วันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2551

มจธ.เปิดโลกกว้างให้น้อง กับโครงการ 2B-KMUTT

มจธ.เปิดโลกกว้างให้น้อง กับโครงการ 2B-KMUTT

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 16 เมษายน 2551 17:15 น.



คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น

ปังปอนด์ กับผลงานนิทานที่ตั้งใจทำ


“โอ๊ค” พงษ์พันธุ์ ศรีวิวัฒน์




มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเผยความสำเร็จโครงการ 2B-KMUTT รุ่นที่ 5 จากรอยยิ้ม และจำนวนนักเรียนผู้เข้าร่วมโครงการจำนวนมาก ลองมาฟังกันดูว่า น้อง ๆ เหล่านี้ได้อะไรจากการเข้าร่วมโครงการนี้บ้าง และมาเข้าร่วมโครงการนี้ได้อย่างไร

“หลิว” ชญานิษฐ์ บุญโสภาพ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม เจ้าของโครงงานเรื่อง “ปริมาณพืชที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสีย” เล่าให้เราฟังถึงประสบการณ์ในการเข้าร่วมโครงการนี้ว่า "พี่ของหนูมาเข้าร่วมโครงการนี้ก่อนแล้ว พอในปีนี้ คุณแม่เห็นว่ามีประโยชน์ก็เลยให้หลิวมาทำกิจกรรมนี้ต่อด้วยค่ะ การเข้าร่วมโครงการจะต้องทำข้อสอบ และสอบสัมภาษณ์ จากนั้น จะเป็นการเข้าค่ายอบรมประมาณ 25 วันค่ะ ทางมหาวิทยาลัยเขาจัดที่พักไว้ให้เราโดยแยกเป็นหอพักหญิงและหอพักชาย การใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ไม่น่าเบื่อเลย เพราะว่าหลิวได้เพื่อนเยอะมาก เพื่อนๆ ก็ให้ความเป็นกันเอง คุยง่ายค่ะ แล้วหลิวไม่ได้มาร่วมโครงการ 2B-KMUTT คนเดียว มีเพื่อนที่มาจากโรงเรียนเดียวกันอีกคนหนี่ง แต่อยู่ละห้องกัน”

เหตุผลที่น้องหลิวเลือกทำโครงงานวิจัย ปริมาณพืชที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสีย น้องหลิวบอกว่าพี่เลี้ยงและอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ให้หลิวและเพื่อนๆ อีก 2 คนไปอ่านและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการบำบัดน้ำเสียก่อน หลังจากนั้นเขาก็เอาหัวข้อโครงงานมาให้เลือกทำตามความสนใจและความถนัดของแต่ละคน ซึ่งหลิวได้เลือกหัวข้อนี้

“ตอนแรกที่ได้โครงงานวิจัยนี้ หลิวไม่ชอบค่ะ ไม่อยากทำ มันไม่ตรงกับที่เรียนมา อยากทำสิ่งประดิษฐ์มากว่า แต่พอทำไปเรื่อย ๆ ก็คิดว่าสนุกดีเหมือนกัน และพอได้ทำการทดลองไปเรื่อยๆ หลิวก็รู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ค่ะ เพราะว่าเราได้จับเครื่องมือ อุปกรณ์ที่เขาใช้ทดลองจริงๆ ได้อยู่ในห้องทดลอง มีอาจารย์ที่ปรึกษาช่วยเหลือ เวลาเราไม่เข้าใจหรือทำไม่ได้ อาจารย์จะค่อย ๆ อธิบายให้เราเข้าใจค่ะ แต่เขาจะไม่ทำให้ บางทีหลิวก็รู้สึกกดดันค่ะ แต่พอมองอีกมุมหลิวรู้สึกว่ามันเป็นความท้าทายค่ะ และอีกอย่าง การได้มาเข้าค่ายมันได้อะไรมากกว่าที่เราเรียนในห้องเรียนมาก อย่างที่หลิวบอกไปนะค่ะ คือเราได้ลงมือจริง ๆ ไม่ใช่ศึกษาแต่ทฤษฎี”

แล้วพอเราถามว่าหากปีหน้าทางมหาวิทยาลัยจัดอีกเป็นครั้งที่ 6 หลิวยังจะเข้าร่วมโครงการนี้ไหม น้องหลิวตอบทันที “มาค่ะ แต่หลิวต้องมาทำสต๊าฟคุมน้องๆ แทน”

“ปังปอนด์” - กชกร ศรีประกอบ นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียน พนัสพิทยาคาร ได้ทำโครงงานเรื่อง “เรื่องจิ๊บๆ ของจ้อย” โดยน้องปังปอนด์ได้เล่าให้เราฟังว่า เกือบจะไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ แล้ว เพราะเรียนมาในสายศิลป์ออกแบบ ซึ่งโครงการนี้ จะรับเด็กจากสายวิทย์เพียงอย่างเดียว

“สรุปแล้ว เขาก็ให้เข้าร่วมโครงการค่ะ แต่ปอนด์จะได้เข้ามาร่วมโครงงานที่ง่ายๆ ตรงกับที่ตัวเองเรียนอยู่ คืออาจารย์ให้ปอนด์มาอยู่ในส่วนของสถาบันการเรียนรู้ ปอนด์เลยเลือกที่จะทำหนังสือนิทานออกมาค่ะ พี่เลี้ยงเขาก็ช่วยคิด อีกอย่างหนึ่งเมื่อปีที่แล้วก็มีพี่เขาเคยทำมาก่อนค่ะ แต่เขาทำเป็นแบบหนังสือไม่หวือหวาเท่าไร ปอร์นเลยอยากแหวกแนวออกมา ทำหนังสือนิทานให้กางออกมาแล้วตั้งได้ คือน้องๆ จะเห็นเป็นสามมิติเลยค่ะ”

แล้วปอนด์ยังเล่าอีกว่า ในส่วนตัวงานปอนด์ได้แต่งเนื้อหาเอง แต่กว่าจะแต่งเรื่องนี้เสร็จก็แก้ประมาณ 4-5 รอบ และกว่าจะได้เรื่องนี้จริง ๆ ปอร์นแต่งมาแล้ว 5 – 6 เรื่อง

“ปอนด์จะมีพี่เลี้ยงช่วยหาหนังสือนิทานมาให้อ่าน 3 – 4 เล่ม เพื่อช่วยให้ปอนด์มีไอเดียที่จะไปแต่งนิทานของตัวเอง ซึ่งเนื้อหาในหนังสือนิทานของปอนด์เน้นการปลูกฝังค่านิยมพื้นฐาน 5 ประการ โดยได้เจาะกลุ่มผู้อ่านที่ช่วงอายุ 8 – 10 ขวบ”

นอกจากนี้ปอนด์ยังต้องนำผลงานไปพรีเซนต์หน้าห้อง โดยอธิบายวัตถุประสงค์การทำ ขั้นตอนการทำ และแนวคิดของเรื่องด้วย เธอเล่าว่า

"มันตื่นเต้นนะค่ะ ไม่ได้กลัวการพรีเซนต์เลย เพราะอาจารย์ใจดีค่ะ แล้วเราก็สนิทกับเพื่อนๆ ทุกคนด้วย เลยไม่มีปัญหาอะไร แต่กลัวผลหลังการพรีเซนต์ที่อาจารย์จะตั้งคำถาม ถามเรา กลัวตอบไม่โดนใจอาจารย์ ถ้าถามว่ากลัวคำตำหนิไหม ไม่กลัวค่ะ เพราะปอนด์จะเอาคำติเตียนของอาจารย์ไปพัฒนางานของปอนด์ให้ดีขึ้นอีก อย่างงานตัวนี้มันก็มีข้อผิดพลาด คือมันไม่ได้ไปทำวิจัยจริงๆ ไม่ได้ทดลองให้น้องๆ ได้อ่าน ปอนด์ก็เข้าใจนะ ว่าเด็กๆ เป็นอะไรที่ละเอียดอ่อนมาก ๆ เราโตกว่าเขา เราไม่สามารถไปคิดหรือตัดสินใจแทนเขาได้ว่าอะไรเหมาะสมกับเขา และการพัฒนาศักยภาพของเด็กๆ ก็ค่อนข้างจะซับซ้อน เราเป็นผู้ใหญ่ เราใส่อะไรให้เด็กไป มันก็จะติดตัวเด็กไปตลอด”

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งคน ที่เป็นเยาวชนคนเก่ง “โอ๊บ” พงษ์พันธุ์ ศรีวิวัฒน์ โรงเรียนเทคโนโลยีภาคตะวันออก ได้กล่าวถึงการมาร่วมโครงการในครั้งนี้ว่า "รู้สึกภูมิใจที่ได้เข้าร่วม โครงการ 2B-KMUTT แต่ในส่วนตัวของผมคิดว่า การจะพัฒนาความรู้อย่างเดียวคงเป็นไปไม่ได้ ควรจะพัฒนาความรู้ควบคู่กับหลักจริยธรรม อย่างตัวอย่างผลงานของผม ผมเน้นไปถึงหลักจริยธรรมด้วย ผมต้องการให้สิ่งประดิษฐ์ของผมช่วยให้สังคมของเราลดปัญหาความขัดแย้งลง และนอกจากนี้สิ่งประดิษฐ์ของผม ยังมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนพิการอีกด้วย เนื่องจากบางครั้งคนพิการอาจจะรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนเกินของสังคม เพราะต้องพึงพาคนอื่นอยู่ตลอดเวลา แต่สิ่งประดิษฐ์ของผมมุ่งให้เขาช่วยเหลือตนเองได้มากกว่าครับ"

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ไม่มีความคิดเห็น: