วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เปิด FTA ภาคขนส่ง-โลจิสติกส์ (2) ผู้ประกอบการไทยจะอยู่รอดและปรับตัวอย่างไร ? (Jun 11,2009)

เปิด FTA ภาคขนส่ง-โลจิสติกส์ (2) ผู้ประกอบการไทยจะอยู่รอดและปรับตัวอย่างไร ? (Jun 11,2009)
 
 
  นางอุไร จูฑากาญจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเนี่ยน เฟรท ฟอร์เวิดเดอร์ จำกัด กล่าวในฐานะประธานกลุ่มการขนส่งทางอากาศ และกลุ่มผู้ให้บริการตัวแทนออกของและชิปปิ้ง ภายหลังการระดมความเห็นของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องว่า ระบบโลจิสติกส์ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ต้นทุนของสินค้าลดลง ทำให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพในการแข่งขัน ดังนั้นภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามาดูแลเรื่องโลจิสติกส์มากขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมในทุกภาคส่วน แต่ปัจจุบันการดำเนินการของภาครัฐยังขาดความชัดเจน ดังนั้นหากมีการเปิดเสรีผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางอากาศ และผู้ให้บริการตัวแทนออกของและชิปปิ้งยังมีปัญหาอุปสรรคค่อนข้างมาก สามารถสรุปได้ 8 ประการ

1.ผู้ประกอบการไทย ขาดแหล่งเงินทุน มีต้นทุนสูง และขาดเทคโนโลยี องค์ความรู้เรื่องโลจิสติกส์น้อย เพราะฉะนั้นในการแก้ปัญหาภาครัฐควรให้การสนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยีด้านโลจิสติกส์ให้แก่ผู้ประกอบการไทย

2.แรงงานไทย ขาดทักษะ มาตรฐานองค์ความรู้ เมื่อเทียบกับต่างชาติจะมีเงินเดือนที่สูงกว่าคนไทย จึงอยากขอให้ภาครัฐกำหนดมาตรฐานเงินเดือน ค่าแรงงานให้ชัดเจน และขอให้ภาครัฐโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัดงบประมาณสนับสนุนในการเสริมสร้างศักยภาพแรงงานไทยให้เพียงพอ

3.การเมืองไทยขาดเสถียรภาพ ทำให้นโยบายไม่ต่อเนื่อง ถ้าทำไม่ต่อเนื่องคนไทยจะเสียโอกาส ยิ่งจะเปิดเสรีภาคบริการ โลจิสติกส์ในอีก 3 ปี ผู้ประกอบการไทยจะได้แข่งขันกับต่างชาติได้ จึงขอให้ภาครัฐกำหนดแผนยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อทุกรัฐบาลจะได้ดำเนินการให้ต่อเนื่อง

4.ผลกระทบ free zone ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ไม่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการขนส่งทางอากาศ เนื่องจากกรมศุลกากรยังไม่มีกฎหมายรองรับเฉพาะ แต่ยังใช้กฎหมายฉบับเก่า จึงทำให้การดำเนินการ 3 ปีที่ผ่านมาเสียโอกาสเป็นอย่างมาก ทั้งที่รัฐบาลต้องการให้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศในภูมิภาค รวมถึงการไม่ได้รับสถานภาพของผู้รับจัดการขนส่งสินค้า (freight forwarder) เป็นอาชีพที่ไม่มีกฎหมายรองรับ เพราะฉะนั้นการทำธุรกรรมต่างๆ เสียเวลา

ยกตัวอย่าง มีสินค้าขนส่งมาทางอากาศ หากใบตราส่งระบุชื่อที่อยู่ผู้นำเข้าไปถูกต้อง ทางเราต้องไปเสียเวลาทำคำร้องขอเปลี่ยนชื่อที่อยู่ผู้นำเข้า ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายบ้าง และเสียเวลารอให้อนุมัติถึงจะไปออกของได้ หากระบบโลจิสติกส์ยังมีความซ้ำซ้อน เสียเวลาเราจะแข่งขันกับต่างชาติไม่ได้ เพราะการขับเคลื่อนสินค้าต้องเร็วทั้งขาเข้าและขาออก ภาครัฐจึงควรผลักดันร่างกฎมายที่ใช้กับ free zone ในสนามบินเป็นการเร่งด่วน รวมถึงกฎหมายรับรองสถานะผู้รับจัดการขนส่งสินค้า (freight forwarder)

5.การเปิดเสรีด้านโลจิสติกส์ภาครัฐขาดความเข้าใจในความสำคัญของระบบโลจิสติกส์ ยกตัวอย่างไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมส่วนใหญ่ ภาครัฐจะพิจารณาแต่ตัวเลขส่งออกที่เกิดจากภาคเกษตร ทั้งที่ด้านโลจิสติกส์มีความสำคัญในการขับเคลื่อนทั้งการส่งออกและการนำเข้า ภาครัฐควรต้องทำความเข้าใจเพื่อให้ประเทศไทยใช้เป็นกลยุทธ์ในการแข่งขันได้ เมื่อเทียบกับประเทศคู่เจรจาให้ความสำคัญเป็นระดับต้นๆ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการกับประเทศคู่เจรจา จึงอยากให้ภาครัฐศึกษากฎมายของแต่ละประเทศให้ชัดเจน เพื่อผู้ประกอบการจะได้ศึกษาก่อนเปิดเสรี ทางด้านโลจิสติกส์ในการที่คนไทยจะเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ นอกจากนี้ภาครัฐจะต้องกำหนดกติกาเพื่อคุ้มครองผู้ประกอบการภายในประเทศ

6.ภาครัฐมีหลายหน่วยงานที่เข้ามาดำเนินการในเรื่องโลจิสติกส์ ทำให้ขาด เจ้าภาพหลักในการรับผิดชอบ เวลามี ประชุมเรื่องโลจิสติกส์ต้องวิ่งไปประชุมหลายกระทรวง เพราะทุกกระทรวงมีงบฯด้านโลจิสติกส์แล้ว ภาคเอกชนต้องไป ประชุมเหมือนเดิม แต่ข้อสรุปและความคืบหน้าแทบจะไม่เห็น อยากขอให้ภาครัฐกำหนดหน่วยงานหลักรับผิดชอบเรื่อง โลจิสติกส์ให้ชัดเจน เวลาภาคเอกชนมีปัญหาจะได้ไปทีเดียว เฉพาะในกระทรวงเดียวกันมีหลายกรมที่ดูเรื่องโลจิสติกส์

7.ร่าง พ.ร.บ.หลายๆ ฉบับ เช่น พ.ร.บ.คลังสินค้า (รวมคลังสินค้าประเภทไซโลเข้าไปด้วย), พ.ร.บ.ศุลกากรไม่ เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจโลจิสติกส์ ภาคเอกชนต้องการลดต้นทุนโลจิสติกส์ แต่มาติดขัดในเรื่องของข้อกฎหมาย ทำให้การดำเนินงานหลายเรื่องล่าช้ามากกว่าเดิม เพราะฉะนั้นภาครัฐควรทบทวนแยกประเภทกฎหมายให้ตรงกับลักษณะการประกอบธุรกรรมแต่ละประเภทกิจการ เพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจ

8.กฎหมายส่วนใหญ่ออกมาเพื่อกำกับและควบคุมผู้ประกอบการไทย จึงอยาก ขอให้ออกกฎหมายส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน
 
  Source : ประชาชาติธุรกิจ
       http://www.thaishipper.com/Content/content.asp?Type=4

ไม่มีความคิดเห็น: