รายงาน: ความก้าวหน้าของการเจรจาเรื่องโลกร้อน (Post-Kyoto Regime) ที่กรุงบอนน์ | ||
http://www.measwatch.org/autopage/show_page.php?t=19&s_id=95&d_id=95 บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ในช่วงวันที่ 29 มีนาคม ถึง 8 เมษายนที่ผ่านมา ได้มีการประชุมเจรจาเพื่อจัดทำกติกาโลกฉบับใหม่ (Post-Kyoto Regime) สำหรับการแก้ไขปัญหาโลกร้อน เพื่อมาแทนหรือปรับปรุงเพิ่มเติมพิธีสารเกียวโตที่จะสิ้นสุดพันธกรณีในปี ค.ศ.2012 การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นที่กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนี มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 2,600 คน เป็นการประชุมเจรจาของคณะทำงานเฉพาะกิจที่เรียกว่า AWG on Long Term Cooperative Action (AWG-LCA) ครั้งที่ 5 และ AWG on Further Commitments for Annex-I Parties under Kyoto Protocol (AWG-KP) ครั้งที่ 7 ในปีนี้ทั้งสองคณะนี้จะประชุมอีกสองครั้ง คือ ในช่วงเดือนมิถุนายน ที่กรุงบอนน์ และในช่วง 28 กันยายน – 8 ตุลาคม ที่กรุงเทพ (น่ายินดีที่ประเทศไทยยังได้รับความเชื่อมั่นให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติอยู่) หลังจากนั้นก็จะเป็นการประชุมเจรจาเพื่อหาข้อสรุปในระดับประเทศสมาชิกครั้งที่ 15 (Conference of the Parties :COP) ในช่วงเดือนธันวาคม ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก การประชุม AWG-LCA เป็นการเจรจาภายใต้อนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ดังนั้นทุกประเทศที่เป็นสมาชิกของอนุสัญญาฯ ซึ่งรวมทั้งสหรัฐอเมริกาจึงอยู่ในเวทีการเจรจาด้วย ประเด็นหลักของการเจรจาครอบคลุม 4 เรื่องหลัก ได้แก่ การลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวรองรับผลกระทบ กลไกทางด้านเศรษฐศาสตร์และด้านเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน และเป้าหมายร่วมกันในการลดก๊าซเรือนกระจก (Shared Vision) การประชุมในครั้งนี้มีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้นในการสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับแนวคิดและทางเลือกต่างๆ ที่จะยกร่างเป็นตัวบทเจรจา (Negotiation Text) สำหรับการเจรจาครั้งต่อไปในช่วงเดือนมิถุนายน ในการเจรจาเรื่อง Shared Vision ครั้งนี้ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วยังคงมีจุดยืนและท่าทีไม่แตกต่างไปจากเดิม กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้เรียกร้องให้กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการลดก๊าซเรือนกระจก และให้มีการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซอย่างชัดเจนทั้งในระยะกลาง (ปี 2020) และระยะยาว (ปี 2050) โดยยกประเด็นความรับผิดชอบของประเทศที่พัฒนาแล้วจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมากมายในอดีต (Historical Responsibility) จนเกิดปัญหาโลกร้อนขึ้นในขณะนี้ ส่วนกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วได้พยายามชี้ให้เห็นถึงข้อมูลและแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยมาจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และโต้แย้งว่าการลดก๊าซเรือนกระจกในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วแต่เพียงอย่างเดียวจะไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้น สำหรับการประชุม AWG-KP เป็นการเจรจาภายใต้พิธีสารเกียวโต ซึ่งสหรัฐอเมริกายังคงไม่ได้เป็นภาคีสมาชิก แต่มีความเคลื่อนไหวภายในประเทศอย่างมากเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนในช่วงประธานาธิบดีโอบามาโดยเฉพาะเกี่ยวกับการเสนอกฎหมาย การประชุม AWG-KP ครั้งนี้ มุ่งเน้นในเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศที่พัฒนาแล้ว (ที่เรียกว่า Annex-I) ในช่วงหลังปี ค.ศ.2012 รวมทั้งประเด็นในแง่กฎหมาย และความเป็นไปได้ในการปรับแก้ไขเนื้อหาพิธีสารเกียวโต นอกจากนี้ยังมีการเจรจาเกี่ยวกับประเด็นเรื่องกลไกยืดหยุ่นต่างๆ (การซื้อขายก๊าซเรือนกระจก, CDM) เรื่องการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและป่าไม้ (LUCUCF) และเรื่องมาตรการแก้ไขปัญหา ในการประชุมของ AWG-KP ได้ข้อสรุปให้ประธานของคณะทำงานนี้ (นาย Harald Dovland ชาวนอร์เวย) ทำการยกร่างตัวบทเจรจา 2 ฉบับสำหรับใช้เจรจาในช่วงเดือนมิถุนายน คือ ข้อเสนอสำหรับการแก้ไขพิธีสารเกียวโตในประเด็นพันธกรณีในช่วงต่อไปของกลุ่มประเทศ Annex-I หลังพิธีสารเกียวโต และข้อเสนอสำหรับประเด็นอื่นๆ เช่น LULUCF กลไกยืดหยุ่นต่างๆ การประชุม AWG ครั้งต่อไปในเดือนมิถุนายนนี้จึงเป็นการประชุมที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการกำหนดทิศทางและเนื้อหาของกติกาโลกเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนในช่วงหลังปี 2012 เนื่องจากจะเป็นการประชุมครั้งแรกที่เป็นการเจรจาตัว Negotiation Text ภายหลังที่มีการประชุม จัดสัมมนาต่างๆ เพื่อสำรวจ เก็บข้อมูล ตรวจสอบท่าที จุดยืนของแต่ละฝ่ายไปกว่า 1 ปีครึ่งนับตั้งแต่การประชุม COP 13 ที่เกาะบาหลี
| ||
|
Insert movie times and more without leaving Hotmail®. See how.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น