วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ที่พึ่งด้านไอทีของแผ่นดิน วิศวฯ คอมพ์จุฬาฯ

วันที่ 9 มิถุนายน 2552 เวลา 00:00 น. |
 
 
ที่พึ่งด้านไอทีของแผ่นดิน วิศวฯ คอมพ์จุฬาฯ
ปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าคอมพิวเตอร์และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ทุกรูปทุกนาม เพราะมันกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่คนทุกเพศ  ทุกวัย ทุกสังคม ต้องปรับวิถีชีวิตให้สอดรับกับเทคโนโลยีนี้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง แม้ทุกระบบมีภัยร้ายหรือช่องโหว่ที่จะสร้างปัญหาแก่สังคมแฝง อยู่เหมือนกัน
 
เทคโนโลยีที่มีทั้งคุณและโทษมากพอ ๆ  กัน จำต้องมีบุคลากรที่มีความรู้มาดูแลจัดการ ในปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาผลิตบัณฑิตออกมารับใช้สังคมจำนวนมาก
 
ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันทางวิชาการที่ก่อตั้งและผลิตบุคลากรทางเทคโนโลยีแห่งยุคสมัยเป็นแห่งแรก ๆ และเป็นหน่วยงานที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ ยุคต้นของประเทศไทย โดยเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2518
 
วันที่ 9 มิถุนายน 2552 นี้จะเป็นวันครบรอบการก่อตั้งปีที่ 34 แล้ว
 
แต่ถ้านับประวัติศาสตร์การก่อตั้งองค์กรวิชาการคอมพิวเตอร์ ก็ต้องย้อนไปถึง พ.ศ. 2512  ดร.แถบ นีละนิธิ คณบดีคณะบัณฑิตวิทยาลัย  และอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้น    ได้เสนอจัดตั้ง "หน่วยคอมพิวเตอร์ไซแอนส์"   (Computer Science) ขึ้นในบัณฑิตวิทยาลัย โดยใช้อาคารชั้น 2 ของตึกไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นที่ทำการ มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้อยู่ 2 ระบบคือ คอมพิวเตอร์ไอบีเอ็ม 18001 มีหน่วยความจำขนาด 32 เคเวิร์ด อีกเครื่องเป็นคอมพิวเตอร์ไอบีเอ็ม 16202 มีหน่วยความจำ 20 เค 
 
ในเวลาต่อมา ที่ประชุมคณบดีได้เปลี่ยนแปลงมติใหม่ โดย
1. ยุบหน่วยคอมพิวเตอร์ ไซแอนส์
2. จัดตั้งภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ขึ้น ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อจัดการเรียน และการสอน ซึ่งนับเป็นภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์แห่งแรกของประเทศไทย และเป็นภาควิชาที่ 9 ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยได้รับอนุมัติ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2518 และถือเป็นวันก่อตั้งภาควิชาสืบมาจนปัจจุบัน
3. จัดตั้งศูนย์บริการคอมพิวเตอร์ ซึ่งต่อมาใช้ชื่อ "สถาบัน บริการคอมพิวเตอร์" ขึ้นตรงกับอธิการบดี เพื่อให้บริการด้านการใช้คอมพิวเตอร์ ทั้งในด้านการบริหาร และการเรียน
การสอน มี รศ.ดร.สวัสดิ์ แสงบางปลา เป็นหัวหน้าภาควิชาคนแรก และดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยคณบดี ดูแลงานด้านคอมพิวเตอร์
 
นับแต่เริ่มก่อตั้งเป็นภาควิชา ก็ได้เริ่มเปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (คอมพิวเตอร์) ในระดับปริญญาตรีในปีการศึกษา 2518 โดยระยะแรกรับได้รุ่นละประมาณ 20 คน และเพิ่มเป็น 100 คนในปีการศึกษา 2538-ปัจจุบัน โดยหลักสูตรนี้จะเรียน ทางด้านฮาร์ดแวร์ (40%) และซอฟต์แวร์ (60%) โดยนิสิตที่เลือกเรียนในวิชานี้จะต้องเป็นผู้ที่ได้คะแนนเฉลี่ยสูงเป็นอันดับต้นของคณะ
       
ในปีการศึกษา 2535 ภาควิชาได้เริ่มเปิดหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (คอมพิวเตอร์) โดยรับนิสิตที่สำเร็จหลักสูตร วศ.บ. และเน้นที่การทำวิทยานิพนธ์
      
 และปีการศึกษา 2541 ภาควิชาได้เริ่มเปิดหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต
(คอม พิวเตอร์)
       
เมื่อคอมพิวเตอร์ใช้กันแพร่หลาย ซอฟต์ แวร์ก็มีความสำคัญมากขึ้นอย่างรวดเร็ว กลาย เป็นองค์ประกอบที่ขาดเสียไม่ได้ ทั้งด้านธุรกิจ ด้านความบันเทิง อุปกรณ์กลไก จากสินค้าที่เล็กที่สุดอย่างโทรศัพท์มือถือไปจนถึงสินค้าที่ใหญ่ที่สุดอย่างเครื่องบินจัมโบเจ๊ต ด้วยเหตุนี้ รศ.ดร.วันชัย ริ้วไพบูลย์ และคณาจารย์ด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการวิศวกรรมซอฟต์แวร์ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2544 และได้ตั้งหลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ให้ปริญญา วท.ม. ในปี พ.ศ. 2545 และสุดท้ายได้จัดตั้งศูนย์เชี่ยวชาญ ด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ร่วมกับห้องปฏิบัติการวิศวกรรมระบบสารสนเทศ ขึ้นในปี พ.ศ. 2546 เพื่อให้เป็นแหล่ง บริการในเทคโนโลยีขั้นสูงทางด้านซอฟต์แวร์แก่ประเทศไทย
 
 ปัจจุบันภาควิชาตั้งอยู่ที่อาคารเจริญวิศวกรรม (ตึก 4) คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นอาคาร 20 ชั้นที่สร้างขึ้นใหม่ โดยภาควิชาอยู่ที่ชั้น 17-20 โดยมีการจัดแบ่งห้องปฏิบัติการ ห้องวิจัย และห้องสมุด เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนในหลักสูตรต่าง ๆ
 
ในรอบระยะเวลากว่าสามสิบปีที่ก่อตั้ง  ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ นอกจากจัดการเรียนการสอน ยังมีผลงานการใช้ความรู้ด้านคอมพิวเตอร์มาช่วยการบริหารจัดการเรื่องสำคัญ ๆ หลายด้าน  ที่โดดเด่น และช่วยเหลือสังคมในวงกว้าง ได้แก่ การประมวลผลกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2521 และการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลกพ.ศ. 2550 การใช้คอมพิวเตอร์ในการรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา เริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2524 ที่ปรึกษาในการออกแบบและสร้างระบบหรือส่วนหนึ่งของระบบให้กับหลายองค์กรขนาดใหญ่ เช่น การท่าเรือแห่งประเทศไทย โรงพิมพ์คุรุสภาฯ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงาน ก.พ. กรมศุลกากร เป็นต้น
 
นอกจากผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน สถาบันแห่งนี้ผลิตบุคลากรด้านคอมพิวเตอร์มารับใช้สังคมกว่าสี่พันคน และอยู่ในระบบการเรียนอีกปีละหลายร้อยคน มีศิษย์เก่าดีเด่น เป็นคนคุณภาพของสังคมจำนวนมาก ซึ่งขอยกมากล่าวถึงเพียงบางท่าน ได้แก่ พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน รองเลขาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) นาถ  ลิ่วเจริญ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทซีดีจี   ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็มเอฟอีซี มนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กิมเอ็ง ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส และนายกสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ผศ.บุญชัย โสวรรณวณิชกุล รองอธิการบดีด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
 
ในยุคที่คอมพิวเตอร์เป็นสิ่งแวดล้อมสำคัญ ปัญหาก็คือ นับวันเทคโนโลยีจะมีความซับซ้อนมากขึ้น จนยากที่คนทั่วไปจะรู้เท่าทัน จำเป็นต้องมีองค์กรที่วางใจได้ว่า รู้จริง รู้ซึ้ง และไม่ได้ยึดโยง กับผลประโยชน์ใด ๆ ทั้งพร้อมจะถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ และเตือนภัยเมื่อจำเป็นให้สังคมโดยไม่ปิดบังและบิดเบือน
 
วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาฯพร้อมแล้วที่จะเป็นที่พึ่งด้านไอทีของแผ่นดิน.
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=201494&NewsType=1&Template=1


See all the ways you can stay connected to friends and family

ไม่มีความคิดเห็น: