วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2552

รอยสัมผัส "อุตรดิตถ์" " วรวรรษ รักวงษ์"

การท่องเที่ยวในช่วงหน้าหนาว เส้นทางหลักของคนส่วนใหญ่คือการมุ่งหน้าขึ้นเหนือเพื่อสัมผัสกับอากาศที่บริสุทธิ์และความหนาวเย็นที่จะมีก็แค่เพียงปีละสองถึงสามเดือน เป้าหมายใหญ่ของคนทั้งหลายจึงมักจะเป็นจังหวัดที่มีเพียบพร้อมทั้งความเป็นเมือง และธรรมชาติรวมตัวกันอยู่อย่างครบครัน อย่างจังหวัดเชียงใหม่ เพราะความเป็นเมืองใหญ่ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและความพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยว

     เหมือนกันกับผม ที่มักจะนึกถึงเชียงใหม่เป็นจังหวัดแรกๆ เมื่อนึกจะหนีร้อนไปพึ่งเย็น

     ทว่า หลายคนอาจเคยได้ยินวลีเด็ดของการเดินทาง "หัวใจของการเดินทาง ไม่ได้อยู่ที่จุดหมาย แต่อยู่ที่การได้สัมผัสกับประสบการณ์ระหว่างทาง"

     แต่หลายครั้งหลายครา กลับเหมือนเราหลงลืมมัน ด้วยความรีบเร่งเตรียมตัวท่องเที่ยว รีบเก็บกระเป๋า รีบเสียจนทิ้งหัวใจของการเดินทางเอาไว้ที่บ้านโดยลืมเอามันไปกับเราด้วย

     ในครั้งนี้จึงตั้งใจเสียเหลือเกิน ว่าจะเก็บบรรยากาศข้างทางให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จากจังหวัดที่ผมใช้เป็นทางผ่านบ่อยมากเมื่อจะไปเชียงใหม่ แต่ไม่เคยมีโอกาสแวะสักทีอย่างจังหวัดอุตรดิตถ์

     อุตรดิตถ์เป็นจังหวัดเล็กๆ จังหวัดหนึ่งที่มีส่วนรวมอยู่ในประวัติศาสตร์ของไทยอยู่อย่างยาวนาน  ด้วยฐานะของเมืองพิชัยและสวางคบุรีที่เคยเป็นเมืองหน้าด่านทางเหนือของกรุงศรีอยุธยา และเป็นเมืองขนถ่ายสินค้าริมแม่น้ำน่าน ซึ่งต่อมามีความเจริญจากการค้าขายขึ้นมากจนได้รับชื่ออุตรดิตถ์ อันหมายถึง "ท่าน้ำแห่งทิศเหนือ" จากล้นเกล้ารัชกาลที่ 5

     เราออกจากกรุงเทพฯ กันตั้งแต่ 7 โมงเช้าอย่างไม่เร่งรีบนัก แวะข้างทางชิมอาหารกันไปเรื่อยก็ถึงจังหวัดอุตรดิตถ์ประมาณบ่าย 4 โมง โดยเข้าไปทางอำเภอพิชัย ซึ่งแต่ก่อนอำเภอนี้มีความสำคัญมากกว่าตัวเมืองอุตรดิตถ์ ด้วยเมืองพิชัยเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญมีชื่ออยู่ในตำราเรียนให้เป็นที่รู้จักจากชื่อของพระยาพิชัยดาบหัก เจ้าเมืองพิชัยและขุนศึกคู่พระบารมีสมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่มีกิตติศัพท์ในเรื่องความรักชาติ ความเสียสละ และความกล้าหาญ ครั้งนั้นพม่าได้ยกทัพมาตีเมืองพิชัย ท่านก็ได้ยกทัพออกสกัด แม้จะเสียหลักล้มจนดาบในมือขวาหักไป ก็ยังยืนหยัดลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้องบ้านเกิดของตนเอาไว้ให้ลูกให้หลานและชาวเมืองพิชัยได้มีแผ่นดินอยู่ ได้ฟังเรื่องราวความยิ่งใหญ่ในความรักชาติของท่านแล้วก็ขนลุกซู่ รู้สึกรักชาติขึ้นมาก

     เมื่อได้มีโอกาสมาอุตรดิตถ์ทั้งที ก็น่าจะแวะสักการะอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์เสียหน่อย เพื่อแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษของชาติ ที่ทุ่มเทกายใจปกป้องไว้ซึ่งแผ่นดินเกิด บริเวณใกล้เคียงกันนั้นเป็นพิพิธภัณฑ์พระยาพิชัยดาบหัก ซึ่งรวบรวมประวัติพระยาพิชัยและวิถีชีวิตคนพิชัยเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา และยังมีพิพิธภัณฑ์ดาบเหล็กน้ำพี้ที่เก็บรักษาดาบน้ำพี้ใหญ่ที่สุดในโลก หนักกว่า 500 กิโลกรัม ซึ่งมีป้ายเขียนเอาไว้ว่าห้ามแตะต้อง เพราะตัวดาบมีอาถรรพ์

     เหล็กน้ำพี้นี่เองก็เป็นเหล็กที่ยืนหยัดคู่กับการต่อสู้ของชนชาติไทยมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยอยุธยา ด้วยอิทธิฤทธิ์ของเหล็กที่มีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถล้างอาถรรพ์ได้ ใครที่มีอักขระอาคมคงกระพันฟันแทงไม่เข้า เมื่อเจอเข้ากับเหล็กน้ำพี้นี้ยังต้องหลบเลี่ยงคมดาบ รวมไปถึงคุณสมบัติของเหล็กที่มีความแข็งเทียบเท่าเหล็กกล้า แต่มีความเหนียวของเนื้อเหล็กมากกว่า เมื่อตีเป็นดาบจะได้ดาบที่คมมากขนาดฟันตะปูตัวใหญ่ๆ ขาดได้สบายๆ ทำให้ในสมัยก่อนมักจะนำเหล็กน้ำพี้ที่ขุดได้จากบ่อเหล็กน้ำพี้ ตั้งอยู่ ณ บ้านน้ำพี้ ตำบลน้ำพี้ อำเภอทองแสนขัน มาทำเป็นพระแสงและพระขรรค์ถวายแด่เจ้าเมืองและพระมหากษัตริย์ในทุกยุคทุกสมัย

     ปัจจุบันที่บ่อเหล็กน้ำพี้ได้มีการสร้างพิพิธภัณฑ์บ่อเหล็กน้ำพี้เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเหล็กน้ำพี้ และรองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสกับขั้นตอนการผลิตอาวุธคู่กายของบรรพชน ที่ใช้ปกป้องแผ่นดินให้กับชนรุ่นหลัง ตั้งแต่ขั้นตอนเก็บแร่ ถลุงแร่ ที่เป็นไฮไลต์ที่สุดคงเป็นการตีเป็นดาบน้ำพี้ให้ดู รวมถึงยังเปิดบ่อเหล็กน้ำพี้ต้องห้าม 2 บ่อ คือบ่อพระแสงและบ่อพระขรรค์ ซึ่งแต่เดิมเป็นบ่อที่มีไว้ใช้สำหรับทำอาวุธถวายกษัตริย์เท่านั้น ให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชม และใช้คันเบ็ดติดแม่เหล็กที่ทางพิพิธภัณฑ์จัดไว้ให้ตกเอาแร่เหล็กน้ำพี้จากในบ่อ เพื่อติดตัวไว้คุ้มครองภัยในยามเดินทางตามความเชื่อดั้งเดิมของคนน้ำพี้ที่เชื่อถือมากว่าเหล็กน้ำพี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยมีข้อแม้อยู่ว่าต้องไปกราบขอถือกรรมสิทธิ์ในแร่ศักดิ์สิทธิ์นั้นจากเจ้าพ่อบ่อเหล็กน้ำพี้ ซึ่งดูแลปกปักษ์แร่เหล็กน้ำพี้อยู่เสียก่อน มิเช่นนั้นจะเกิดอาเพศ

     พูดถึงเรื่องอาเพศของเหล็กน้ำพี้ จะขอกลับไปยังอนุสาวรีย์พระยาพิชัยสักนิดหนึ่ง เคยมีข่าวครึกโครมว่า ครั้งหนึ่งเคยมีผู้ขโมยดาบน้ำพี้จากมือของรูปหล่อพระยาพิชัยไป สร้างความเสียใจแก่ชาวอุตรดิตถ์เป็นอันมาก แต่ไม่กี่วันต่อมาก็ต้องนำดาบนั้นกลับมาคืน เป็นเพราะเกิดอาเพศแก่ตัวของโจรที่มาขโมยดาบอันศักดิ์สิทธิ์นี้ไป

     ขนาดดาบเล่มเล็กๆ ยังต้องเอามาคืน ก็ยังนึกเล่นๆ อยู่ว่าถ้ามีคนขโมยดาบน้ำพี้ใหญ่ที่สุดในโลกเล่มนั้นไปจะต้องไปแก้อาถรรพ์กันสักกี่วัด ผมรู้เรื่องนี้แล้วยังรู้สึกเย็นวาบที่หลังไม่หาย เพราะว่าเผลอเอามือไปแตะเข้าที่ดาบอาถรรพ์เล่มยักษ์นั่นเข้าเสียแล้ว คงจะต้องเข้าวัดเข้าวาเพื่อทำบุญไถ่โทษเสียหน่อย

     เมื่อพูดถึงวัดแล้ว ด้วยความเป็นเมืองหน้าด่านเก่า ทำให้มีผู้คนอาศัยอยู่มากตั้งแต่สมัยก่อน และด้วยวิถีชีวิตของคนไทยที่ผูกพันอยู่กับวัด ทำให้ที่นี่มีความเป็นเมืองพุทธไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าที่ใด ไม่ว่าจะเป็นวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระแท่นศิลาแลงที่เชื่อกันว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาประทับ รวมไปถึงวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง อันเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในองค์เจดีย์ศิลปะแบบลังกาฐาน ล้วนเป็นวัดศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองซึ่งอยู่ไม่ห่างจากตัวเมืองมากนัก นอกจากนี้ วัดดงสระแก้ว ก็เป็นอีกวัดหนึ่งที่ชาวอุตรดิตถ์และชาวเหนือนิยมไปทำบุญกราบไหว้ วัดดงสระแก้วนี้มีความน่าสนใจเพราะเป็นวัดที่มีความสวยงามแบบสถาปัตยกรรมไทย ด้วยเรือนโบสถ์ไม้สักทองทั้งหลัง ความพิเศษอยู่ที่โบสถ์หลังนี้มีใต้ถุน ชาวบ้านจึงนิยมไปลอดโบสถ์ไม้สักนี้ด้วยความเชื่อว่าจะทำให้รักษาโรคภัยไข้เจ็บและอาการปวดเมื่อยได้ เจ้าอาวาสบอกว่าลอดแค่รอบเดียวก็พอ แต่ผู้เฒ่าผู้แก่บางคนก็ไปลอดถึง 9 รอบ ด้วยเชื่อว่าเป็นเลขมงคล ส่วนตัวโบสถ์ไม้สักทองนั้นยังคงความเชื่อแต่ดั้งเดิมของชาวเหนือไว้ คือห้ามผู้หญิงขึ้น

     เล่ามาถึงตรงนี้มีแต่เรื่องประวัติศาสตร์กับศาสนาและความเชื่อล้วนๆ คนที่ชอบธรรมชาติอาจจะว่ากันได้ หาว่าที่อุตรดิตถ์ไม่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติหรืออย่างไร

     ออกจากตัวเมืองไปไกลสักหน่อย ประมาณ 92 กิโลเมตร ทางอำเภอน้ำปาด คนที่สนใจเรื่องต้นไม้และพันธุ์พืชน่าจะชอบใจ เพราะเป็นที่ตั้งของวนอุทยานสักใหญ่ มีต้นสักที่ใหญ่ที่สุดในโลก อายุกว่า 1500 ปี ต้องใช้ผู้ใหญ่ 9 คนถึงจะโอบได้รอบ ตั้งแต่เกิดมาก็ยังไม่เคยเห็นต้นสักที่ใหญ่และร่มรื่นขนาดนี้มาก่อน น่าเสียดายที่ยอดสักซึ่งเคยสูงถึง 47 เมตร ถูกพายุพัดหักโค่นจนเหลือเพียง 37 เมตร

     แต่สิ่งที่น่าเศร้าใจยิ่งกว่า คือตอของไม้สักที่มีขนาดเดียวกันในบริเวณใกล้กัน ที่แสดงให้เห็นถึงความคิดของคนบางกลุ่ม ที่แปรรูปต้นไม้อายุกว่าพันปีเป็นการเพิ่มพูนตัวเลขในบัญชีธนาคาร หมายรวมถึงความไม่พร้อมของเจ้าหน้าที่รัฐในการให้สัมปทานทำไม้ ที่ขาดการตรวจสอบทรัพยากรและการประสานงาน โดยมองข้ามความสำคัญของการอนุรักษ์มรดกจากผืนดิน

     นอกจากต้นสักใหญ่ที่เป็นจุดเด่นแล้ว ภายในวนอุทยานยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้กับคนที่ชื่นชอบธรรมชาติอีกด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่วนอุทยานรับรองว่าภายเขตของวนอุทยานมีความร่มรื่นและอากาศบริสุทธิ์ไม่แพ้ที่ใด โดยเฉพาะในช่วงปลายฝนต้นหนาว

     ส่วนใครที่อยากรับประทานอาหารพร้อมสัมผัสบรรยากาศไอชื้นของสายน้ำยามเย็น ให้ไปที่เขื่อนสิริกิติ์ ที่นี่มีทะเลสาบสุริยันจันทรา วิวพระอาทิตย์ตกเหนือเขื่อนสวยงามเหมือนชื่อจริงๆ ใครไม่เชื่อให้ลองไปพิสูจน์ดู

     หน้าหนาวครั้งหน้า ใครที่คิดจะขึ้นเหนือ ลองแวะเที่ยวจังหวัดอุตรดิตถ์ดูสักนิด แล้วจะรู้ว่าวิถีชีวิตเรียบง่ายดั้งเดิมของคนเหนืออันผูกพันอยู่กับศาสนาและความเชื่อที่ยังไม่ถูกสังคมเมืองเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นอย่างไร ยิ่งไปกว่านั้นยังอาจได้เรียนรู้ว่ามีอะไรอีกมากที่เราอาจพลาดไป หากละเลยสิ่งที่อยู่ระหว่างทาง.

ไม่มีความคิดเห็น: