วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2552

บัตรประชาชนใบเดียวเที่ยวได้ทุกโรงพยาบาล



Please visit my blog.Thank you so much.
http://www.sanamluang.bloggang.com
http://tham-manamai.blogspot.com


--- On Tue, 6/23/09, churdchoo ariyasriwatana <churdchoo@gmail.com> wrote:

From: churdchoo ariyasriwatana <churdchoo@gmail.com>
Subject: บัตรประชาชนใบเดียวเที่ยวได้ทุกโรงพยาบาล
To:
Date: Tuesday, June 23, 2009, 8:47 PM

บทความที่น่าสนใจค่ะ
เชิดชู



Megaproject
และบัตรประชาชนใบเดียวเที่ยวได้ทุกโรงพยาบาล
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ที่ปรึกษาสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

เดี๋ยวนี้ถ้าใครไม่รู้จักคำว่า megaproject ก็คงจะเป็นคนล้าสมัยไปแล้ว ความหมายของมันตามที่ประชาชนเข้าใจก็คือโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลในการที่จะบริหารงานในกระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งmegaproject ของรัฐบาลชุดนี้ ต่างมีความต้องการที่จะให้เป็นงบลงทุนขนาดใหญ่ในภาครัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลได้ออกพ.ร.ก. และพ.ร.บ.กู้เงินมาใช้จ่ายในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นจำนวนเงิน 8แสนล้านบาท โดยจะใช้เงินกู้นี้โดยการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐบาล เพื่อให้มีการจ้างงาน และมีเงินหมุนเวียนในประเทศ
สำหรับกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ทั้งนักการเมืองและข้าราชการประจำ ต่างก็วางแผนที่จะทำโครงการใหญ่ๆ เพื่อจะส่งเสริมนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และการจะใช้จ่ายเงินมากๆ เพื่อทำโครงการใหญ่ๆให้สมกับคำว่า megaproject ก็คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการสร้างตึก เพราะนายกรัฐมนตรีเองก็ให้สัมภาษณ์ว่า ไปโรงพยาบาลต่างจังหวัดทีไร ก็พบว่าผู้ป่วยต้องนอนตามระเบียงตึก เพราะในตึกไม่มีเตียงนอนแล้ว
นอกจากสร้างตึกแล้ว ก็คงจะมีโครงการ ซื้ออุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยราคาแพงแจกตามโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศ โดยส่วนกลางคือสำนักงานปลัดกระทรวงเป็นผู้วางแผนและกำหนดคุณลักษณะเฉพาะ (specification หรือที่เรียกว่าสป็ก) เหมือนกันทั่วประเทศ โดยให้เหตุผลว่า การรวมกันซื้อเป็นจำนวนมากจะทำให้ได้ราคาถูก แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรงพยาบาลแต่ละแห่งต่างก็มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่สามารถใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีได้ไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ที่มีการสั่งซื้อเครื่องตรวจหัวใจที่เรียกว่า exercise stress test ที่ให้ผู้ที่จะทดสอบวิ่งบนสายพาน และมีอุปกรณ์ที่จะประมวลผลการทำงานของหัวใจได้ว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดหรือเปล่า แต่ผู้ที่จะแปลผลได้ก็ต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ (cardiologist)ที่จะอ่านผลการทำงานของหัวใจ แต่สำนักงานปลัดกระทรวงสธ.ก็ซื้อเครื่องมือที่ว่านี้ แจกไปทั่วประเทศ โรงพยาบาลที่ไม่มีแพทย์โรคหัวใจ ก็เอาเครื่องมือพิเศษราคาแพงนี้ ไปให้ผู้ป่วยธรรมดาวิ่งออกกำลังกายเหมือนเครื่องมือนี้เป็นลู่วิ่งธรรมดาๆที่ราคาถูก คือเอาของราคาแพงไปใช้อย่างไม่คุ้มค่า เหมือนกับการซื้อรถSUV (sport utility vehicle) ไว้ขับไปจ่ายตลาดใกล้ๆบ้าน ทั้งที่รถชนิดนี้เป็นรถคันใหญ่ราคาแพง มีสมรรถนะสูง เหมาะสำหรับการบุกตลุยป่าดงพงไพรที่ต้องการความปลอดภัยป็นเยี่ยม
สำหรับโครงการ megaprojectของกระทรวงสาธารณสุขปีนี้ มีข่าวแว่วมาว่าจะมีงบประมาณ ถึง30.000 ล้านบาท
โดยมีโครงการจะสร้างตึกของโรงพยาบาลต่างๆมากมาย มีโครงการจะซื้อเครื่องช่วยหายใจทั้งหมด 1,500 เครื่องงบประมาณไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท เพื่อแจกจ่ายไปถึงโรงพยาบาลชุมชนที่ไม่มีห้องไอซียู (จึงไม่จำเป็นต้องมีเครื่องช่วยหายใจ) แต่เครื่องช่วยหายใจนั้น ต่างก็มีคุณลักษณะเฉพาะที่เหมาะสำหรับการใช้ในผู้ป่วยหลายแบบต่างๆกัน น่าจะให้แต่ละโรงพยาบาลเป็นฝ่ายกำหนดคุณลักษณะที่เหมาะสมตามความจำเป็นในการใช้งานสำหรับผู้ป่วยของแต่ละโรงพยาบาล จึงจะได้เครื่องช่วยหายใจที่มีประสิทธิภาพและใช้ได้อย่างมีประสิทธิผลสูงสุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย และโรงพยาบาลชุมชนที่ไม่มีไอซียูและไม่ได้รักษาผู้ป่วยหนัก ก็ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องช่วยหายใจไปตั้งทิ้งไว้โดยไม่ได้ใช้งาน ทำให้เสียเงินงบประมาณแผ่นดินไปโดยไม่สมควร ควรจะนำเงินเหล่านั้น ไว้ใช้ในสิ่งที่เหมาะสมกว่า
นอกจากนั้น ก็ยังจะมีโครงการที่จะสั่งซื้อวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อีก 2 ล้านโดส ก็คงเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท การเตรียมซื้อยาต้านไวรัส เพื่อรองรับการระบาดของไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งการเตรียมการก่อสร้างอีกมากมาย
รวมทั้งโครงการพัฒนาสถานีอนามัยอีก 1.500 แห่งให้เป็นโรงพยาบาลตำบล ที่มีการรักษาแบบทางไกล คือให้พยาบาลส่งรูปผู้ป่วยทางวีดีโอลิงค์ไปปรึกษาแพทย์ในโรงพยาบาลอำเภอ เพื่อให้แพทย์ให้คำปรึกษาและแนะนำการรักษาผู้ป่วยผ่านทางวีดีโอลิงค์ ซึ่งโครงการโรงพยาบาลตำบลก็คงจะต้องใช้งบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างอีกหลายพันล้านบาท
จึงเห็นได้ว่ากระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับการก่อสร้าง และเครื่องมืออุปกรณ์ และเทคโนโลยีต่างๆอย่างมากมาย โดยที่อาจจะไม่เหมาะสมกับการใช้งาน หรืออาจเป็นการลงทุนสูงเกินไป แต่ได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า เรียกว่าพัฒนาแต่ hardware ทั้งที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม
การพัฒนาhardware นั้นก็เป็นสิ่งจำเป็น แต่ต้องดูแลควบคุมให้มีการใช้งบประมาณเพื่อผลประโยชน์ในการพัฒนาระบบการแพทย์และสาธารณสุขอย่างเหมาะสม ใช้งานได้คุ้มค่าตรงตามสมรรถนะของhardware นั้นๆ ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์จะได้กลับคืนสู่ประชาชนที่เป็นผู้เสียภาษีใช้หนี้ที่รัฐบาลกำลังจะก่อขึ้นมาในเร็ววันนี้
แต่ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขไม่สนใจที่จะพัฒนาบุคลากรหรือที่เรียกว่า peopleware เพื่อให้บุคลากรมีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีสวัสดิการในด้านเงินเดือนและค่าตอบแทนที่เหมาะสม เมื่อเทียบกับความรู้ความสามารถของบุคลากรระดับเดียวกันในภาคเอกชน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้บุคลากรทำงานบริการประชาชนอย่างมีความสุข ไม่ลาออกจากการทำงานในโรงพยาบาลของรัฐบาลอย่างมากมายเหมือนในปัจจุบัน(1) จนทำให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขมีไม่เพียงพอกับการบริการประชาชน จนประชาชนต้องเสียเวลารอพบแพทย์เป็นวันๆ แต่ได้พบและรับการตรวจร่างกายจากแพทย์เพียงคนละ 2 นาทีเท่านั้น(2)
รวมทั้งไม่มีโครงการใดในmegaproject ที่กล่าวถึงการพัฒนาระบบการทำงานในการดูแลรักษาประชาชนให้มีมาตรฐาน มีประสิทธิภาพ ประชาชนไม่เสียเวลารอคอยนาน จนแออัดยัดเยียดจนล้นโรงพยาบาลเหมือนในปัจจุบัน(3 ) ไม่มีการกล่าวถึงโครงการพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถและความเชี่ยวชาญอย่างเหมาะสม มีจำนวนพอเพียงกับภาระงาน มีขวัญกำลังใจที่จะปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับการดูแลรักษาพยาบาลตามมาตรฐานที่ดีที่สุด เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชน
แต่กลับได้อ่านข่าวว่า “ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำลังจะเปลี่ยนระบบการรักษาผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติใหม่ คือสธ.เตรียมยกเลิกบัตรทองสิ้น ก.ย.นี้ ใช้แค่บัตร ประชาชนใบเดียว โดยนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ จะยกเลิกการใช้บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง มาใช้บัตรประจำตัวประชาชนบัตรเดียวเข้ารับการรักษาตามสิทธิในโรงพยาบาลทั่ว ประเทศ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินโครงการในการใช้บัตรประจำตัวประชาชนแทนบัตรทอง มาแล้ว 37 จังหวัดทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่ 30 พฤษภาคม ใน 13 จังหวัด และ 1 มิถุนายน อีก 24 จังหวัด ส่วนในเดือนตุลาคมนี้ จะนำร่องใน 8 จังหวัด ใช้บัตรประชาชนบัตรเดียวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลใดก็ได้ภายในจังหวัดนั้นๆ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่มีสิทธิประโยชน์ประกันตนที่ระบุในแต่ละโรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้ให้ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ดูความพร้อมของแต่ละโรงพยาบาล และพิจารณางบประมาณก่อนดำเนินการใช้ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขเป็นกังวลในเรื่องของการเวียนเข้าโรงพยาบาลหลายๆ ครั้ง เพื่อนำยามาขายต่อ ซึ่งในเรื่องนี้ได้กำชับให้ทาง สปสช. คิดและหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก”
อ่านข่าวนี้แล้วก็เศร้าใจ เพราะนอกจากผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขจะไม่แก้ไขระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขให้ดี มีมาตรฐาน ประชาชนไม่รอนานเพราะมีแพทย์พยาบาลเพียงพอแล้ว ผู้บริหารกระทรวงกลับจะเพิ่มความสับสนอลหม่านให้แก่โรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศ เพิ่มภาระงานแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ให้มากขึ้น จากการที่ประชาชนถือบัตรประชาชนใบเดียว(สามารถ)ไปเที่ยว(ตรวจรักษาได้)ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ!
การบริการทางการแพทย์จะย้อนกลับถอยหลังเข้าคลองไปตามเดิมก่อนพ.ศ. 2545 (ที่มีการประกาศใช้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า) คือประชาชนสามารถไปพบแพทย์ที่ใดก็ได้ตามใจ แต่เมื่อก่อนพ.ศ. 2545 ประชาชนต้องจ่ายเงินเองในการไปโรงพยาบาล ประชาชนต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่ตนต้องมีภาระจ่ายเอง ประชาชนจึงอาจจะไม่ไปโรงพยาบาลซ้ำแล้วซ้ำเล่ามากนัก
แต่ปัจจุบันนี้ประชาชนที่เคยมีบัตรทองไม่ต้องจ่ายเงินของตนเองในการไปโรงพยาบาล จะไปปีละกี่ครั้งก็ไม่มีขอบเขตจำกัด ฉะนั้นประชาชน(บางคน)ก็คงจะไปพบแพทย์ซ้ำๆซากๆจนกว่าจะพอใจผลการรักษา
แพทย์พยาบาลก็คงจะต้องมีภาระงานเพิ่มมากขึ้นมากมายมหาศาลในการตรวจรักษาผู้ป่วยคนเดิมหลายๆครั้งหลายๆโรงพยาบาล
เนื่องจากการใช้บัตรประชาชนใบเดียวแล้วมีสิทธิไปรักษาได้ทุกโรงพยาบาลโดยที่แพทย์ไม่ต้องเขียนใบสรุปการรักษาเพื่อส่งผู้ป่วยต่อไปยังโรงพยาบาลอื่นนั้น จะทำให้แพทย์คนใหม่ที่ผู้ป่วยมาหาต้องตั้งต้นค้นหาสมุฏฐานของโรคใหม่อีกทุกครั้งที่ผู้ป่วยเปลี่ยนโรงพยาบาล เพราะบัตรประชาชนถึงจะสมาร์ทอย่างไร(สมาร์ทการ์ด) ก็ไม่มีชิปที่สามารถบรรจุรายละเอียดในการเจ็บป่วยและการรักษาความเจ็บป่วยครั้งก่อน ที่จะช่วยให้แพทย์คนใหม่ที่ดูแลผู้ป่วยสามารถทราบถึงสาเหตุ การรักษา และการดำเนินโรคของผู้ป่วยได้ ผู้ป่วยเองก็จะเสียเวลาและเสียประโยชน์จากการรักษา ที่ไม่ต่อเนื่อง และเริ่มต้นใหม่อยู่ร่ำไป และอาจจะทำให้เกิดผลเสียหายแก่สุขภาพของผู้ป่วยเอง
การที่ผู้ป่วยสามารถถือบัตรประชาชนใบเดียวเที่ยวตระเวนไปรักษาได้ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศนั้น นอกจากประชาชนจะเสียประโยชน์ดังกล่าวแล้ว แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีจำนวนน้อยก็จะต้องทำงานตรวจรักษาประชาชนคนเดิมซ้ำซากหลายครั้ง ยิ่งจะทำให้ประชาชนต้องเสียเวลาในการไปรับการตรวจรักษามากขึ้น และประเทศชาติก็จะต้องเสียเงินงบประมาณจำนวนมากมายมหาศาลในการจ่ายค่ายา ค่าการตรวจรักษาประชาชนซ้ำซ้อน
เพราะประชาชนคงไปอ้างสิทธิ์ในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเรียกร้องให้แพทย์ตรวจรักษาใหม่ได้ตลอดเวลา เพราะประชาชนไม่ต้องจ่ายค่ายา ค่าตรวจ ค่ารักษา ต้องจ่ายแต่ค่าเดินทางไปโรงพยาบาลเท่านั้น
ถ้าหากว่าแพทย์ไม่ทำการตรวจรักษาตามที่ประชาชนเรียกร้อง เนื่องจากแพทย์เห็นว่าอาการป่วยนั้นยังไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่จะต้องตรวจพิเศษตามที่เรียกร้อง ก็คงจะมี “ความขัดแย้ง”ระหว่างแพทย์และประชาชนเพิ่มขึ้นอีกมากมาย
แต่ถ้าแพทย์ยอมทำตามที่ประชาชนเรียกร้องทุกครั้ง ก็คงจะทำให้ค่าใช้จ่ายในระบบบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้นอีกอย่างมากมายมหาศาล เนื่องจากประชาชนเปลี่ยนโรงพยาบาลได้ตามอำเภอใจโดยไม่มีขอบเขตจำกัด
การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทำเช่นนี้ ทำให้ฉุกคิดขึ้นมาว่า ท่านคงจะคิดว่าการไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาอาการเจ็บป่วยนั้น เหมือนกับการไปร้านเสริมสวย หรือการไปร้านอาหาร เมื่อทำไม่ถูกใจก็มีสิทธิเปลี่ยนใหม่ได้ตลอดเวลา โดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลด้วย
แม้แต่ในต่างประเทศ ที่เป็นรัฐสวัสดิการที่ให้การดูแลรักษาประชาชน หรือที่ประชาชนต้องจ่ายเงินในการดูแลสุขภาพเองก็ตาม เช่นประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา สวีเดน ออสเตรเลีย แคนาดา ฯลฯ ประชาชนต่างก็ต้อง “มีความรับผิดชอบ” ในการไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาโรค ประชาชนต้องมีการลงทะเบียนเลือกคลินิกหรือโรงพยาบาลที่จะไปรับการตรวจรักษาเป็นประจำ ในการเจ็บป่วยเบื้องต้น โดยแพทย์ประจำคลินิกหรือโรงพยาบาลนั้นจะเป็นผู้ตรวจรักษาเบื้องต้นก่อน และถ้าแพทย์เห็นว่าจำเป็นต้องส่งผู้ป่วยไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง แพทย์ผู้นั้นก็จะเป็นผู้สรุปผลการตรวจและการรักษาเบื้องต้นที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ส่งไปกับผู้ป่วย เพื่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะได้มีข้อมูลการเจ็บป่วยและการตรวจรักษาเบื้องต้นของผู้ป่วยนั้นๆ และทำการตรวจรักษาผู้ป่วยต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องมาเริ่มต้นใหม่ซ้ำอีก
ทั้งนี้ เพราะการตรวจรักษาผู้ป่วยนั้น ข้อมูลการเจ็บป่วยเบื้องต้นและการรักษาที่ได้รับมาก่อนแล้ว จะช่วยให้แพทย์ดำเนินการตรวจรักษาโรคได้อย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว และถูกต้อง ทำให้แพทย์ไม่ต้องทำงานซ้ำซ้อนกัน ผู้ป่วยก็ไม่ต้องเสียเวลาในการเริ่มต้นตรวจรักษาใหม่ และไม่ต้องจ่ายยาซ้ำซ้อนหรือไม่ต้องเอายาไปทิ้ง เนื่องจากเปลี่ยนหมอได้ตามอำเภอใจ


วันนี้เริ่มด้วยการเขียนเกี่ยวกับ megaproject ที่ผู้บริหารกระทรวงคิดแต่จะใช้เงินซื้อ “สิ่งของและวัตถุ” แต่ไม่สนใจที่จะพัฒนาบุคลากรและระบบการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อให้บุคลากรมีสวัสดิการและค่าตอบแทนที่เหมาะสม มีเวลาทำงานอย่างมีคุณภาพมาตรฐาน ให้ระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยของประชาชน
และผู้บริหารสธ.ยังไม่สนใจจะพัฒนาประชาชนให้มี “ความสามารถในการสร้างสุขภาพและดูแลรักษาตนเองและครอบครัวเมื่อเจ็บป่วยเบื้องต้น” และยังไม่กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการใช้บริการทางการแพทย์ เพื่อที่บุคลากรทางการแพทย์จะมีภาระงานที่เหมาะสม เพื่อที่จะได้มีเวลาทำงานบริการประชาชนอย่างมีคุณภาพมาตรฐาน
ทั้งนี้ถ้าผู้บริหารกระทรวงสธ.จะสนใจพัฒนา peopleware และพัฒนาระบบการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ให้เหมือนในต่างประเทศ ก็คงจะทำให้ระบบบริการทางการแพทย์ของประเทศไทยมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด คุ้มค่าเงินงบประมาณ
ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดและความปลอดภัยของประชาชน ประเทศชาติก็จะสามารถใช้เงินงบประมาณอย่างคุ้มค่า และสามารถประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพประชาชนได้มากขึ้นอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
1.อดุลย์ วิริยเวชกุล. แพทย์ไทยลาออกสนองเมดดิคอลฮับ บทบรรณาธิการ วารสารวงการแพทย์ 2551 : 265,266
2.ฉันทนา ผดุงทศและคณะ. ชั่วโมงการทำงานของแพทย์ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข. วารสารวิชาการสาธารณสุข 2550. 16(4) : 493-502
3.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล. วารสารวงการแพทย์ 2551. 16 : 28-29

ไม่มีความคิดเห็น: