วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2552

'ยุทธศักดิ์ ยืนน้อย' นักเกษตรกรรมยั่งยืนแห่งแม่ทา (2)

วันที่ 8 มิถุนายน 2552 เวลา 00:02 น.

'ยุทธศักดิ์ ยืนน้อย' นักเกษตรกรรมยั่งยืนแห่งแม่ทา (2)







เมื่อ จันทร์ที่แล้ว...บอกว่า ครอบครัวของ เพิกเริ่มเลี้ยงวัว ปลูกข้าวโพดฝักอ่อน ผักปลอดสาร ผักพื้นบ้าน และผลไม้... ใช้เวลา 4-5 ปี หนี้สินของครัวเรือนก็ลดน้อยลงอย่างมาก เหลืออีกก็ไม่เท่าไหร่
 
ขณะเดียวกันครอบครัวของเพิกก็มีเงินเก็บพอสร้างบ้านหลังแรกของครอบครัวได้ ด้วยน้ำพักน้ำแรงของเพิกและพ่อ หลังจากครอบครัวเพิกไม่มีบ้านเป็นของตนเอง  ต้องอาศัยอยู่ กับยายมาตั้งแต่เด็ก เพิกยังซื้อที่ดินปลูกข้าว ผลไม้ และผักอินทรีย์เพิ่มขึ้นอีก  4  ไร่ เพื่อเป็นที่ดิน ทำกินและหลักประกันความยั่งยืนของครอบครัว ขณะเดียวกันก็เป็นมาตรการของคนในสหกรณ์ฯ ที่ต้องการเก็บรักษาผืนแผ่นดินแม่ทาให้เป็นของชาวแม่ทาเอง ไม่ให้เป็นของนายทุนที่มากว้านซื้อที่ดินจนอาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาว บ้านแม่ทาในอนาคต 
 
ถึงวันนี้ เพิกบอกว่าแม้การปลูกพืชปลอดสารเคมีจะยังคงมีเนื้องานที่หนักหน่วงไม่ต่าง จากเดิม ทว่าครอบครัวของเพิกกลับมีความสุขมากขึ้น เพราะมีหลักคิดที่ดี พอเพียงในการอยู่กิน ไม่คิดแต่จะหาเงินอย่างอดีต แต่เข้าใจชีวิต ยอมรับนับถือในวิถีของธรรมชาติ
 
พืชผลบางส่วนอาจโดนหนอนโดนแมลงกัดกินไปบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะเพิกเข้าใจดีว่าเป็นเรื่องที่สรรพสิ่งในธรรมชาติต้องพึ่งพาอาศัยกัน ไม่เร่งร้อนและคาดหวังว่าพืชผักทุกต้นจะต้องขายแปรเปลี่ยนเป็นตัวเงินได้ เพราะเขาเองก็ไม่ได้เสียเงินค่าปุ๋ยค่าสารเคมี รายได้จากการขายพืชผักที่มีอยู่จึงเพียงพอเลี้ยงเขาและครอบครัวให้มีความสุข ได้ เมื่อมีธรรมชาติเป็นมิตร คุณภาพชีวิตของคนในครอบครัวก็ดีขึ้น ไม่ได้รับพิษภัยจากสารเคมีการเกษตร อาการปวดหลังปวดข้อ หายใจติดขัดที่แม่อำพรเป็นบ่อย ๆ ก็หมดไป
 
แม่อำพรของเพิกเล่าว่า รู้สึกดีใจที่เพิกได้ทำงานอยู่กับครอบครัว ไม่ต้องไปทำงานไกลหูไกลตาให้เป็นห่วง ด้านพ่อยุทธชาญเองก็เปลี่ยนไป จากที่เคยดื่มเหล้ามากก็เปลี่ยนมาเป็นดื่มเหล้าน้อยลงเพราะไม่มีเรื่องให้ กลุ้มใจ บทสนทนาในครอบครัวก็มีแต่เรื่องดี ๆ พ่อพูดคุยกับ เพิกมากขึ้น จากแต่ก่อนจะขึ้นเสียงและตะคอกทุกทีที่คุยกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ความสัมพันธ์ในครอบครัวจึงมีมากขึ้น พ่อยุทธชาญบอกด้วยว่ารู้สึกดีใจ เมื่อมองย้อนไปในอดีตแล้วก็ไม่เสียใจเลยที่สัญญาจ้างงานที่ไต้หวันมีปัญหา ทำให้ได้กลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่กับครอบครัวได้เร็วขึ้น
 
ด้วยคำแนะนำของลุงพัฒน์  เพิกยังเริ่ม วางแผนชีวิตตัวเองอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพิกหวังว่าในวัย 40 ปี เขาจะมีฐานะที่มั่นคง  และจะปลดเกษียณตัวเองได้ในวัย  60 เวลานี้เพิก ถือเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ในตำบลแม่ทา เป็นกำลังสำคัญของสหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา เป็นเลขานุการให้กับ “อ้ายกนกศักดิ์  ดวงแก้วเรือน” นายก อบต.แม่ทา
 
เพิกยังเริ่มแบ่งปันโอกาสที่เขาเคยได้รับให้แก่รุ่นน้อง โดยสมทบเงินเดือนส่วนหนึ่งที่ได้รับจากการทำงานในสหกรณ์เป็นค่าจ้างน้อง เยาวชนชาวแม่ทาให้กลับมาทำงานที่บ้านเกิด ไม่ต้องละถิ่นเข้าแสวงหางานทำในเมืองเหมือนเขาในอดีต แต่ได้มาเรียนรู้วิธีคิด วิธีการใช้ชีวิตจากนักปราชญ์ในชุมชน ซึ่งเขาผ่านประสบการณ์นั้นมาแล้ว สิ่งเหล่านี้เพื่อตอบแทนชุมชน อย่างที่เขาเชื่อมั่นมาตลอดว่า
 
…เมื่อตัวเรามีความสุข ครอบครัวมีความสุข ก็ต้องทำให้ชุมชนมีความสุขด้วย…
 
“...อยู่ที่บ้านเราปลูกผัก เลี้ยงไก่ บ้านก็มีอยู่กับพ่อแม่ ซึ่งมันตรงกันข้ามกันเลยกับอยู่ในเมือง เราทำงานผลิตอาหารเอง แถมยังเหลือขายเป็นรายได้ “บ้านก็ไม่ต้องเช่า ข้าวก็ไม่ต้องซื้อ” เมื่อท้องอิ่ม นอนอุ่น ก็จะทำให้มีเวลามีโอกาสคิดสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ เพื่อคนอื่น ๆ ได้ ไม่เหมือนการทำงานที่มุ่งแต่ตอบสนองสิ่งพื้นฐานไม่รู้จักจบ และก็จะตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มคนที่คอยฉกฉวยเอารัดเอาเปรียบเพราะเราโงหัว ไม่ขึ้น ไม่เห็นว่าสังคมเป็นอย่างไร เพราะใช้เวลาทำแต่งานเลี้ยงตัวอย่างเดียว การช่วยเหลือกัน น้ำใจไมตรีต่อกันก็ลดน้อยถอยลง มองถึงคนรอบข้างน้อยลง ในที่สุดสังคมก็ไม่มีความสุข...”
 
“เพิก” เกษตรกรยั่งยืน ผู้รับไม้ต่อภูมิปัญญาไทยด้านการเกษตรจากแม่ทา ที่วันนี้เป็นหนึ่งในเยาวชนโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนใน ชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) มูลนิธิสยามกัมมาจล  กล่าวอย่างมีความสุข.

ไม่มีความคิดเห็น: