ่นที่เดินทางมาจากพม่า ในระหว่างเดือนมกราคม 2544 ถึงมีนาคม 2545 โดย หน่วยงานที่ทำงานกับผู้พลัดถิ่นจากพม่า คือ เครือข่ายผู้หญิงไทใหญ่ (SWAN) และ มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (SHRF) อันเป็นที่มาของรายงานใบอนุญาติข่มขืน (Licence to Rape) ได้พบข้อมูลอันน่าสลดใจว่า ผู้หญิงที่ให้สัมภาษณ์จำนวน 173 คน ได้บอกเล่าเรื่องราวของการถูกทารุณกรรมทางเพศ ที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานกว่า 5 ปี (2539-2545) โดยทหารพม่า ซึ่งกระทำต่อผู้หญิงและเด็กสาวชาวไทใหญ่จำนวน 625 คน โดยในแทบทุกกรณีเป็นการข่มขืนต่อหน้ากองทหารพม่า



วิธีการข่มขืนเป็นไปอย่างโหดร้ายและทารุณ โดยเหยื่อกว่า 25 % เสียชีวิตจากการข่มขืน ในขณะที่ 61% ถูกข่มขืนรวมหมู่ จำนวนไม่น้อยของเหยื่อเหล่านี้ถูกกักขังเพื่อการข่มขืนต่อเนื่องในตลอดช่วงเวลาที่กองทหารพม่าประจำการอยู่ บางรายเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 4 เดือน พื้นที่ของการข่มขืนส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณตอนกลางของรัฐไทใหญ่ ที่ซึ่งชาวบ้านกว่า 300,000 คนถูกใช้กำลังบังคับให้ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในพื้นที่รองรับการอพยพนับแต่ปี 2539 เป็นต้นมา



การข่มขืนจำนวนมาก เป็นผลพวงมาจากการฝึกอบรมอย่างเป็นระบบของทหารพม่า ในการใช้การข่มขืนเป็นเครื่องมือสำคัญในปฏิบัติการล้างเผ่าพันธุ์



การใช้ความรุนแรงและกำลังทางทหาร นับเป็นคุณลักษณะของรัฐแบบเก่า ที่รัฐบาลพม่าใช้เป็นยุทธวิธีอย่างต่อเนื่อง โดยตัวอย่างของแนวทางดังกล่าว ได้แก่ นโยบายตัดสี่ (ตัดอาหาร ข่าว เงินทุน และกำลังคนของกองกำลังกู้ชาติทั้งหลาย) ที่ได้ดำเนินการมานับแต่ปี 2518 ได้กลายเป็นยุทธศาสตร์หลักของรัฐบาลทหารพม่าในการขยายแสนยานุภาพของตนไปยังพื้นที่ชายขอบทั้งหลาย ซึ่งได้นำมาซึ่งการทำลายพืชผล อาหาร ทรัพย์สิน การทรมานและสังหารผู้ต้องสงสัย การข่มขืน เฆี่ยนตี และการบังคับพลัดถิ่นภายในรัฐ ของชาวไทใหญ่จำนวนมาก


การเดินทางข้ามพรมแดนของผู้หญิงพลัดถิ่นจากพม่า จึงไม่ได้เพียงเป็นเรื่องราวของผู้หญิงที่ต้องการเข้ามาหางานทำ ในประเทศที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจมากกว่าเท่านั้น แต่กลับได้แบกเอาความทรงจำอันโหดร้ายมาตลอดเส้นทาง




ข้อมูลจาก


พรมแดน รัฐชาติ และเส้นทางการต่อสู้ของผู้หญิง โดยดร. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ไม่มีความคิดเห็น: