วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2552

เด็กน้อย ซุนกวน / บ้านบางเพลง

   
  หน้าแรกสยามรัฐออนไลน์|
 
 เด็กน้อย ซุนกวน / บ้านบางเพลง
กาเหว่า 27/4/2552

                                                                                    เด็กน้อย   ซุนกวน

 

ในบรรดาผู้นำก๊กทั้งสามก๊ก  โจโฉ  เล่าปี่  ซุนกวน  นั้นนับว่า  ซุนกวน  อายุน้อยที่สุด  จึงมักจะถูกดูแคลนจากบรรดาแม่ทัพนายกองทั้งหลาย  โดยเฉพาะ  โจโฉ  กวนอู  เตียวหุย  ถึงกลับปรามาทว่าเป็น  เด็กอมมือเมื่อวานซืน  คงมีแต่  จูกัดเหลียง-ขงเบ้ง  เท่านั้นที่นอกจากจะไม่สบประมาทแล้วยังยกระดับให้  กวนอู  เป็นผู้นำก๊กที่สามเพื่อให้เป็นก๊กถ่วงดุลกับ  วุ่ยก๊ก  ของ  โจโฉ 

 

คำว่า"สามก๊ก"จึงป็นผลมาจากการดำเนินยุทธศาสตร์ "เหนือรบโจโฉ  ใต้จับมือซุนกวน"ของ  จูกัดเหลียง-ขงเบ้ง  เพราะถ้าไม่มี  ง่อก๊ก  ของ  ซุนกวน   จ๊กก๊ก  ของ  เล่าปี  ก็ย่อมไม่ได้เกิด  ทุกแคว้นจะอยู่ในการครอบครองของ  โจโฉ  แห่ง  วุ่ยก๊ก  เพียงคนเดียว

 

ในขณะที่  โจโฉ  นั้นเป็นลูกขุนนางเก่าแก่และถูกชุบเลี้ยงให้เติบโตขึ้นขึ้นมาในเมืองหลวงอันเป็นศูนย์กลางอำนาจ   ชีวิตตั้งแต่เล็กจนโตจึงสัมผัสเรียนรู้อยู่กับการเมือง การปกครอง และการทหาร  จึงเชี่ยวชาญในชั้นเชิงการเมืองและช่ำชองการรบในระดับแถวหน้า  ประกอบกับเป็นคนที่มีปณิธานแน่วแน่มักใหญ่ใฝ่สูง

 

โจโฉ  จึงประสบความสำเร็จขึ้นมาเป็นผู้นำวุ่ยก๊ก ควบคุมบทบาทการบริหารราชการแผ่นดินในเมืองหลวงได้ก่อนใครเพื่อน  จนบางครั้งจึงทำให้ดูว่าเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง  หยิ่งลำพอง และโหดเหี้ยม  และก็เป็นจุดอ่อนที่ทำให้บรรดาเจ้าเมืองต่างๆ ยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างในการแข็งข้อ  และกล่าวหาว่าพฤติกรรมของเขาเป็นการล่วงเกินพระราชอำนาจ  หมิ่นพระบรมราชานุภาพ และข่มเหงรังแกฮ่องเต้  จนทำให้แผ่นดินจีนแตกออกเป็นเสี่ยงๆก่อนที่ยุทธศาสตร์สามก๊กจะถูกกำหนดขึ้นในเวลาต่อมา

 

เล่าปี่   แม้จะเป็นเชื้อพระวงศ์และร่ำเรียนการยุทธพอสมควร   แต่ก็เป็นเชื้อพระวงศ์ปลายแถวผู้อาภัพ  ก่อนที่จะมาสมัครเป็นทหารอาสาปราบโจรโพกผ้าเหลืองก็เป็นเพียงคนทอเสื่อร่อนเร่ขายไปตามเมืองต่างๆ   จนได้พบกับ  เตียวหุย  พ่อค้าขายเนื้อหมูที่มีฐานะระดับคหบดีของเมืองตุ้นก้วนเป็นคนออกทุนตั้งกองกำลังทหารอาสา  โดยมี  กวนอู  ผู้มีรูปร่างสูงใหญ่และมีวิทยายุทธยอดเยี่ยมเข้าเป็นพี่น้องร่วมสาบานใต้ต้นท้ออันลือลั่น

 

ถึงกระนั้น  เล่าปี่  กวนอู  เตียวหุย   ที่เข้าร่วมเป็นกองกำลังทหารอาสาปราบโจรโพกผ้าเหลืองได้สำเร็จและเข้ารับราชการเป็นเจ้าเมืองเล็กๆ แต่ก็ไม่อาจอยู่ในระบบขุนนางยุคนั้นได้  เพราะไม่มีเส้นสายและเหลี่ยมคูการเมืองเพียงพอที่จะไต่เต้าในเวลารวดเร็วได้   สุดท้ายก่อนที่จะมาพบกับ จูกัดเหลียง-ขงเบ้ง  ซึ่งเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์สามก๊กให้นั้น  ก็ยังเป็นเพียงกองกำลังทหารเล็กๆ ที่ระเหเร่ร่อนครั้งแล้วครั้งเล่าเท่านั้นเอง

 

แต่สำหรับ  ชุนกวน  นั้นขึ้นมาเป็นผู้นำด้วยเพราะสถานการณ์บังคับ  เพราะ  ซุนเกี๋ยน  เจ้าเมืองเตียงสาผู้พ่อตายไปในขณะที่ลูกอายุยังน้อย   และเมื่อ  ซุนเซ็ก  ผู้พี่ที่มีปนิธานแรงกล้าจะสืบสานอุดมการณ์ของพ่อก็ต้องตายไปอีกด้วยวัยเพียง 26  ปี   จึงเรียกได้ว่าเสาหลักทั้งสองได้จากไปในเวลาอันไล่เรี่ยกันจนทำให้แทบจะตั้งหลักกันไม่ทัน 

 

ภาระทั้งหลายจึงตกแก่ ซุนกวน  ผู้น้องที่มีอายุเพียง 18 ปีต้องขึ้นมารับภาระสืบสานปณิธานอันหนักอึ้งของผู้เป็นพ่อต่อไป   แต่ด้วยสายเลือดนักรบและนักปกครองที่สืบต่อกันมา   หลังจากฟื้นจากการร้องไห้อาลัย  ซุนเซ็ก  ผู้พี่แล้ว ก็เรียกให้  เตียวเจียว  ขุนนางเก่าแก่ของเมืองกังตั๋งเรียกประชุมขุนนางที่ศาลาว่าราชการเป็นการด่วน

 

ซุนกวน  ได้ประชุมปรึกษาที่ประชุมขุนนางเก่าแก่ของพ่อและพี่ด้วยความนอบน้อมถ่อมตน เพื่อขอความเห็นใจและร่วมมือในการสืบสานปณิธานของผู้เป็นพ่อจนเป็นที่เรียบร้อย  จิวยี่  ซึ่งเป็นแม่ทัพใหญ่,เป็นเพื่อนและยังเกี่ยวดองเป็นคู่เขยกับ ซุนเซ็ก  เสนอให้เชิญ  โลซก  ปราชญ์ผู้มีวิชาความรู้มาช่วยงานรับราชการ  และเมื่อ ซุนกวน  พบกับ โลซก  ครั้งแรกนั้น  ก็ได้พูดคุยถึงเรื่องยุทธศาสตร์การเมืองต่างๆ ถึงสองวันสองคืน  และเป็นที่พออกพอใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย  และเป็นที่มาของการระดมผู้รู้ทั้งหลายทั่วแผ่นดินมาร่วมงานกันอีกเป็นจำนวนมาก

 

การบริหารภายใน  ซุนกวน  เป็นคนที่รับฟังความคิดเห็นของที่ปรึกษาทั้งเก่าและใหม่เป็นจำนวนมากทั้งฝ่ายบู้และบุ๋น  ทั้งยังมี จิวยี่  เตียวเจียว  ง่อก๊กไท้  ซึ่งซุนกวนถือเป็นผู้ใหญ่ที่เขาเคารพเป็นคนช่วยตัดสินใจคนสุดท้ายอีกชั้นหนึ่ง  บางครั้ง ซุนกวน  จึงถูกวิจารณ์ว่าเป็นคนโลเล ไม่เป็นตัวของตัวเอง  ขาดความเข้มแข็งเด็ดขาดไม่เหมือนกับ ซุนเกี๋ยน   ซุนเซ็ก  ผู้พ่อและพี่ 

 

แต่บางคนก็มองว่านับเป็นศิลปการบริหารที่น่าสนใจของผู้นำในอีกลักษณะหนึ่ง  เพราะสุดท้ายแล้ว ก๊กที่เดินเกมผิดพลาดน้อยที่สุด  เสียหายน้อยที่สุด  บอบช้ำน้อยที่สุด  ประชาชนได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุดในตำนานสามก๊กก็คือ  ง่อก๊ก ของ ซุนกวน  นั่นเอง

 

บารมีของ ซุนกวน  แก่กล้าเต็มที่เมื่อนำทัพไปตีเมืองกังแฮและฆ่า หองจอ  ตัดหัวไปเซ่นไหว้ป้ายชื่อ  ซุนเกี๋ยน  เป็นที่สำเร็จ   แต่กลับรับเอา  โซหุย  ซึ่งเป็นทหารเอกของเมืองกังแฮอีกคนที่มีส่วนร่วมในการฆ่าพ่อของเขาเข้ามารับราชการด้วยอีกคน  ตามคำขอของ  กำเหลง  อดีตทหารเอกเมืองกังแฮที่มาขอสวามิภักดิ์ก่อนหน้านี้และทำความดีความชอบด้วยการฆ่า หองจอ ได้สำเร็จ 

 

ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการแยกแยะส่วนดีส่วนเสียเพื่อรักษาไว้ซึ่งคนและแยกแยะการเมืองกับความแค้นความหลัง  เพื่อความสำเร็จของงานในอนาคต  ออกจากกันได้อย่างชัดเจน

 

ทั้งในระหว่างเลี้ยงฉลองความสำเร็จกันอยู่นั้น  เล่งทอง  ซึ่งเป็นลูกของ  เล่งโฉ ที่เคยถูก  กำเหลง ฆ่าตายนั้นก็นึกโกรธแค้นชักกระบี่ออกมาจะฆ่า  กำเหลง  จนเกิดความชุลมุนวุ่นวาย  ก็ได้  ชุนกวน  เข้ามาปลอบโยนให้เห็นแก่หน้าที่  ซึ่งที่  กำเหลง ฆ่าเล่งโฉ  นั้นก็เพราะเมื่อก่อนอยู่คนละฝ่ายและต้องทำหน้าที่ทหาร มิใช่ความแค้นส่วนตัว  ส่วน กำเหลง ก็ให้เข้าใจ  เล่งทอง ที่ต้องเสียพ่อย่อมเสียใจเป็นธรรมดา  จึงควรให้อภัยซึ่งกันและกัน 

 

ที่สำคัญที่สุดก็ให้ทั้ง  เล่งทอง และ  กำเหลง  เห็นแก่เมืองกังตั๋งที่ยังรายล้อมด้วยศัตรูคู่รบอีกจำนวนมาก  กว่าบ้านเมืองจะร่มเย็น  ดังนั้นควรจะแยกแยะส่วนตัวส่วนรวมให้รอบคอบ  และ ซุนกวน  ก็ได้มอบหมายงานให้แก่ทั้งสองคนอย่าเหมาะสม  ซึ่งตอนหลังทั้งสองได้กลายเป็นแม่ทัพที่สำคัญของกังตั๋งจนถึงบั้นปลายชีวิต 

 

จาก  เด็กน้อย  ซุนกวน  ท้ายที่สุดก็เป็นพระเจ้าซุนกวน เป็นหนึ่งในตัวเอกของสามก๊ก อย่างที่ใครจะสบประมาทไม่ได้   ฉะนั้นใครๆที่เคยเรียก เด็กน้อย  อภิสิทธิ์  จากนี้ไปก็ต้องคิดหนักกันหน่อยหละครับ 

http://www.siamrath.co.th/UIFont/Articledetail.aspx?nid=3196&acid=3196


Rediscover Hotmail®: Get e-mail storage that grows with you. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น: