วันอังคารที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2552

"โลกเทคโนโลยี"อนาคตที่มนุษย์ต้องเผชิญ

วันจันทร์ ที่ 16 กรกฎาคม 2550
 
"โลกเทคโนโลยี"อนาคตที่มนุษย์ต้องเผชิญ
  

หลายครั้งที่ผู้เชี่ยวชาญในวงการไอทีจะแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นของเทคโนโลยีในอนาคตว่าจะเปลี่ยนโลกให้เป็นไปในลักษณะใด ผู้เชี่ยวชาญหลายคนซึ่งมีฐานความรู้แตกต่างกันตามความถนัดก็อาจจินตนาการเจาะลึกลงไปถึงรายละเอียดของแต่ละเซกเมนท์ และทำให้มันกลายเป็นฝันที่เป็นจริงได้ในชั่วระยะเวลาสิบปีต่อมา ซึ่งหากจะลองรวบรวมเทรนด์ของวงการไอทีที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ เชื่อว่าต้องมีหัวข้อต่าง ๆ เหล่านี้ปรากฏอยู่เป็นแน่
       
       อีเมลเปลี่ยนสู่ Instant Messaging
       
       น่าเสียดายแทนอีเมล เมื่อมันถูกจัดอันดับว่า เป็นเทคโนโลยีที่ไม่สามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้อีกต่อไป แต่อาจจะเป็นบริการ SMS, Instant Messaging หรือการโพสต์ข้อความฝากไว้ที่ MySpace เข้ามาแทนที่ เป็นต้น
       
       เทรนด์ดังกล่าวเกิดขึ้น และจะยังคงดำเนินต่อไป ทั้งนี้มีผลมาจากความสนใจในสิ่งที่แตกต่างกันระหว่างคนสองวัย กลุ่มคนทำงานวัยผู้ใหญ่ และทำงานในองค์กร คนกลุ่มนี้ยังคงใช้อีเมลในการติดต่อสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ พวกเขาเปรียบอีเมลเสมือนเครื่องมือที่สำคัญต่อการทำงาน และการรันโปรเซสงานต่าง ๆ ให้ไหลลื่นไปได้
       
       แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ ซึ่งอาจเป็นวัยรุ่น หรือผู้สำเร็จการศึกษามาหมาด ๆ อาจมองเห็นถึงเครื่องมือที่ทันอกทันใจมากกว่านั้น และถ้าพูดถึงอีเมล พวกเขาอาจจะตอบกลับมาว่า "ทำไมคุณถึงไม่ส่ง SMS หาผม หรือจะส่งข้อความผ่านทางโปรแกรม Instant Messaging ก็ได้ เพราะเดี๋ยวนี้ผมไม่ได้เช็คอีเมลอีกต่อไปแล้ว"
       
       จากข้อมูลของการ์ทเนอร์ได้คาดการณ์เอาไว้ว่า ภายในปี 2011 โปรแกรม Instant Messaging จะกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพในการติดต่อสื่อสารสำหรับองค์กรธุรกิจยุคใหม่ โดยจะสามารถรองรับได้ทั้งภาพเคลื่อนไหว เสียง และข้อความเลยทีเดียว ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อเวลาที่โปรแกรม Instant Messaging กลายเป็นเครื่องมือสำหรับผู้ใหญ่และภาคธุรกิจมาถึง เหล่าวัยรุ่นก็จะมีเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารตัวใหม่มาใช้แทนแล้วเช่นกัน
       
       มือถือเกิดมาเพื่อเปลี่ยนโลกอินเทอร์เน็ต
       
       เทคโนโลยีกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ไม่ใช่เรื่องใหม่ ญี่ปุ่นมีการใช้งานโทรศัพท์มือถือที่ติดตั้งชิปพิเศษ และสามารถเติมเงินเพื่อใช้จับจ่ายซื้อสินค้าได้มาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งการพัฒนาความสามารถดังกล่าวให้กับโทรศัพท์มือถือนั้น เป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคที่อาจสร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญอีกทางหนึ่ง
       
       นอกจากนั้น ในบรรดาผู้ผลิตหลายค่ายก็มีการทดสอบกับผลิตภัณฑ์ต้นแบบกันแล้วเรียบร้อย ซึ่งก็พบว่ามันสามารถทำงานได้ รายงานข่าวจากไฟแนนเชียลไทม์ได้อ้างคำกล่าวให้สัมภาษณ์ของนาย Tero Ojampera ผู้บริหารของโนเกีย ว่าเคยเล่นมุกตลกกับทางร้านแมคโดนัลด์ เมื่อเขาระบุว่า ต้องการจ่ายเงินด้วยเงินอิเล็กทรอนิกส์ในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งพนักงานของร้านแมคโดนัลด์ก็ไม่ได้แสดงท่าทีประหลาดใจ เธอเพียงแต่ตอบเขาว่า "ร้านเราไม่รับชำระเงินด้วยวิธีนี้"
       
       ส่วนหนึ่งอาจทำให้มองเห็นภาพได้ว่า ผู้บริโภคส่วนหนึ่งพร้อมที่จะยอมรับกับการมาถึงของเทคโนโลยีกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว และจะทำให้การใช้งานขยายตัวได้รวดเร็วยิ่งขึ้นด้วย
       
       นาย Ojampera ยังกล่าวด้วยว่า ในอนาคตอันใกล้ โทรศัพท์มือถือจะมีความสำคัญในแง่ของการเป็นเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมบนโลกของอินเทอร์เน็ตได้มากกว่าคอมพิวเตอร์
       
       ด้านนาย Mike Lynch จาก Autonomy เปิดเผยว่า การมาถึงของยุค Web 2.0 โดยเฉพาะเว็บไซต์ที่มีลักษณะเป็น Social Networking เช่น ยูทิวบ์ หรือมายสเปซ จะพลิกวงการอินเทอร์เน็ตให้เปลี่ยนจาก Information ไปสู่โฉมหน้าใหม่ได้อย่างรวดเร็ว
       
       "มนุษย์จะเปลี่ยนจากการตกเป็นทาสของคอมพิวเตอร์ และป้อนข้อมูลตามที่คอมพิวเตอร์ต้องการ ไปสู่ยุคที่คอมพิวเตอร์ต้องให้บริการมนุษย์ในสิ่งที่เราต้องการแทน" Lynch กล่าว
       
       แอนดรูว์ เฮอร์เบิร์ท หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการของไมโครซอฟท์ที่แคมบริดจ์กล่าวสนับสนุนแนวคิดนี้ พร้อมเพิ่มเติมว่า "คอมพิวเตอร์จะทวีความสำคัญมากขึ้น และจะทำหน้าที่เป็นเสมือนผู้ช่วยส่วนตัวที่คอยจดจำว่า คุณต้องทำงานร่วมกับใคร และอาจจัดเตรียมข้อมูลที่คุณต้องการมาให้ก่อนที่คุณจะคลิกเมาส์ก็เป็นได้"
       
       เขาได้ขยายความว่า การจะทำเช่นนั้นได้คือคอมพิวเตอร์ต้องมีหน่วยความจำสำหรับบันทึกการทำงานในแต่ละวันของผู้ใช้ว่าเปิดใช้ไฟล์เอกสารใด และตอนที่เปิดเอกสารนั้นมีการติดต่อสื่อสารกับใครอยู่ ทั้งนี้เมื่อผู้ใช้มีการติดต่อกับบุคคลนั้น ๆ อีกครั้ง คอมพิวเตอร์จะเตรียมไฟล์เอกสารเอาไว้ให้ได้อย่างถูกต้อง
       
       นอกจากนี้ในแง่ของการค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต อาจเปลี่ยนรูปแบบจากค้นหาด้วยคีย์เวิร์ดไปสู่การใช้ "คอนเซ็ปต์" หรือแนวความคิดเป็นคำค้นหา โดยอาศัยความเชื่อที่ว่าคอมพิวเตอร์ในอนาคตจะสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองมาประกอบ
       
       Don Rippert จาก Accenture ให้ความเห็นว่า ในอนาคต การที่มนุษย์ต้องฝ่าการจราจรไปทำงานอาจไม่เกิดขึ้นอีกก็เป็นได้ อยากให้ลองสังเกตุเด็กวัยรุ่น พวกเขาสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการทำงานกับคนอื่น ๆ ได้โดยที่ไม่ต้องเดินทางออกไปไหน แต่มันก็ทำให้งานของพวกเขาเดินต่อไปได้
       
       ความสามารถทั้งหมดที่กล่าวมานี้อาจทำให้หลายคนฝันถึงโลกที่สะดวกสบาย และช่วยประหยัดพลังงานได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี การจะอำนวยความสะดวกเช่นนั้นได้ "คอมพิวเตอร์ต้องบันทึกทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งเอาไว้ เพื่อนำมาใช้ในการตัดสินใจ" แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นความทรงจำที่เจ้าของไม่อยากจดจำแล้วก็ตาม ซึ่งหากมองในฐานะของมนุษย์ด้วยกันแล้ว คำถามที่เหลือทิ้งท้ายก็คือ ความศิวิไลซ์นั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์เราต้องการจริงหรือ?
       
       เรียบเรียงจากไฟแนนเชียล ไทม์
http://www.oknation.net/blog/ict/2007/07/16/entry-4


Rediscover Hotmail®: Get quick friend updates right in your inbox. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น: