วันศุกร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2551

"ปลดล็อก" อีคอมเมิร์ซไทย

"ปลดล็อก" อีคอมเมิร์ซไทย
ตัวเลข 220,924 ล้านบาท เป็นตัวเลขล่าสุดของมูลค่าอี-คอมเมิร์ซไทย จากการสำรวจของเนคเทค ที่สรุปออกมาอย่างสวยหรูและดูดี หากแต่ในจำนวนนี้เป็นอี-คอมเมิร์ซของภาครัฐ หรือที่เรียกกันว่า อี-ออคชั่น กว่า 65% หรือประมาณ 143,437 ล้านบาท ขณะที่อีคอมเมิร์ซในวงของผู้ประกอบการทั่วๆ ไป กลับมีแค่หลักหมื่นล้านเท่านั้น วันนี้อุตสาหกรรมอี-คอมเมิร์ซไทย กำลังกลายเป็นอีกหนึ่งเซคเตอร์ที่กำลังเดินตามหลัง "เวียดนาม"

"ไทยไม่มีแผนแม่บทด้านอี-คอมเมิร์ซ ที่ผ่านมารัฐบาลมักมองว่ามูลค่าอี-คอมเมิร์ซบ้านเรามันเล็ก ซึ่งการที่เราคิดแบบนี้ ก็เท่ากับว่าเรากำลังถดถอยจากการค้าโลก ที่เขาให้สำคัญด้านอี-คอมเมิร์ซ ให้เป็นปัจจัยหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ที่สำคัญคือ เรากำลังเดินตามเวียดนาม เพราะเวียดนามเขามีแผนแม่บทด้านอี-คอมเมิร์ซอย่างชัดเจน"

คำให้สัมภาษณ์ที่ดูเหมือน "ใกล้ถอดใจ" ของวรวุฒิ อุ่นใจ อุปนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ในวันที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) แถลงสรุปตัวเลขมูลค่าของอี-คอมเมิร์ซไทยในช่วงคาบเกี่ยวของปี 2548-2549

วรวุฒิเล่าว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะหันมาดูแลอุตสาหกรรมอี-คอมเมิร์ซไทย เพราะที่ผ่านมา ไม่ค่อยได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐเท่าที่ควร ไม่เหมือนกับเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเวียดนาม ที่อุตสาหกรรมอี-คอมเมิร์ซ กำลังแซงหน้าไทยไปแล้ว

"ที่ผ่านมา ภาครัฐเรามีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาก แต่การจัดการภาพรวมของอี-คอมเมิร์ซไทยกลับล้มเหลว ไร้การประสานงาน ไม่มีศูนย์กลางการทำงาน ขณะที่งบประมาณที่ให้กับอี-คอมเมิร์ซไทยก็ต่ำมาก ที่สำคัญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการด้านอี-คอมเมิร์ซ ก็มีหลายกระทรวง ไม่ได้มีการประสานงานกันอย่างชัดเจน ทำให้พัฒนาการของอี-คอมเมิร์ซเป็นไปได้ช้า"

ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประสานงานด้านอี-คอมเมิร์ซ เช่น กระทรวงไอซีที, พาณิชย์,คลัง, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งหน่วยงานทั้งหมดต้องมีความร่วมมือในเรื่องนี้กันอย่างชัดเจนมากขึ้น

แม้ว่าขณะนี้ คณะกรรมการด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลด้านอี-คอมเมิร์ ซ กำลังอยู่ระหว่างรอที่จะเข้าวาระพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่ก็คงต้องใช้ระยะเวลารอ เพราะปัจจุบัน สนช.ก็มีเรื่องเร่งด่วนที่ต้องพิจารณามากมาย

"ปัญหาบ้านเรามันอยู่ที่ speed ยิ่งมาเจอระบบโครงสร้างของรัฐบาลไทย หลายอย่างภาครัฐทำเป็น แต่บางอย่างก็ให้น้ำหนักเบาเกินไป รัฐไม่สนับสนุนเรามากพอ" วรวุฒิว่า

ขณะที่แหล่งข่าวในวงการอี-คอมเมิร์ซ บอกว่า ไอซีทีมีหน่วยงานที่สังกัดอย่างสำนักธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมา สำนักงานนี้มีบทบาทในเรื่องของนโยบาย การจัดการบริการจัดการภาพรวมอี-คอมเมิร์ซไทยน้อยมาก โดยช่วงระหว่างรอคณะกรรมการอยู่ หน่วยงานนี้ควรจะเป็นตัวกลางที่จะประสานงาน และเป็นศูนย์กลางระหว่างภาครัฐและผู้ประกอบการไปก่อน

วรวุฒิบอกว่า ทางที่ดี ภาครัฐควรจะสร้างแรงจูงใจให้เกิดขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะต้องทำให้ผู้บริโภคเกิดประโยชน์จากการซื้อสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ต โดยอาจจะมีการลดภาษีจาก 7% ลงเหลือ 3% ขณะเดียวกัน ก็ควรจะมีบริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์เพื่อสร้างความเชื ่อมั่นให้เกิดขึ้น

"ในส่วนของผู้ประกอบการเอง ก็ต้องมีความเข้าใจอี-คอมเมิร์ซให้ลึกขึ้น ต้องสามารถชนะใจลูกค้าด้วยบริการทั้งก่อนและหลังขาย และต้องคิดอยู่เสมอว่า ต้องแข่งกับธุรกิจค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า อย่าคิดเพียงแค่แข่งขันกับเวบอี-คอมเมิร์ซด้วยกัน ทำให้เขาเกิดความรู้สึกว่าออนไลน์ให้ประโยชน์กว่าออฟไลน์" วรวุฒิแนะนำ

ขณะที่ "ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ" ผู้บริหารเวบไซต์ thaisecondhand.com และ tarad.com กลับมองว่า ปีที่ผ่านมาอี-คอมเมิร์ซไทยถือว่ามีตัวเลขของการเติบโตที่แม้จะไม่โตมาก แต่ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี

"ทิศทางที่เห็นในปีนี้ สินค้าประเภทแฟชั่น เป็นเทรนด์สินค้าที่ขายดีบนเวบ รวมไปถึงพวกเครื่องประดับต่างๆ เพราะปีที่แล้ว คนเข้ามาซื้อของแบบนี้บนเน็ตเพิ่มขึ้น ถัดมาจะเป็นพวกธุรกิจท่องเที่ยว และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ กลายเป็นสินค้าบนเน็ตที่ในปีนี้ต้องจับตามอง" ภาวุธว่า

ผลสำรวจอี-คอมเมิร์ซของไทยในช่วงปี 2548 พบว่า มีมูลค่าสูงถึง 220,924 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นข้อมูลการซื้อขายออนไลน์จากทางภาครัฐ จากการจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบอี-ออคชั่นราว 143,437 ล้านบาท หรือประมาณ 65% จากมูลค่าอี-คอมเมิร์ซไทยทั้งหมด

ขณะที่มูลค่าการซื้อขายระหว่างบีทูซี (B to C) มีเพียง 11,392 ล้านบาท หรือประมาณ 5% และบีทูบี (B to B) 66,095 ล้านบาท หรือประมาณ 30%

อย่างไรก็ตาม หากไม่นับอี-ออคชั่นของภาครัฐ มูลค่าอี-คอมเมิร์ซในกลุ่มบีทูบีและบีทูซี ในปี 2548 คาบเกี่ยวกับปี 2549 จะมีมูลค่ารวมราว 78,000 ล้านบาท จากปี 2547 ที่ทั้ง 2 กลุ่ม มีมูลค่าอี-คอมเมิร์ซราว 68,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผลสำรวจครั้งล่าสุด เนคเทคได้สำรวจจากรายได้ของผู้ประกอบการในช่วงปี 2548 โดยมาเริ่มสำรวจช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2549 ทำให้ตัวเลขมูลค่าของอี-คอมเมิร์ซในปี 2549 ยังสรุปไม่ชัดเจน เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่ปิดงบบัญชี

"แต่ดูจากตัวเลขที่เราทำการสำรวจ เชื่อว่าตัวเลขที่แท้จริงของปี 2549 ในภาพรวม น่าจะโตเพิ่มขึ้นอย่างต่ำ 40-50% โดยเฉพาะในกลุ่มบีทูบีและบีทูซี ที่น่าจะโตราว 40%" ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการเนคเทค ประเมิน

ดร.พันธ์ศักดิ์ บอกว่า อี-คอมเมิร์ซไทยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มบีทูซีถึง 75% และเป็นธุรกิจขนาดเล็ก โดย 55% มีเงินทุนจดทะเบียนน้อยกว่า 500,000 บาท ขณะที่ธุรกิจส่วนใหญ่จะใช้อี-คอมเมิร์ซ เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดและประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการ มากกว่าจะใช้เพื่อลดต้นทุนการบริหารและการจัดการ

ด้านการชำระเงินออนไลน์ ระบบที่ได้รับความนิยมมาก คือ การชำระเงินออนไลน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต แบงกิ้ง ราว 20.28% ผ่านบัตรเครดิต 20.15% และผ่านผู้ให้บริการกลาง 19.72%

สำหรับสินค้าในเวบอี-คอมเมิร์ซ ที่ได้รับความนิยม 3 อันดับแรก คือ 1.แฟชั่น เสื้อผ้า เครื่องหนัง สิ่งทอ 14.45% 2.ท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร 9.18% 3.คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้อง 7.27%

ข้อมูลจาก bangkokbizweek.com

ไม่มีความคิดเห็น: